วิถีใหม่อุดมศึกษาไทย


เสนอให้เปลี่ยนใหญ่ ๒ ชาลา

วิถีใหม่อุดมศึกษาไทย1

วิจารณ์ พานิช

บทนำ

ในปัจจุบันไม่ว่าอุดมศึกษาของประเทศใด ต่างก็ต้องการวิถีใหม่ทั้งสิ้น   เนื่องจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของผู้คน และระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปมาก   และยังจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น    โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้มีลักษณะ VUCA (V = Volatile เปลี่ยนเร็ว, U = Uncertain ไม่แน่นอน, C = Complex ซับซ้อน, A = Ambiguous กำกวม ไม่ชัดเจน)   อุดมศึกษาจะต้องแสดงบทบาทเตรียมคนไทยสังคมไทยเผชิญสภาพนี้   มีความสามารถใช้สภาพนี้หนุนความอยู่ดีกินดีของผู้คน  และหนุนให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมาย

ขอย้ำว่า ในยุคนี้ มีความคาดหวังว่า อุดมศึกษาจะทำหน้าที่เข้าไปร่วมเป็นกำลังหนุนการพัฒนาประเทศโดยตรง    ไม่ใช่หนุนอยู่ห่างๆ อย่างในอดีต   เป็นความท้าทายเชิงสำนึก ไม่ใช่การบังคับ   แต่ก็มีการดำเนินการในระดับการปกครองประเทศ โดยจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   และสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ    

การระบาดใหญ่ของ โควิด ๑๙   ช่วยส่งสัญญาณย้ำเตือน ว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนใหญ่ ในหลากหลายด้าน   และอุดมศึกษาต้องเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้         

มองวิถีใหม่ของอุดมศึกษาไทยได้หลายระดับ หลายมิติ   แต่ละระดับ/มิติ ต้องการวิถีใหม่ และที่สำคัญยิ่ง ต้องมีการดำเนินการให้เกิดการสนธิพลัง (synergy) ของต่างระดับ/มิติ   เกิดพลังคูณของการดำเนินการ    โดยที่ต้องตระหนักว่า    หากต่างคนต่างทำ หรือต่างหน่วยงานต่างทำ    อาจเกิดความสับสน เกิดพลังลบ (หรือหาร) ทำให้การลงทุนลงแรงไม่ก่อผลดีเท่าที่ควร   หรือในบางกรณี อาจก่อผลลบ   

วิถีใหม่ในบทความนี้ เน้นเสนอในระดับกระบวนทัศน์    และดำเนินการอย่างเป็นระบบ    เกิดอุดมศึกษาระบบใหม่   ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แบบปะผุ  

เปลี่ยนอะไร

ผมขอเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดของอุดมศึกษาไทยคือการเปลี่ยน “ชาลา” (platform) ของการทำงาน    จาก “ชาลาวิชาการ” (academic platform) ในปัจจุบัน   ไปเป็น “ชาลาร่วมมือแบบหุ้นส่วน” (engagement platform)  

“นวชาลา” (new platform) อุดมศึกษาไทย จึงเป็น ชาลาแห่งการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วน   และผมขอเรียกว่า “ชาลาชีวิตจริง” (real-life platform)  

ที่จริงไม่น่าจะถึงกับเปลี่ยน เพราะ ชาลาวิชาการ ก็ยังมีความสำคัญ    แต่การที่อุดมศึกษาทำงานอยู่ในที่แคบ อิงวิชาการเท่านั้น อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้อุดมศึกษาไร้พลัง    ไร้ผลงานด้านการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ   และทำให้การผลิตบัณฑิตก็ได้บัณฑิตที่มีสมรรถนะไม่สอดคล้องกับความต้องการของ

สังคม   รวมทั้งผลงานวิจัยก็ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อการพัฒนาบ้านเมือง    มีแต่ impact factor ซึ่งเป็นผลกระทบทางวิชาการ    จึงต้องเพิ่ม “ชาลาชีวิตจริง” ในการทำงานอุดมศึกษา   

ในเบื้องต้น ควรให้น้ำหนักชาลาเก่ากับชาลาใหม่เท่าๆ กัน   โดยมหาวิทยาลัยต้องสร้าง management platform ใหม่ขึ้นมาตีคู่กับ management platform เดิม   ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย   เพราะเป็นการฝืนวัฒนธรรมเดิม   มหาวิทยาลัยใดนำหน้าการเปลี่ยนแปลงได้ก่อน   ก็จะอยู่ในฐานะผู้กำหนดมาตรฐานใหม่ของอุดมศึกษาไทย   เป็นมหาวิทยาลัยผู้นำการเปลี่ยนแปลง    

ทำไมต้องเปลี่ยน

หนังสือ แผนและยุทธศาสตร์สร้างแผ่นดินสุขภาวะ ใน ๘๐๐ อำเภอ ๘,๐๐๐ ตำบล ทั่วประเทศ บทบาทของ ๑๐๐ มหาวิทยาลัย ๑ ล้านนิสิต โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี    เสนอบทบาทของ ๑๐๐ มหาวิทยาลัย  ๑ ล้านนิสิต    ปรับเปลี่ยนจากการหาความรู้ด้วยการท่องวิชา เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง   หรือเรียนรู้จากการลงมือทำ    เพื่อให้ “ระบบการศึกษาเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต”    โดยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพัฒนาชาติ   ภายใต้ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว 1        

ในหนังสือ มหาวิทยาลัยแห่งอนาคตที่รวบรวมจากปาฐกถาศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ ๑๐  เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒   ผมเสนอเหตุผลที่อุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง   ว่าเป็นเพราะมีแนวทางเรียน ออนไลน์ ขึ้นมาแข่งขันด้วยค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่ามาก   รวมทั้งสังคมต้องการบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนาบ้านเมือง   ผมได้เสนอ “นวชาลา” อุดมศึกษาไทย   โดยเสนอให้มหาวิทยาลัยเข้าไปสร้าง academic platform ในภาคผู้ประกอบการ (real sector)   และได้ชี้ให้เห็นวิชาการ ๒ แนวคือ แนว diffusion กับแนว engagement   และเสนอว่ามหาวิทยาลัยไทยต้องลดวิชาการแนว diffusion ลง    เพิ่มวิชาการแนว engagement ให้มากขึ้น    จนกลายเป็น “ชาลา” หลักของอุดมศึกษา 2

ชาลาหลักของอุดมศึกษาต้องเชื่อมโยงแน่นแฟ้นกับแหล่งทำมาหากิน  และการดำรงชีวิตของผู้คน   ในพื้นที่ที่สถาบันนั้นตั้งอยู่และเป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา    สถาบันอุดมศึกษาต้องมีกลไกจัดการความสัมพันธ์นี้    ในลักษณะความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน   ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือเกื้อกูล    ซึ่งในสภาพปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยยังจัดการเรื่องนี้ได้ไม่ดี   เพราะยังยึดติดกระบวนทัศน์ว่ามหาวิทยาลัยรู้ดีกว่า และอยู่เหนือภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม   

มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยของรัฐ ต่างก็ต้องพิสูจน์คุณประโยชน์ของตนต่อการพัฒนาประเทศ   ดังในหนังสือ Universities and Colleges as Economic Drivers : Measuring Higher Education’s Role in Economic Development (2012) ที่ผมเขียนตีความลงในบล็อก Gotoknow รวม ๘ ตอน 3

  

เหตุผลจากมุมความต้องการของสังคม

พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๒๖ ระบุไว้ดังนี้ “สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจ   ดังต่อไปนี้

  • (๑) การจัดการศึกษา
  • (๒) การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม
  • (๓) การบริการวิชาการแก่สังคม
  • (๔) การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
  • (๕) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนด้านการอุดมศึกษา และสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของประเทศในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ให้แก่ประเทศ การพัฒนากำลังคนของประเทศ และการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมีพลเมืองที่มีคุณภาพ” 4

แผนอุดมศึกษาระยะยาว ๒๐ ปี  พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐ ระบุ วิสัยทัศน์ของอุดมศึกษาไทยไว้ดังนี้  “อุดมศึกษาไทยเป็นแหล่งสร้างปัญญาให้สังคม นำทางไปสู่การเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรม ความรู้ งานวิจัย ที่เสนอทางเลือกและแก้ปัญหา เพื่อการพัฒนาประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน” 5

เหตุผลจากการเปลี่ยนแปลงแบบ เปลี่ยนขาด (disruption)

ในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีหนังสือและเอกสารจำนวนมากมาย ชี้ให้เห็นว่า อุดมศึกษากำลังเผชิญความท้าทายในระดับอยู่รอดหรือปรับตัว   เพราะได้เกิด platform ใหม่ของการให้บริการอุดมศึกษา   ที่ประหยัดกว่า และอาจมีประสิทธิผลกว่าในบางสถานการณ์   และผมได้เคยเสนอต่อที่ประชุมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐  สามารถเข้าไปชม PowerPoint ของการบรรยายได้ที่ https://gotoknow.org/posts/643... 6

World Economic Forum เสนอความท้าทายใหญ่ที่สุด ๔ ประการ ต่ออุดมศึกษาในยุคปัจจุบัน ว่าได้แก่  (๑) ความต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโลกที่ไม่เป็นเส้นตรง  (๒) ความต้องการของนักศึกษาที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ  (๓) มีเทคโนโลยีและรูปแบบของอุดมศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง  และ (๔) โมเดลอุดมศึกษาที่มุ่งเรียนรู้ทักษะ มากกว่ามุ่งปริญญา 7    

เหตุผลจากผู้เรียน

ปัจจัยจากผู้เรียน มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ   แต่ทั้งสองปัจจัยต้องการการปรับตัวของอุดมศึกษาทั้งสิ้น   ปัจจัยบวกคือ ในยุคปัจจุบันและอนาคต ผู้เรียนจะไม่ใช่เพียงเยาวชนที่เพิ่งเรียนจบ ม. ๖ อีกต่อไป   แต่จะรวมคนตลอดช่วงอายุการทำงาน และรวมคนวัยหลังเกษียณอายุงานด้วย   เป็นปัจจัยบวกเพราะทำให้ “ตลาด” ของอุดมศึกษาใหญ่ขึ้น   แต่ก็เป็นปัจจัยท้าทายไปในตัวด้วย   เพราะความต้องการเรียนของคนต่างวัยต่างหน้าที่การงานมีความแตกต่างกันมาก  รวมทั้งสไตล์การเรียนก็แตกต่างกัน   อุดมศึกษาต้องพัฒนา multiple learning platforms ขึ้นมารองรับ  

อุดมศึกษาไทยต้องเร่งพัฒนา micro learning platform ในลักษณะ module (ระยะเวลา ๓ - ๖ เดือน) ที่มีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติให้มีทักษะจำเพาะ ที่เมื่อเรียนจบและสอบผ่าน ได้รับใบรับรองวิทยะฐานะในลักษณะ micro degree ไปทำงานได้ทันที   และสามารถรวบรวมเครดิตไว้ จนเมื่อครบตามเกณฑ์ ก็ได้รับปริญญา   micro degree ควรเชื่อมโยงกับระบบ digital badge 8 ของมหาวิทยาลัย ที่มีรายละเอียดของความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่ผู้เรียนแต่ละคนบรรลุ ให้ผู้ต้องการว่าจ้างเข้าไปดูได้

เหตุผลจากความก้าวหน้าด้าน เทคโนโลยี

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   เปิดโอกาสให้จัดการเรียนแบบออนไลน์ได้สะดวก   รูปแบบการเรียนที่เดิมต้องมาเรียน ณ สถานที่เรียน    จึงสามารถจัดการเรียนออนไลน์ได้บางส่วนหรือทั้งหมด   การเรียนในปัจจุบันจึงควรเป็นแบบผสม (blended learning)   เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน   รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอนด้วย   และควรมีส่วนของการเรียนแบบ “กลับทางห้องเรียน” (flipped classroom) 9  เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการสอน   ที่อาจารย์เปลี่ยนจากผู้บอกความรู้ เป็นโค้ชของการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้           

เหตุผลจากข้อมูลใหม่เรื่องกลไกการเรียนรู้

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ด้านสมอง (neuroscience)  และวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ (learning science)   บอกเราว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เกิดจากการลงมือปฏิบัติ (learning by doing)    ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ผลลัพธ์การเรียนรู้ต้องเคลื่อนจากการเรียนรู้ระดับตื้น สู่การเรียนรู้ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง 10    การเรียนรู้ที่แท้ ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอดความรู้จากผู้อื่นหรือจากตำรา    แต่เกิดจากการปฏิบัติและคิดของตนเอง   หรือเป็นการสร้างความรู้ใส่ตัว   กระบวนการเรียนรู้ที่ดี ต้องนำสู่การเรียนรู้แบบรู้จริง (mastering learning) 11  และเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) 12   

เพื่อปลดปล่อยประเทศจากอาณานิคมทางปัญญา

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นอาณานิคมทางปัญญาของประเทศตะวันตกโดยไม่รู้ตัว   เพราะเรามุ่งไปเรียนรู้วิชาการสำเร็จรูป จากประเทศตะวันตก   นำมาใช้แบบเชื่อตามนั้น   ไม่ได้คิดสร้างความรู้หรือทฤษฎีขึ้นเองจากแผ่นดินแม่ 13   บัดนี้เราต้องการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์   ต้องการให้คนไทยมีความคิดเป็นของตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   จึงต้องเปลี่ยน “ชาลาการเรียนรู้” (learning platform) ของระบบการศึกษา    จากเรียนแบบเชื่อ เน้นท่องจำ    มาเป็นเรียนแบบคิด เน้นการถกเถียง   เพื่อให้คนไทยคิดเป็น และเป็นตัวของตัวเอง   มีการสร้างความรู้หรือทฤษฎีจากการปฏิบัติของตนเอง        

เปลี่ยนใหญ่ ๒ ชาลา

การเปลี่ยนใหญ่ (transformation) ที่ผมเสนอมี ๒ ส่วนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน    คือ

  • (๑) เปลี่ยนหรือขยาย working platform ของมหาวิทยาลัยที่เป็น academic platform ล้วนๆ   ไปสู่ engagement platform   ที่ในเบื้องต้นอาจมีเป้าหมายครึ่งต่อครึ่ง   ทั้งนี้สัดส่วนอาจขึ้นกับชนิดหรือจุดเน้นของมหาวิทยาลัยด้วย   เช่น มหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น น่าจะใช้ engagement platform ในสัดส่วนที่สูงกว่า เป็นต้น  
  • (๒) เปลี่ยน learning platform จาก knowledge transfer platform ไปเป็น co-producer platform   นักศึกษาเป็นผู้กระทำการเพื่อการเรียนรู้ของตน โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่ โค้ช หรือพี่เลี้ยง   และกิจกรรมที่นักศึกษาทำนั้น เน้นทำในสถานการณ์จริง ในสถานประกอบการ   โดยมีวิธีการที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง   รวมทั้งเกิดการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อสังคมด้วย  

เปลี่ยนชาลาการปฏิบัติงาน (working platform) ของมหาวิทยาลัย

การเปลี่ยนชาลาการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย สู่ “ชาลาชีวิตจริง” มากขึ้น   จะช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกเรียนรู้จากการปฏิบัติ (action)  ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   ช่วยให้การเรียนรู้มีลักษณะเป็นองค์รวม (holistic)   คือไม่ใช่แค่ได้เรียนรู้ทางเทคนิคเท่านั้น   ยังได้เรียนรู้ฝึกฝน “ทักษะอ่อน” (soft skills) ที่มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตในปัจจุบันและอนาคต เช่น ความสร้างสรรค์ (creativity),  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking),  การสื่อสาร (communication),  ความร่วมมือ (collaboration),  การเคารพผู้อื่น  ความเห็นแก่ผู้อื่น (empathy), และเห็นแก่ส่วนรวม  ความมั่นคงในคุณธรรมจริยธรรม (integrity) เป็นต้น  

การที่นักศึกษาได้เรียนรู้จาก “ชาลาปฏิบัติงานจริง” (working platform)   จะช่วยให้ได้พัฒนาสมรรถนะตรงตามความต้องการในการทำงาน   ซึ่งเป็นความต้องการของผู้เรียนในยุคนี้ และในอนาคต 

“ชาลาเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง” อยู่ในสถานประกอบการ  ซึ่งอาจเป็นโรงงานอุตสาหกรรม  สถานทำธุรกิจการค้า  หน่วยราชการ   หน่วยงานภาคประชาสังคม   สถานประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม   หน่วยงานการกุศล   องค์การระหว่างประเทศ   รวมทั้งสถานประกอบการในต่างประเทศ    ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาต้องมีระบบจัดการความสัมพันธ์ หรือความร่วมมือกับสถานประกอบการเหล่านี้   เพื่อร่วมกันสร้าง “ชาลาความร่วมมือแบบหุ้นส่วน” (engagement platform) อย่างเป็นทางการระหว่างหน่วยงาน   และเป็นความร่วมมือระยะยาว เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน   สำหรับมหาวิทยาลัย ชาลาความร่วมมือดังกล่าวเรียกว่า “พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม”      

การขับเคลื่อนกิจกรรมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมในประเทศไทยดำเนินการโดย สมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Engagement Thailand) 14 ที่มี ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้านเป็นนายกสมาคม   โดยท่านได้เป็นผู้นำของประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น   สมาคมมีการจัดการประชุมวิชาการทุกปี แต่การประชุมครั้งที่ ๗ ปี ๒๕๖๓  ต้องเลื่อนไปเป็นจัดในปี ๒๕๖๔ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด ๑๙

ประเทศสหราชอาณาจักร ดำเนินการส่งเสริม public engagement ของมหาวิทยาลัย   โดยจัดตั้งหน่วยงาน NCCPE – National Coordinating Centre for Public Engagement    หน่วยงานนี้จัดการประชุม Engagement Conference ทุกปี   สถาบันคลังสมองได้จัดนำคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไปร่วมประชุมเกือบทุกปี  และดูงานด้านกิจกรรม public engagement ของมหาวิทยาลัยใกล้เคียงสถานที่ประชุม   ในการประชุม 2017 Engagement Conference ผมได้ร่วมเดินทางไปด้วย   ได้เขียนบันทึกการเรียนรู้ลง บล็อก Gotoknow   และสถาบันคลังสมองฯ ได้รวบรวมเป็นเล่ม ชื่อ มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร15   สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี

ในปี ๒๕๕๗ ผมได้ร่วมกับคณะของสถาบันคลังสมองฯ ไปร่วมประชุม 2014 Engagement Australia Conference   และได้บันทึกข้อเรียนรู้ไว้ที่ บล็อก Gotoknow ในบันทึกชุด เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย 16   

เปลี่ยนชาลาการเรียนรู้(learning platform)

 “ชาลาการเรียนรู้” ที่ดีสำหรับอุดมศึกษาในยุคปัจจุบันและอนาคต ต้องเป็นพื้นที่เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง    ไม่ใช่การเรียนรู้จากการรับถ่ายทอด แล้วนำมาท่องจำ    คือ ชาลาการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนจากพื้นที่รับถ่ายทอดความรู้  มาเป็นพื้นที่สร้างความรู้ใส่ตัว   ความรู้ที่ได้รับจึงเป็น “ความรู้มือหนึ่ง”  ไม่ใช่ “ความรู้มือสอง”

ความรู้ที่ต้องการ จึงเป็น “ความรู้ขาออก” ที่เกิดจากการสร้างความรู้ขึ้นด้วยตนเอง เพื่อการใช้งาน    ไม่ใช่ “ความรู้ขาเข้า” ที่เกิดจากการรับถ่ายทอดจากผู้อื่น

“ชาลาการเรียนรู้จากการฝึกสร้างและใช้ความรู้” นี้    นอกจากมีผู้เรียนแล้ว  ต้องมีงาน  และมีครูฝึกหรือโค้ช    อาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้บอกความรู้” (lecturer) ไปเป็นครูฝึก หรือโค้ช   ทำหน้าที่ตั้งคำถาม มากกว่าบอกความรู้   

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้เปลี่ยนจาก “มีความรู้” หรือ “รู้ทฤษฏี”  ไปเป็น “มีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง”   คือไม่ใช่แค่รู้ แต่ใช้ความรู้เป็น   และเมื่อได้ฝึกใช้ความรู้แล้ว ยังมีทักษะในการสังเกตผล    นำมาใคร่ครวญสะท้อนคิด   เป็นข้อมูล feedback แก่ตนเอง ในการปรับปรุงความรู้  วิธีเรียนรู้  ความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ของตนเอง   เกิดเป็น double-loop learning 17, triple-loop learning 18   ซึ่งก็คือการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) 12 นั่นเอง

“ชาลาการเรียนรู้จากการฝึกสร้างและใช้ความรู้” จึงเป็นที่ฝึกทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning skills) ไปในตัว   เป็นทักษะที่จำเป็นมากในโลกยุค “เปลี่ยนขาด” (disruption) นี้   รวมทั้งเป็นการสร้าง “กระบวนทัศน์พัฒนา” (growth mindset) ไปด้วยในตัว   นำไปสู่สมรรถนะความเป็นคนที่คล่องแคล่วต่อการเรียนรู้และปรับตัว (resilience)   ซึ่งเป็นสมรรถนะที่ต้องการอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต  

ชาลาการเรียนรู้ที่เน้นทฤษฎี และเรียนอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นหลัก   เป็นการเรียนรู้ที่แคบและค่อนข้างหยุดนิ่ง (static)   ต่างจากชาลาการเรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ที่เป็นการเรียนรู้รอบด้าน เชื่อมโยงกว้างขวาง และเป็นพลวัต (dynamic)    ประเด็นสำคัญที่สถาบันอุดมศึกษาพึงระมัดระวังคือ   ต้องมีวิธีดำเนินการให้นักศึกษารู้จักวิธีเรียนรู้ทฤษฎีในมิติที่ลึก (higher order learning) จากการปฏิบัติ    เพื่อไม่ตกหลุมพรางผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ปฏิบัติได้   แต่เข้าใจไม่ลึก  อธิบายหลักการไม่ได้ (superficial learning)   

ระดับปฏิบัติการ

ในระดับปฏิบัติ ต้องมีการจัดการ “ชาลาการปฏิบัติงาน” (working platform)   ให้เป็น “ชาลาบูรณาการ” (integrated platform)   บูรณาการภารกิจหลัก ๔ อย่างของมหาวิทยาลัย (ผลิตบัณฑิต  วิจัย  บริการวิชาการ และทำนุบำรงความดีงาม) เข้าด้วยกัน   เพื่อให้การทำงานอยู่ในลักษณะ “ทำน้อย ได้มาก” ดังระบุไว้ในหนังสือ มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต หน้า ๔๒ 2    

“ชาลาบูรณาการ” นี้ ดำเนินการได้ง่ายกว่าในพื้นที่ของหุ้นส่วนภาคประกอบการ   เพราะธรรมชาติของการทำงานเป็นพื้นที่บูรณาการอยู่ในตัว    ต่างจากพื้นที่การทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สมมติ   แยกออกเป็นส่วนๆ ตามสาขาวิชาการ  และตามภารกิจ   ในระยะต้นของการสร้าง “ชาลาบูรณาการ” จึงควรมุ่งออกไปดำเนินการในพื้นที่ของหุ้นส่วน (engagement partner)   เมื่อมีการเรียนรู้และมีรูปแบบของการจัดการที่เห็นผลชัดเจน   จึงนำมาสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันภายในมหาวิทยาลัย   และเป็นเชื้อของการเปลี่ยนแปลง “ชาลาแยกส่วน” ภายในมหาวิทยาลัย อย่างในปัจจุบัน ไปเป็น “ชาลาบูรณาการ” ในลักษณะทำไปเรียนรู้ไป ปรับปรุงไป 

การจัดการร่วมกับหุ้นส่วน เริ่มที่งานพัฒนา

 “ชาลาการปฏิบัติงานแบบบูรณาการ” ในพื้นที่ของหุ้นส่วนนี้   ต้องเริ่มด้วยการร่วมกันกำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่า (purpose) ให้เป็นเป้าหมายที่ให้คุณค่าและผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย   โดยที่คำว่า “ทุกฝ่าย” หมายถึง ผู้ประกอบการ  มหาวิทยาลัย  นักศึกษา  อาจารย์  พื้นที่ที่มหาวิทยาลัยและสถานประกอบการตั้งอยู่  ประเทศไทย  และแก่โลก 

จากเป้าหมายระดับคุณค่า   ก็ต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายจำเพาะของกิจการที่จะทำร่วมกัน   โดยเอาเป้าหมายของหุ้นส่วนเป็นตัวตั้ง ว่าต้องการแก้ปัญหา หรือพัฒนาเรื่องอะไร   ทีมงานของมหาวิทยาลัยอยู่ในฐานะที่จะเข้าไปร่วมงานและก่อผลสำเร็จได้หรือไม่   ทีมงานของมหาวิทยาลัยจะประกอบด้วยนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่    ภายใต้เงื่อนไขว่า นักศึกษาเข้าไป “ทำงาน” เพื่อบรรลุผลสำเร็จตามแผนงาน ภายใต้การโค้ชของอาจารย์ และจะต้องมีพนักงานของหน่วยงานหุ้นส่วนร่วมโค้ชด้วย   ทางสถานประกอบการพร้อมจะร่วมมือในลักษณะนี้หรือไม่    มีเงื่อนไขอะไรบ้าง  

สภาพที่เป็นอุดมคติคือ ฝ่ายผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นไว้วางใจว่า ทีมของมหาวิทยาลัย ที่มีนักศึกษาและอาจารย์เข้าไปปฏิบัติงานนั้น โอกาสประสบความสำเร็จมีอยู่สูง (แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวอยู่บ้าง   เพราะงานนั้นเป็นงานสร้างสรรค์ ไม่มีสูตรสำเร็จ)    และจะยิ่งดี หากฝ่ายผู้ประกอบการจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งจ่ายค่าตัวผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย อย่างน้อยก็เป็นบางส่วน   เพราะจะสะท้อนความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของฝ่ายผู้ประกอบการ

โปรดสังเกตว่า ความร่วมมือแบบหุ้นส่วนนี้ ไม่ใช่ความช่วยเหลือ   แต่เป็นการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนร่วมชตากรรมด้วยกัน   ฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องแสดงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง รับผิดรับชอบ (accountability) สูง   และทำงานอย่างมืออาชีพ   เพื่อให้ฝ่ายภาคีหุ้นส่วนมีความศรัทธาเชื่อถือ

อาจมีข้อตกลงว่า หากกิจการร่วมหุ้นส่วนนี้บรรลุผลสำเร็จ   ก่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นกอบเป็นกำแก่หุ้นส่วนฝ่ายผู้ประกอบการ   ฝ่ายผู้ประกอบการจะจ่ายค่าตอบแทนแก่ฝ่ายมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง 

บูรณาการเข้าสู่ภารกิจอื่นของมหาวิทยาลัย

จากงานพัฒนา ซึ่งตามวาทกรรมเดิมของมหาวิทยาลัยคืองานบริการวิชาการ   แต่ตอนนี้เราเรียกว่า “งานร่วมมือกับหุ้นส่วน” (engagement function)   สามารถขยายไปครอบคลุมการวิจัยไปพร้อมๆ กัน ได้ไม่ยาก  โดยการตั้งโจทย์วิจัย  และเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและน่าเชื่อถือ   สำหรับนำข้อมูลมาวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อสร้างความรู้ใหม่   ที่เป็นความรู้จากการปฏิบัติ  และเป็นความรู้ที่ “สร้างในแผ่นดินแม่”   ในสภาพความเป็นจริง (บริบท) ของสังคมไทย

สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือเรื่องจริยธรรมในการวิจัย   ที่หากทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการจริยธรรมของมหาวิทยาลัยเสียก่อน   งานวิจัยนี้ทำในสถานประกอบการ จึงต้องวางระบบการตรวจสอบจากสถานประกอบการ ให้ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน เช่นเดียวกัน      

จากการที่นักศึกษา เข้าไปเป็นกำลังหลักของการทำงานพัฒนาในสถานประกอบการที่เป็นหุ้นส่วน   การทำงานนั้นเองคือ “ชาลาเพื่อการเรียนรู้” (learning platform) ของนักศึกษา   เกิดความรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น (ทั้งที่เป็นเพื่อนนักศึกษา  อาจารย์  และพนักงานของสถานประกอบการ) ตามด้วยกิจกรรมใคร่ครวญสะท้อนคิดคนเดียว และใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกันเป็นทีม   ทั้งนี้ อาจารย์ผู้รับผิดชอบ ต้องวางแผนการเรียนรู้   ให้นักศึกษาได้มีแหล่งความรู้เชิงทฤษฎี สำหรับใช้ตรวจสอบอ้างอิงจากการค้นคว้าด้วยตนเอง   หรือร่วมกับเพื่อนนักศึกษา  

เป็นความท้าทาย ที่มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอน บน “ชาลาเพื่อการเรียนรู้” แบบใหม่นี้  ที่ทำให้เกิดสภาพ win – win – win – win   คือได้รับประโยชน์ทั้ง ฝ่ายผู้ประกอบการ  นักศึกษา  อาจารย์  และมหาวิทยาลัย   จะต้องมีระบบสนับสนุนการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย การบริหารงานบุคคล (คิดภาระงาน และผลงานวิชาการของอาจารย์ เป็นต้น)  

การที่อาจารย์และนักศึกษาออกไปปฏิบัติงานนอกรั้วมหาวิทยาลัย  ทำงานร่วมกับคนในสถานประกอบการที่อาจมีแนวคิด ความเชื่อ ระบบคุณค่า แตกต่างกัน   เป็นโอกาสที่ทั้งนักศึกษาและอาจารย์จะได้เรียนรู้และพัฒนา “ทักษะอ่อน” (soft skills) ของตน   มีโอกาสที่จะได้เผชิญสภาพสังคมที่มีทั้งด้านดีและด้านชั่ว   เป็นโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติตัวเพื่อฝึกความมั่นคงทางจริยธรรม (integrity) ของตน   เพื่อธำรงความดีงามในสังคม อันเป็นภารกิจข้อที่ ๔ ของมหาวิทยาลัย (ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม) 

จะเห็นว่า “ชาลาการเรียนรู้ในสถานประกอบการหุ้นส่วน” เป็นทั้งชาลาการเรียนรู้บูรณาการ   และเป็นชาลาบูรณาการภารกิจของมหาวิทยาลัยได้ไม่ยาก   ง่ายกว่าทำในพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย   ทั้งนี้เพราะในสถานประกอบการเป็น “ชาลาชีวิตจริง”  ในมหาวิทยาลัยเป็น “ชาลาสมมติ”     

ผู้เรียน

ได้กล่าวแล้วข้างต้น ว่าในมหาวิทยาลัยยุคใหม่   ผู้เรียนจะมีทุกกลุ่มอายุของผู้ใหญ่   และอาจมีนักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับบางคนมาลงทะเบียนเรียนบางวิชา    หรืออาจมีนักศึกษาอายุน้อยที่สมองดีเลิศอยู่ด้วย    ดังนั้น ความท้าทายของมหาวิทยาลัยยุคใหม่คือต้องมีระบบที่ให้บริการนักศึกษาที่มีความหลากหลายมาก ได้อย่างมีประสิทธิผล หรืออย่างมีคุณภาพ      

ผู้เรียนต้องการอะไร

เมื่อผู้เรียนมีความหลากหลาย   ความต้องการของผู้เรียนก็ย่อมแตกต่างหลากหลายไปด้วย   ข้อท้าทายคือ มหาวิทยาลัยจัดระบบการทำงานให้นักศึกษาได้รับบริการ หรือการดูแล แบบ “บริการเฉพาะตัว” (precision education)  ได้ไหม

กล่าวกันว่า ความต้องการใหญ่ที่สุดที่นักศึกษายุคอนาคตต้องการจากมหาวิทยาลัยคือ ช่วยให้ตนเองมีสมรรถนะพร้อมทำงาน   ความต้องการนี้ช่วยบอกเราว่า   มหาวิทยาลัยไม่มีทางทำหน้าที่นี้ได้ดีโดยการทำงานโดยลำพัง ไม่แสวงหาหุ้นส่วนความร่วมมือจากสถานประกอบการ

ผู้เรียนที่อยู่ในวัยทำงาน

ในอนาคตนักศึกษาส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ทำงานอยู่แล้ว และต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะในการทำงานของตน   มหาวิทยาลัยมี “ชาลาการเรียนรู้” สำหรับนักศึกษากลุ่มนี้อย่างไร    เป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องคิดนวัตกรรมในการทำงาน   และน่าจะมีชาลาการเรียนรู้หลายแบบ  เพื่อดึงดูดคนที่อยู่ในวัยทำงานเข้าสู่มหาวิทยาลัยในรูปแบบที่เขาชอบ   ผมขอเสนอ “ชาลาเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะต่อเนื่อง” (continuous upskilling platform)    ที่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดร่วมกับสถานประกอบการหุ้นส่วน   เป็นกิจกรรมบน “ชาลาเรียนรู้ในชีวิตจริง” หรือ “ชาลาการเรียนรู้ในการทำงาน” แบบหนึ่ง   ที่ใช้ “หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่” (adult learning)   หนังสืออ้างอิงสำหรับคิดพัฒนาชาลานี้คือ The Upskilling Imperative : 5 Ways to Make Learning Core to the Way We Work (2020) 19

ผู้เรียนคือใคร

นี่คือหลักการหรือกระบวนทัศน์สำคัญที่สุดที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย  ผู้เรียน  และผู้คนในสังคม   เราต้องการการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนทั้งสังคมไทย ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยคือใคร   จึงต้องมีการสื่อสารสังคมกันเป็นการใหญ่   ว่าหากจะให้ประเทศไทยมีการพัฒนาคุณภาพของผลเมือง เพื่อสร้างประเทศสู่สังคมรายได้สูง สังคมดี ความเหลื่อมล้ำน้อย   เราต้องเปลี่ยนความคิดว่าด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัย     

ผู้ร่วมสร้าง หรือผู้รับถ่ายทอด

นี่คือสองกระบวนทัศน์ต่อตัวนักศึกษา   ที่กระบวนทัศน์เดิม มองว่านักศึกษาคือผู้เข้ามาดูดซับรับเอาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัย   แนวความคิดนี้ใช้การได้ดีมาหลายร้อยปี (ของไทยเพียงร้อยปีเศษ) จนถึงปัจจุบัน   แต่ในอนาคตกระบวนทัศน์นี้จะทำให้อุดมศึกษาอ่อนแอ   และการพัฒนาคุณภาพของพลเมืองไม่ได้ผลดี  

กระบวนทัศน์ใหม่ ต้องมองนักศึกษาเป็นผู้เข้ามาฝึกหัดเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต   ฝึกผ่านการปฏิบัติงานจริงโดยมีพี่เลี้ยงหรือโค้ช   มีพื้นที่เรียนรู้ที่สะดวกสบายและปลอดภัยพอสมควร   นักศึกษาจึงทำหน้าที่ผู้ร่วมสร้างความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความรู้ใส่ตัว   หรืออาจกล่าวว่า นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการทำหน้าที่ผู้ร่วมพัฒนา หรือร่วมให้บริการ

ในบางกรณี นักศึกษาอาจทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมวิจัยด้วย   ได้ฝึกเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำ  และฝึกวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล   และในบางกรณีอาจได้ฝึกเขียนรายงานการวิจัยด้วย   หากได้อาจารย์ที่เก่งด้านวิจัยเป็นพี่เลี้ยง   อาจได้ฝึกตั้งโจทย์วิจัย และทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ของตนเอง    กระบวนการวิจัยหรือการสร้างความรู้นี้   จะช่วยส่งเสริมการฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต   ที่เป็นเป้าหมายหลักของการเรียนมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันและอนาคต  

นักศึกษาในหัวข้อนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาตรี   ยังหมายความครอบคลุมไปยังนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา   และนักศึกษาที่เป็นผู้ทำงาน         

การจัดการผู้เรียน

การจัดการผู้เรียนเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายมาก   เพราะแนวทาง “นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการร่วมสร้างสรรค์หรือร่วมทำงาน” นี้ เป็นของใหม่  

เริ่มจากการเตรียมความเข้าใจและความพร้อม ก่อนเข้ามาเป็นนักศึกษา    ว่าจะต้องเรียนทฤษฎีด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่  ผ่านการเรียนแบบออนไลน์ หรือแบบ “ห้องเรียนกลับทาง” หรือแบบผสม (blended learning)   ควบคู่ไปกับการเรียนผ่านการปฏิบัติโดยการทำงาน   โดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่ช่วยตั้งคำถามให้นักศึกษาหาคำตอบเอง   โดยนักศึกษาเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นทีม   ใช้เวลาส่วนใหญ่ในสถานประกอบการ   การสอบส่วนใหญ่จะเป็นการทดสอบเพื่อประเมินทักษะความรู้ความเข้าใจ สำหรับใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ให้ปรับปรุงวิธีเรียนของตนเอง (formative assessment)   โดยที่นักศึกษาเองก็ได้ฝึกประเมินตนเองว่า การเรียนรู้ของตนไปถึงขั้นไหนแล้ว   และตัวนักศึกษาเองจะต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่ต้องการ    มีการสอบเพียงส่วนน้อยที่ใช้ในการตัดสินได้ตก หรือสอบผ่านไม่ผ่าน (summative evaluation)   กล่าวง่ายๆ นักศึกษาต้องเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง    นี่คือการวางพื้นฐาน “ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (lifelong learning skills) ให้แก่นักศึกษา

เมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาแล้ว   การจัดการผู้เรียนจึงเป็นการจัดการให้ได้ “เข้าสถานประกอบการ”   ไม่ใช่ “เข้าห้องเล็กเชอร์” อย่างที่คุ้นเคยกันในอดีตและปัจจุบัน   จะเข้าสถานประกอบการแบบใดบ้าง   แต่ละแห่งเป็นเวลานานแค่ไหน   ในช่วงปีใด   จะเป็นเรื่องของการจัดหลักสูตร ที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่หมด   การจัดหลักสูตรจะมีสองชั้นซ้อนกันอยู่   คือชั้นการฝึกปฏิบัติงาน  กับชั้นรายวิชาที่ต้องรู้   ต้องมีการวิจัยหลักสูตร   ว่าจัดการฝึกปฏิบัติงานอย่างไรจึงจะทำให้นักศึกษาเรียนรู้สาระวิชาครบถ้วน   แต่ที่สำคัญกว่า คือทักษะในการเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ในสถานการณ์จริง   การวิจัยหลักสูตร ต้องวิจัยว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาบรรลุครบถ้วนและอยู่ในระดับสูงตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรครบทุกคนหรือไม่   ควรปรับปรุงในประเด็นใด 

การจัดการด้านการเรียนการสอน หรือการผลิตบัณฑิต จึงเปลี่ยนจาก “การจัดการหลักสูตร” ไปเป็น “การจัดการผู้เรียน”               

การมีนักศึกษาในวัยทำงาน ที่เข้าเรียนเฉพาะโมดูล   หรือเข้าเรียนใน “ชาลาการเรียนรู้ในชีวิตการทำงาน” จะช่วยให้การจัดการ “ชาลาเรียนรู้ในสถานประกอบการ” สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทำได้สะดวกขั้น  

ผมเสนอจินตนาการ ทุนนักศึกษาร่วมสร้างสรรค์ ไว้ใน บล็อก Gotoknow 20       

ผู้ดำเนินการ

แม้ว่าผู้รับผิดชอบคุณภาพของอุดมศึกษาคือสถาบันอุดมศึกษา   แต่ผู้ดำเนินการการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น อย่างในอดีต   แต่จะเป็นเรื่องของสังคมไทยทั้งมวล   ที่จะร่วมกันทำหน้าที่เป็น “ชาลาเรียนรู้ในชีวิตจริง” ให้แก่นักศึกษา   คือทำหน้าที่ “หุ้นส่วนชีวิตจริง” ให้แก่สถาบันอุมศึกษา

หากการณ์เป็นไปตามที่ผมเสนอ “ชาลาอุดมศึกษา” (higher education platform) กับ “ชาลาชีวิตจริง” (real-life platform) จะเข้ามาซ้อนทับกัน   อุดมศึกษาก็จะไม่แปลกแยกออกจากสังคม   เชื่อว่า การเรียนรู้แนวดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิตหรือผู้สำเร็จการศึกษามีความสอดคล้อง (relevant) กับความต้องการของสังคมแล้ว    ยังจะช่วยให้ “จิตสำนึกเพื่อสังคม” ของพลเมืองไทยในอนาคต ยกระดับสูงขึ้น

ยิ่งกว่านั้น สมรรถนะความเป็นผู้ลงมือกระทำการ หรือก่อการ (agency) 21 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนา (agentic competency) ของพลเมืองไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย   คนไทยจะมีพฤติกรรมของ “พลเมืองผู้ก่อการ” (active citizen) เต็มทั้งแผ่นดิน   อ่านเรื่องความเป็นผู้ก่อการได้ในเอกสารของ OECD ชื่อ THE FUTURE OF EDUCATION AND SKILLS : Education 2030 22

  

ระบบอาจารย์

นี่คือปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของ “วิถีใหม่อุดมศึกษาไทย” ตามที่เสนอ   เพราะในมหาวิทยาลัย พลังสำคัญที่สุดคือคณาจารย์

ระบบอาจารย์มหาวิทยาลัยในอนาคต ต้องการความยืดหยุ่น    มีกลไกให้เชื่อมประสานกับภาคชีวิตจริง   มีการไหลเวียนถ่ายเทบุคลากร    เพื่อให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างภาควิชาการกับภาคชีวิตจริง   เพื่อให้อุดมศึกษาเป็นระบบที่ “รู้จริง” และ “รู้รอบ”   และมีปฏิสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างแน่นแฟ้น   ร่วมกันสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ ขึ้นในสังคมไทย   ผ่าน “พลังของผู้เรียน” ที่เกื้อหนุนโดยอาจารย์    

การสรรหาอาจารย์

ระบบการรับคนเข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ต้องเน้นการเสาะหาเชิงรุก   โดยที่มีการกำหนดคุณลักษณะไว้ว่าต้องการอาจารย์ที่มีความคลั่งใคล้ไหลหลง และมีความสำเร็จ หรือเป็นผู้นำในเรื่องใด   มีการระบุตัวคนที่มีคุณลักษณะตามที่ต้องการ   แล้วหาทางไปเชิญชวนให้มาเป็นอาจารย์  

นอกเหนือจากการคำนึงถึงคุณวุฒิระดับปริญญาเอก   ควรให้น้ำหนักคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบการมาแล้วระยะหนึ่ง    และส่อแววว่าน่าจะเป็นอาจารย์ที่ดีได้ตามภารกิจที่ต้องการ    พึงตระหนักว่า คุณวุฒิระดับปริญญาเอกจากหลายสถาบันอุดมศึกษา และหลายสาขาวิชา ไม่สะท้อนว่าจะเป็นอาจารย์ที่ดีเสมอไป  

สมรรถนะของอาจารย์

วงการอุดมศึกษาไทยควรให้คุณค่าต่อความเป็นเลิศของสมรรถนะที่หลากหลาย   เพราะปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า  วิชาการมีอย่างน้อย ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) วิชาการแห่งการค้นพบ (scholarship of discovery)  (๒) วิชาการแห่งแห่งพันธกิจสัมพันธ์ (scholarship of engagement)  เป็นวิชาการที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  (๓) วิชาการบูรณาการ (scholarship of integration) เชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ  และ (๔) วิชาการด้านการสอนและการเรียนรู้ (scholarship of teaching and learning) 23

เป็นที่น่ายินดีว่า ในขณะนี้เกณฑ์เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ยอมรับผลงานวิชาการ และสมรรถนะของอาจารย์ที่หลากหลายขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการแนวปฏิบัติ        

ระบบเลี้ยงดูและเชิดชูอาจารย์

ระบบเลี้ยงดูและเชิดชูอาจารย์ต้องเป็นระบบ merit system   คือยกย่องตามผลงานที่เป็นที่ยอมรับของวงการวิชาการ   ซึ่งในสภาพของการเปลี่ยนผ่านระบบอุดมศึกษา จากเน้นเฉพาะวิชาการแห่งการค้นพบ  ออกไปสู่วิชาการอีก ๓ ด้าน ที่กล่าวแล้ว   วงการวิชาการที่จะทำหน้าที่ peer review ผลงานวิชาการอีก ๓ แบบ มีคนจำกัด   จึงมีความจำเป็นที่ระบบกำกับดูแลระดับมหาวิทยาลัย และระบบกำกับดูแลระดับชาติ ต้องร่วมมือกันพัฒนากลไกของ peer review ที่กว้างขึ้น

อาจารย์ที่ทำงานใน “ชาลาความร่วมมือ” (engagement platform) นอกจากทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยในภารกิจหลัก ๔ ด้านแล้ว   ยังอาจมีส่วนหา “สินทรัพย์” เข้าสู่มหาวิทยาลัย   ทั้งที่เป็นเงินและที่เป็นความยอมรับนับถือในสังคม   คุณงามความดีด้านนี้ควรได้รับการยอมรับเป็นน้ำหนักผลงานสู่การให้ผลประโยชน์ตอบแทน   ควรมีการออกกฎกติกาเรื่องนี้และพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดสภาพความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างมหาวิทยาลัยกับบุคลากร 

ระบบกำกับดูแลระบบ (Governance System)

Governance system ของอุดมศึกษามี ๓ ระดับ  คือระดับโลก  ระดับประเทศ  และระดับมหาวิทยาลัย   เราจะเห็นว่าอุดมศึกษาไทยถูกกำกับโดยทางอ้อมจากกลไกระดับโลกไม่ใช่น้อย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกการจัดอันดับมหาวิทยาลัย   ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ควรเข้าไปถูกจองจำมากเกินไป    เราควรมีกติกาของความเป็นเลิศของเราเองจะดีกว่า  

การกำกับดูแลระดับประเทศ

วิธีกำกับดูแลคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นระบบกำกับที่ “ต้นทาง” หรือ “ปากท่อ”   ไม่มีกลไกกำกับคุณภาพของผลลัพธ์หรือผลผลิต ซึ่งเป็นการกำกับที่ “ปลายท่อ”   ผมมีความเห็นว่า ควรจัดให้ระบบกำกับดูแลอุดมศึกษาของประเทศหันไปเน้นกำกับที่ “ปลายท่อ” หรือที่ผลลัพธ์และผลกระทบ ให้มากขึ้น   จนกลายเป็นกลไกหลัก   ซึ่งหมายความว่า เราต้องออกจากกระบวนทัศน์และพฤติกรรมของระบบอุปถัมภ์ ไปสู่ระบบ “สนับสนุนตามผลงาน” (merit system)

ระบบกำกับดูแลควรเป็น “ระบบที่เรียนรู้” (learning systems) คือรับเอาข้อมูลจากฝ่ายปฏิบัติ    เอามาประมวลเป็นสารสนเทศและความรู้ ใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับเพื่อให้เกิด double-loop learning และ triple-loop learning ของระบบกำกับดูแลอุดมศึกษาของประเทศ   หากจะดำเนินการแนวนี้จริง ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการกำกับดูแลจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือความสัมพันธ์แนวดิ่ง   ไปเป็นความสัมพันธ์เชิงเรียนรู้และพัฒนา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบ  

โดยแนวคิดนี้ ระบบกำกับดูแลจะมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนวงจรของการเปลี่ยนโฉมอุดมศึกษา   ไม่ใช่เพื่อให้อุดมศึกษามีรูปแบบตามที่กำหนดตายตัวจากกลไกกำกับดูแล   

ระบบกำกับดูแลระดับประเทศ ต้องสร้างระบบให้สนับสนุนต่อสถาบันอุดมศึกษาอย่างแยกแยะ คือสนับสนุนมากน้อยตามผลงาน (merit system)   ต้องรับผิดชอบไม่ให้เป็นระบบวิ่งเต้นเล่นพวก

ในกรณีที่จำเป็น  ระบบกำกับดูแลควรเอื้อ “ระบบทดลองทำนอกกติกา” (sand box) เพื่อการสร้างนวัตกรรมในการทำงาน 

การกำกับดูแลระดับมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยปฏิบัติการ เพื่อเปลี่ยนแปลง (transform) ตนเอง   กลไกกำกับดูแลในระดับมหาวิทยาลัยจึงควรทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่า (purpose)  ทิศทาง (direction)  และตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ (strategic positioning) ที่จำเพาะของมหาวิทยาลัย   แล้วกำกับ และสนับสนุน ให้ดำเนินการตรงทิศ และบรรลุคุณค่าและเป้าหมายนั้น   โดยที่มีวงจรการเรียนรู้บูรณาการอยู่ในการปฏิบัติงาน และการกำกับดูแล  

ฝ่ายกำกับดูแล ควรมุ่งดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ “จัดการการเปลี่ยนแปลง” (change management) อย่างจริงจัง    ให้มีการรายงานความก้าวหน้าทุกๆ ไตรมาส   

สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การเปิดกฎหมายเอามาทบทวน แล้วดำเนินการตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย   

ผมไปบรรยายเรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ของอุดมศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง   ได้เสนอวิถีใหม่อุดมศึกษาไทยไว้อย่างละเอียดครบด้าน   สามารถเข้าไปดู PowerPoint ได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts... 23

ผมได้เขียนบันทึกเสนอข้อคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของอุดมศึกษาไว้มากมายที่ บล็อก Gotoknow 24

เมื่อเขียนบทความนี้ใกล้เสร็จ ก็พบเอกสารของสหภาพยุโรปเรื่อง Universities without walls : A vision for 2030 25  ที่เสนอให้พัฒนามหาวิทยาลัยในยุโรปในทิศทางเดียวกันกับที่ผมเสนอในบทความนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทด้านการทำงานเป็นหุ้นส่วนสังคม   โดย Thomas Jorgensen และ Anne-Lena Claeys-Kulik ได้สรุปประเด็นสำคัญของรายงานดังกล่าวมาเสนอให้อ่านสะดวก 26  

รูปแบบของนวัตกรรมอุดมศึกษาไม่ได้จำกัดเฉพาะตามที่เสนอข้างบนเท่านั้น   ยังสามารถริเริ่มขึ้นได้อีกมากมาย  เช่นการให้มี gap year 27, 28 เพื่อนักศึกษาออกไปทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ใน “ชาลาชีวิตจริง”   เพื่อกระชับเป้าหมายในชีวิตให้แจ่มชัดมั่นคงยิ่งขึ้น   ที่ในต่างประเทศทำกันมาหลายสิบปี   แต่ในประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้   Terry Heick เสนอตัวอย่างนวัตกรรมในอุดมศึกษา ๑๔ อย่าง 29   มีการตีพิมพ์เผยแพร่วารสาร Innovative Higher Education ที่มีเรื่องราวของนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย 30  

  

รายการอ้างอิง

  1. 1. ประเวศ วะสี. (2563)  แผนและยุทธศาสตร์สร้างแผ่นดินสุขภาวะ ใน ๘๐๐ อำเภอ ๘,๐๐๐ ตำบล ทั่วประเทศ บทบาทของ ๑๐๐ มหาวิทยาลัย ๑ ล้านนิสิต. (https://www.gotoknow.org/posts/681181)
  2. 2. วิจารณ์ พานิช. (2562)  มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. 3. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๖๓)  มหาวิทยาลัยผูกพันสังคม.  https://gotoknow.org/posts/tags/Zimpher
  4. 4. พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒.  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖  ตอนที่ ๕๗ ก (๕๔ - ๗๘).
  5. 5. แผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี  พ.ศ. 2561 – 2580. กรุงเทพ : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  6. 6. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๖๐)  สิ้นยุคมหาวิทยาลัยในรูปแบบปัจจุบันhttps://gotoknow.org/posts/643493.
  7. 7. World Economic Forum (2020). The four biggest challenges to our higher education model and what to do about them.  https://www.weforum.org/agenda/2019/12/fourth-industrial-revolution-higher-education-challenges/ (Access 6 February 2021).
  8. 8. Digital badge. Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Digital_badge (Access 6 February 2021)
  9. 9. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๕๖) ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง. กรุงเทพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล
  10. 10. วิจารณ์ พานิช และ วิมลศรี ศุษิลวรณ์. (๒๕๖๓) ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง.  กรุงเทพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล  
  11. 11. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๕๖) การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร. กรุงเทพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล  
  12. 12. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๕๘) การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล  
  13. 13. เจตนา นาควัชระ. (๒๕๔๘) จากแผ่นดินแม่ สู่แผ่นดินอื่น. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์คมบาง
  14. 14. สมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม.  http://engagementthailand.org/
  15. 15. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๖๑) มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร. กรุงเทพ : สถาบันคลังสมองของชาติ  http://www.knit.or.th/web/wp-content/uploads/2018/03/PE-in-UK-book.pdf 
  16. 16. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๕๗) เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย  https://www.gotoknow.org/posts/tags/engagement_australia
  17. 17. Double-loop learning. Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Double-loop_learning(Access 7 February 2021)
  18. 18. Tosey, Paul; Visser, Max; and Saunders Mark N.K.. (2012)  The origins and conceptualizations of ‘triple-loop learning’ : A critical review. Management Learning 2012 (43) (291 – 307). 
  19. 19. Osborne, Shelly. (2020) The Upskilling Imperative : 5 Ways to Make Learning Core to the Way We Work. McGraw-Hill Education.
  20. 20. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๖๔)  แรงบันดาลใจมีค่าเป็นทุนเรียนมหาวิทยาลัย : ทุนนักศึกษาร่วมสร้างสรรค์.   https://gotoknow.org/posts/688920
  21. 21.  Agency. Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Agency_(philosophy) (Access 7 February 2021)
  22. 22. OECD (2018) THE FUTURE OF EDUCATION AND SKILLS : Education 2030https://www.oecd.org/education/2030/E2030%20Position%20Paper%20(05.04.2018).pdf  (Access 12 February 2021).  
  23. 23. วิจารณ์ พานิช. (๒๕๖๒) กระบวนทัศน์ใหม่ของอุดมศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑. https://www.gotoknow.org/posts/660758
  24. 24. วิจารณ์ พานิช. https://gotoknow.org/posts/tags/อุดมศึกษา
  25. 25. European University Association. (2021) Universities without walls : A vision for 2030. https://www.eua.eu/downloads/publications/universities%20without%20walls%20%20a%20vision%20for%202030.pdf(Access 12 February 2021.
  26. 26. Jorgensen, Thomas and Claeys-Kulik, Anna-Lena. (2021)  What does the future hold for Europe’s universities?University World News  https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20210204091600372(Access 12 February 2021)
  27. 27. Gap year. Wikipedia  https://en.wikipedia.org/wiki/Gap_year. (Access 13 February 2021).
  28. 28. Rogers, Julia. (2019) The higher education crisis – and how the gap year can help solve it. https://www.youtube.com/watch?v=CM2KospQ798(Access 13 February 2021).   
  29. 29. Heick, Terry. 14 Examples of Innovation in Higher Educationhttps://www.teachthought.com/the-future-of-learning/examples-of-innovation-in-higher-ed/ (Access 13 February 2021).  
  30. 30. Innovative Higher Education. https://www.springer.com/journal/10755 (Access 13 February 2021). 

................................................


หมายเหตุ
    เป็นต้นฉบับ ส่งให้คณะบรรณาธิการของ ควอท. (สุดาพร ลัษณียนาวิน, กัลณกา สาธิตธาดา, จิตเจริญ ไชยาคำ) เป็นบทหนึ่งของหนังสือ วิถีใหม่อุดมศึกษาไทย จัดพิมพ์โดยสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย  มีวางจำหน่ายแล้ว ราคา ๒๕๐ บาท   ในหนังสือมีการจัดเรียงหัวข้อให้เป็นระบบมากขึ้น 
หมายเลขบันทึก: 689967เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2021 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2021 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ อาจารย์หมอ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท