Developmental Evaluation : 26. DE เพื่อพัฒนาโรงเรียนในโครงการ TSQP (๑)


วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ - ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ผมไปร่วมเป็นวิทยากร ใน การอบรมเชิงปฏิบัติการ Developmental Evaluation (DE) ช่วงกลางน้ำ (ครั้งที่ ๒)จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล    ให้แก่สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และ สถานศึกษา ของ กสศ.    ที่ต้องการใช้การประเมินในแนวทาง Developmental Evaluation มาเสริมพลังของภาคี เครือข่ายและโรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รุ่น ๑ และรุ่นที่ ๒

ได้มีโอกาสไปเปิดกะโหลกเรียนรู้เทคนิคจัด workshop เพื่อพัฒนาทักษะการนำ DE ไปใช้งาน

 ผมกล่าวเปิดการอบรมสั้นๆ โดยมี ppt ประกอบ    จึงขอนำมา ลปรร. ที่ ()   

ผมเคยโฆษณา DE สยามกัมมาจลโมเดลไว้ที่ (๒) บัดนี้ได้โอกาสเล่า ว่าทีมมูลนิธิสยามกัมมาจลทำหน้าที่พัฒนาทักษะ DE ให้แก่ทีมผู้ใช้ DE อย่างไร       

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร (เปา) ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ตีความ DE โรงเรียนพัฒนาตนเองไว้   ว่าผู้ดำเนินการโครงการเป็นผู้ประเมิน DE ด้วย    และกำหนดโครงสร้างของ DE ในช่วง ๑ ปี    เป็น DE ต้นน้ำ  กลางน้ำ  ปลายน้ำ  ดังนี้

Workshop DE ต้นน้ำจัดเมื่อวันที่ ๒๖ และ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓  เพื่อ (๑) ออกแบบโครงการ  (๒) ประเมินความซับซ้อนของ ecosystems  (๓) กำหนด KRA (Key Result Area), KPI (Key Performance Indicators)   (๔) กำหนด actions ที่จะทำให้เกิดผลตาม KRA/KPI     ดังในแผนผัง

Workshop กลางน้ำ เป็นการติดตามผลของ actions   และหารือแนวทางปรับ actions    โดยพลังของ workshop อยู่ที่โจทย์ของแต่ละช่วง    เพื่อให้แต่ละทีมโค้ชได้ปรึกษาหารือกันอย่างเข้มข้น (deliberation)    โดยมีทีมวิทยากรกระบวนการช่วยอำนวยความสะดวก    โดยมีเป้าหมายของกิจกรรม ๕ ประการคือ

  1. 1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจกระบวนการ Developmental Evaluation (DE) และสามารถนำไปปรับใช้กับงานที่ตนเองรับผิดชอบได้
  2. 2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมนำ Activities ที่ทำแล้ว มาสอบทานกับ Vision, KRA (Key Result Areas), KPI (Key Performance Indicators)  
  3. 3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทบทวนวิธีการทำงานของทีม กับ Stakeholders ในเชิงคุณภาพของการทำงาน
  4. 4. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมนำผลลัพธ์จาก Activities มาพิจารณา กับ Vision, KRA, และ KPI เพื่อให้เห็น แนวทางพัฒนางาน
  5. 5. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงานในการก้าวข้ามปัญหาแต่ละด้าน และเป็นบทเรียนในการทำงานต่อไป  

Workshop กลางน้ำนี้มีการออกแบบกระบวนการและกิจกรรม  และทดลองใช้ในทีมกระบวนกรถึง ๓ รอบ    มีการปรับปรุงทุกรอบ   จนเอามาใช้จริงในวันนี้   ในเวลา ๒ วันมีกิจกรรม ๖ ขั้นตอนคือ

  1. 1. ทบทวนเป้าหมาย  
  2. 2. วิเคราะห์กิจกรรม
  3. 3. ประเมินผลลัพธ์
  4. 4. วิเคราะห์ความซับซ้อน
  5. 5. ประเมิน
  6. 6. ปรับแผนงาน

ในแต่ละกิจกรรม    วิทยากรมี template ของขั้นตอนเป็นตารางให้ดำเนินการ    โดยทีมดำเนินการของแต่ละทีมโค้ชดำเนินการร่วมกัน    ใช้ข้อมูลที่ตนไปดำเนินการในโรงเรียนช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา     ดังนั้น DE สยามกัมมาจลโมเดล ที่ใช้กับโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง จึงเป็นDE ที่ ทีมดำเนินการ (ทีมโค้ช) เป็นผู้ประเมินด้วย    ในกรณีนี้ ทีมปฏิบัติงานทำหน้าที่ประเมินตนเอง    และ stakeholders ของแต่ละทีมที่มาเข้า workshop มีความหลากหลายน้อย    คือมีสมาชิกทีมโค้ชกับครูหรือผู้อำนวยการโรงเรียนในการดูแลเพียง ๑ คน    ประสบการณ์ tension ภายในทีม ของการประเมิน จึงมีไม่มาก     

การทบทวนเป้าหมาย   

ให้สมาชิกทีมแต่ละคนเขียนเป้าหมายที่ต้องการเห็นเมื่อสิ้นสุดโครงการ ๑ ปี    เอามาเปรียบเทียบกัน โดยแต่ละคนอธิบายเหตุผล   เพื่อกระตุ้นให้มีการฟังและต่อเติมความเห็นซึ่งกันและกัน    และเปรียบเทียบกับ Vision, KRA, และ KPI ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ workshop ต้นน้ำ   

วิเคราะห์กิจกรรม

ให้ทำรายการกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ตามลำดับเวลา    ระบุกลุ่มเป้าหมาย วัตุประสงค์ KRA/KPI    

ประเมินผลลัพธ์ของแต่ละกิจกรรม

ให้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนให้คะแนนแต่ละกิจกรรม ว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของโครงการมากน้อยเพียงไร เรียงจากมาก (คะแนน ๓)  ปานกลาง (คะแนน ๒)  และน้อย (คะแนน ๑)   โดยแต่ละคนอธิบายให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟังถึงเหตุผลที่ให้คะแนนเช่นนั้น    แล้วรวมคะแนน   จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้วต่อการบรรลุเป้าหมาย   

วิเคราะห์ความซับซ้อนของกิจกรรม

สมาชิกกลุ่มร่วมกันวิเคราะห์ความซับซ้อนของแต่ละกิจกรรม  ตัวอย่างปัจจัยของความซับซ้อนเช่น ความไม่แน่นอน  ความยุ่งยาก  การเข้าใจความหมายไม่ตรงกัน   นำความเข้าใจความซับซ้อนนั้นมาประเมินระดับความซับซ้อนของแต่ละกิจกรรมที่ทำไปแล้ว    ให้คะแนนความซับซ้อนเป็น สูง  ปานกลาง  ต่ำ    

เลือก ๒ กิจกรรมที่ คะแนนสูงทั้งด้านความสำคัญและความซับซ้อน   นำไปประเมินในขั้นตอนที่ ๕

การประเมิน

  • (ก) ประเมินผลลัพธ์ของ ๒ กิจกรรมที่สูงทั้งความสำคัญ (ต่อการบรรลุเป้าหมาย)  และความซับซ้อน    แยกออกเป็น (๑) ส่วนที่ได้ตามวัตถุประสงค์  KRA/KPI  (๒) ส่วนที่ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ KRA/KPI  (๓) ส่วนที่ได้เกินวัตถุประสงค์ KRA/KPI ที่ตั้งไว้  
  • (ข) ประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จหรือล้มเหลว  ในด้าน (๑) วิชาการ  (๒) ระบบ ไอที  (๓) การออกแบบกระบวนการ และเกณฑ์ในการประเมิน  (๔) กลุ่มเป้าหมาย และจำนวนผู้เข้าร่วม  (๕) การจัดการ เช่น เวลา สถานที่ การเดินทาง  (๖) การติดตามความสำเร็จของการจัด Workshop   ผมนึกในใจว่า คำถามทุกคำถามควรมีปลายเปิด   ในที่นี้ควรมี (๗) อื่นๆ

ผมตีความว่า ในทุกขั้นตอน  มีเป้าหมายเพื่อให้ stakeholders ได้เปิดใจสานเสวนากัน รับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน    ผมคิดว่า ควรมีตัวแทนของฝ่ายผู้ให้ทุน อยู่ในทุกกลุ่ม เพื่อให้มีมุมมองที่หลากหลายยิ่งขึ้น        

Workshop วันแรกจบเวลา ๑๘.๒๐ น.    ระหว่างนั้น ความอ่อนแอของบางทีมโค้ชก็เผยออกมา     และการนำเสนอผลของขั้นตอนที่ ๕ (ประเมิน) เผย mindset ต่อการประเมิน ที่ยึดติด summative evaluation ก็โผล่ให้เห็น   

ทีมวิทยากรที่เป็นกรรมการกำกับทิศของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ประชุมนอกรอบกับ ดร. อุดม และ อ. อ้อยผู้บริหารโครงการว่า    ทีมโค้ชที่แสดงอาการอ่อนด้อยด้านผู้รับผิดชอบโครงการต้องได้รับการเตือน    และหากไม่ปรับตัว ก็คาดได้ว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ    ควรยกเลิกสัญญา     นี่คือประโยชน์อีกประการหนึ่งของ DE    คือช่วยบอกเจ้าของทุน    ว่าทีมงานใดที่กลไกคัดเลือกดำเนินการผิดพลาด    และไม่ควรเสียเงินไปจนจบโครงการให้เปลืองเงินภาษีของประชาชน   

วิจารณ์ พานิช

๑ มี.ค. ๖๔

Devalue from Pattie Pattie
หมายเลขบันทึก: 689804เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2021 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2021 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท