ชีวิตที่พอเพียง 4016. มนุษย์ สัตว์กระหายน้ำ


 

              บทความ The Human Thirst : Water has been a driving force in our history  ใน Scientific American ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔  บอกว่ามนุษย์ในวงศ์ Homo  เก่งกว่ามนุษย์วงศ์ Australopithecus ในเรื่องการจัดการน้ำในร่างกาย    เพราะร่างกายสูงเพรียวกว่า ผิวกายมากกว่า รวมทั้งมีต่อมเหงื่อมากกว่า    จึงระบายความร้อนในร่างกายผ่านทางอากาศได้ดีกว่า    จึงทนร้อนได้ดีกว่า  นั่นคือปัจจัยหนึ่งของการวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน   เมื่อ ๒ – ๓ ล้านปีมาแล้วที่สภาพอากาศในอัฟริกาแห้งแล้งลง        

  เพราะมีระบบระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดี มนุษย์ โฮโม จึงคล่องแคล่วว่องไวกว่า ทำกิจกรรมต่อเนื่องได้ดีกว่า    จึงไล่ล่าสัตว์จนสัตว์หมดแรงก่อนได้   

ซึ่งก็หมายความว่า ร่างกายมนุษย์โฮโม ต้องการน้ำมากกว่า   สำหรับใช้ระบายความร้อนออกทางต่อมเหงื่อ   หากเราสูญเสียน้ำร้อยละ ๑๐ ของน้ำหนักตัว เราจะตายหากไม่ได้รับการให้น้ำทางหลอดเลือด   แต่สัตว์ในทะเลทรายมีกลไกทางสรีรวิทยาที่ทำให้ทนการขาดน้ำได้ถึงร้อยละ ๓๐ - ๔๐ ของปริมาณน้ำในร่างกาย 

คนเราต้องการดื่มน้ำในแต่ละวันแตกต่างกันมาก    เช่นในสหรัฐอเมริกา ผู้ชายดื่มน้ำวันละ ๑.๒ - ๖.๓ ลิตร    ส่วนผู้หญิ่งดื่มวันละ ๑.๐ – ๕.๑ ลิตร    คนญี่ปุ่นดื่มน้อยกว่ามาก เพราะอาหารญี่ปุ่นมีน้ำมากกว่าอาหารอเมริกัน   คนอินเดียนแดงในอเมริกาใต้ได้รับน้ำผ่านอาหารและผลไม้มากกว่าจากน้ำดื่ม   

เขาเล่าผลงานวิจัยในหนู ว่าหากให้แม่หนู และแม่แกะตั้งครรภ์ขาดน้ำ ลูกที่คลอดออกมาจะดื่มน้ำน้อย   เพราะร่างกายปรับตัวให้ใช้น้ำน้อย โดยปัสสาวะจะข้น    เขาสันนิษฐานว่า ลูกที่แม่ขาดน้ำตอนตั้งครรภ์มีการตั้งสัญญาณกระหายน้ำให้ส่งสัญญาณเมื่อขาดน้ำรุนแรงกว่าหนูและแกะทั่วๆ ไป   

ผู้เขียนบทความนี้คือ Asher Y. Rosinger เป็นนักชีววิทยามนุษย์ ที่สนใจศึกษาความแตกต่างของการบริโภคน้ำในมนุษย์ เชื่อมโยงกับทรัพยากรในธรรมชาติ และความเสี่ยงต่อสุขภาพ    ในบทความมีรายละเอียดมากกว่าที่ผมเล่ามากมาย    มีรูปสวยๆ เกี่ยวกับคนป่าในอเมริกาใต้ที่ดื่มน้ำจากเถาวัลย์ในป่า     

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ค. ๖๔

 

   

 

 

         

 

หมายเลขบันทึก: 691794เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2021 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2021 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท