มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา : 2. เรียนรู้จากประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงที่สุดในโลก



บันทึกที่ ๑   

ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ของคุรุสภา ในฐานะที่ปรึกษา เป็นครั้งที่สอง ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๔    เปิดโอกาสให้ผมได้ครุ่นคิดว่า มีลู่ทางใช้มาตรฐานวิชาชีพขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไทยได้อย่างไร    ซึ่งเมื่อตรวจสอบหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ    ตาม พรบ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ (๑) มาตรา ๒๕   ระบุดังนี้

“มาตรา ๒๕ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) พิจารณาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต (๒) กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (๓) ส่งเสริม พัฒนา และเสนอแนะคณะกรรมการคุรุสภากำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณ ในการประกอบวิชาชีพ (๔) ส่งเสริม ยกย่อง และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาต่างๆ ตามที่กำหนดใน ข้อบังคับของคุรุสภา (๕) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (๗) พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการคุรุสภามอบหมาย”

หนังสือแปล ปั้นครู เปลี่ยนโลก (๒)    บอกชัดเจนว่า ประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงที่สุดในโลก ๕ ประเทศ (ออสเตรเลีย  แคนาดา  จีน (เซี่ยงไฮ้)  ฟินแลนด์  และสิงคโปร์)   พัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านการพัฒนาและเอื้ออำนาจแก่ครู    โดยที่ครูทุกคนมีหน้าที่ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ตีความการยกระดับคุณภาพวิชาชีพที่ปฏิบัติการในการทำหน้าที่ครูเป็นสำคัญ    ไม่ใช่อยู่ที่ข้อบังคับในกระดาษ    ไม่ใช่ครูเป็นผู้ถูกกระทำ แต่มองครูเป็นผู้กระทำ (agentic teacher)      

 กระบวนทัศน์ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ ใน พรบ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖  กับในหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก ต่างกันอย่างขั้วตรงกันข้าม    ใน พรบ. สภาครูฯ มองครูเป็นผู้ถูกกระทำ หรือถูกควบคุม    แต่ในหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก มองครูเป็นผู้กระทำ ผู้สร้างมาตรฐานวิชาชีพ (agentic teacher)    

กลับมาที่หน้าที่ของ กมว.  ๗ ข้อ     ผมเห็นช่องทางใช้ ข้อ ๔ “ส่งเสริม ยกย่อง และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาต่างๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา”    ในการเพิ่มบทบาทของ กมว. ในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพภาคปฏิบัติ    โดยเข้าไปหนุนครู ให้ร่วมกันทำงานอย่างมีคุณภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ    เน้นมาตรฐานวิชาชีพที่อยู่ในตัวนักเรียน หรือที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

มาตรฐานวิชาชีพในกระดาษ    มาตรฐานวิชาชีพในใจ (วิญญาณ) ของครู   มาตฐานวิชาชีพในการปฏิบัติงานของครู    มาตรฐานวิชาชีพในผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ต้องไปด้วยกัน (alignment) กับมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา จึงจะเป็นเครื่องมือสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศ   

ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๖ (๓)ระบุในหมวด ๒ มาตรฐานการปฏิบัติงาน ไว้ดีมาก    แต่น่าแปลก ที่ทำไมไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม    ผมสงสัยว่า อาจเป็นเพราะคุรุสภากับ สพฐ. เป็นต่างหน่วยงาน    ไม่มีการประสานงานกัน    ข้อบังคับของคุรุสภา อาจไม่ได้รับการยอมรับจาก สพฐ.    มีผลให้ข้อบังคับก็ข้อบังคับ  การปฏิบัติอยู่แยกกัน    น่าเสียดาย      

 การประชุม กมว. ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๔ มีวาระเพื่อพิจารณา ๒๔ วาระ   เป็นวาระขึ้นทะเบียนครูและผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นวาระประจำ ๑ วาระ   เป็นวาระหารือการแก้กฎระเบียบ ๑ วาระ    อีก ๒๒ วาระเป็นเรื่องลงโทษ หรือเรื่องเกี่ยวกับคนมีมลทินมาขอเป็นผู้บริหารสถานศึกษา     ไม่มีวาระเชิงบวก หรือเชิงยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเลย     ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า    ในประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูงเขากันคนที่มีบุคลิกแบบนี้ออกไป ไม่ให้เข้ามาเป็นครูตั้งแต่แรกหรือเปล่า       

ผมมีความเห็นว่า หากเราคัดเลือกคนมาเป็นครูอย่างพิถีพิถัน    เราจะไม่ต้องเสียเวลามาพิจารณาโทษคนเหล่านี้    และระบบการศึกษาของเราก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น    เพราะคนเหล่านี้คือคนที่ตั้งใจเข้ามาหาผลประโยชน์จากระบบ  ไม่ใช่เข้ามาทำประโยชน์   

ท่านประธาน กบว. เล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในวงการศึกษา    ที่มีการ abuse ระบบการเข้าสู่วิชาชีพ โดยเฉพาะตำแหน่งบริหาร   เช่น อวดกับเพื่อนว่า สอบเป็น ศน. ได้แล้ว ได้งานสบาย    ที่ฟังแล้วเศร้าใจ    นอกจากนั้น คนที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ยังหาวิธีซิกแซ็กให้กับลูกที่ไม่เก่ง    สอบเข้าเรียนครูไม่ได้  ก็เรียนอย่างอื่นแล้วเอามาเป็นครูโดยขอยกเว้นใบประกอบวิชาชีพ    แล้วให้ไปเรียนปริญญาโท  เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในภายหลัง     เรื่องที่เล่ากันในที่ประชุมบอกเราว่า ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยิ่งสร้างความเสื่อมให้แก่ระบบการศึกษา    

ผมตีความว่า ทั้งกฎหมาย และวิธีทำงานของหน่วยงานด้านมาตรฐานวิชาชีพการศึกษาไทย อยู่ภายใต้ fixed mindset    มองว่า เมื่อกฎระเบียบดี  คุณภาพการศึกษาย่อมดี    ซึ่งเป็นมุมมองเชิงเส้นตรง  ในขณะที่ความเป็นจริงเรื่องการศึกษามีความซับซ้อนสูงมาก    การจัดการมาตรฐานวิชาชีพด้านการศึกษาจึงต้องดำเนินการอย่างซับซ้อนและปรับตัว  จึงจะส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง     

ที่จริงหากมองเฉพาะที่กฎหรือหลักเกณฑ์ในกระดาษ    มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาของไทยสูงมากนะครับ    คนของเราจบปริญญาตรีทั้งหมด  อีกไม่น้อยจบปริญญาโท (ในที่ประชุมมีคนพูดว่าครูไทยประมาณร้อยละ ๗๐ จบปริญญาโท)    และที่จบปริญญาเอกก็มีไม่น้อย    แต่แปลกที่มาตรฐานวิชาชีพไม่เชื่อมโยงกับระดับคุณภาพการศึกษา     อาการนี้บอกเราว่าต้องมีความผิดพลาดใหญ่หลวงอยู่ในระบบ    และผมตีความว่า เป็นเพราะส่วนย่อยของระบบไม่มี alignment กัน    รวมทั้งหลงคิดว่า มาตรฐานในหลักเกณฑ์ กับมาตรฐานในการปฏิบัติเป็นสิ่งเดียวกัน   

ระหว่างประชุม ผมอดคิดสงสัยไม่ได้ว่า    เป็นไปได้ไหมที่การดำเนินการของ กมว. ไม่ได้คิดไกลไปถึงผลประโยชน์ที่ตัวเด็ก    ที่จะได้ครูดี  ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในชีวิต

มีวาระ ร่างข้อบังคับ ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ ที่แก้ข้อบังคับเดิมเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา     ที่ผู้เป็นประธานยกร่างมีความเชื่อว่า ผู้บริหารโรงเรียนไม่จำเป็นต้องรู้และมีประสบการณ์การเป็นครู     แค่บริหารเก่งก็พอ    ที่ผมตกใจมากว่า การร่างข้อบังคับนี้ไม่ศึกษาข้อมูลจากประเทศที่การศึกษาคุณภาพสูงที่สุดในโลกเลย    ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า ในประเทศเหล่านี้ ผู้บริหารการศึกษามาจากครูที่ประสบความสำเร็จสูงในการทำหน้าที่ครูและเปล่งประกายความสามารถด้านการบริหารจากการทำงานในการทำหน้าที่ครูทั้งสิ้น    

วิจารณ์ พานิช

๓ เม. ย. ๖๔   ปรับปรุง ๕ เม.ย. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690453เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2021 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2021 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ระบบการศึกษาไทยยังคงเป็นน่าเศร้าเสมอ ;(

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท