๑,๑๙๙ เรื่องแค่นี้.....


"ผมจึงคิดว่า..งานเล็กงานน้อยในโรงเรียน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องแค่นี้ ไม่ต้องทำก็ได้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของเด็กๆ บางที..ครูนั่นแหละต้องเริ่มต้นก่อน สร้างเวทีหรือแหล่งเรียนรู้ ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการฝึกปฏิบัติของนักเรียนให้มากที่สุด"

          เดือนมีนาคมของทุกปี..ผมจะไม่ทำกิจกรรมเกษตรในโรงเรียน เพราะน้ำในสระมีน้อย และอากาศเริ่มร้อนและแห้งแล้ง ดูจะไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง

      แต่ปีนี้..น้ำในสระยังเหลือเฟือ ฝนก็ทำท่าจะมาเร็วก่อนกำหนด มีตกลงมาบ้างประปราย นั่นหมายความว่า..จะทำอะไรก็รีบทำ จะปลูกอะไรก็รีบปลูก ทำได้ตลอดจนถึงปิดภาคเรียน

          ผมลงมือปลูกพริก บวบและผักกาดต่อไป วันนี้ผมรดน้ำต้นพริกด้วยโฮโมนนมเร่งดอก รออีก ๒ สัปดาห์คงจะเห็นผล ส่วนบวบก็โรยแกลบผสมมูลวัวบางๆ ใส่มากไม่ดี เพราะมูลวัวทั้งร้อนทั้งเค็ม

          ผักกาด..ผมเพาะไว้แล้ว ช่วงนี้เตรียมแปลงไว้ก่อน ตากดินไว้ตรงหน้าดินก็ปูด้วยแกลบผสมมูลวัวเหมือนเดิม เวลาจะปลูกผัก จึงค่อยมาขุดดินในแปลงเพื่อคลุกเคล้าให้เข้ากัน


          ไหนๆก็ป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณกองมูลวัวแล้ว ก็ถือโอกาสยกกระสอบมูลวัวไปเททับใบไม้ในบ่อ ที่มีอยู่เต็มพิกัด ขั้นต่อไป..จะให้นักเรียนช่วยกันรดน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเร่งใบไม้ให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยดิน

          ช่วงบ่าย..มีโอกาสดูแลให้อาหารปลาเป็นพิเศษ ผมนำเศษอาหารที่เหลือจากบ่อแก๊สชีวภาพ มาผสมอาหารเม็ดเพียงเล็กน้อย ใส่รำหยาบลงไป แล้วนำไปให้ปลาดุกที่บ่อปลาพอเพียง

          ปรากฏว่าหมดแกลี้ยง มันคงหิวด้วย หรือไม่ก็ตื่นเต้นที่ได้ลิ้มลองของใหม่ที่หวานหอม แต่จริงๆแล้ว ปลาดุกเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ข้อดีคือ ผมใส่ผักตบชวาลงไปเพื่อสร้างบรรยากาศและให้ร่มเงา ปลาดุกไม่กินเลย ถ้าเป็นปลานิลคงไม่เหลือแล้ว

          งานสุดท้าย..ปักเสาและผูกเชือก ให้บวบเลื้อยพันขึ้นเสา ไม่เช่นนั้นมันจะทอดยาวไปเรื่อยดูสะเปะสะปะ ๒ – ๓ วันมานี้ บวบตั้งหลักตั้งลำดีเหลือเกิน ผมได้เมล็ดพันธุ์บวบมาจากจังหวัดเลย เมล็ดพันธุ์ดีมากๆ ลูกยาวใหญ่ เนื้อหวานกรอบ โตเร็ว เมล็ดเก็บไว้และปลูกได้ตลอด

          เสาเหล็กที่แปลงเกษตร...ครูนิรุต ดวงสูงเนิน ทำไว้ในกิจกรรมผักกางมุ้ง ผมดัดแปลงเป็นที่อยู่ของไม้เลื้อย ปักไม้ลวกไว้ใกล้ๆ เดี๋ยวบวบที่ปลูกในล้อยางจะไต่ขึ้นไปบนราวเหล็ก คลุมตลอดแนวและกลายเป็นพื้นที่สีเขียวต่อไป

          สิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดทั้งมวล ล้วนก่อเกิดมาจากพื้นฐานแนวคิดของครูเกษตร ที่ขื่อครูนิรุตทั้งสิ้น..ครูย้ายไป ๗ ปีแล้ว แต่ร่องรอยยังมีให้เห็นมากมาย ให้ผมสานต่อได้อย่างมีความสุข

          เรื่องแค่นี้..อย่าคิดว่าใครก็ทำได้ ถ้าใจไม่รักและไม่มีบุคคลต้นแบบให้ศึกษาเรียนรู้ ครูนิรุตเป็นครูคนแรกที่จุดประกาย..เกษตรอินทรีย์ให้โรงเรียนบ้านหนองผือ ความดีงามที่ครูสร้างไว้ จึงส่งผลให้ครูมีความก้าวหน้าในการพัฒนาตนเองของครู..สู่ตำแหน่งรอง ผอ.รร.เป็นที่เรียบร้อย

          ผมจึงคิดว่า..งานเล็กงานน้อยในโรงเรียน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องแค่นี้ ไม่ต้องทำก็ได้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของเด็กๆ บางที..ครูนั่นแหละต้องเริ่มต้นก่อน สร้างเวทีหรือแหล่งเรียนรู้ ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการฝึกปฏิบัติของนักเรียนให้มากที่สุด

          จริงๆแล้ว ผมลงมือทำเองในวันหยุด ก็เพราะคิดเหมือนกันว่ามันเป็นเรื่องแค่นี้ ที่เรียนรู้ได้ไม่ยาก ใครจะมองว่าจะลำบากตรากตรำทำไม? ก็ช่างเถอะ ในเมื่อความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

          ข้อคิดในท้ายที่สุด ที่ผมมองว่าใกล้เคียงกันกับเรื่องนี้ ก็คือ“ ชีวิต ” แต่ละคนพบเรื่องราว..ที่แตกต่างกันจะให้บอกว่า ...เรื่องของใคร..? “ ทุกข์กว่ากัน ” ไม่ได้หรอกเพราะถ้าเราไม่ไปยืนอยู่ในจุด,จุด..นั้นเองเราจะไม่มีวัน “ เข้าใจในความรู้สึก ” นั้นได้
           เพราะ ฉะนั้น อย่าไปคิด..แทนใครเลยว่า..เรื่องนี้ “ ทำไมผ่านไปไม่ได้ ” เรื่องแค่นี้ ของคุณ อาจไม่ใช่ “ เรื่องแค่นี้ ”ของใคร อีกหลายคน ก็ได้

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๗ มีนาคม ๒๕๖๔

หมายเลขบันทึก: 689352เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2021 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2021 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท