ชีวิตที่พอเพียง 3914. ด้านไร้เหตุผลของมนุษย์



บทความ ฐานของความเท็จและจริงโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ลงพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ๕ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔    เล่าเรื่องกลุ่ม QAnon ในสหรัฐอเมริกา    ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีลัทธิความเชื่อแบบนี้ในประเทศอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา   

สะกิดให้ผมได้สติ ว่ามนุษย์เรามีลักษณะทั้งสองด้านของเหตุผล  คือทั้งมีเหตุผล และไร้เหตุผล เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว ผมเล่าข้อสะท้อนคิดจากการอ่านหนังสือ What the Dog Saw ไว้ที่ (๑)    และเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว ผมเขียนข้อสะท้อนคิดหลังจากอ่านหนังสือ Predictably Irrational ไว้ที่ (๒)    เตือนสติว่า ความไร้เหตุผลเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์    และย่อมมีความไร้เหตุผลระดับไม่น่าเชื่อว่าจะมีกลุ่มคนจำนวนมากมีความเชื่อร่วมกันอย่างกลุ่ม QAnon   

ที่จริงการที่นายโดแนล ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็น ปธน. อเมริกา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความไร้เหตุผลของคนอเมริกัน   

ศ. นพ. ประเวศ วะสี สอนคู่บ่าวสาวว่า การครองชีวิตคู่ต้องอยู่กันด้วยพลังของความรัก ความต้องการอยู่ด้วยกัน    อย่าพยายามเอาเรื่องเหตุผลเป็นใหญ่    ผมในฐานะลูกศิษย์ของอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจซึ้งว่า ท่านสอนจากประสบการณ์ตรง    เราเข้าใจ เพราะภรรยาของท่านเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผมทั้งที่จุฬาฯ และที่ศิริราช    และประสบการณ์ตรงของผมก็เป็นเช่นนั้น

มนุษย์เรามีชีวิตที่ดีได้ ไม่ได้ขึ้นกับเหตุผลเพียงอย่างเดียว    เราอยู่กับอารมณ์ด้วย   

Paul Conner เขียนเรื่อง   “Emotional Economics” May Be a Better Name for Behavioral Economics (2017) (๓)   เตือนสติเราว่า    ไม่ว่าจะเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม หรือเศรษฐศาสตร์อารมณ์  ต่างก็เป็นวิชา “ล้วงกระเป๋า” เพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น

    ทำให้ผมหวนกลับมานึกถึงเหตุการณ์บนจอทีวีที่บ้านผม    ที่สาวน้อยเปิดทิ้งไว้เป็นเพื่อน    กว่าครึ่งของรายการที่ถูกเปิดทิ้งไว้เป็นรายการที่ผมฟังแล้วนึกในใจว่า “คนฟังเชื่อคำโฆษณาเหล่านี้ได้อย่างไร”     คือผมคิดว่า คนฟังเขาไม่ได้โง่   

แต่ผมลืมไปว่า คนฟังจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ฟังอย่างมีเหตุผล

ผมคิดในใจว่า สคบ. และกลไกควบคุมข้อมูลข่าวสารของรัฐ ยอมให้มีการโฆษณากึ่งจริงกึ่งเท็จเหล่านี้ได้อย่างไร    และตอบตัวเองว่า เขาคงเลียนแบบอเมริกัน ที่เน้นเสรีภาพในการแสดงออก    ผู้รับสารต้องใช้วิจารณญาณเอาเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ    และผมคิดต่อว่า ใครเผลอถูกคำโฆษณากระตุ้นความไร้เหตุผลให้ลุกโพลง ก็ย่อมถูกล้วงกระเป๋า     มนุษย์ในยุคปัจจุบันจึงต้องฝึกควบคุมความไร้เหตุผล   

บทความ (๓) บอกเราว่า    หากจะป้องกันตัวเองจากอารมณ์หรือความไร้เหตุผล    ให้ฝึกคิดช้าๆ  หรือคิดระบบที่ ๒ (๔)   ซึ่งผมเชื่อว่า ไม่ใช่อยู่ที่การคิดเท่านั้น    แต่อยู่ที่การมีสติ    การฝึกเจริญสติจึงน่าจะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของการคิดระบบที่ ๑ (๔)   

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๖๔ วันแห่งความรัก


  

หมายเลขบันทึก: 689574เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2021 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2021 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท