จากคลื่นกระทบฝั่ง ถึง คลื่นลูกใหม่ คลื่นใต้น้ำ


จากคลื่นกระทบฝั่ง ถึง คลื่นลูกใหม่ คลื่นใต้น้ำ

สำนวน "คลื่นกระทบฝั่ง" หมายถึง เรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวอึกทึกครึกโครม เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก หรือทั่วประเทศ แต่สุดท้ายก็กลับเงียบหายไป ไม่มีผู้คนพูดกล่าวถึงอีกเลย

ที่มาของสำนวน "คลื่นกระทบฝั่ง" มาจากการที่เปรียบเทียบกับธรรมชาติของคลื่นที่กระทบฝั่ง ไม่ว่าคลื่นนั้นจะใหญ่มากขนาดไหน สุดท้ายเมื่อขึ้นฝั่งแล้ว  คลื่นนั้นก็ถูกซับและหายไปอย่างไร้ร่องรอยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งมีคำอธิบายในอิศรญาณภาษิต ว่า

…อันคลื่นใหญ่ในมหาชลาสินธุ์
ถึงฝั่งสิ้นสาดหายเข้าในฝั่ง…

ตัวอย่าง
" คดีบุกรุกป่าสร้างรีสอร์ททำท่าจะเป็นคลื่นกระทบฝั่ง อีกสักพักคนก็ลืมไปเอง คนไทยลืมง่าย "

นอกจากนี้ยังมีสำนวนที่เกี่ยวเนื่องกับ คลื่น อีก ได้แก่ คลื่นใต้น้ำ และ คลื่นลูกใหม่

สำนวน "คลื่นใต้น้ำ" หมายถึง มีการเคลื่อนไหวหรือกระทำการอย่างเงียบๆเพื่อรอดำเนินการอะไรบางอย่าง ซึ่งดูภายนอกเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดปกติ สำนวนนี้มักใช้บ่อยๆในเหตุการณ์การเมือง

ที่มาของสำนวน ปกติคลื่นในมหาสมุทรจะมีความยาวช่วงคลื่นที่สม่ำเสมอมองเห็นได้ไม่ยากนัก แต่คลื่นใต้น้ำเป็นคลื่นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่เมื่อเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ถึงฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่ตื้นมากขึ้น จึงเกิดเป็นคลื่นขนาดใหญ่

ตัวอย่าง
" สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านช่วงนี้สงบเรียบร้อยดี แต่ก็ยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่เป็นระยะๆ "

สำนวน "คลื่นลูกใหม่" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและมีความคิดก้าวหน้าที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานด้านต่างๆแทนคนรุ่นเก่า

ที่มาของสำนวน
คลื่นลูกใหม่ใช้ในการเปรียบเปรยถึง คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและมีแนวคิดที่แตกต่างกันกับคนรุ่นเก่า ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเข้ามาแทนคนรุ่นเก่า ซึ่งความรู้ที่คนรุ่นเก่ามีนั้นไม่สามารถใช้ได้ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว คนรุ่นเก่าอาจจะตามไม่ทันหรือไม่รู้เท่าทัน ไม่เข้าใจบริบทของสังคมสมัยใหม่ การทำงานและความรู้สมัยเก่านั้นอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว หรือเป็นความรู้ที่ตกยุค ไม่สามารถใช้งานได้ในยุคปัจจุบัน

ตัวอย่าง
ทีมงานเศรษฐกิจของบริษัทเราเป็นทีมงานคลื่นลูกใหม่ล้วนๆ แม้จะอายุน้อยแต่ก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างดี

สถานที่  Cape of Good Hope , South Africa.
 

หมายเลขบันทึก: 692035เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2021 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท