A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ออนไลน์ .หยุดเรียน 1 ปีดีไหม ..ไม่ดี มันพอมีทางออก... (ตอนที่ ๔)


          ประตูบานต่อไป คือการสร้างบทเรียน บทเรียนเป็นสะพานเพื่อให้ผู้เรียนก้าวสู่การเรียนรู้เป็นลำดับ จากเรียนเพื่อรู้ (To learn >> get knowledge) ค้นเพื่อคว้า (to research >> get application) ฝึกฝนเพื่อแม่นยำ (to practice >> get skill) และสร้างสรรค์เพื่อต่อยอด (to create >> get innovation) ดังนั้น ทุกนาทีในห้องออนไลน์จึงต้อง เจือปนเป้าหมายเหล่านี้ตลอดเวลาเหมือนแทรกด้วยยาดำ 

          เมื่อเครือข่ายพร้อม  UX/UI ของครูพร้อม บทเรียนก็ไม่ยากแล้ว จะกำหนดให้รู้ตัวใดตัวหนึ่งของทั้งสี่ก็ได้ แต่พึงตระหนักว่ารู้ได้ทีละหนึ่ง ส่วนจะรู้แล้วจบ หรือจะให้รู้ต่อเนื่อง หรือจะรู้แบบสะสมเป็นลำดับขั้นตอนก็ทำได้ทั้งสิ้น บัดนี้ เมื่อพร้อมแล้ว มาเริ่มรายมนตร์วิเศษจากไม้เท้ากันเถิด...คาถานั้นมีอยู่ ๔ บท ....

  1. เรียบง่าย กระชับ เรียงลำดับ ชัดเจน
  2. หนึ่งบท หนึ่งคำ หนึ่งความ หนึ่งปม
  3. ชี้ทาง ขยายผล ฝึกตน ประเมินตัว
  4. ทดสอบ บันทึก ชี้แนะ แก้ไข

          ออนไลน์ ทุกสิ่งแขวนอยู่กับผู้เรียน บทเรียนจึงต้องสะดุดหูสะดุดตาชนิดว่าครั้งเดียวก็ต้องจำได้ทันที บทเรียนจึงต้องโดดเด่นด้วยภาพพจน์-ภาพจากถ้อยความ (Image, Visual) มันทำให้คนจำเรื่องราวต่างๆ ได้มากถึง ๗๕% มีคำอธิบายที่เรียบ ง่าย (Simple & Clearly) ใช้ภาษาพูดเป็นหลัก ความยากอยู่ตรงที่ ครูจะต้องแปลความส่วนเนื้อหาในแผนการเรียนทั้งหมด ให้เห็นเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นภาพ พูดง่ายๆ คือสร้างบทเรียนสำหรับ “ให้ดู” ไม่ใช่ “ให้ฟัง” ตัวอย่างที่โดดเด่นแนวนี้ ก็คือนิทานพุทธชาดก นิทานอีสป หรือล่าสุดก็งานสอนของครูมัดซี แทนที่จะอธิบายว่า Occupation คืออะไร ครูก็ร้องเพลงที่มีความหมายอธิบายตนเองให้เด็กๆ เห็น นักเรียนก็จำทำนองและเนื้อร้องได้ การอธิบายเลขคูณหารเป็นเรื่องพูดยาก แต่เขียนให้ดู ทำให้เห็นจะง่ายกว่า ระบบหายใจและการติดเชื้อ ทำเป็นภาพและการเคลื่อนไหว ง่ายกว่า ความยากอยู่ตรงนี้เอง ครูจึงต้องฝึกคิดถอดเนื้อความจากบทเรียนให้เป็นภาพ   เรียบง่าย กระชับ เรียงลำดับ ชัดเจน 

          ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยสิ่งรบกวน การเรียนออนไลน์จะวอกแวกได้บ่อย เนื้อหาจึงต้องกระชับ เรื่องเดียว ประเด็นเดียว เหมือนการเขียน ๑ ย่อหน้า มีใจความเดียว ประโยคสำคัญ ๑-๒ ประโยค ที่เหลือคือการอธิบายความ และยกตัวอย่างประกอบซึ่งไม่จำเป็นนัก การเรียนออนไลน์หนึ่งครั้ง จึงควรถือเป็นหนึ่งบท ที่มีใจความสำคัญหนึ่งคำ หนึ่งความ และสร้างแรงบันดาลใจหรือการบ้านให้คิดต่อเพียงหนึ่งปม เท่านั้น ระลึกไว้เสมอว่า ทำให้เห็น ดีกว่าพุดให้ฟัง  เหมือนจะสั้น แต่ถ้าคุณเลนเกมจะพบว่าทุกด่านที่คุณเผชิญ ทุกตัวละครใหม่ที่เจอ หรือทุก Item ที่ได้ คุณจะได้พบปมปัญหาใหม่ ๑ ปม ได้ทักษะเพิ่ม ๑ อย่าง ได้ ได้วิธีการเอาชนะ ๑ วิธี เสมอๆ และยากที่จะเจอสิ่งใหม่ๆ ในเกมพร้อมกันทีเดียวหลายๆ ตัว ห้องเรียนออนไลน์ก็ต้องแบบนี้แหละ ถ้าอยากให้เรียนรู้หลายเรื่อง ก็ต้องจัดวางบทเรียนย่อย ๆ ต่อเนื่องกันให้ดี ก็จะได้ผล

          เมื่อเรียนรู้หลายๆ บท ความรู้จะสั่งสม จึงต้องมีแบบฝึกหัดเพื่อ “เชื่อมโยง” ความรู้ที่ละ ๑ เรื่อง ๑ วิธีที่ได้เหล่านั้น แบบฝึกหัด (ทำให้เห็น ดีกว่าพุดให้ฟัง) จะหลอมรวมความรู้ที่ได้ให้เป็นชิ้นเป็นอันจากง่ายที่สุดเพื่อทบทวนบทเรียนไปถึงบทที่ยากที่สุด หัวใจของการบ้านที่ดีคือ “ทำด้วยกัน ดีกว่าดูด้วยกัน”  และแน่นอนว่าการบ้านก็คงมีปมสลับซับซ้อนมากกว่า ๑ ปมได้แล้ว แต่ก็อย่าลืมว่า เมื่อจะรวมปมเข้าด้วยกัน ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างมีลำดับขั้นตอน การบ้านหรือแบบทดสอบนี้แหละที่จะเป็นเรื่องสนุกอีกขั้นตอนหนึ่งของออนไลน์

        โปรดสังเกตว่า แม้จะฟังภาษาไม่รู้เรื่อง แต่เราก็เข้าใจการคิดคำนวณนี้ได้ "ทำให้ดู ดีกว่าพุดให้ฟัง"

          คาถาบทที่ ๓ ชี้ทาง ขยายผล ฝึกตน ประเมินตัว การเฉลยคำตอบให้รู้ว่าถูกหรือผิด สำหรับแบบฝึกหัดออนไลน์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นก็จริง แต่การเฉลยที่เร้าใจที่สุดกลับเป็นการเฉลย “เหตุที่ทำผิด” และจะแก้อย่างไร ตรงนี้แหละ สนุก (ในเกม เขาเรียกว่า โกงเกม) ในโลกออนไลน์ ผู้เรียนรู้มากคือผู้ที่ทำผิดพลาดบ่อย เพราะเขาจะรู้วิธีแก้ไขมากที่สุด แต่สิ่งเหล่านี้ต้องไม่อยู่ในบทสอนปกติ ควรเพิ่มเป็นแบบฝึกหัดนอกห้องเรียน ให้นักเรียนค้นต่อ  มีแบบฝึกหัดเพิ่มเติมมากๆ ยิ่งทำแบบฝึกหัดบ่อย นักเรียนก็จะได้ฝึกตน ประเมินตัวเองได้ในเวลาไม่นาน เชื่อเถิดว่า ผู้เรียนจะเกิดทักษะการจดจำและไม่ทำผิดซ้ำขึ้น และติดตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

          ปัญหาของออนไลน์ทุกวันนี้คือเรียนนาน (วันหนึ่ง 7-8 ชั่วโมง)  เรียนแล้วจบ ไม่มีบทสนุกให้ไปต่อ ไม่มีแบบฝึกหัดท้าทายมากพอให้เห็นวิธีการหลากหลาย เรียนแล้วประเมินตัวเองไม่ได้ ถ้าบทเรียนมี ๑ บท บทเรียนรู้ต่อเนื่องอาจต้องมีมากถึง ๑๐ บท และการบ้านต่อเนื่องก็อาจต้องมีมากกว่า ๑๐ เท่าด้วย แม้รู้คำตอบแล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้ถูกต้อง ถึงทำถูกต้องแต่ก็ไม่แน่ว่าจะทันเวลาไหม ถึงแม้จะทันเวลาก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นอันดับที่น่าพอใจหรือไม่ ..เสน่ห์ของบทเรียนออนไลน์จึงอยู่ตรงนี้. มันจะสร้างนิสัย “ทดสอบ บันทึก ชี้แนะ แก้ไข” ขึ้นในตัวของผู้เรียนขึ้นโดยอัตโนมัติ ผู้เรียนจะเก่งจากการบันทึกข้อผิดพลาดของตน แก้ไขได้ก็ไปต่อได้ และถ้าบูรณาการความรู้ได้ครบ ก็จบหลักสูตรวิชานั้นได้ แบบนี้เอง การเรียนออนไลน์จึงเป็น None-Linear, และเป็น Multiplex Perspective Linear)

           ที่ว่าเรียนออนไลน์ เรียนจบได้ในวันเดียว  เป็นความจริง แต่บทสอนก็ต้องถูกออกแบบไว้รองรับแบบนี้นะ ถ้าไม่มีแบบนี้ เรียนอีกหลาย ๆ ปีก็ไม่จบ..เพราะมันไม่ใช่ มันต้องมีคาถากำกับ เช่นที่ว่า...

          เรียนออนไลน์นี้ยากเพราะไม่คุ้นเคย.. จึงต้องฝึกลงคาถาบ่อย ๆ ให้ขึ้นใจ บทเรียนก็จะสำเร็จได้. 

ขอบคุณเจ้าของภาพและวิดิโอ จากโลกออนไลน์
บันทึกไว้ แต่ไม่พบเจ้าของต้นฉบับ  /ขอบคุณอีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 692007เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2021 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2021 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท