Developmental Evaluation : 25. DE เพื่อพัฒนา กสศ.



วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ทางทีม DE ของ HITAP นัดประชุมหารือนอกรอบ ออนไลน์  นำผลการประเมินเบื้องต้น ส่วน หลักการและผลการประเมินความพร้อม (Readiness Assessment)  และส่วน หลักการและผลการสร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (TOC - Theory of Change) มานำเสนอ    โดยมี นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และผมทำหน้าที่ทำความเข้าใจและให้ข้อเสนอแนะการดำเนินการ    มี stakeholders จาก กสศ. เข้าร่วม ๓ คนคือ ดร. ภูมิศรัณย์  คุณฝ้าย  และคุณภูมิ ทาง HITAP มีคุณกานต์ชนก (ก้อย) เป็นผู้นำเสนอ   นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ เป็นหัวหน้าทีม  

วัตถุประสงค์ของการประเมิน DE ครั้งนี้มี ๓ ข้อคือ

  1. 1. เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยความซับซ้อนและเป็นพลวัตของระบบการศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสศ.
  2. 2. เพื่อให้ข้อมูลแก่การประเมินภายนอกของ กสศ.
  3. 3. เพื่อทำความเข้าใจแนวทางประยุกต์ใช้ DE ในวงการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน กสศ. 

การหารือวันนี้เป็นการทำความเข้าใจผลการประเมิน Phase 1  และ Phase 2 บางส่วน   ตามในแผนผังส่วนสีเขียว    ซึ่งจะเห็นว่าการประเมินนี้มี ๕ ขั้นตอน

ขั้นตอนแรกเป็นการสำรวจความพร้อมต่อการประเมินเชิงพัฒนา     มีการเก็บข้อมูลในช่วงโควิดระบาด จึงต้องใช้วิธี ออนไลน์   ซึ่งมีข้อจำกัด   แต่ก็เห็นชัดว่าทีมประเมินเชี่ยวชาญพอควร    โดยใช้แบบสอบถามของ Spark Policy Institute     ได้ข้อมูลมาเพียงพอที่จะหาความหมายได้    ว่าภายในองค์กรมีความพร้อมรับ DE แค่ไหน  กลุ่มไหนพร้อมมากพร้อมน้อย      กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการตรวจสอบวัฒนธรรมองค์กรในส่วนของ learning culture และ learning capacity   

เมื่อถามกันถึงเป้าหมายสุดท้ายของการประเมินนี้    นพ. ยศตอบว่า เป้าหมายหนึ่งคือมี learning team ภายใน   กสศ. (เวลานี้มี ๗ คน) ที่เอา DE ไปใช้ต่อเนื่องได้    เพื่อขับเคลื่อน learning process ภายใน กสศ. ต่อเนื่องเรื่อยไป    

ผมให้ความเห็นว่า ข้อค้นพบนี้น่าจะเพียงพอ และแม่นยำในระดับที่น่าจะเอาไปให้ stakeholders ตีความ    จึงต้องปรึกษาหารือกันกับทาง กสศ. ว่ามอง stakeholders กว้างแค่ไหน     และผมมีข้อสังเกตว่า ที่จริงควรตกลงเรื่องตัวบุคคลที่เป็น key stakeholders ไว้ตั้งแต่ต้น   

นอกจากนั้น น่าจะพิจารณาว่า ควรจัด public session ภายใน กสศ. หรือไม่    เพื่อนำเสนอข้อค้นพบ    และขอคำแนะนำหรือการตีความจากสมาชิกผู้ทำงานใน กสศ.    

ตัวผมเอง อยากให้เอาข้อค้นพบทั้งสองข้อ คือ Readiness และ TOC ไปนำเสนอในกลุ่มย่อยที่มีท่านประธานคณะกรรมการบริหาร (ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ผู้จัดการ และรองผู้จัดการ กสศ.    โดยผู้อำนวยการสำนักร่วมฟังด้วย    เพื่อขอคำแนะนำว่าโครงการ DE นี้ควรมีการกำหนดจุดเน้นอย่างไรต่อไป     โดยทีม HITAP ต้องปรับเอกสารนำเสนอให้เป็น ข้อค้นพบ    หลีกเลี่ยงการตีความให้มากที่สุด    ทีมประเมินนำเสนอข้อค้นพบเพื่อให้ stakeholders ตีความ

เราคุยกันว่า กสศ. มีข้อจำกัด ตรงที่ทำงานใกล้ชิดกับราชการ จึงโดนวัฒนธรรมราชการวัฒนธรรมนิติรัฐ ครอบงำ     เป็นข้อจำกัดให้ต้องทำงานแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าเป็นหลัก  โอกาสทำงานแบบตั้งหลักอยู่กับเรื่องเชิงยุทธศาสตร์มีน้อย     จึงหวังว่า จะมาช่วยลดทอนปัญหานี้    และช่วยให้ กสศ. ทำหน้าที่ change agent ให้แก่บ้านเมืองได้   

ขั้นตอนที่ ๒ คือการนำพา learning team ทำความเข้าใจ theory of change ที่ กสศ. ใช้อยู่ในขณะนี้    โดยจัดการประชุมปฏิบัติการเพื่อรวบรวมข้อมูล สำหรับนำมาสังเคราะห์เป็น TOC   ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้จัดการ   ผอ. สำนัก  หัวหน้าฝ่าย  และเจ้าหน้าที่ของ กสศ.    ทีมวิจัย  ทีมสื่อสาร  ทีมที่ปรึกษาจาก HITAP  รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ       

จากข้อมูลที่ได้ ทีมวิจัยนำมาสร้างแผนที่ จนในที่สุดได้ร่างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงดังรูป

นพ. สมศักดิ์ เสนอว่า หน่วยงานแบบ กสศ. น่าจะมี innovative nidus อยู่ข้างใน ทำหน้าที่ “จุดไฟ” ในองค์กร    learning team ของ DE น่าจะทำหน้าที่นี้ โดยจัด workshop เล็กๆ ในองค์กรเป็นระยะๆ    ผมแต่งตั้งคุณภูมิให้ทำหน้าที่หัวหน้าของ learning team ชั่วคราวไปหารือกันเพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

จากกิจกรรมในทั้งสองขั้นตอน  ผมคิดว่า น่าจะมีโจทย์วิจัยเกิดขึ้นมาก   จึงเสนอให้ ดร. ภูมิศรันย์หารือกับคุณก้อยทีมวิจัย คิดโจทย์วิจัยเอาไปนำเสนอคณะอนุกรรมการ วสศ. ที่จะประชุมในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔   

ถึงตอนนี้เริ่มชัดเจนขึ้นว่า DE โมเดล HITAP  จะช่วยให้ กสศ. เป็น Learning Organization    และทำหน้าที่ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาของประเทศ

วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔ ในการประชุม “คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนในการรับการประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานรอบสามปีฯ” ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ของ กสศ. มีการนำเสนอ “ผลการดำเนินการประเมินเพื่อการพัฒนาและการสำรวจข้อมูลเชิงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Developmental Evaluation) โดยมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation)” 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.พ. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689712เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2021 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2021 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท