สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก  ๗. กรอบปฏิบัติการที่ ๓  พูดเพื่อเรียนรู้ (learning talk)


 

บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้   เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง    โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)   กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม  และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

บันทึกนี้ตีความจากหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) บทที่ ๗ หัวข้อ Repertoitre 3 : Learning Talk   และส่วนหนึ่งของ Appendix I

สำหรับเด็กเล็ก ภาษาพูดทำหน้าที่ ๗ อย่างคือ (๑) เป็นเครื่องมือบอกความต้องการ  (๒) เพื่อควบคุมหรือกำกับ  (๓) เพื่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์  (๔) เพื่อแสดงออกทางอารมณ์ของตนเอง  (๕) เพื่อหาคำตอบ  (๖) เพื่อสนองตอบต่อการรับรู้เรื่องราว  (๗) เพื่อสื่อสารข้อมูล    โดย ๔ ข้อแรกเป็นการบอกความต้องการทางกายหรืออารมณ์   ๓ ข้อหลังช่วยให้เด็กทำความเข้าใจโลกรอบตัว    คือเพื่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ภายนอกตัว   

โปรดสังเกตว่า เด็กในฐานะมนุษย์ใช้การพูดเพื่อการเรียนรู้ทั้งเพื่อรู้จักตนเอง และเพื่อรู้จักโลก   ผ่านการพูดหลากหลายแบบ    แต่ในระบบการศึกษาแบบเดิม เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน กลับถูกห้ามพูด   ให้พูดได้เฉพาะเพื่อการตอบคำถามของครูเท่านั้น    จึงเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ   การเรียนรู้แบบสานเสวนาจึงเป็นวิธีการแก้จุดอ่อนของการศึกษาในรูปแบบเดิม     คือแทนที่จะห้ามพูด กลับส่งเสริมให้พูดเพื่การเรียนรู้ของตนและของเพื่อนๆ   

ครูจึงต้องมีทักษะ พูดเพื่อเคลื่อนการเรียนรู้ (talk move) ของศิษย์   โดยจับเอาประเด็นที่ศิษย์พูดมาพูดต่อ   เพื่อกระตุ้นให้ศิษย์พูดเพื่อการเรียนรู้ในระดับที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    ได้ผลดีทั้งต่อการพัฒนาสมอง และต่อความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น                  

ในการเรียนแบบสอนเสวนา นักเรียนต้องไม่พูดเพื่อเรียนรู้เพียงพูดตอบคำถามเท่านั้น    นักเรียนต้องรู้จักพูดเพื่อตั้งคำถาม  รู้จักพูดเพื่ออธิบายความคิด  ขยายความคิด และตรวจสอบความคิด   ซึ่งหมายความว่าต้องฟังและทำความเข้าใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน    การพูดเพื่อเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์

การพูดเพื่อเรียนรู้ของนักเรียนมี ๘ แบบ ที่มีส่วนซ้อนทับกัน คือ 

  • พูดเพื่อจัดการสถานการณ์ (transactional)    ได้แก่การถาม  ตอบ บอก  สอน  อธิบาย อภิปราย
  • พูดเพื่อบอกกล่าว (expository)   ได้แก่อ่านให้ฟัง   นำเสนอและอธิบาย  บอก อธิบาย  บอกรายละเอียด  ขยายความ
  • พูดเพื่อถาม (interrogatory)   ใช้คำถามหลากหลายแบบในหลากหลายบริบท    ได้แก่ยื่นข้อเสนอ  ถาม ถามหาข้อมูล  ให้คำตอบ 
  • พูดเพื่อสำรวจไปข้างหน้า (exploratory)    เพื่อเจาะหาความคิด    อาจโดยเสนอแนะ คาดเดา ตั้งสมมติฐาน หรือพูดลอยๆ    หรือโดยถามเจาะประเด็น  หรือให้เกิดความชัดเจน       
  • พูดเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเหตุผลหรือข้อมูลหลักฐาน (deliberative)   เป็นการพูดเชิงเหตุผลและข้อโต้แย้ง   โดยให้เหตุผล  ตั้งคำถาม  โต้แย้ง   ปกป้อง  ให้สมมติฐาน ท้าทาย   พิสูจน์  วิเคราะห์ สังเคราะห์  ชักจูง  ตัดสิน   
  • พูดเชิงจินตนาการ (imaginative)   โดยใคร่ครวญและบอกโอกาสที่อาจเป็นไปได้   ผ่านการพูดแบบคาดเดา  สร้างภาพ  พูดลอยๆ   บอกเล่า  ทำนาย   
  • พูดแสดงความคิด (expressive)    บอกความรู้สึก   ความคิด ข้อสงสัย 
  • พูดเชิงประเมิน (evaluative)    พูดบอกข้อมูล  ข้อคิดเห็น การคาดการณ์  ข้อโต้แย้ง  เพื่อนำไปสู่การตัดสิน     

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ในชีวิตจริงการพูดไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ   แต่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์    ที่สื่อสารกันหลายช่องทาง โดยการพูดเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น   ในการสื่อสาร มีการส่งสารและรับสารต่อเนื่องกันเกือบจะทันที    ดังนั้นการพูดเพื่อเรียนรู้ จึงต้องคู่กับการฟังและรับสารจากช่องทางอื่นๆ นำมาตีความเพื่อส่งสารกลับ     เกิดปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้     

ครูต้องเข้าใจความหมายเชิงลึกของการพูดและการสื่อสารของศิษย์    เข้าใจไปถึงความรู้สึกนึกคิดของศิษย์     และใช้ความเข้าใจนั้นในการออกแบบกิจกรรมต่อไป (อย่างทันควัน)    เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์   

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เมษายน ๒๕๖๔

          



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท