[บทความภาพยนตร์] แผลเป็นแก้มซ้ายของรูโรนิ เคนชิน แผลเป็นทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มิอาจลบเลือน


[บทความภาพยนตร์] แผลเป็นแก้มซ้ายของรูโรนิ เคนชิน แผลเป็นทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มิอาจลบเลือน

วาทิน ศานติ์ สันติ

ถ้าเราเป็นแฟนภาพยนตร์แนวซามูไรเรื่องรูโรนิ เคนชิน: ซามูไรพเนจร ที่สร้างมาแล้วถึง 5 ภาค ที่ใช้เวลารวมกันนับ 10 ปี เราจะเห็นว่าฮิมูระ เคนชินพระเอกของเรานอกจากมีความเก่งกาจดาบสลับคมกับเพลงดาบล่องนภาของเขาแล้ว ยังมีแผลเป็นบนแก้มซ้ายที่เป็นรูปกากบาทด้วย ซึ่งแผลเป็นนั้นไม่ว่าในภาพยนตร์จะอธิบายว่าจะเกิดจากคนที่เขารักหรือใครก็ตาม แต่ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว แผลเป็นบนแก้มซ้ายของเคนชินมีความหมายถึงบาดแผลทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนั้นเอง

 

ดูคลิปบรรยายได้ที่นี่

รูโรนิ เคนชิน ซามูไรพเนจร: ปฐมบท (2021) เกริ่นเรื่องในปี 1864 ในสมัยเอโดะตอนปลาย เป็น 11 ปีให้หลัง (1853) จากที่พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาจำนวน 4 ลำ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า เรือดำ เข้ามาจอดปิดอ่าวอูรางะใกล้กับนครเอโดะ โดยใช้วิธีการทางการทูตแบบเรือปืน (ซึ่งก็เหมือนกับอังกฤษที่เคยใช้ในจีน  ในพม่า ในสยาม และในหลาย ๆ ประเทศอดีตอาณานิคมนั่นแหละ) เรียกร้องให้รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศทำการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา หากญี่ปุ่นไม่ปฏิบัติตาม กองเรือติดอาวุธของสหรัฐอเมริกาจะเข้าโจมตีเมืองเอโดะซึ่งเป็นเมืองหลวงในด้านการปกครองของญี่ปุ่นในสมัยนั้น รัฐบาลโชกุนจึงยอมเปิดเมืองท่าชิโมดะ และฮาโกดาเตะให้แก่เรือของสหรัฐอเมริกาในภาวะจำยอม และทำสัญญาทางการค้าระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา แต่ข้อสังเกตสำคัญก็คือ รัฐบาลโชกุนทำสัญญาทางการค้าโดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจาก จักรพรรดิญี่ปุ่น ชุดนี้สร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองและผู้คนที่สนับสนุนฝ่ายจักรพรรดิเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การเซ็นสัญญาทางการค้ากับอเมริกานับเป็นการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการหลังจากที่ญี่ปุ่นปิดประเทศมานานกว่าสองร้อยปีนับตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 ที่ตะกูลโตกูกาวะเข้ามาปกครองประเทศญี่ปุ่น และเนื่องจากการเปิดประเทศของญี่ปุ่นก็ทำให้ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นจำนวนมาก และรวมถึงแนวคิดเสรีนิยม ปรัชญาการเมืองการปกครองแบบตะวันตก เทคโนโลยี องค์ความสมัยใหม่ หรือแม้แต่ศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตกก็เข้าหลั่งไหลเข้ามาด้วยเช่นกัน หลายคนไม่อยากให้ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขนาดนั้น แต่หลายคนก็อยากให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และมันจะกลายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของญี่ปุ่นไปตลอดกาล

ในขณะนั้นบ้านเมืองญี่ปุ่นเกิดความสับสนวุ่นวายอันเกิดมาจากความมักใหญ่ใฝ่สูง การแย่งชิงอำนาจ การหวงอำนาจ และความแตกแยกทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งที่มาจากฝ่ายเทิดทูนกษัตริย์ ผู้สนับสนุนการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องการอยากให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนา และมาจากฝ่ายที่สนับสนุนโชกุนโตกุกาวะซึ่งเป็นกลุ่มหัวเก่าอนุรักนิยม ดังนั้นประชาชน นักการเมือง หรือแม้แต่ซามูไรในประเทศญี่ปุ่นได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นกัน  ทั้งสองกลุ่มเกิดการต่อสู้ห้ำหั่นกันเอง

กลุ่มซามูไรในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะซามูไรในแคว้นซัตสึมะ และแคว้นโจชู ทั้ง 2 กลุ่มมีส่วนสำคัญมากในการปฏิรูปญี่ปุ่น ซึ่งมีความเห็นว่าการทำสนธิสัญญาเปิดประเทศกับสหรัฐอเมริกาและการค้ากับชาติตะวันตกจะทำให้ญี่ปุ่นเสียประโยชน์เป็นอย่างมาก จึงใช้เหตุผลนี้โจมตีรัฐบาลโชกุนตระกูลโตกูกาวะที่เมืองโอโดะ และให้การสนับสนุนพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต ต้องการถวายคืนพระราชอำนาจให้กลับคืนมาในการปกครองประเทศ

Samurai fighting the Imperial army during the Subjugation of Kagoshima in Sasshu (Satsuma), by Yoshitoshi, 1877

ข้อสังเกตประการหนึ่งในภาพยนตร์ก็คือในช่วงต้นรูโรนิ เคนชิน:ซามูไรพเนจร ปฐมบท ฮิมูระ เครชิน ได้ไปพำนักในบ้านซามูไรของกลุ่มโจชูด้วย  ก็เป็นการย้ำกับผู้ชมให้รับรู้ว่าเคนชินอยู่ฝ่ายการปฏิรูปประเทศและต่อต้านรัฐบาลโชกุนโตกุกาวะนั่นเอง

ซามูไรและผู้สนับสนุนฝ่ายองค์จักรพรรดิถือโอกาสเข้าโค่นล้มอำนาจของตระกูลโทกูงาวะ เหตุการณ์ความวุ่นวายไม่ต่างกับสงครามกลางเมือง และลุกลามออกไปเป็นวงกว้างแทบจะทั่วประเทศ จนกลายเป็นสงครามโบะชิง ในปี 1868 ตระกูลโทกูงาวะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และสิ้นอำนาจลง รัฐบาลเอโดะล่มสลาย การปกครองประเทศในระบอบโชกุนภายใต้ตระกูลโตกุกาวะที่ปกครองประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงครึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมานับได้กว่าสามร้อยปีก็เป็นอันสิ้นสุดอำนาจลง ญี่ปุ่นสถาปนารัฐบาลโตเกียวภายใต้การนำของจักรพรรดิสืบต่อมา

นี่คือพื้นหลังของเรื่องทั้งหมดทางประวัติศาสตร์จากหนังชุดรูโรนิ เคนชิน ซามูไรพเนจร ที่ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่ภาคที่ 1 มาถึงภาคที่ 5 นี้

ฮิมูระ เคนชินอยู่ฝ่ายต่อต้านอำนาจโชกุน เขามีแนวคิดในการปฏิรูปประเทศอยากให้ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนา และเป็นการพัฒนาที่ควรจะเป็น ไม่ใช่การพัฒนาแบบอยู่ใต้อำนาจของชาติตะวันตก ในภาพยนตร์เคนชินมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากมี่เข้าร่วมสงครามช่วงชิงอำนาจจากโชกุน

ถ้าหากสังเกตจากภาพยนตร์จะรู้ว่าการฆ่าคนของฮิมูระ เคนชินนั้นมันได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก แนะนำทำให้เห็นว่าเขาแทบจะไม่มีความสงบเลย เคนชินเชื่อว่าการฆ่าฝ่ายตรงข้ามของเขานั้นมันคือสิ่งที่ถูกต้อง และการจะปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้นั้น ต้องฆ่าพวกหัวเก่าไปซะก่อน หนังทำให้เห็นว่าเคนชินต้องต่อสู้และฆ่าชีวิตผู้คนชาติเดียวกันฝ่ายสนับสนุนโชกุนไปมากมาย และด้วยฝีมือเพลงดาบที่มีความสะอาดสักอันรวดเร็ว หนักหน่วงและรุนแรงเฉียบขาดราวกับปีศาจ จนได้รับฉายาว่ามือพิฆาตรบัตโตไซ ในขณะเดียวรูโรนิเคนชินก็ตกเป็นเป้าที่ฝ่ายพวกสนับสนุนโชกุนต้องการล่าหัวมากที่สุด นี่คือสาเหตุว่าเพราะเหตุใดเคนชินถึงมีศัตรูมากมาย

ส่วนแผลเป็นบนแก้มซ้ายของฮิมูระ เคนชินที่ เป็นรูปกากบาท หากจะวิเคราะห์ในแบบฉบับของผมแล้วหละก็ ขออนุญาตตีความดังนี้ แผลเป็นที่หนึ่งก็เกิดจากการพูดถึงการปฎิรูปประเทศญี่ปุ่นที่ต้องแลกมากับการสูญเสียของคนในประเทศ และแผลที่สองนั้นเกิดจากการที่เคนชินสำนึกผิดต่อการฆ่าคนจำนวนมากซึ่งมันค้างคาใจเขาตลอดมา แล้วเนื่องจากการที่เป็นรูปกากบาทเครื่องหมายถึงจุดตัด หรือจะเชื่อมที่สำคัญที่ทำให้เกิดตัวละครรูโรนิ เคนชินขึ้นมา ทั้งสองแผลไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ไม่หายสักที

The Battle of ueno leading to the Fall of Edo

ดังนั้นแผลเป็นรูปกากบาทที่แก้มซ้ายของเคนชิน ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญทางด้านการเมืองการปกครองและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่แสดงว่า กว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีความเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบันนี้ เพราะได้ผ่านเหตุการณ์การเปลี่ยนทางการเมืองมาอย่างมากมาย ต้องเสียสูญเสียชีวิตจำนวนผู้คนและซามูไรไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปหรือฝ่ายอำนาจเก่าอย่างมหาศาล อาจพูดได้ว่าความเจริญของญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นบนกองซากศพของผู้คนภายในประเทศ มันคือความทรงจำที่ยังอยู่ในใจของญี่ปุ่นที่ไม่เคยจางหาย และนี่คือแผลเป็นของญี่ปุ่นบนใบหน้าของ รูโรนิเคนชินซามูไรพเนจร ที่ไม่เคยลบเลือน

หมายเลขบันทึก: 692173เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2021 06:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2021 06:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท