ฝึกคิดแบบ เชอร์ล็อค โฮล์มส์



หนังสือ Mastermind : How to Think Like Sherlock Holms(2013)  เขียนโดย Maria Konnikova  เป็นหนังสือดีระดับ New York Times Bestseller   แนะนำวิธีฝึกคิดเชื่อมโยง    คิดรอบคอบ    ที่เขาเรียกว่า คิดแบบ (เชอร์ล็อก) โฮล์มส์   ซึ่งตรงกันข้ามกับ คิดแบบ (หมอ) วัตสัน

คิดแบบวัตสัน น่าจะเข้ากับคำไทยว่า “เอาง่ายเข้าว่า”  ไม่ต้องคิดมากให้ยุ่งยาก    ซึ่งที่จริงก็เข้ากับหลักสรีรวิทยาของสมอง    คือการคิดแบบนี้ใช้พลังงานน้อย    สมองไม่เหนื่อย  

ในนวนิยายนักสืบ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ บอกชัดเจนแล้ว ว่าคิดแบบ โฮล์มส์ มีพลังและคุณค่าเพียงไร     หนังสือ Mastermind เล่มนี้จึงแนะวิธีฝึกคิดแบบนี้ โดยอาศัยข้อมูลหลักฐานจากประสาทวิทยาศาสตร์สมัยใหม่    ไม่ใช่ว่าตามนิยายสมัยกว่าร้อยปีก่อน    ที่ยังโด่งดังมาจนปัจจุบัน  

การแก้ปัญหา เริ่มจากกำหนดเป้าหมาย ยิ่งใหญ่ไว้ในใจ บอกตัวเองให้มั่นคงอยู่กับเป้าหมาย อย่าให้เรื่องจุกจิกมาเบี่ยงเบนความสนใจ (แบบที่สาวงามเบี่ยงเบนหมอวัตสัน)    บอกตัวเองให้ตั้งสติคิดรอบคอบ    แล้วค่อยๆ สังเกตหรือเก็บข้อมูล บอกตัวเองว่า ต้องเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและแม่นยำ    นำมาใคร่ครวญ    มีสติอยู่กับการใคร่ครวญสะท้อนคิดช้าๆ    ไม่ด่วนสรุปหรือตัดสิน    คนที่จะทำเช่นนี้ได้ จิตต้องสงบ    จิตที่สงบเป็นจิตที่มีพลัง

พึงระวังหลุมพราง ที่เรียกว่า attentional blindness   คือเราหลงพุ่งความสนใจไปที่จุดดึงดูดความสนใจ (เช่นสาวงาม) ทำให้ใจไม่เปิดรับข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย    ผมขอเพิ่มเติมว่า คนเรามี faith deafness ด้วย    คือหากเราไม่เชื่อถือใคร เขาจะพูดดีอย่างไรเราก็ไม่ได้ยิน   เขาแนะนำวิธีเลี่ยงหลุมพรางนี้โดยทำตัวเป็น passive observer  คือทำใจให้เป็นกลาง    เพื่อให้มีความช่างสังเกตเพิ่มขึ้น   

ในระหว่างนี้ พึงเตือนสติตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าเป้าหมายใหญ่ของงานชิ้นนี้คือะไร    ตามด้วยขั้นตอนสร้างสรรค์สุดๆ    ใช้จินตนาการ ในการสร้างทางเลือกที่หลากหลาย    โดยนำเอาข้อมูลที่เก็บได้ไปเชื่อมกับความรู้ที่มีอยู่เดิม    ลองเชื่อมโยงหลายๆ แบบ    ในตอนนี้เขาแนะนำเครื่องมือที่เรียกว่า distancing    คือปล่อยวางจิตใจจากเรื่องที่กำลังคิดอยู่    โดยอาจละไปทำงานอื่น เล่นดนตรี ฟังเพลง  ออกไปเดินเล่น  ทำสมาธิ  หรือเดินทางไปที่อื่น    distancing จะช่วยเพิ่มความสร้างสรรค์   

ขั้นตอนต่อไปเป็นการใช้ความคิดเชิงเหตุผล    เพื่อประเมินว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด    แต่ก็ยังมีทางเลือกสำรอง    ไม่กระโจนใส่ทางเลือกเดียวแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง    ทั้งหมดนั้น เป็นการใคร่ครวญสะท้อนคิด

หลุมพรางอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อฝึกไปมากๆ และเห็นผล อาจเกิดความทะนงตน   มีความมั่นใจตนเองมากเกิน    แล้วตัดสินใจพลาด    จึงต้องฝึกให้เป็นคนทบทวนตัวเองอยู่เสมอ 

คนเราต้องฝึกตัวเอง ให้ “การคิดวิถีของโฮล์มส์” เป็นเจ้าเรือน    เป็นคนคิดแบบโฮล์มส์อย่างอัตโนมัติ   

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง คิดอย่างเร็ว และคิดอย่างช้า ไว้ที่ (๑)    

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.พ. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689288เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2021 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท