สร้างสังคมผู้ประกอบการด้วย “นวัตกรรม” + “ความคิดสร้างสรรค์”


“ตัวหนึ่งที่ขาดมากในสังคมบ้านเราคือ Passion ความมุ่งมั่น เกาหลีเขาทำได้ เราไม่ได้คิดแพ้เขานะ ศักยภาพเราได้ แต่เราไม่มีความมุ่งมั่น อย่างเกาหลี เขาคิดว่าถ้าไม่ทำ เขาแพ้ญี่ปุ่นแน่ ต้องเอาให้ได้ แต่บ้านเราไม่มี และไม่พูดว่าเราจะเป็นอย่างเขาให้ได้ แต่พูดว่าเขาไปแล้ว ไปไกลแล้ว แล้วอย่างไงต่อ”

                                    สร้างสังคมผู้ประกอบการด้วย “นวัตกรรม” + “ความคิดสร้างสรรค์”

                                                                                                                                       อรรถการ สัตยพาณิชย์

          ปัจจุบัน หลักสูตรในสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการบรรจุวิชาเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น แม้การเป็นผู้ประกอบการจะไม่ใช่เรื่องที่สอนกันได้ง่ายๆ เพราะส่วนผสมในการสร้างผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ความกล้าได้กล้าเสียซึ่งจะมาพร้อมๆ กับ “จังหวะ” ที่อาจมีทั้งประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันความใจกล้าบ้าบิ่นอาจทำให้ธุรกิจล้มลงครืนได้เช่นกัน 

          แต่องค์ประกอบสำคัญที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในกระบวนการบ่มเพราะผู้ประกอบการ นั่นคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovation) และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เพื่อให้ (ว่าที่) ผู้ประกอบการทั้งหลายสามารถรังสรรค์จุดขายที่แตกต่าง (Differentiation) ของสินค้าหรือบริการให้เกิดขึ้นได้

Innovation=Knowledge + Creativity

          คุณศุภชัย หล่อโลหการ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึง Innovation ว่าเป็นเรื่องของ ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กสามารถล้มบริษัทขนาดใหญ่ได้ แต่ในมุมกลับกันถ้าบริษัทขนาดใหญ่มองข้ามเรื่อง Innovation ไป ในที่สุดองค์การที่เคยเป็นยักษ์ก็อาจจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป 

          สิ่งที่เห็นและเป็นตัวอย่างได้ก็คือ บริษัทที่เคยติด Fortune 100 / Fortune 500 ในช่วงปี 1900 แต่พอมาถึงปลายปี 2000 มากกว่า 80-90% ของบริษัทเหล่านั้นต้องล่มสลายลง และถูกแทนที่ด้วยบริษัทที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่าง Microsoft, Google, Yahoo หรือแม้กระทั่ง Samsung

          Innovative Company ในทัศนะของอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จึงต้องเป็นบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ตลอดเวลา และมีจุดเน้นที่กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ การบริการ เทคโนโลยี รวมทั้งการบริหารจัดการนวัตกรรมจึงไม่เกี่ยวกับขนาดขององค์การ แต่ขึ้นอยู่กับว่าที่ใดจะสามารถนำแนวคิด Innovation มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่ากัน

          อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า นวัตกรรม ที่พบเห็นในตำราต่างประเทศบางเล่ม จึงเป็นการผสมผสานกัน ทั้งในเรื่องของ ความรู้ (Knowledge) และ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คุณศุภชัย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในกรณีของสหภาพโซเวียตก่อนล่มสลายว่า

          “ถ้าย้อนกลับไปในอดีต รัสเซียเรื่องการวิจัยและพัฒนา การส่งยาน Sputnik เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 ก่อนอเมริกาด้วยซ้ำ รัสเซียมี KGB (คณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ) นับเป็นหน่วยงานซึ่ง advance มากทางด้านเครื่องมือสื่อสารที่เป็นเรื่องของสายลับ แต่โครงสร้างประเทศของรัสเซีย คนต้องเข้าคิวกันซื้อขนมปัง ต้องเข้าคิวแบ่งปันเสื้อผ้า เพราะฉะนั้นน่าจะได้ข้อสรุปว่า ความรู้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ แต่ตัวมันเองจะไม่ทำให้ประเทศเจริญ จะไม่สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ มันไม่ตอบสนองซึ่งความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ ความคิดสร้างสรรค์ ต่างหาก วันนี้ถ้าเราไปดู เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัสเซียเจริญก้าวหน้าอย่างมโหฬาร มีความทันสมัย เข้าอยู่ใน G7, G8 คือมันเกิด Creativity ขึ้น มันสามารถผสมผสานระหว่าง ความคิดสร้างสรรค์ กับ ความเป็นผู้ประกอบการ คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ คนนั้นต้องเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรกับธุรกิจของตัวเอง 

          “ผมเลยพยายามจะสรุปว่า Innovation ตัว I มันคือ Summation คือผลรวม คือ Sigma ของตัว C คือ Creativity + ตัว E คือ Entrepreneurship เพราะฉะนั้น Innovation คือผลรวมของความคิดสร้างสรรค์ บวกกับความเป็นผู้ประกอบการ มันมี 2 อย่างที่เข้ามาประกอบ รัสเซียเลยเจริญขึ้นมา เพราะว่าหลังจากระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย เป็นระบบที่ไม่สร้างผู้ประกอบการ รัฐจะเป็นเจ้าของหมดทุกอย่าง มันเลยมีความรู้เต็มประเทศ แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะไม่รู้จะสร้างสรรค์ไปทำไม มันเป็นผู้ประกอบการไม่ได้อยู่แล้ว แต่วันหนึ่งมันก็เกิดระบบทุนนิยม ก็เกิดผู้ประกอบการ เพราะมันมีความรู้อยู่แล้วเยอะเลย ซึ่งมันเป็นสิ่งสำคัญ แต่พื้นฐานของประเทศเพื่อจะหยิบความรู้แปลงเป็นนวัตกรรม การแปลงคือ ความคิดสร้างสรรค์”

Less for More

            คุณศุภชัย แนะนำว่าการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติ ต้องคิดถึงคำว่า Less for More คือ ลงทุนน้อย แต่ผลตอบแทนที่ได้ต้องเยอะ นั่นคือสิ่งที่เป็นผลมาจาก นวัตกรรม

            “มือถือต้นทุน 300-400 แต่ขาย 20,000 หรือรถยนต์ 1 คันคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด 1 แสนขาย 2 ล้าน แต่ข้าวสารเรา ขายหยาดเหงื่อ แรงกาย ทรัพย์ในดินสินในน้ำ พันธุ์พืช ยาฆ่าแมลงต่างๆ เราขายพวกนี้ไม่ได้ขายความคิดสร้างสรรค์เลย เราไม่ขายการแปลงความรู้ให้กลายเป็นธุรกิจ ให้เป็นนวัตกรรมขึ้นมา” อดีต ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติชี้ให้เห็นจุดอ่อนของธุรกิจจำนวนไม่น้อยในบ้านเรา

            อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่องค์การนำนวัตกรรมมาใช้ประสบผลสำเร็จแล้ว สิ่งที่จะต้องสร้างให้เป็น On Top เหนือนวัตกรรมให้ได้คือ การสร้างความแตกต่าง ซึ่ง Brand Building ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ คุณศุภชัยยังได้ขยายความว่าเวลาที่พูดถึงเรื่องนวัตกรรมจะมี 2 เรื่องที่สำคัญคือ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลง (Change) และ สอง ความแตกต่าง (Differentiation) 

            เมื่อถามถึงอุปสรรคในการสร้าง Innovation Organization ในบ้านเรา เกิดจากฝั่งผู้ผลิต หรือผู้บริโภค? คำตอบที่ได้คือ มีปัญหาทั้งสองด้าน แต่ที่เป็นปัญหามากหน่อยก็คือ ทางฝั่งผู้ผลิต เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยเป็นการรับจ้างผลิตแบบ OEM ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 

            ส่วนข้อจำกัดในระดับนโยบายของประเทศ อดีต ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมักมาจาก ความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อการสร้าง ระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ ขึ้นในระยะยาว และที่ผ่านมา รัฐบาลอยากทำทุกอย่างมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น Detroit of Asia, ครัวโลก หรือ กรุงเทพฯเมืองแฟชั่น ซึ่งบางเรื่อง ยากที่จะทำได้จริง

            นอกจากนี้บุคลิกของคนไทยเอง ก็ยังขาดความมุ่งมั่น ทำให้ถ้ามองในระดับมหภาค ประเทศไทยจึงยังไปไหนไม่ได้ไกล

            “ตัวหนึ่งที่ขาดมากในสังคมบ้านเราคือ Passion ความมุ่งมั่น เกาหลีเขาทำได้ เราไม่ได้คิดแพ้เขานะ ศักยภาพเราได้ แต่เราไม่มีความมุ่งมั่น อย่างเกาหลี เขาคิดว่าถ้าไม่ทำ เขาแพ้ญี่ปุ่นแน่ ต้องเอาให้ได้ แต่บ้านเราไม่มี และไม่พูดว่าเราจะเป็นอย่างเขาให้ได้ แต่พูดว่าเขาไปแล้ว ไปไกลแล้ว แล้วอย่างไงต่อ” 

             ส่วน Creative Economy แนวคิดที่มีการพูดถึงกัน คุณศุภชัยเห็นว่าคนที่คิดในเรื่องนี้ต้องเป็น ภาคเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานราชการเป็นคนคิด

            “Creative Economy คนที่คิดต้องไม่ใช่ราชการ ต้องเป็นเอกชน เพราะมันต้องทำน้อย ได้เงินเยอะ แต่ราชการทำเยอะหรือน้อย ได้เงินเท่าเดิม อาจจะได้โบนัสเล็กๆ น้อยๆ Creativity มันจะไม่เกิดขึ้น มันต้องเกิดขึ้นในภาคเอกชน คือภาคการผลิต ความเชื่อของเราคือ เอกชนต้องแข็งแกร่งและใหญ่ มีความมั่นคง เป็นหน่วยงานที่สามารถเคลื่อนตัวได้เร็ว และสร้างสิ่งที่ใช้หัวสมองเยอะๆ ใช้แรงงานน้อยๆ ได้ผลตอบแทนมากๆ” 

            แต่ทั้งหลายทั้งปวง แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ การนำแนวคิดนวัตกรรมไปฝังอยู่ในหลักสูตรการศึกษา นำไปบรรจบหรือ Convergence กับเรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจ และการตลาด ซึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากคือเรื่อง การจัดการ ที่ต้องสอนในเรื่องการทำงานเป็น Teamwork ให้มากขึ้น รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ แนวคิดนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ ในสังคมการทำงานทุกระดับ

            “การจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ ต้องใช้ 2 คำ คือ หนึ่ง Connectivity ความสามารถในการเชื่อมโยง สองคือ Interactivity ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ คุณต้องเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์ นี่คือที่ผมเรียกระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ คุณต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินก็ต้องเข้าใจ เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม การผลิต ภาควิชาการ วิจัย แล้วต้องพัฒนาให้เป็น Business Model ขึ้นมาเป็นรูปแบบธุรกิจ ซึ่งประเด็นนี้มันจะตอบโจทย์ของสังคมได้ ตรงนี้ถ้าจะสร้างได้ต้องอาศัย 4 วัฒนธรรมคือ หนึ่ง วัฒนธรรมนวัตกรรม คือวัฒนธรรมที่คิดและทำของใหม่ตลอดเวลา สอง วัฒนธรรมการเพิ่มผลผลิต คือจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร อีกอันคือ วัฒนธรรมการลงทุน จะลงทุนอย่างไร อีกอันคือ วัฒนธรรมผลกำไร จะทำผลกำไรได้อย่างไร นี่คืออย่างน้อยที่สุดที่คุณต้องมีในองค์การ เป็นองค์ประกอบในองค์การของคุณมาใช้ผสมผสานกัน”

นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเรื่องเทคโนโลยี

            ถ้าพูดถึงนวัตกรรม หลายคนมักจะคิดว่าต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี  แต่ในมุมมองของอดีตผู้บริหารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติอธิบายว่า Innovation ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่อง เทคโนโลยี เสมอไป

            “นวัตกรรมมันเป็นมากกว่าเทคโนโลยี เทคโนโลยีเป็นแค่ 30% ยกตัวอย่าง ทรู มือถือหากไม่มีซิมมันก็เหมือนเป็นสากกะเบือ เขาก็เลยพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเอาไปใช้เป็นโทรศัพท์สาธารณะก็เป็นนวัตกรรม หลายคนก็คิดจะเอาซิมเข้าไปใส่ในโทรศัพท์สาธารณะ แต่คิดเงินเท่ากับมือถือ ต้องชมเชยความคิดสร้างสรรค์ของเขาดีมากเลย หรือ Counter Service นั่นก็นวัตกรรมบริการชัดๆ 

            “เรามีโครงการอยู่อันหนึ่ง เป็นระบบ Logistic ใช้เครือข่ายในการส่งยา ป้องกันวิ่งรถเปล่าจากเชียงใหม่ ให้เข้าไปใน Network ไปประมูลขนของจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ใครให้ราคาสูงสุด นี่ก็เป็นนวัตกรรมที่ต้องมีการจัดการก่อน ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน แต่ GPS, GPRS ทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว อย่าง RFID ที่เขาเคยใช้ติดตามหมู เพื่อดูลูกหมูที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นอย่างไร ติดตามแต่ละตัว กินอาหารน้อย แต่ให้ผลผลิตน้ำหนักตัวเยอะ นี่คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการเกษตร คุณต้องมีความคิดสร้างสรรค์นะ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรในการเกษตร ผมเลยบอกว่าผมเรียกสาขานี้ว่า Agritronic คือ Agriculture + Electronic ตัวนี้มันทำให้สร้าง Productivity ได้มากขึ้น”

How to Build Innovation Organization?

            ความสำเร็จในการสร้าง องค์การนวัตกรรม คุณศุภชัย เห็นว่าการนำแนวคิดนี้มาใช้จะไม่สามารถก้าวไปได้ ถ้าผู้บริหารไม่เอาจริงเอาจัง

            “ต้องใช้ Innovation Start at the Top ตัว CEO ต้องคิดใหม่ ต้องลงมาคลุก และทำให้เป็นตัวอย่าง  ต้องเรียนรู้ ไม่มีใครทำแล้วประสบความสำเร็จเลย เพราะฉะนั้นคุณต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ลูกน้องกล้าทำ ไม่ต้องกลัวเจ๊ง CEO ต้องพยายามหาปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก เบอร์ 1 จะต้องบอกว่าคุณต้องทำนวัตกรรม ถ้าไม่ทำ ตายแน่ แล้วคุณก็ลงไปเล่น ต้องพยายามไป Inspire ไปกระตุ้น พยายามยุให้พนักงานทำ สอง ผมว่าในตัว CEO ต้องมีเวลาที่จะระดมสมองอย่างมี Focus ว่าเราจะหาจุดอะไรเข้ามา อย่างเซลส์ที่ต้องออกไปที่ต่างๆ ต้องมีเวที มีฟอรั่มนำเสนอ สำหรับพนักงานต้องมีแนวทางแก้ปัญหานั้นได้ ไม่ใช่ประชุมเฉพาะผู้บริหารอย่างเดียว แต่ผู้บริหารไม่เคยออกตลาด ไม่เคยดูว่าเขาแข่งกันอย่างไร ข้างล่างเองต้องเป็นคนที่ Response มันเกิดจากประสบการณ์ที่ลงไปในภาคสนามจริงๆ คุณได้สัมผัสกับลูกค้า ได้สัมผัสจริง”

            นอกจากนี้ ผู้บริหารยังต้องบอกเป้าหมายการนำแนวคิดนวัตกรรมมาใช้ในองค์การแก่พนักงานให้เห็นภาพที่ชัด

            “ผมว่าการทำนวัตกรรม คุณต้องกำหนดแนวทาง 3 อย่าง ให้พนักงานเห็นชัดเจน หนึ่ง ต้องมีเป้าหมายว่าคุณจะทำอะไร สอง คุณต้องเห็นผลเร็ว คือน้อยกว่า 1 ปี ถ้าเกินกว่านั้น ไม่มี Product ใหม่ออกมา พนักงานก็จะท้อ สาม คุณต้องบอกพนักงานให้ปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานได้ตลอดเวลา เพื่อให้มันบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน 

             “ถ้าพนักงานไม่มีอำนาจที่จะปรับเปลี่ยนโดยไม่ต้องรอเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่งั้นทำ 3–4 ปี ทำแต่อบรมสัมมนา จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย บางบริษัทใหญ่ได้คนเก่งไปทำงาน แต่ไม่สามารถดึงความสามารถเขาออกมาสร้างนวัตกรรม ก็ไม่มีใครอยากคิดทำ ถ้าไม่ถูกบังคับ เพราะมันเดือดร้อน เพราะคุณทำของใหม่ คุณจะต้องมีระบบที่จูงใจเพียงพอที่จะให้มีการแข่งขันภายในองค์กร”

              อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติยังสรุปทิ้งท้ายว่าองค์กรที่จะสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการด้วยกัน

             “ผมว่าองค์ประกอบต้องมี 3 อย่างคือ 1) นวัตกร (Innovator) ต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบ ทำ คิด สิ่งใหม่ไหม 2) คุณต้องรู้จักวิธีแสวงหาความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะคุณอาจจะไม่มีองค์ประกอบครบในคนเดียวกัน 3) สำคัญที่สุดเลยคือ ต้องลงมือทำด้วย จึงจะเกิดผลขึ้น ไม่ใช่ให้คนอื่นทำ มี 2 อย่างไม่มีประโยชน์ ไม่ Success”

หมายเหตุ เรียบเรียงจากเนื้อหาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร BrandAge Essential เล่ม 7 The Super Highway to Entrepreneurial Economy พ.ศ.2552 โดยได้มีโอกาสคุณศุภชัย หล่อโลหการ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 692038เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2021 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2021 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท