๑,๒๐๒ เทคโนโลยีที่เหมาะสม...


" ขอให้คิดถึงคำว่า “ทำให้ง่าย”ในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้นๆ "

          คือคำที่ผมพูดถึง เมื่อได้คุยกับท่านผอ.สุชาติ มิ่งขวัญ ท่านมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น จังหวัดกาญจนบุรี       วันนี้ท่านและคณะมาดูงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและกิจกรรมการทำปุ๋ยหมักใบไม้ ทั้งแบบกลับกองและไม่กลับกอง

      โดยการนำของท่านปลัดเทศบาลตำบลเลาขวัญ และทีมงานที่เคยมอบ”แก๊สชีวภาพ”ให้โรงเรียนทั้งระบบ จึงเป็นต้นน้ำและปลายน้ำ ที่ทำให้ขยะมูลฝอยถูกกำจัดและนำไปใช้ประโยชน์ได้

          ท่านผอ.ปรารภว่า..ขยะใบไม้ที่นำไปเผา กำลังเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในระดับจังหวัด จึงจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ในระดับท้องถิ่น..ทั้งอบต.และเทศบาล เพื่อจะได้ลดปัญหานี้..

          จึงมีการแนะนำให้ครอบครัวและชุมชน..ใช้ไม้ลวกไม้ไผ่ มาสานให้สูงทำเป็นวงกลมล้อมรอบต้นไม้ แล้วนำใบไม้ไปใส่กองสุมไว้และใช้กระบวนการทำปุ๋ยหมัก แทนการเผาทิ้ง...

          แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า หมายความว่ายังไม่สำเร็จในวงกว้าง ในความคิดส่วนตัวผมมองว่า เครื่องมือหรือนวัตกรรมบางอย่าง ใช้ได้ถูกที่ถูกทางกับบางแห่งเท่านั้น

          ทำให้ผมต้องนึกถึงและพูดถึงคำว่า “เทคโนโลยีที่เหมาะสม”ที่นักเศรษฐศาสตร์นามว่า เฟรดริค ชูมาเกอร์ ( Friedrich Schumacher) ที่ให้แนวคิดไว้ในหนังสือ Small is Beautiful ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1962

          "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" หมายถึง เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของสังคมที่จะนำเทคโนโลยีนั้นไปใช้ ซึ่งอาจไม่มีทุนทรัพย์หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพียงพอ ที่จะใช้และบำรุงรักษาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากๆ

          บางสิ่งบางอย่าง อาจมองว่าไม่ล้ำหน้า แต่อย่าลืมว่าหากไม่มีในท้องถิ่น ไม่ใช่ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน ยังต้องหาซื้อจากที่ห่างไกล ต้องไปพึ่งพาองค์กรภายนอก ล้วนเป็นเรื่องยากทั้งสิ้น

          ที่จะทำให้ต่อเนื่องและประสบความความสำเร็จ เราจึงมักเห็นโครงการแบบไฟไหม้ฟางอยู่เสมอๆ หรือทำแบบผักชีโรยหน้าไปวันๆ เพราะงานนั้นไม่ได้เกิดจากความตระหนักหรือทำจากความรักสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง คือทำตามสั่ง ทำตามงบประมาณ หมดงบก็หมดงาน..

          ผมนำเรียนท่านผอ.สุชาติ ก็เพื่อเปรียบเทียบขยะใบไม้กับเทคโนโลยีที่เหมาะสม มันไปด้วยกันได้ เริ่มจากกวาดกองไว้หรือหาที่เก็บกองตามศักยภาพของแต่ละครัวเรือน ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน แต่ที่ไม่แตกต่างกัน คือวัสดุและอุปกรณ์ที่จะทำให้ใบไม้กลายเป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณค่า..

          ขอให้คิดถึงคำว่า “ทำให้ง่าย”ในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้นๆ  

          ที่สำคัญที่สุดจะต้อง“ไม่ติดตำรา”ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชุมชน เพราะสภาพปัญหามีไม่เหมือนกัน หากใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบ ครบถ้วนจะพบวิธีการพัฒนาใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน

          ในท้ายที่สุด ท่านผอ.ได้ให้ขวัญกำลังใจ ในคำพูดที่ว่า”..มาบ้านหนองผือ มีทุกอย่างครบถ้วน หลากหลาย และปฏิบัติได้จริง น่าศึกษาดูงานเป็นอย่างยิ่ง”

          กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๐  มีนาคม  ๒๕๖๔


         

หมายเลขบันทึก: 689435เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2021 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2021 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท