ชีวิตที่พอเพียง 3960a. กลุ่มอาการหลังโควิด


ชีวิตที่พอเพียง  3960a. กลุ่มอาการหลังโควิด

            บทความ Researchers are closing on in long covid  ลงพิมพ์ในนิตยสาร The Economist (๑)บอกว่า PCS – Post-Covid Syndrome หรือ long covid น่ากลัวกว่าที่คิด   

ในปัจจุบันเรารู้ว่าอาการเจ็บป่วยไม่สบายเรื้อรังในคนเป็นโรคโควิด ๑๙ มีแน่    มีมากแค่ไหนตัวเลขแตกต่างกันในแต่ละรายงาน ตั้งแต่ราวๆ ร้อยละ ๕ ไปจนถึง ๑๔   อาการก็มีหลายกลุ่ม    และคำอธิบายกลไกก็ยังสรุปได้ไม่ชัดเจน คือมีคำอธิบายได้หลายแบบ    ที่น่าจะรู้แน่แล้วก็คือน่าจะเกิดจากหลายกลไก คือต่างกลไกในต่างคน    จึงถือเป็น “กลุ่มอาการ” (syndrome)  

เนื่องจากความรู้เรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาสั่งสมขึ้น    แม้แต่นิยามของกลุ่มอาการก็ยังไม่ตกลงกันชัดเจนนัก     โดย NIHCE – National Institute for Health and Care Excellence ของอังกฤษนิยามว่า “อาการและการตรวจพบระหว่างหรือหลังการติดเชื้อโควิด และมีต่อเนื่องมากกว่า ๑๒ สัปดาห์  โดยอธิบายด้วยการวินิจฉัยโรคอื่นไม่ได้”    ซึ่งในทางวิชาการทางการแพทย์ถือว่าเป็นการวินิจฉัยโดยแยกโรคอื่นออกไป    พูดภาษาคนทั่วไปคือโทษสาเหตุอื่นไม่ได้ ก็โละให้โควิด    โปรดสังเกตนะครับ ว่าในนิยามเขาไม่ระบุตัวอาการเลย

อาการที่พบบ่อยมี ๓ กลุ่มคือ  (๑) เหนื่อยง่าย (exercise intolerance)  (๒) สมองเบลอหรือขี้ลืม  (๓) อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ (dysautonomia) เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ  การหายใจ  และการย่อยอาหาร   เช่นหัวใจเต้นรัว  มึนงง    บางรายงานบอกว่า ผู้ป่วย long covid ร้อยละ ๘๐ มีอาการในกลุ่มนี้

คำอธิบายทางชีววิทยาของกลไกการเกิด PCS มี ๓ คำอธิบายคือ  (๑) เพราะเชื้อไวรัสยังคงอยู่ในร่างกาย  (๒) เป็นโรคออโตอิมมูน  (๓) เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ไวรัสทำลายเนื้อเยื่อตอนติดเชื้อ    เป็นไปได้ว่า ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดจากกลไกที่ ๑  บางคนเกิดจากกลไกที่ ๒   และบางคนเกิดจากกลไกที่ ๓

เรื่องติดเชื้อไวรัสและหายแล้ว แต่บางคนเชื้อยังคงซ่อนอยู่ (อย่างสงบ) ในร่างกาย มีตัวอย่างมากมาย    เช่นในโรคหัด  ไข้เลือดออก  อีโบลา  งูสวัด    มีรายงานว่า พบโปรตีนของ SARS-CoV-2 ในลำไส้ของผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว ๔ เดือน    บางรายงานพบในปัสสาวะ  

กลไกที่สอง การติดเชื้อไวรัส ก่อการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิคุ้มกันและนำไปสู่การเป็นโรคออโตอิมมูนก็มีตัวอย่าง    และอธิบายกลไกที่ซับซ้อนได้เป็นฉากๆ    แต่ผมจะไม่เอามาเล่า เพราะเป็นวิชาการเกินไป    และจริงๆ แล้วผมก็ไม่รู้จริง  

กลไกที่ ๓ เป็นเรื่องของการที่เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้เกิดการอักเสบ    ผ่านการกระตุ้นให้ร่างกายผลิต cytokines มากเกินขนาดอย่างแรง    ก่อการอักเสบในสมองส่วนระบบประสาทอัตโนมัติ  หรือไปทำลายเซลล์บุหลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง  

ที่จริงทางการแพทย์เขารู้จัก CSF – Chronic Fatigue Syndrome ที่เกิดตามหลังโรคติดเชื้อไวรัสอื่น (และอีกหลายสาเหตุ) อยู่ก่อนแล้ว    

อาการของ PCS อาจมีผลต่อการดำรงชีวิตได้มาก ทั้งต่อประสิทธิภาพในการทำงาน   ต่อชีวิตครอบครัว   และต่อฐานะทางการเงิน    การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ    และเนื่องจากอยู่ระหว่างการวิจัยทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรค    การรักษาจำเพาะจึงยังไม่มี            

วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ค. ๖๔   

หมายเลขบันทึก: 690752เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2021 07:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2021 07:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท