ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ผมก็ยังอยากเขียนบันทึกถึงเรื่องนี้ เพื่อบันทึกเรื่องราวอันดีงามของนิสิตที่เพียรพยายามทำงานด้าน “จิตอาสา” อย่างง่ายงาม
ช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) ยังคงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนเล็กๆ ที่ขยับตัวเข้าไปทำงานจิตอาสาอย่างเงียบๆ ในแบบฉบับของการ “ปิดทองหลังพระ”
ที่ต้องเรียกว่า ปิดทองหลังพระก็เพราะว่า พวกเขาทำงานกันด้วยใจ ไม่ได้มีคำสั่งมอบหมาย หรือแต่งตั้งใดๆ จากมหาวิทยาลัยฯ
หรือแม้แต่การรบเร้าให้ทำโดยผม !
แกนนำขององค์กรเพียงไม่กี่คนที่เป็นผู้หญิงเข้ามาหารือกับผมในบ่ายคล้อยของวันหนึ่ง หลักๆ คือแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าไปทำงานจิตอาสาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ ซึ่งตอนนั้นพวกเขาบอกกับผมคร่าวๆ ว่าอยากทำอะไรสิ่งต่างๆ เช่น เก็บขยะ ประสานงานผู้ปกครองกับบัณฑิต รับฝากของบัณฑิต
ผมตอบรับเจตนารมณ์เหล่านั้นอย่างไม่กังขา เพราะคิดว่า คือการคิดดีและทำดี และนี่คือโอกาสที่จะให้พวกเขาเรียนรู้อะไรๆ ด้วยตนเองในแบบใจนำพาศรัทธานำทาง เพียงแต่ฝากประเด็นให้พวกเขานำกลับคิดในหลายๆ เรื่อง เช่น
การฝากประเด็นข้างต้น ผมมีเจตนาที่ชัดเจน กล่าวคือ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ฝึกให้นิสิตได้คิดวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็น “ต้นทุน” ในการทำงานที่มีใน "ตัวเอง" และ "องค์กร" ของตนเอง
หรือกระทั่งฝึกในเรื่องอื่นๆ อาทิเช่น การเป็น “นักออกแบบ” ฝึกการเลือกคนทำงาน ฝึกการกำกับคนกำกับงาน ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกวิเคราะห์เรื่อง “เครือข่ายการทำงาน” มิใช่อยากทำอะไรก็ทำ เพราะงานนี้ คือ “งานใหญ่” ซึ่งพวกเขาเป็นหนึ่งใน “จิ๊กซอร์เล็กๆ” ที่จะเข้าไปประกอบเข้าเพื่อให้ภาพรวมของกิจกรรมมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หาใช่ทำงานในแบบแยกส่วน หรือบินเดี่ยวออกจากระบบ
นอกจากนั้น ผมยังแนะนำให้แกนนำนิสิตกลับไปทบทวนข้อมูลเก่าๆ ว่า “ปีที่ก่อน-รุ่นพี่ขับเคลื่อนกิจกรรมนี้อย่างไร” และผูกโยงเรื่องใหม่เข้ามาท้าทายการทำงาน คือ “จะดูแลญาติและบัณฑิตที่เป็นรุ่นพี่ในองค์กรของตนเองอย่างไร”
ผ่านไปประมาณสามวันนิสิตกลุ่มนี้กลับมาหาผมอีกรอบ พร้อมกับแจ้งกิจกรรมที่จะทำงาน ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ
ครับ – ฟังแล้วก็ชื่นใจ อย่างน้อยพวกเขาก็กลับไปวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเอง แถมเปิดใจที่จะเพิ่มกิจกรรมใหม่เข้ามาด้วย นั่นคือการดูแลบัณฑิตรุ่นพี่และญาติบัณฑิต ซึ่งประเด็นนี้บ่งชี้ได้ว่า “พวกเขามีพี่ พวกเขามีราก พวกเขามีองค์กร” คล้ายๆ กับวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดเสมอว่า “ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”
เมื่อพวกเขาชัดเจนในประเด็นกิจกรรมที่จะทำ จากนั้นผมจึง “ลองใจ” พวกเขาด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “จะไปดูพื้นที่วันไหน – จะไปติดต่อใคร”
คำตอบที่ได้กลับมา ก็คือ “จะขับรถจักรยานยนต์ไปกันเอง” และ “ไม่รู้ว่าต้องไปติดต่อใคร”
คำตอบที่ได้มาสะท้อนถึงความเป็น “มือใหม่” สะท้อนถึงความเป็น “เด็กใหม่” และสะท้อนถึงระบบการ “สอนงาน” จากพี่สู่น้องพอสมควร รวมถึงการสะท้อนถึงระบบการบริหารจัดการข้อมูลและความรู้ในองค์กรของเขาเอง คล้ายกับว่า “การสอนงานยังไม่บรรลุผล - ยังใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลได้ไม่เต็มที่ - การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองยังน้อย”
ประเด็นเหล่านี้ผมให้ความสำคัญมากเลยทีเดียว แต่ก็มิได้โบยตีด้วยวาทกรรมใดๆ ตรงกันข้ามกลับแนะนำกึ่งหยิกหยอกแซวกรายๆ ในทำนองให้นิสิตกลับไปสืบค้นจากเฟชบุ๊กและข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของศูนย์ประสานงานฯ รวมถึงการอาสาเป็นพลขับพาพวกเขาลงพื้นที่ไปดูสถานที่และออกแบบกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ครับ – การตั้งคำถาม รวมถึงการชี้โพรงคำตอบ หรือแม้แต่การพาไปด้วยตนเอง คือส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ในแบบฉบับของผม ซึ่งผมประสานงานกับผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ล่วงหน้า มีการนัดหมายไปเจอกันในสถานที่จริง เสมือนพานิสิตไป “เปิดตัว” กับ “เจ้าถิ่น” เสมือนการฝึกให้นิสิตได้รู้ว่าการทำงานต้องเชื่อมโยง หรืออยู่ใต้ระบบกลไกหลักของใคร-ของหน่วยงานใด
เสร็จจากนั้นก็พาพวกเขาตระเวนดูสถานที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมๆ กับการย้ำให้พวกเขาออกแบบกิจกรรมเองว่าจะนัดหมายกี่โมง เดินทางมาอย่างไร ใช้จุดใดเป็นกองอำนวยการ ใช้จุดใดเป็นจุดพักสิ่งของ ใช้จุดใดเป็นจุดสวัสดิการ ฯลฯ
ในส่วนของทรัพยากรสิ้นเปลืองนั้น ผมไม่ได้ให้นิสิตต้อง “ควักเนื้อ” แต่ประสานขอวัสดุจากกองอาคารสถานที่ทั้งที่เป็นถุงขยะ ถุงมือ ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์ด้วยดี โดยสิ่งนี้ก็คงพอจะบอกนิสิตได้บ้างกระมังว่า พวกเขามีตัวตน พวกเขากำลังทำในสิ่งอันดีงาม และถึงแม้จะไม่มีคำสั่งแต่งตั้ง หรือไม่มีสวัสดิการรองรับ แต่พวกเขาก็อยู่ในสายตาของมหาวิทยาลัยฯ
การงานในครั้งนี้ แตกต่างจากปีก่อนที่ผมอยู่ข้างๆ นิสิต -
ครับ ปีนี้ผมไม่ได้มาร่วมทำกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกับพวกเขา เพราะมีภารกิจหลักในการตรวจเครื่องแต่งกายบัณฑิต ดังนั้นในฐานะพี่เลี้ยงจึงตระเตรียมหลายส่วนให้กับพวกเขา ส่งมอบกำลังใจ มอบหมายให้เขารับช่วงว่าด้วยการติดต่อส่วนงานต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อฝึกทักษะในการติดต่องาน ฝึกให้เขาแบ่งงานกันทำ มีทั้งที่เป็นแกนนำและผู้ตาม ฯลฯ
นี่คือเรื่องราวเล็กๆ ที่ผมมองว่างดงามและควรค่าต่อการบันทึกไว้ เพราะมันคือเรื่องราวจิตอาสาที่ขับเคลื่อนบนฐานของกระแสหลัก อันหมายถึงกิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยและสังคม เป็นจิตอาสาบนบ้านเกิดเมืองนอนของนิสิต เป็นการทำงานจิตอาสากับเรื่องใกล้ตัว เป็นจิตอาสาที่ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามตามผ่านการลงมือทำไปพร้อมๆ กัน ฯลฯ
ผมเชื่อเหลือเกินว่าพวกเขาจะภูมิใจและมีความสุขกับภารกิจในครั้งนี้ แม้จะเป็นภารกิจที่ใครๆ มองข้ามก็เถอะ แต่มันก็ชัดเจนว่า “งดงาม” หรือ “เรียบง่ายแต่งดงาม”
ครับ คำว่า "จิตอาสา" และการ "ปิดทองหลังพระ" งดงามและยิ่งใหญ่เสมอ
ประทับใจมากๆ เลยค่ะ น้องๆน่ารักทุกคน ช่วยดูแลญาติๆ ค่อยติดตามโทรถามหาที่อยู่ให้เพื่อให้เราได้เจอพ่อแม่พี่น้องได้เร็วขึ้นไม่ต้องเดินหาให้เมื่อย ประทับใจจริงๆ ค่ะ อยากให้ทำอย่างนี้ทุกๆ ปี และทำตลอดไปค่ะ ขอบคุณน้องๆ และผู้ที่ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำน้องๆ ที่ได้ทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ค่ะ
ประทับใจมากๆ เลยค่ะ น้องๆน่ารักทุกคน ช่วยดูแลญาติๆ ค่อยติดตามโทรถามหาที่อยู่ให้เพื่อให้เราได้เจอพ่อแม่พี่น้องได้เร็วขึ้นไม่ต้องเดินหาให้เมื่อย ประทับใจจริงๆ ค่ะ อยากให้ทำอย่างนี้ทุกๆ ปี และทำตลอดไปค่ะ ขอบคุณน้องๆ และผู้ที่ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำน้องๆ ที่ได้ทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ค่ะ #บัณฑิตรัหัส59
สวัสดีครับ คุณ Thanwarat.mee ธัญวรัตม์
กิจกรรมทำนองนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง (ปีที่แล้วเว้นว่าง) ปีนี้มีกิจกรรมเพิ่มเติมในเรื่องของพี่บัณฑิตและญาติบัณฑิต สิ่งนี้สะท้อนตัวตน หรือวัฒนธรรมองค์กรบางอย่าง นั่นคือ สื่อให้เห็นว่า องค์กร “มีราก” มี “พี่มีน้อง” นั่นเอง
กระบวนการช่วยพี่บัณฑิตตามหาญาติ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะบัณฑิตออกมาแล้ว ไม่มีมือถือ ก็ใช้มือถือของนิสิตโทรหาญาติ ช่วยให้เจอกันได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น
นี่คือการบริการในแบบง่ายงาม ไม่ซับซ้อน แต่มีคุณค่าและมูลค่า ครับ
-สวัสดีครับอาจารย์-ตามมาชมบรรยากาศและได้เห็นถึงสังคมที่เสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อออกไปสู่โลกกว้างอย่างน่าประทับใจครับ-จิดอาสา เรียบง่าย อบอุ่น และงดงามแบบนี้คือแบบอย่างที่ดีและทำได้บ่อยๆ นะครับ-ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ครับ
สวัสดีครับ อาจารย์ เพชรน้ำหนึ่ง
โดยส่วนตัวผมเชื่อมั่นเสมอว่า แท้จริงแล้ว จิตอาสา คือความง่ายงาม แต่แฝงด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ อันหมายถึงเปลี่ยนแปลงตัวเรา คนข้ากายและสังคมได้อย่างเหลือเชื่อ เพียงแต่บางเรื่อง หรือหลายครั้งล้มเหลวเพราะระบบและกลไกที่ไม่สอดรับกับความจริงของสถานการณ์ หรือบางทีติดกับดักโต้โผใหญ่ก็บ่อยเช่นกันครับ