ชีวิตที่พอเพียง 3966. พลังของแรงบันดาลใจ


 

            หนังสือ Drive : The Surprising Truth About What Motivates Us  (2011) เขียนโดย Daniel Pink    บอกว่ามนุษย์เรามีแรงจูงใจ ๓ ชุด คือ motivation 1.0,  motivation 2.0  และ motivation 3.0  ที่ทำงานในต่างยุคของอารยธรรมมนุษย์   

ในยุคโบราณไกลโพ้น มนุษย์เรามีแรงจูงใจเพื่อการมีชีวิตรอดและสืบพันธุ์เท่านั้น เรียกว่า motivation 1.0  

เมื่อเข้ายุคอุตสาหกรรม ที่เน้นประสิทธิภาพของการผลิต  มนุษย์เราสร้างระบบ motivation 2.0 ขึ้นใช้งาน     เรียกว่าระบบไม้เรียวกับรางวัล (stick and carrot)    สำหรับเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานสร้างผลิตภาพ    เรียกระบบนี้ว่า แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation)  

บัดนี้ motivation 2.0 สิ้นมนต์ขลัง    เพราะโลกเข้าสู่ยุคสร้างนวัตกรรม    ต้องการพลังของความสร้างสรรค์ของมนุษย์    แรงจูงใจที่มีพลังแท้จริงจึงเป็น แรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation)     

สาระในหนังสือเล่มนี้บอกว่า สังคมที่สร้างคนภายใต้กระบวนทัศน์ แรงจูงใจภายนอก    จัดระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้โดยใช้พลังของแรงจูงใจภายนอกคือรางวัล เกรด คะแนน    แรงจูงใจภายในของเยาวชนจะฝ่อ ไม่งอกงาม    พลังสร้างสรรค์จะน้อย  

แรงจูงใจภายนอก ทำลายแรงจูงใจภายในที่ผมเรียกว่า แรงบันดาลใจ (inspiration)    ที่นำไปสู่ความคลั่งใคล้ใหลหลง (passion) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    และความทุ่มเท (dedication) หรือความอดทนมานะพยายาม (perseverance) เพื่อสร้างสรรค์สิ่งนั้น    ที่เป็นพลังสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เรียกว่านวัตกรรม    ยิ่งมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (purpose) ในชีวิตเข้าผสม    นวัตกรรมนั้นจะเป็นไปเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลัก    ที่ในหนังสือใช้คำว่า การมีความหมาย (meaningfulness)

สภาพตามในย่อหน้าบน นำไปสู่สภาพชีวิตจิตใจที่เรียกว่า flow state (1)    ซึ่งผมตีความว่าเป็นชีวิตจิตใจที่เลื่อนไหลเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่   ในหนังสือบอกว่า มีแรงขับดันสู่สภาพสัมบูรณ์ (the drive to perfection) 

เขาแนะนำว่า องค์กรต้องยกระดับสู่สภาพ 3.0  หรือ motivation 3.0    ที่พนักงานเปี่ยมด้วยแรงจูงใจภายใน  มีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determination)   ต่อความท้าทายในเป้าหมายงาน (my task)  ด้วยการทำงานเป็นทีม (my team)    ที่จะส่งผลย้อนกลับไปกระตุ้นแรงจูงใจภายใน เป็นการหมุนเกลียวยกระดับแรงบันดาลใจและผลงาน     

หนังสือเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้นี้ในองค์กร เพื่อการเป็นองค์กร 3.0   ผมขอเพิ่มว่า ระบบการศึกษาต้องไม่หลงใช้ระบบ 2.0    ต้องปรับมาใช้ 3.0    คือฝึกเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่ motivation 3.0 งอกงาม    ผ่านระบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นแรงจูงใจภายใน หรือแรงบันดาลใจ        

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๖๔   

  

หมายเลขบันทึก: 690901เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2021 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2021 09:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท