สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก  ๑๕. การพัฒนาครู  (ต่อ) : กิจกรรมครูร่วมกันพัฒนาตนเอง


 

บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้   เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง    โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)    กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม  และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching 

บันทึกนี้ตีความจากหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) บทที่ ๘ Professional Development  

เนื่องจากเนื้อหาเรื่องการพัฒนาครูค่อนข้างยาว    ผมจึงแบ่งเป็น ๒ บันทึก    โดยบันทึกที่ ๑๕ นี้ เป็นเรื่องกิจกรรมที่ครูร่วมกันพัฒนาตนเอง และพัฒนากันเอง    โดยโรงเรียนจัดระบบสนับสนุน    

หน่วยพัฒนา (Development units)

นี่คือกิจกรรมตัวจริง ของการร่วมกันพัฒนาตนเองของครู โดยโรงเรียนมีระบบสนับสนุน    ในที่นี้มีทั้งหมด ๑๐ หน่วย    คือกิจกรรมทบทวนใหญ่ตอนกลางเทอม ๑ ครั้ง    กิจกรรมทบทวนใหญ่ตอนสิ้นเทอม ๑ ครั้ง    และกิจกรรมเป็นวงรอบ ๘ วงรอบ   ซึ่งอาจมองว่าเป็นการวิจัย R2R (routine to research) เล็กๆ ก็ได้       

แต่ละวงรอบประกอบด้วย ๕ กิจกรรมคือ  (๑) วางแผนและกำหนดเป้าหมาย   โดยครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันกำหนด ว่าจะดำเนินการทดลองอะไร  เมื่อสิ้นวงรอบจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่การพูดในห้องเรียน  (๒) ดำเนินการ/ทดลอง    โดยครูสอนบทเรียนที่วางแผนไว้   (๓) รวบรวมข้อมูล นำมาสังเกตร่วมกัน  ทีมครูและครูพี่เลื้ยงร่วมกันดูวิดีทัศน์ตอนที่เลือก   (๔) ทบทวนและตีความ  ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันทบทวนจากการดูวิดีทัศน์ว่าได้เกิดอะไรขึ้นในวงรอบ หรือในบางช่วงของการเรียน  (๕) กำหนดจุดพัฒนาต่อเนื่อง   ร่วมกันกำหนดว่าในรอบต่อไปจะเน้นพัฒนาอะไร

โปรดสังเกตว่า กิจกรรมนี้มีลักษณะพิเศษคือ ครูเป็นผู้นำการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง    โดยจุดเน้นในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระวิชา (เป็นเรื่องที่ครูแต่ละคนรับผิดชอบเอง) แต่อยู่ที่วิธีการพูดที่นำไปสู่การเรียนรู้สูง   

วงรอบที่ ๑  พัฒนาวัฒนธรรมปฏิสัมพันธ์ 

อ้างอิงสาระเชิงหลักการในบันทึกที่ ๕ ของบันทึกชุด สนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้    กิจกรรมของวงรอบเริ่มด้วยการที่ครูหรือครูพี่เลี้ยงบันทึกวิดีทัศน์การสอนตอนต้นเทอมที่มีการอภิปรายเข้มข้น    ตอนเริ่มวงรอบครูจัดเวลาเรียนให้นักเรียนคุยกันเรื่องการพูดในชั้นเรียน และวิธีพูดให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้สูงสุด   ในขั้นดำเนินการครูชวนนักเรียนคุยว่าในช่วงเทอมนี้ (หรือปีนี้) จะหาทางส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้พูดในชั้นเรียนอย่างเปิดใจและสบายใจได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ขี้อาย หรือพูดไม่คล่อง   รวมทั้งให้นักเรียนร่วมกันกำหนดกติกาการพูดและฟังในชั้นเรียน   และให้ช่วยกันสังเกตและหาทางช่วยกันปรับปรุง   ตอนปลายวงรอบครูหรือครูพี่เลี้ยงบันทึกวิดีทัศน์อีกครั้งหนึ่ง    เลือกนำเฉพาะบางตอนมาเปิดดูและร่วมกันทบทวนและตีความประเมินความก้าวหน้า    และร่วมกันใช้ประสบการณ์ของวงรอบแรกนี้ในการกำหนดแนวทางดำเนินการให้เกิดการพูดที่ดีในชั้นเรียน   และนำไปปรึกษากับนักเรียนเพื่อปรับปรุงกติกาการพูดในชั้นเรียนที่กำหนดไว้ตอนต้นวงรอบ โดยอาจช่วยกันจัดหมวดหมู่ตามในบันทึกที่ ๕   ครูร่วมกันทบทวนว่านักเรียนคนไหนบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการพูดเป็นพิเศษ และจะช่วยเหลืออย่างไร       

วงรอบที่ ๒  พัฒนาการจัดชั้นเรียน

อ้างอิงสาระเชิงหลักการในบันทึกที่ ๖ ของบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้    เป้าหมายของวงรอบที่ ๒ คือ ทดลองจัดห้องเรียน และจัดกลุ่มนักเรียน เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนด้วยสานเสวนา    กิจกรรมของวงรอบเริ่มด้วยครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันอภิปรายว่า ในปัจจุบันพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้แบบสอนเสวนา ๔ มิติ คือ  (๑) ด้านปฏิสัมพันธ์ (relations)  (๒) ด้านการจัดกลุ่ม (grouping)  (๓) ด้านเทศะหรือพิ้นที่ (space)  (๔) ด้านกาละหรือเวลา (time) มีลักษณะเป็นอย่างไร   และน่าจะปรับปรุงเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้การพูดในห้องเรียนสะดวกขึ้น    โดยอาจใช้วิดีทัศน์ที่ถ่ายช่วงหลังในวงรอบที่ ๑ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา   

ในช่วงดำเนินการ/ทดลอง  ครูมีโอกาสทดลองได้สารพัดแบบ เช่นทดลองจัดเฟอร์นิเจอร์ในห้องเสียใหม่ ให้สนองการจัดกลุ่มนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงได้หลายแบบ (ทั้งชั้น  กลุ่มย่อย และคนเดียว) อย่างรวดเร็ว    ทดลองเปลี่ยนขนาดกลุ่ม และองค์ประกอบของสมาชิกกลุ่ม เพื่อให้เหมาะต่อกิจกรรมในชั้นเรียน   กระบวนการทดลองนี้อาจดำเนินต่อไปตลอดทั้งเทอมหรือทั้งปี   

รวบรวมข้อมูลโดยครูหรือครูพี่เลี้ยงถ่ายวิดีทัศน์กิจกรรมในห้องเรียนที่มีการทดลองเปลี่ยนแปลง   ทีมครูและครูพี่เลี้ยงนำบันทึกวิดีทัศน์ครั้งที่สองของวงรอบที่ ๑  กับที่บันทึกในวงรอบนี้   ร่วมกันพิจารณาว่าเกิดผลกระทบอะไรบ้าง    ควรปรับปรุงอย่างไร  หรือในบางกรณีอาจควรย้อนกลับไปทำแบบเดิม       

วงรอบที่ ๓  พูดเพื่อเรียนรู้ 

อ้างอิงสาระเชิงหลักการในบันทึกที่ ๗, ๘, ๑๓  ของบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้    วงรอบนี้มีเป้าหมายสำรวจหาและขยายเพิ่มการพูดของนักเรียนในรูปแบบที่ครูอยากได้ยิน ที่จะช่วยยกระดับการคิด   เริ่มจากการที่ครูเลือกบางตอนจากวิดีทัศน์ในวงรอบที่ ๒    ที่แสดงการพูดของนักเรียนในรูปแบบต่างๆ    นำมาร่วมกันแบ่งกลุ่มตามแนวทางในบันทึกที่ ๗   แล้วครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันตรวจสอบการแบ่งกลุ่มการพูด     และหา (๑) ความถี่ของการพูดแต่ละแบบ   (๒) รูปแบบการพูดที่สำคัญแต่ไม่มีในวิดีทัศน์   แล้วร่วมกันวางแผนส่งเสริมให้เกิดการพูดแบบที่สำคัญนั้น    โดยทบทวนบันทึกที่ ๘ ว่าการพูดของครูแบบไหนที่จะส่งเสริมให้นักเรียนเสวนากันแบบนั้น   

ครูดำเนินการสอนเพื่อกระตุ้นการพูดแบบที่กำหนดไว้   แล้วครูหรือครูพี่เลี้ยงถ่ายวิดีทัศน์ไว้ 

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันเปรียบเทียบวิดีทัศน์ในวงรอบที่ ๒ และวิดีทัศน์ของวงรอบที่ ๓  ว่ามีการพูดตามแบบที่ต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร   และอภิปรายวิธีที่ครูจะใช้ส่งเสริมการพูดของนักเรียนในแนวที่ต้องการสำหรับใช้ในการสอนตอนต่อๆ ไป       

วงรอบที่ ๔  พูดเพื่อสอน

เป็นเสมือนภาพกลับหรือภาพในกระจกของวงรอบที่ ๓    โดยเสาะหาคำพูด และท่าทาง (อวัจนะภาษา) ของครู ที่เหมาะสมต่อเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน    นำมาหาทางขยายต่อ    เริ่มจากครูร่วมกันดูวิดีทัศน์ตอนท้ายของวงรอบที่ ๓ โดยดูตลอดทั้งคาบ   เพื่อจัดกลุ่มการพูดเพื่อสอนที่เกิดขึ้น   อ้างอิงหลักการตามในบันทึกที่ ๘   แล้วครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันตรวจสอบการจัดกลุ่มดังกล่าว  โดยตรวจสอบ (๑) ความถี่ของการพูดแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้น  (๒) ว่าการพูดแต่ละแบบเกิดขึ้นในช่วงการเรียนรู้ใด  (๓) ว่ามีรูปแบบการพูดแบบใดที่สำคัญมากต่อการเรียนรู้ของนักเรียน แต่ครูพูดน้อยหรือไม่ได้พูดเลย       

ตามด้วยครูกับครูพี่เลี้ยงร่วมกันวางแผนบทเรียนที่มุ่งใช้การพูดแบบที่เป็นเป้าหมาย    โดยคำนึงถึงสาระในบันทึกที่ ๗ ว่าการพูดเพื่อสอนแบบใด ที่จะนำไปสู่การพูดแนวที่ต้องการ   

หลังจากนั้นครูนำเอารูปแบบการพูดที่ต้องการไปทดลองใช้ในการสอนของตน   

กิจกรรมทบทวนใหญ่ตอนกลางเทอม

มี ๒ เป้าหมายคือ (๑) ร่วมกันทบทวนกิจกรรมด้านการจัดการโครงการ  (๒) ร่วมกันทบทวนข้อเรียนรู้  อันได้แก่วิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จ ความรู้ที่งอกเงยขึ้น   และประเด็นที่จะต้องมีการปรับปรุง

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันตรวจสอบด้านการจัดการ ๒ ประเด็น  และด้านการเรียนรู้ ๒ ประเด็น  ได้แก่  (๑) บันทึกวิดีทัศน์ได้รับการจัดเก็บและติดป้ายชื่ออย่างถูกต้อง   มีการทำดัชนีตอนที่สำคัญเอาไว้ใช้งานภายหลัง  (๒) มีบันทึกข้อมูลการวางแผนและเป้าหมาย  การตรวจสอบผล และข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง ของวงรอบที่ ๑ - ๔ แต่ละวงรอบ และจัดเก็บไว้ในที่เก็บเอกสารของโครงการอย่างเป็นระบบ  (๓) กำหนดวิธีปฏิบัติที่ดี ๑ - ๒ รายการ ในรูปของเรื่องเล่า หรือเป็นคลิปวิดีทัศน์ก็ได้ โดยอาจแนบปัญหาหรือคำถามเป็นข้อสังเกตด้วยก็ได้  (๔) ประเมินความก้าวหน้าและประเด็นที่จะต้องปรับปรุง โดยคำนึงถึงหลักการของการสอนแนวสานเสวนา   

ครูทุกคนและครูพี่เลี้ยงประชุมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความสำเร็จ (โดยอาจเสนอคลิป),  ทบทวนความก้าวหน้า,  และแนวทางแก้ปัญหาที่พบ   เพื่อเตรียมดำเนินการวงรอบที่ ๕ - ๘ ต่อไป    โดยที่ในวงรอบที่ ๕ - ๘ จะเป็นเรื่องของการพูดและการจัดห้องเรียนแบบที่จำเพาะ  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการขับเคลื่อนในรูปแบบที่ต้องการ   

วงรอบที่ ๕  การตั้งคำถาม

เป็นวงรอบเพื่อตรวจสอบการตั้งคำถามของครูและนักเรียน และหาทางส่งเสริมทักษะนี้    โดยอ้างอิงสาระเชิงทฤษฎีในบันทึกที่ ๙  

เริ่มจากครูเลือกตอนสำคัญ ๒ ตอนจากวิดีทัศน์ที่ถ่ายตอนท้ายของวงรอบที่ ๔  โดยตอนหนึ่งเป็นการถามโดยครู  อีกตอนหนึ่งนักเรียนเป็นผู้ถาม   ตามด้วยครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันจัดกลุ่มคำถามในทั้งสองตอน ว่าเป็นคำถามแบบไหน และขับเคลื่อนการเสวนาอย่างไร    ในส่วนของการถามโดยครู  ตรวจสอบ (๑) การเว้นช่วงให้นักเรียนมีเวลาคิด (๒) สมดุลระหว่างการให้นักเรียนยกมือขอตอบ กับการที่ครูชี้ตัวคนตอบเอง  (๓) สมดุลระหว่างคำถามปลายปิดกับคำถามปลายเปิด (๔) เป้าหมายต่างๆ ของการถาม   ในส่วนของการถามโดยนักเรียน ตรวจสอบชนิดของคำถาม    ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งในการถามโดยครู และโดยนักเรียน มีการถามคำถามแบบไหนบ่อยที่สุด   

ครูและครูพี่เลี้ยง ร่วมกัน  (๑) วางแผนบทเรียนที่กำหนดสัดส่วนของรูปแบบคำถามของครูไว้ล่วงหน้า   (๒) มีบทฝึกหัดให้นักเรียนได้ระดมความคิดล่วงหน้า (และถ่ายวิดีทัศน์ไว้) ว่าในบทเรียนนั้นนักเรียนควรตั้งคำถามว่าอย่างไรบ้าง   

แล้วครูนำแผนดังกล่าวไปสอนตามแนวคำถามของนักเรียน    โดยหากจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อย ในตอนท้ายให้รวมนักเรียนทั้งชั้น เพื่อนำเอาคำถามที่นักเรียนระดมความคิดไว้ล่วงหน้ามาพิจารณา (เป็นคำถามที่ถูกต้องหรือไม่) และปรับปรุง   และร่วมกันอภิปรายว่า มีความสำคัญอย่างไรที่นักเรียนจะต้องมีโอกาสตั้งคำถามด้วย   

ในตอนท้ายของวงรอบครูหรือครูพี่เลี้ยงถ่ายวิดีทัศน์ โดยให้มีตอนที่ครูถามคำถาม และตอนที่นักเรียนอภิปราบ

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันทบทวนความก้าวหน้าภายในวงรอบ ว่าครูและนักเรียนพัฒนาขึ้นอย่างไรบ้างในการตั้งคำถามตามที่ระบุในบันทึกที่ ๙   และจะมีช่องทางอย่างไรบ้างที่จะปรับปรุงขึ้นไปอีก    หากยึดหลักการพูดที่ดี ๖ ประการสำหรับการสอนแนวสานเสวนา ตามหัวข้อ หลักการ ในบันทึกที่ ๔  การตั้งคำถามของครูและนักเรียนมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง       

วงรอบที่ ๖  ขยายความ

เป็นวงจรที่เน้นการจับประเด็นคำพูดของนักเรียนมาดำเนินการต่อ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีการเสวนาเข้มข้น  สร้าง “จังหวะที่สาม” ของ IRE/IRF ที่ไม่ใช่จังหวะจอด   แต่เป็นจังหวะเชื่อมโยง    คือแทนที่จะ “ป้อนกลับ” กลายเป็น “ป้อนไปข้างหน้า”    ประเด็นเชิงทฤษฎีอยู่ในบันทึกที่ ๑๐

 เริ่มจากครูเลือกหนึ่งหรือหลายตอนในวิดีทัศน์ที่ถ่ายตอนท้ายของวงรอบที่ ๕   ที่นักเรียนตอบคำถามครู หรือพูดใน IRE/IRF หรือนอก IRE/IRF ก็ได้   คือนักเรียนพูดตั้งคำถามก็ได้    หาตอนที่นักเรียนพูดต่างๆ กัน เพื่อนำมาตรวจสอบ ขยายความ และดำเนินการต่อ   

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันอภิปรายวงรอบที่ ๖  ในส่วนที่ครูจัดการคำตอบหรือคำพูดของนักเรียน    ว่ามีการขับเคลื่อนต่อ น้อยตอนหรือมากตอน   มีตอนไหนที่เป็นการเคลื่อนต่อแบบอัตโนมัติหรือเป็นนิสัย ไม่ใช่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง   แล้วร่วมกันเตรียมบทเรียนที่กระตุ้นการถาม และมีคำพูดเคลื่อนประเด็นหรือความคิด เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเสวนาต่อ   

ครูนำบทเรียนที่ร่วมกันเตรียมไปสอน   เน้นให้เกิดการขยายความตามกรอบปฏิบัติที่ ๖ ในบันทึกที่ ๑๐   โดยนักเรียน แชร์ ขยาย และทำความชัดเจน ต่อความคิดของตนเอง,  ฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจ,  ทำให้เหตุผลชัดเจนหรือลึกซึ้งขึ้น,   และ คิดร่วมกันกับผู้อื่น    ซึ่งหมายความว่าครูหาวิธีพูดเพื่อขับเคลื่อนให้นักเรียนฟัง พูด และคิด    เมื่อนักเรียนตอบสนอง ก็มีการตรวจสอบ ท้าทาย และขยายต่อ ผ่านคำพูดและการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนต่อ   

 ครูหรือครูพี่เลี้ยงถ่ายวิดีทัศน์ในช่วงท้ายของวงรอบที่ ๖   แล้วครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันประเมินความก้าวหน้าของครูในการพูดขยายการเคลื่อนตัวของการสานเสวนา    สังเกตว่าการพูดเพื่อเคลื่อนตัวแบบไหนมากที่สุด แบบไหนน้อยที่สุด    เมื่อมองจากการพูดสนองของนักเรียน การพูดแบบไหนเหมาะสมที่สุด    แบบไหนก่อผลมากที่สุด   สำรวจหากรณีที่มีการเสวนาอย่างลื่นไหลสู่การพูดของนักเรียนที่เชื่อมโยงขยายประเด็น   สภาพนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร   

ร่วมกันหาคำตอบว่า ในตอนนี้การถามตรงตาม “หลักการพูดที่ดี ๖ ประการสำหรับการสอนแนวสานเสวนา” เพียงใด   การพูดขยายความไม่เพียงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น แต่มีการคิดเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่    แยกแยะระหว่างการขยายความเชื่อมโยงสาระวิชา   กับการเชื่อมโยงความคิด  

วงรอบที่ ๗  การอภิปราย

วงรอบนี้เป็นการทำความเข้าใจคุณภาพของการอภิปรายในห้องเรียน และหาทางยกระดับคุณภาพ    กรอบแนวทางปฏิบัติด้านการอภิปรายครอบคลุมทั้งการอภิปรายของนักเรียนและของครู    ในด้านการจัดระบบ  ตั้งคำถาม และขยายความ    โดยต้องเอาใจใส่วัฒนธรรมและแนวปฏิบัติทั่วไปของการพูด ที่พัฒนาโดยวงรอบที่ ๑ เป็นต้นมา   

ประเด็นเชิงทฤษฎีอยู่ในบันทึกที่ ๑๑    การทบทวนและวางแผนเริ่มจากครูเลือก ๒ ช่วงในวิดีทัศน์ที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้   ช่วงหนึ่งเป็นการอภิปรายทั้งชั้นหรือในกลุ่มย่อยนำโดยครู   อีกช่วงหนึ่งเป็นการประชุมกลุ่มย่อยนำโดยนักเรียน   

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันอภิปรายบันทึกที่ ๑๑ (กรอบปฏิบัติที่ ๗)    เน้นที่ข้อพึงปฏิบัติที่ตกลงกัน เช่น ผลัดกันพูด ให้เกียรติต่อการพูดและข้อคิดเห็นของผู้อื่น (กรอบฯ ที่ ๑)    การจัดที่นั่งและจัดกลุ่มนักเรียน (กรอบฯ ที่ ๒)   รวมทั้งทบทวนรูปแบบการพูดและการขับเคลื่อนการเสวนา (กรอบฯ ที่ ๓ - ๖)    รวมทั้งเอาใจใส่ปัญหาการแสดงความเห็นเชิงสิทธิทางสังคมและตัวตนของนักเรียน (student voice)    หากกิจกรรมในวงรอบก่อนๆ ได้ผลดี จะเห็นสภาพที่นักเรียนรับฟังซึ่งกันและกัน และสนับสนุนกันให้หาคำพูดมาแสดงออกความคิดของตน   รวมทั้งนักเรียนและครูมีการถามคำถาม (วงรอบที่ ๕)   และดำเนินการพูดขยายความ (วงรอบที่ ๖)   

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันทบทวนวิดีทัศน์ ๒ ช่วงที่เลือกไว้   และประเมินว่ามีความก้าวหน้าตามกรอบแนวปฏิบัติที่ ๗ เพียงไร  และร่วมกันวางแผนพัฒนาการจัดการเรียนต่อเนื่องจากวงรอบที่ ๕ และ ๖  เพื่อยกระดับคุณภาพของการถามเพื่อขับเคลื่อนสู่การขยายความ    ที่สำคัญคือ เน้นให้ครูมีความสามารถเปลี่ยนแนวการเสวนาจากปฏิสัมพันธ์ครู-นักเรียน ไปเป็นนักเรียน-นักเรียน    ในการประเมินวิดีทัศน์ที่นักเรียนเป็นผู้นำการอภิปราย ให้ประเมินตาม เงื่อนไขสำหรับการอภิปรายที่นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ ในบันทึกที่ ๑๑   แล้ววางแผนบทเรียนที่  (๑) ครูดูแลให้เกิดการอภิปรายของนักเรียนทั้งชั้นอย่างมีคุณภาพสูง  (๒) มีช่วงที่มีการอภิปรายกลุ่มย่อยที่นักเรียนเป็นผู้นำการอภิปราย   

ครูนำแผนที่วางไว้ไปดำเนินการสอน

ครูหรือครูพี่เลี้ยงถ่ายวิดีทัศน์ของการอภิปรายทั้งชั้น    และของการอภิปรายกลุ่ม ในการถ่ายวิดีทัศน์ของการอภิปรายกลุ่ม แนะนำให้วางเครื่องบันทึกเสียงไว้กลางวงเพื่อจะบันทึกเสียงนักเรียนชัดเจน    วางกล้องวิดีทัศน์บนสามขาไว้ห่างๆ เพื่อบันทึกท่าทางของสมาชิกกลุ่ม เอาไว้ดูอวัจนะภาษา    บันทึกการอภิปรายกลุ่มของกลุ่มอื่นไว้เปรียบเทียบด้วย   

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันประเมินความก้าวหน้าของการอภิปรายตามหลักการ   เปรียบเทียบคุณภาพของการอภิปรายกลุ่มย่อย     ตรงไหนทำได้ดี ตรงไหนทำได้ไม่ดี    ในส่วนที่ทำได้ไม่ดีสาเหตุมาจากอะไร    เกิดจากครูวางแผนไม่ดี หรือมาจากปฏิสัมพันธ์กลุ่มของนักเรียนเอง  หรือทั้งสองปัจจัย  หรือจากปัจจัยอื่น 

ประเมินว่า การอภิปรายก้าวหน้าไปแค่ไหนตามหลักการพูดในห้องเรียน ๖ แบบ ในบันทึกที่ ๔ คือ  (๑) สะท้อนความเป็นทีมเดียวกัน  (๒) สะท้อนความเกื้อหนุน  (๓) ต่างตอบแทน  (๔) อภิปรายตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน  (๕) สั่งสม (๖) มีเป้าหมาย    มีการพูดระดับ ๔ - ๖ หรือไม่

ครูและนักเรียนร่วมกันดูวิดีทัศน์ของการประชุมกลุ่มที่นักเรียนเป็นผู้นำการอภิปราย   ให้นักเรียนช่วยกันบอกว่ามีตรงไหนบ้างที่ควรปรับปรุง    

วงรอบที่ ๘  การโต้แย้ง

ประเด็นเชิงทฤษฎีอยู่ในบันทึกที่ ๑๒  วงรอบนี้เป็นการฝึกการพูดของนักเรียนก้าวหน้าไปจากตอนก่อนๆ อีกขั้นหนึ่ง    คือสู่การโต้แย้งกัน   

ครูดูวิดีทัศน์จากวงรอบที่ ๗ หรือวงรอบก่อนหน้านั้น  เลือกตอนที่นักเรียนอภิปรายกันแบบตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน (deliberative)   หรือนักเรียนเสนอข้อคิดเห็นและปกป้องข้อเสนอนั้น  เก็บไว้ใช้

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันอภิปรายบันทึกที่ ๑๒   ร่วมกันทำความเข้าใจว่าการสอนการโต้แย้งเป็นการสร้างพลวัตในห้องเรียนแบบจำเพาะ การอภิปรายแบบจำเพาะ ไปพร้อมๆ กันกับฝึกนักเรียนให้คิดในรูปแบบที่จำเพาะ    โดยพึงตระหนักว่า วงรอบนี้ไปไกลกว่าการโต้แย้งกันทางวาจา    คือนักเรียนจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติของการโต้แย้ง    ในทางทหษฎี จะได้เรียนรู้หลักการและความหมายของการโต้แย้ง 

ครูสร้างรูปแบบกระบวนการในชั้นเรียน ให้นักเรียนคุ้นกับ “วัฒนธรรมโต้แย้ง” โดยไม่ต้องเอ่ยคำว่าโต้แย้งก็ได้    คือให้นักเรียนคุ้นเคยกับการใช้จนเคยชิน   กระบวนการนั้นคือ การตั้งคำถาม (questioning)  ตามด้วยการขยายความ (extension)  และการอภิปราย (discussion)    แต่ในนักเรียนชั้นโต ควรให้เข้าใจทฤษฎีและศัพท์ของการโต้แย้ง  ๖ ระดับคือ  (๑) ยื่นข้อเสนอ  (๒) เสนอตัวอย่าง  (๓) เล่าเรื่องราวสู่ข้อสรุปพร้อมเหตุผล  (๔) โต้วาทีระหว่างสองฝ่ายที่มองประเด็นต่างกัน  (๕) โต้แย้ง (dispute)  (๖) ทะเลาะ (quarrel)  ตามในบันทึกที่ ๒   

ควรวางแผนการสอนโดยใช้การโต้แย้งในทุกรายวิชาหรือโมดุลในหลักสูตร    โดยคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้อะไรเป็นตัวจุดชนวนการโต้แย้ง ใช้ เอกสาร/หนังสือ  โจทย์ของครู  หรือกิจกรรมภาคปฏิบัติ   

ครูสอนบทเรียนตามแนวทางข้างบน    โดยสอดใส่ขั้นตอนของการโต้แย้งอย่างเหมาะสม ตามในบันทึกที่ ๑๒   เช่น ขั้นเปิดฉาก - ขั้นโต้แย้ง – ขั้นปิดฉาก,  ยื่นข้อเสนอ – ให้เหตุผล – ให้ข้อมูลหลักฐาน – พูดท้าทายข้อมูลหลักฐาน – พูดโต้คำท้าทาย         

ครูหรือครูพี่เลี้ยงบันทึกวิดีทัศน์อย่างน้อย ๒ บทเรียน ที่แตกต่างกันในเนื้อหา หรือเป้าหมายการเรียนรู้ (attitude, skills, knowledge)    

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันดูบางตอนในวิดีทัศน์จากการถ่ายทำ ๓ ครั้ง ในวงรอบที่ ๗ และ ๘  เพื่อดูความก้าวหน้าของการพูดโต้แย้งตามหลักการในบันทึกที่ ๑๒  และตามเป้าหมายการเรียนรู้ในหลักสูตร   

ครูและนักเรียนร่วมกันดูคลิปวิดีทัศน์และอภิปรายกันเพื่อเรียนรู้การพูดโต้แย้ง     

ในการร่วมกันสะท้อนคิดทั้งในระหว่างครูกับครูพี่เลี้ยง  และระหว่งครูกับนักเรียน พึงเอาใจใส่ทั้งกระบวนการและสาระของการโต้แย้ง   เกิดการพัฒนาทั้งด้านการพูด และด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่จะมีส่วนทำให้การโต้แย้งก่อผลลัพธ์สูงหรือไม่    กระบวนการโต้แย้งพัฒนาขึ้นหรือไม่    นักเรียนและครูคล่องขึ้นในการเริ่มประเด็น ตรวจสอบคำถามที่ซับซ้อน และตรวจสอบข้อมูลหลักฐานในหลากหลายรูปแบบเก่งขึ้นหรือไม่      

กิจกรรมทบทวนใหญ่ตอนสิ้นเทอม

ครูและครูพี่เลี้ยงร่วมกันตรวจสอบว่า  (๑) บันทึกวิดีทัศน์ได้รับการจัดเก็นและติดป้ายชื่ออย่างถูกต้อง   มีการทำดัชนีตอนที่สำคัญเอาไว้ใช้งานภายหลัง  (๒) มีบันทึกข้อมูลการวางแผนและเป้าหมาย  การตรวจสอบผล และข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง ของวงรอบที่ ๑ – ๘ แต่ละวงรอบ  และจัดเก็บไว้ในที่เก็บเอกสารของโครงการอย่างเป็นระบบ  (๓) กำหนดวิธีปฏิบัติที่ดี ๑ - ๒ รายการ ในรูปของเรื่องเล่า หรือเป็นคลิปวิดีทัศน์ หรือคลิปเสียงก็ได้ โดยอาจแนบปัญหาหรือคำถามเป็นข้อสังเกตด้วยก็ได้ 

ในช่วงการทบทวนนี้ ให้เอาใจใส่ การพูดเชิงแสดงตัวตนหรือเชิงสังคม (voice),  ความเท่าเทียม (equity), และการยอมรับซึ่งกันและกัน (inclusion) ของนักเรียน    ตรวจสอบว่านักเรียนคนไหนพูดมากที่สุด และน้อยที่สุด  เพราะอะไร     นักเรียนจากครอบครัวที่ภาษาที่โรงเรียนกับภาษาที่บ้านไม่เหมือนกัน หรือนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษด้านการเรียนรู้  หรือนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษด้านภาษาและการพูด  มีพัฒนาการด้านการพูดในห้องเรียนอย่างไร    ความก้าวหน้าด้านการพูดในห้องเรียนมีความแตกต่างด้านเพศ และด้านเศรษฐฐานะของนักเรียนหรือไม่   

ครูทุกคนและครูพี่เลี้ยงประชุมพร้อมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความสำเร็จ โดยอาจเสนอคลิปประกอบ    ร่วมกันทบทวนความสำเร็จและความก้าวหน้า รวมทั้งปัญหา และแนวทางแก้ปัญหา    รวมทั้งช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้การสอนแนวสานเสวนาจะกลายเป็นแนวปฏิบัติในชั้นเรียนทั่วไป รวมทั้งในการคิดในชีวิตประจำวัน    ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องในเรื่องการพูดเพื่อเรียนรู้  แสดงเหตุผล และทำให้ชีวิตดีขึ้น   

เป้าหมายสุดท้ายคือห้องเรียนที่การพูดมีลักษณะเป็นธรรม เท่าเทียม และให้ผลดีต่อการเรียนรู้         

 

 

จะเห็นว่ากิจกรรมที่เสนอนี้ เน้นเฉพาะที่การพูด หรือการจัดชั้นเรียนแบบสานเสวนา     หากโรงเรียนใดนำไปประยุกต์ โดยให้เป็นกิจกรรมผสม นำเอาเรื่องการเรียนรู้สาระวิชาเข้ามาบูรณาการด้วย    ก็น่าจะเกิดความรู้ความเข้าใจวิธีเรียนสาระวิชาผ่านการสอนแนวสานเสวนา    สามารถทำวิจัยโดยตั้งโจทย์ได้หลากหลายมาก   

ขอย้ำว่าครูและโรงเรียนไทยที่นำแนวทางในบันทึกชุดนี้ไปใช้ สามารถปรับใช้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด   ไม่จำเป็นต้องมี ๘ วงรอบ  จะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้   และเป้าหมายของแต่ละวงรอบก็สามารถปรับตามสภาพของนักเรียน    และกระบวนการเหล่านี้ตั้งโจทย์วิจัยชั้นเรียนได้เป็นร้อยเป็นพันโจทย์        

วิจารณ์ พานิช

๒๒ เมษายน ๒๕๖๔  ปรับปรุง ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔

   



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท