การผลิตครู


 

ข่าว จี้ ศธ. ปรับระบบผลิตพัฒนาครู (๑)  ชักนำให้ผมเขียนบันทึกนี้    เพราะผมสังเกตว่า ผู้ให้ข่าวไม่พูดถึงนักเรียนเลย   พูดถึงแต่ครู    ตามในข่าว ผลลัพธ์การเรียนรู้แบบ whole child development   หรือผล 21st Century Skills ไม่มีอยู่ในสมการเรื่องครู    

หนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก(๒) บอกที่หน้า ๑๒๙ ว่า ประเทศที่คุณภาพสูงระดับโลก ๕ ประเทศที่เขาไปวิจัย ไม่ผลิตครูโดยไม่ดูความต้องการ ทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ    อย่างที่บ้านเราทำ    บ้านเราผลิตครูเกินความต้องการมากมายในภาพรวม    และขาดบางสาขา    ในบ้านเราเป็นการผลิตครูโดยปล่อยให้สถาบันผลิตครูคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

ระบบการผลิตครูในบ้านเราอยู่ในสภาพมือใครยาวสาวได้สาวเอา    กล่าวได้ว่าไร้การจัดการระบบโดยสิ้นเชิง    ทำให้เกิดการสูญเปล่าของบ้านเมืองในหลากหลายมิติ    ไม่มีการวางแผน เพื่อให้ผลิตตามความต้องการ ทั้งในเชิงคุณภาพ  จำนวน  การกระจายเชิงสาขาวิชาเอก และเชิงภูมิศาสตร์   

สมัยผมทำหน้าที่คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว เป็นเวลา ๖ ปี    มีกลไกสร้างความเชื่อมโยง (coordinate) ระหว่างระบบผลิตและระบบใช้แพทย์เป็นอย่างดี  นำโดยกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นฝ่ายผู้ใช้    โดยบุคคลสำคัญคือผู้อำนวยการกองแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ดำรงค์ บุญยืน (ผู้ล่วงลับ)      มีการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ   

ผมจำได้แม่นยำว่า เป้าหมายของการผลิตแพทย์มีปัจจัยหลัก ๓ ด้าน คือ  (๑) จำนวนที่เหมาะสม (ไม่มากไม่น้อยเกินไป)   (๒) คุณภาพที่ตรงความต้องการ (หากไม่ระวังอาจารย์จะสอนศาสตร์ล้ำยุคตามมาตรฐานสากลที่ตนเรียนมา ไม่ได้ฝึกศาสตร์และศิลป์ที่จะต้องใช้ในบริบทไทย)  และ (๓) การกระจายไปทำงานทั่วประเทศ     จำนวน คุณภาพ และการกระจาย คือเป้าหมายที่เราท่องกันขึ้นใจและใช้กล่าวนำการประชุมในตอนนั้น   

กลับมาที่การผลิตครู    หลักการก็น่าจะคล้ายกัน   แต่เวลานี้เราผลิตครูมากเกินความต้องการไม่ทราบว่ากี่เท่า     และมีการบ่นจากฝ่ายผู้ใช้คือกระทรวงศึกษาธิการ (ที่เป็นผู้ใช้เจ้าใหญ่ที่สุด) ว่าบางสาขาการผลิตไม่พอต่อความต้องการ    เราปล่อยให้ระบบการผลิตครูเป็นระบบเสรี โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเรียนรู้ระดับโลก  (๒) 

เมื่อปี ๒๕๖๑ ธนาคารโลกเผยแพร่ World Development Report 2018  ชื่อ Learning to Realize Eduaction’s Promise (๓) บอกว่ากว่าครึ่งของประเทศในโลก (รวมทั้งไทย) ระบบการศึกษาไม่ได้ส่งมอบผลการศึกษาตามเป้าหมาย     พูดง่ายๆ คือผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมีคุณภาพต่ำ   และบอกสาเหตุไว้อย่างน่าตื่นใจ (และเศร้าใจ) เพราะปัจจัยส่วนใหญ่เป็นเพราะมีกลุ่มคนเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากระบบการศึกษา     แย่งชิงผลประโยชน์ไปจากนักเรียน     ผมได้ตีความเผยแพร่ในบันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูง(๔)    

ข่าวเรื่องผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ที่เปลี่ยนเกณฑ์และระบบสอบใหม่ และผลออกมาว่ามีคนสอบตกกันมาก (๕)     ทำให้มีคนไปฟ้องศาลปกครอง     รวมทั้งไปร้องเรียนต่อ รมว. ศึกษาธิการ และมีข่าว (๖) ออกมา    ทำให้ผมออกไปปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตามบันทึก (๗)     โดยชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายของการสอบนี้ก็เพื่อคัดกรองให้ได้คนที่เก่งและดีจริงๆ ไปเป็นครู    การออกข้อสอบให้ยากหน่อยจึงน่าจะเหมาะสม   

หากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง  ก็อาจเป็นการซ้ำเติมความอ่อนแอของระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการผลิตครู    ผมจึงขอเสนอให้หาทางยกเครื่องระบบการผลิตครูทั้งระบบ    เพื่อให้ได้ครูที่มีทั้งคุณภาพ  จำนวนพอดี และเป็นระบบที่เอื้อต่อการกระจายครู   ให้ครูได้ตั้งใจสอน ไม่ใช่ใจอยู่ที่การวิ่งเต้นหาโอกาสโยกย้าย   

การแก้ปัญหาที่แท้จริงต้องแก้ที่ต้นเหตุ (root cause) ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุอย่างที่กำลังทำกันอยู่     ที่อาจยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงไปอีก และศักดิ์ศรีความเป็นครูในภาพรวมก็ตกต่ำลงไปด้วย   

เริ่มด้วยการวิจัยเชิงระบบ ว่าระบบผลิตครูที่ส่งผลให้ระบบการศึกษามีคุณภาพสูงในประเทศตัวอย่างในโลกคืออะไร    ซึ่งที่จริงก็มีคนศึกษาไว้แล้ว ในหนังสือ A World-Class Education : Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012)   ที่ผมตีความนำมาเผยแพร่ในบันทึกชุด  การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก (๒) นั่นเอง แต่ในหนังสือต้นฉบับจะมีรายละเอียดมากกว่า     

จากผลการวิจัยเชิงระบบ เอามาทำกระบวนการ Developmental Evaluation (๘)  (๙) เพื่อร่วมกันออกแบบระบบการผลิตครูที่เหมาะสมต่อประเทศไทย และขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาได้ผลจริง    

วิจารณ์ พานิช

๓ มิ.ย. ๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 691079เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2021 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2021 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท