ชีวิตที่พอเพียง 4010. วิธีเอาชีวิตรอดจากโรคระบาดใหญ่


 

               หนังสือ How to Survive a Pandemic (2020) เขียนโดย Michael Greger, MD, FACLM (ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ nutritionfacts.org  อันทรงชื่อเสียง   และเป็นนักเขียนหนังสือขายดีของ นสพ. นิวยอร์ก ไทม์ส)     ออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๓   โดยที่ข้อมูลที่ใช้เขียนถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๓    เป็นเสือปืนไวจริงๆ     แต่ในเวลาหลังจากนั้นอีกปีเศษ จนถึงปัจจุบันก็น่าจะมีความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย   

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ว่าด้วยโรคระบาดใหญ่ (กระจายไปทั่วโลก)   ซึ่งแน่นอนว่าฉากเด่นที่สุดคือ ไข้หวัดใหญ่ปี ค.ศ. 1908    แต่จริงๆ แล้วมีมาก่อนหน้านั้น    และระหว่างปี 1908 ถึงปลายปี 2019 ที่โควิด ๑๙ ปะทุขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน    มีการระบาดย่อยๆ เกิดขึ้นมากมาย    และวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ  วิทยาศาสตร์โรคระบาดของโลก ก็ได้สร้างระบบเตรียมรับมือ    มีการพัฒนาขึ้นมาตลอด 

ปี 2002 SARS เริ่มระบาดในประเทศจีน (สงสัยคนติดจากชะมด ซึ่งติดจากค้างคาวอีกที)     ปี 2012 MERS ระบาดในตะวันออกกลาง (คนติดจากอูฐ)     ทั้งสองโรคนี้เกิดจาก corona virus    ปี 2010 เกิดการระบาดของโรคท้องร่วงในหมูในประเทศจีน และติดต่อไปที่สหรัฐอเมริกาในปี 2014     เกิดจาก PDCoV (porcine deltacoronavirus)    ปี 2016 เกิดโรคระบาด SADS (swine acute diarrhea syndrome) ในหมูที่เมืองจีนที่เกิดจาก corona virus เหมือนกัน   และลูกหมูที่ติดโรคตายถึงร้อยละ ๙๐  สองโรคแรกเป็นเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน   สองโรคหลังเป็นเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่สัตว์เลี้ยง (หมูติดจากค้างคาว)     ทั้ง ๔ โรคเกิดจาก CoV ทั้งหมด 

1908 flu ประมาณหนึ่งในสามของคนทั้งโลกติดเชื้อ    ประมาณร้อยละ ๒ ตาย

SARS มีคนเป็นโรคทั้งหมด ๘,๐๙๖ คน (ใน ๔ ประเทศ)    ตาย ๗๗๔ (ประมาณร้อยละ ๑๐)

MERS มีคนเป็นโรคทั้งหมด ๒,๔๙๔ คน   ตาย ๘๕๘ (ประมาณร้อยละ ๓๔) 

ปี 1997 ไข้หวัดนก H5N1 ระบาดในคน เริ่มจากฮ่องกง     คนเป็นโรคกว่าครึ่งตาย   

เรายังโชคดีนะครับ ที่ ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔  มีคนทั้งโลกติดเชื้อ โควิด ๑๙ ประมาณ ๑๖๘.๖ ล้านคน    ตาย ๓.๕ ล้านคน (ประมาณร้อยละ ๒)    ของไทยเรามีคนติดเชื้อ ๑๓๗,๘๙๔ คน  ตาย ๘๗๓ (ประมาณร้อยละ ๐.๖)   

ถึงตอนนี้เรามีความรู้ว่า CoV ที่ก่อโรคในมนุษย์มี ๗ โรคคือ SARS (SARS-CoV-1), MERS (MERS-CoV), Covid-19 (SARS-CoV-2),   ที่เหลือ ๔ ชนิดก่ออาการไม่รุนแรงคือ  HCoV-229E (ติดจากอูฐ), HCoV-OC43 (ติดจากวัวหรือหมู), HCoV-NL63 (น่าจะอยู่กับมนุษย์มาหลายศตวรรษ ()), HCoV-HKU1 (๒)      

กิจกรรมของมนุษย์ มีทั้งกิจกรรมที่เป็นปัจจัยลบ คือสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดโรคระบาดใหญ่โดยไม่ตั้งใจ   เช่นการทำลายที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า  การเลี้ยงสัตว์ระดับอุตสาหกรรม   วัฒนธรรมนิยมกินสัตว์ป่าหายาก     เป็นต้น     และปัจจัยบวก ที่หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิด และควบคุมโดยเร็วเมื่อปะทุขึ้น     รวมทั้งความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ชีวภาพด้านชีววิทยาโมเลกุล ที่ตรวจจีโนมของเชื้อโรคได้รวดเร็ว    นำมาเป็นข้อมูลประกอบมาตรการรับมือ   ดังกรณี whole genome sequencing ที่ทำได้เร็วมาก     ช่วยให้ประเทศไทยรู้ว่า โควิดสายพันธุ์อินเดียและแฟริกาเข้ายึดประเทศไทยได้แล้วตอนกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔   

หนังสือเล่มนี้เอ่ยถึงประเทศไทยหลายตอน    ตั้งแต่ผู้ให้เกียรติเขียนคำนิยม Afterwords) คือศาสตราจารย์ Kennedy Shortridge   ที่ในหนังสือระบุว่าเป็นผู้ค้นพบเชื้อ H5N1  และ “For his pioneering work spanning over three decades, he was awarded the highly prestigious Prince Mahidol Award in Public Health, considered the ‘Nobel Prize of Asia’”

ตอนที่เอ่ยถึงประเทศไทยยาวมากคือตอนที่ไข้หวัดนกระบาดในไก่ที่เลี้ยงในฟาร์ม และติดมายังคน  ในหัวข้อ Thai Curry Favor with Poultry Industry   เขาบอกว่า อุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ของไทยใหญ่เป็นที่ ๔ ของโลก    ฟาร์มขนาดใหญ่อาจมีไก่ถึง ๑๐ ล้านตัว    และตัวละครที่เขาเอ่ยชื่อคือ นายธนินท์ เจียรวนนท์  ที่หนังสือระบุว่า “Chearavanont was the Thai tycoon caught making an illegal $250,000 donation to the U.S. Democratic National Committee in 1996. Not to be partisan, he was accused of slipping George H.W. Bush a quarter million dollars as well.”     

หนังสือระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖  ไก่เริ่มตายทั่วประเทศไทย    สว. พญ. มาลินี สุขเวชวรกิจ ตั้งคำถามรัฐบาล และได้คำตอบว่าเป็นเพียงโรคอหิวาต์ไก่   ไม่ใช่โรคหวัดนก   แต่ก็มีคนชำแหละไก่ที่ล้มป่วยเพราะติดโรค     ระหว่างนั้นไก่ในฟาร์มของเจ้าสัวก็หงอย    ทางฟาร์มรีบฆ่าไก่ส่งขายเป็นการใหญ่   เป็นตัวอย่างพฤติกรรมของรัฐบาลที่ปกปิดข่าวของโรคระบาด เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรม    เป็นพฤติกรรมที่อาจนำสู่การระบาดใหญ่ได้

อย่างกรณี โควิด ๑๙ ในระยะแรกทางการจีนก็ปกปิดข่าว    ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ นพ. Li Wenliang (1986-2020) ผู้เป็นจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลกลางเมืองอู่ฮั่น    แจ้งข่าวไปยังเพื่อนแพทย์ว่า มีผู้ป่วย SARS ๗ รายติดเชื้อจากตลาดอาหารทะเลหัวหนาน    และถูกทางการจีนลงโทษว่าเป็นผู้แพร่ข่าวลือ ที่สร้างความปั่นป่วนในสังคม    ๓๙ วันหลังจากนั้น นพ. ลี ก็เสียชีวิตจาก โควิด ๑๙     

วิธีเอาชีวิตรอดจากโรคระบาดใหญ่ร่วมกันของมนุษยชาติก็คือ   ดำเนินมาตรการลดโอกาสที่เชื้อโรคที่กลายพันธุ์ใหม่ ติดต่อง่ายและก่ออาการรุนแรง แพร่จากสัตว์สู่คน     และหากเกิดจุดเริ่มต้นของโรคในคน ก็มีการดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายอย่างได้ผลรวดเร็ว  ซึ่งเวลานี้เรามีความรู้และวิธีการเพิ่มขึ้นมากมาย    ปัญหาอยู่ที่ระบบปฏิบัติ   เพราะมีผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลมาแทรกแซง    อย่างกรณีไข้หวัดนกของไทยในปี ๒๕๔๖ ที่หนังสือเล่าละเอียดมาก 

หากพิจารณาที่การเอาชีวิตรอดของคนเราแต่ละคน    โควิด ๑๙ สอนเรามาก    แต่เราจะเห็นว่าผู้คนรับรู้ข่าวสาร และมีพฤติกรรมระมัดระวังแตกต่างกันมาก    ตอนนี้ที่นอกรั้วหมู่บ้านด้านหลังบ้านผม   มีบริษัทรับช่วงติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ต มาเช่าที่ตั้งสำนักงานและเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่    เมื่อสามคืนก่อนเขามาชุมนุมกินเหล้าและร้องเพลงกันตอนหัวค่ำ     จำนวนคนน่าจะราวๆ สิบคน           

บันทึกนี้ และบันทึกที่จะลงใน blog ThaiKM ในวันศุกร์ทุกศุกร์ต่อจากนี้ไปอีกหลายเดือน    จะเป็นบันทึกจากการฝึกเขียนจาก critical reflection จากการอ่านหนังสือแบบอ่านเร็ว    ใช้เฉพาะหัวข้อ และ keywords ในหนังสือ เป็นตัวกระตุ้น   ไม่ได้อ่านสาระในหนังสือโดยละเอียด   เพราะมีหนังสือให้อ่านจำนวนมาก    

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้จากเยอรมนี  

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พ.ค. ๖๔        

   

หมายเลขบันทึก: 691716เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2021 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2021 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท