ว่าวชีวิต....


"ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม" เป็นหนึ่งในรวมเรื่องสั้นชุด “ในโลกเล่า” ซึ่งเป็นอีกครั้งที่รวมเรื่องสั้นของ วัฒน์ ยวงแก้ว เข้าสู่รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ หลังจากบันไดกระจก” ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา “นี่คือรวมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยคำถาม ทั้งต่อชีวิต ระบบ ความเชื่อ ศาสนา จิตวิญญาณ ตัวตนที่แท้จริง วัฒน์ ยวงแก้ว ซ่อนเงื่อนไว้ในปมชีวิตให้ผู้อ่านแก้และหาคำตอบด้วยตัวเอง เขาค่อย ๆ กะเทาะเปลือกหนา ๆ ของศาสนา ผ่านสายตาของผู้เฝ้ามอง กระหน่ำลงไปในจิตสำนึกของคนที่ทอดทิ้งคนที่สมควรดูแล หรือแม้แต่แง่มุมที่เกี่ยวกับเสรีภาพ ที่ในที่สุดก็ไม่อาจทานทน”

เนื้อเรื่องของเรื่องสั้นตอนนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ตอน ได้แก่ 1.ว่าว (แห่งวัยเยาว์) 2.ว่าว (ในความซ่อนเร้น) 3.ว่าว (แห่งชะตากรรม) และ4.ว่าว (ในสายตาของความเป็นอื่น) ซึ่งเนื้อเรื่องโดยรวมจะเป็นเรื่องราวที่มีต่อเนื่องกัน ตามช่วงวัยของการเติบโตจากเด็กชายจนไปสู่ชายชรา โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเล่าถึงชีวิตของชายคนหนึ่งที่ในก้าวของการเติบโตจะต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายซึ่งเป็นชะตากรรมที่เขาต้องพบเจอ ความโหดร้ายของชีวิตทำให้เขาทนไม่ไหวจนต้องหลบหนีความจริงไป แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปความจริงอันปวดร้าวนั้นก็ยังคงไม่หายไปไหน มันยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตของเขา จนในที่สุดมันก็สร้างบาดแผลอันดำมืดให้แก่เขาคือการยิงคนตายและตัดสินใจหลบหนีความผิดครั้งนี้ แต่แล้วระหว่างหลบหนีก็พบกับว่าวที่ลอยอยู่ไกลๆ มันเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนความจริงให้แก่เขาอยู่เสมอตั้งแต่เด็กจนโต จึงทำให้หนุ่มใหญ่เลิกหนีปัญหาตัดสินใจมอบตัวยอมรับต่อความจริงและชะตากรรมที่ต้องพบ จนเมื่อชีวิตดำเนินมาถึงบั้นปลายชายชราผู้เปรียบตัวเองเป็นดั่งเปรตที่ทำบาปก็พบได้พบกับว่าวอีกครั้งจนทำให้เขาคิดขึ้นมาว่าเหตุใดจึงไม่มีใครสนใจว่าวนั้นเลยนอกจากเขา

เรื่องนี้ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นทรรศนะที่ว่าไม่มีใครสามารถหลีกหนีความจริงได้ ซึ่งความจริงของชีวิต อันสะท้อนให้เห็นว่าทุกก้าวแห่งการเติบโตย่อมจะต้องพบกับอุปสรรคมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับจนในบางครั้งต้องหลอกตัวเองไปหาที่พึ่งทางใจ แต่แท้จริงแล้วก็พบว่าไม่มีใครสามารถหนีความจริงนี้ไปได้ ชีวิตจะดำเนินไปเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับรักษาสมดุลแห่งชีวิต เหมือนดังว่าวจะทะยานต้านสายลมลอยเด่นอยู่บนฟ้าได้ก็ขึ้นอยู่กับปลายเชือกที่ผูกว่าวว่าจะทำให้ว่าวนี้สมดุลพอจะต้านแรงลมได้หรือไม่ แม้บางครั้งจะต้องพบกับลมแรงบ้างค่อยบ้าง หากว่าวนี้ยังคงความสมดุลได้แล้วล่ะก็ย่อมจะลอยเด่นอยู่บนฟ้าได้

เรื่องว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม มีการเล่าเรื่องผ่านสายตาของผู้เขียน และเป็นเรื่องที่มีการเรียงลำดับโครงสร้างหลากหลายรูปแบบ มีการดำเนินเรื่องทั้งตามลำดับเวลา และโครงสร้างแบบตัดถอยและย้อนเรื่องตามลำดับ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องสั้นนี้ ในการดำเนินเรื่องแบบตัดถอยและย้อนเรื่องตามลำดับ จะเป็นการเริ่มต้นตอนย่อยภายในแต่ละตอน โดยจะกล่าวถึงบทสรุป หรือเหตุการณ์ในส่วนหลังก่อนแล้วจึงเล่าย้อนกลับไปถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ก่อนหน้าจนจนกระทั่งเหตุการณ์บรรจบกัน ส่วนในการเล่าเรื่องเชื่อมโยงตอนย่อยแต่ละตอนตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึง 4 จะเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเวลา เพราะแสดงให้เห็นชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชราตามช่วงวัยอย่างสมจริง และการดำเนินเรื่องเช่นนี้ได้นำพาเราเข้าสู่ความซับซ้อนและยอกย้อนของสถานการณ์และชะตาชีวิตของตัวละครที่ไม่อาจคาดเดาอะไรได้เลย ส่งผลให้เรื่องเล่าของเขามีความสดใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นการใช้เทคนิคการประพันธ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ อีกทั้งยังในการการลำดับเหตุการณ์มีความสมเหตุสมผลกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี

การเปิดเรื่องในตอนแรกมีชื่อว่า “ว่าว (แห่งวัยเยาว์)” ผู้เขียนเริ่มต้นเรื่องด้วยการบรรยายภาพของตัวละคร ซึ่งเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวร่างกายคล้ายกับว่าวที่กำลังทะยานต้านสายลมขึ้นไปลอยอยู่บนฟ้า พร้อมกับเฝ้ามองภาพผืนดินที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเริ่มต้นเรื่องที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้และสนใจติดตามเรื่องในตอนต่อไปว่า เหตุใดเด็กชายคนนี้จึงต้องเลียนแบบว่าว และเป็นการเปิดเรื่องเพื่อบอกจุดกำเนิดของ “ว่าว” ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญผู้เขียนที่ใช้ในการเชื่อมโยงเรื่องราวตลอดทั้งเรื่อง ทั้งยังมีข้อความที่ว่า “เมื่อเธอส่งว่าวขึ้นบนฟ้า มันไม่ใช่ตัวแทน แต่เป็นชีวิต” ที่สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่า การส่งว่าวไปลอยอยู่บนฟ้า ก็เหมือนดังชีวิตที่ต้องไปเผชิญกับชะตากรรม จะต้านแรงลมได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าวที่สร้างนั้นสมดุลเพียงใด ชีวิตจะเป็นไปในทางใดก็ขึ้นอยู่กับการรักษาสมดุลชีวิตว่าสมดุลพอที่จะต่อสู้กับชะตากรรมและอุปสรรคที่จะคอยพัดให้เปลี่ยนทิศได้หรือไม่

และเป็นการเปิดเรื่องดังกล่าวนี้นำไปสู่การผูกปมสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับตัวละคร ผู้เขียนผูกเรื่องด้วยการผูกปมความขัดแย้ง เหตุการณ์ความขัดแย้งเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งภายในใจ ในจุดที่ความพลิกผันของชีวิตในวัยเด็กหนุ่มมหาลัยที่ชอกช้ำกับชีวิตอันทรหดและการเมืองสังคมไทยอันโหดร้าย แม้อยากจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ไปเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประเทศเพียงใด แต่ก็ต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดต่อครอบครัวจนต้องหันไปพึ่งแสงสว่างของพระเยซูเจ้า หาที่พึ่งทางจิตใจเพื่อหนีความเป็นจริงอันโหดร้าย แต่ท้ายที่สุดแล้วความจริงก็คือความจริงไม่มีใครที่จะสามารถหนีความจริงไปได้ จุดพลิกผันของเรื่องนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งหลักที่ทำให้เรื่องดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน คือ เหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่หนุ่มใหญ่ไปทวงรถจากลูกหนี้ เกิดความขัดแย้งกันจนในทีสุดเขาตัดสินใจยิงลูกหนี้และตัดสินใจหนีความผิด เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความดำมืดในจิตใจให้กับหนุ่มใหญ่คนนี้อย่างถึงที่สุด

แต่ในระหว่างการหลบหนี เขาได้พบกับว่าวที่ลอยท้าสายลม มันฉุดให้เขายอมแพ้ล้มเลิกแผนการลบหนีการยิงครั้งนี้ นำไปสู่การคลายปม ทำให้เขานึกถึงตนในวัยเด็กหนุ่มที่ต้องกลับมาวนเวียนกับความจริงอันโหดร้ายเช่นเดิม และตระหนักขึ้นมาอีกครั้งได้ว่า ชีวิตเขาหนีไม่พ้นภาระหน้าที่ที่ต้องแย่งชิงและดิ้นรน ชะตากรรมดึงเขากลับมาสู่ความจริงอันโหดร้ายเพื่อการดำรงอยู่ของครอบครัวที่แม้จะเคยหนีความความจริงอันโหดร้ายนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็ต้องกลับมาพบเจออีกเพราะไม่มีใครจะหลีกหนีชะตากรรมได้พ้น

ในตอนท้ายผู้เขียนผิดเรื่องด้วย การเล่าถึงชายวัยหกสิบที่กำลังสวมหน้าเปรตในงานเทศกาล และเฝ้ามองผู้อื่นด้วยจิตใจที่สงบ โดยเขาเองได้เปรียบตนเป็นดั่งเปรตที่สวมหน้ากากอยู่ เป็นคนบาปที่ไม่ว่าใครก็ล้วนหวาดกลัว และเมื่องานจบลงเขาก็พบว่าวอีกครั้งที่เพียงแค่เขาสนใจมันเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการปิดเรื่องด้วยการนำสัญลักษณ์ ว่าว มาปิดท้ายพร้อมกับความเข้าใจโลกและชีวิตของตัวละคร และเป็นการทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้ขบคิดว่าสุดท้ายแล้วว่าวนี้จะนำพาชีวิตเขาไปสู่อะไร และว่าวมีความสำคัญต่อตัวละครอย่างไร

และในการเชื่อมโยงเหตุการณ์ภายในเรื่องเข้าด้วยกัน ผู้เขียนเลือกใช้ “ว่าว” เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครชายหลากวัยหลายบทบาท โดยจะปรากฏว่าวให้เห็นในทุกช่วงวัยในลักษณะของการแสดงให้เห็นความจริงของชีวิต และเป็นการเชื่อมโยงอดีต ความคิด ความเชื่อเข้ากับเหตุการณ์และความขัดแย้งของโลกความจริง และการดำเนินเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับการตั้งชื่อเรื่อง “ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม” เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 689296เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2021 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท