ข้อคิดจริยธรรมฝากนักเลือกตั้งท้องถิ่น


ข้อคิดจริยธรรมฝากนักเลือกตั้งท้องถิ่น

26 กุมภาพันธ์ 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไป

ถือเป็นจุดบอดในความหมายเชิงลึกของคำว่า “จริยธรรม” ที่เกี่ยวพ่วงกับคำว่า “คุณธรรม ศีลธรรม” รวมการประพฤติปฏิบัติที่ถูกที่ควรตามทำนองคลองธรรม อันเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ที่ดีทั้งปวงของสังคม กล่าวคือ เชื่อว่า ศีลธรรม จริยธรรมอันดีย่อมนำไปสู่กฎหมายที่ดีได้ แม้นักปรัชญาจะเห็นว่า “คุณธรรม ความดี นั้นมีส่วนสมดุลอย่างเคร่งครัดกับการลด ละ เลิก ในอัตตา ซึ่งมักทวีสูงขึ้นตามลำดับ” [2] ก็ตาม แม้จะมี “จริยวิบัติ” หรือ “คุณธรรมวิบัติ” (moral hazard) [3] บ้างก็ตาม

แต่มันเป็นรากฐานของ “ระบบนิติรัฐนิติธรรม” (The Rule of Law) [4] และท้ายที่สุดสู่สำนึกความรับผิดชอบ (accountability) ต่อสังคมส่วนรวมอันเป็นสาธารณะ ที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ใน “ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม” (Integrity) [5] อันเป็นหัวใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบทั้งปวง ถือเป็นหลักกติกาสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายทั่วๆ ไปได้ (Law Compliance & Law Enforcement) โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมในศาล รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย ที่ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลแต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพื่อการควบคุมบ้านเมืองตามหลัก “ตุลาการภิวัตน์” [6]

การเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อชาติ

พฤติกรรมการใช้อิทธิพลกำลังข่มขู่ขัดขวางฯ ผู้สมัครท้องถิ่นฯ จากฝ่ายตรงข้ามให้หวาดกลัว ให้สยบ ยอมรับ ไม่กล้าสู้ ไม่กล้าแข่ง ฯ เพื่อล็อคให้เฉพาะพรรคพวกของตนเองเท่านั้นที่จะได้รับการเลือกตั้ง เกิดขึ้นตามข่าวในท้องที่จังหวัดหนึ่ง [7] มีแบบนี้จริงเกิดมานานแล้ว ทำให้ผู้สมัครฯ ไม่กล้าหาเสียง ไม่กล้าลงสมัคร หรือ ถอนตัว (แม้ตามกฎหมายเมื่อสมัครแล้วถอนการสมัครไม่ได้) สารพัดวิชามารฯ ก็ยังคงมีอยู่

แนวทางการของฝ่ายบ้านใหญ่ หรือฝ่ายมีอำนาจที่มักคิดว่าตนเองเป็นฝ่าย “ธรรมะ” ในการขจัดวงจรของพวกตัวป่วน หรือตัวกวนที่ชอบ “สร้างเรื่องต่อก่อเรื่องใหม่ ภายในรอบวาระสี่ปีของฝ่ายบริหาร” [8] จากอีกฝ่ายที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่ได้เข้าไปในสภาสร้างสีสรรในฐานะฝ่ายค้าน ที่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายตรวจสอบฯ แต่พฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไปนัก ที่ทำให้องค์กรสภาขาดความน่าเชื่อถือลง ในเชิงบวกถือเป็นฝ่ายค้าน แต่ด้วยการทำงานเป็นเชิงลบเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายบริหารที่ไม่สร้างสรรค์นัก เช่น อาจค้านไปทุกเรื่อง อาจเป็นที่มาของการกีดกันการสมัครตั้งแต่ต้นทางก็ได้

ปัญหาการสร้างภาพโครงการอีเว้นต์ “สมานฉันท์ปรองดองเพื่อชาติฯ” มองว่าเป็นความฉาบฉวยเอาหน้าไม่แก้ปัญหาต้นเหตุ เพราะสำนึกไม่ดีได้ไปฝังติดในหัวคน “นักเลือกตั้ง” เหล่านี้มานานยากเอาออก กระแสคนรุ่นใหม่ หัวใหม่ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณธรรม จริยธรรม ต่อสังคมได้อย่างไร เพียงใด เป็นที่น่าคิด ด้วยปรากฏการณ์โลก social network ที่ขวางกั้นไม่ได้ ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ ที่เปิดสงครามทางความคิดในโลกโซเซียลได้อย่างง่าย เช่น club house [9]

นักทฤษฎีทางการเมืองเชื่อว่า การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ผลพวงตามมาเมื่อการเลือกตั้ง (การแข่งขัน) เสร็จสิ้น มักเกิดปัญหาความขัดแย้ง หรือความรุนแรงต่างเกิดขึ้น เพราะตามหลักการนักเลือกตั้งทุกคนต้องมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของชุมชน สังคม และประเทศชาติ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้รักสามัคคี เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งเสร็จแล้วก็จะได้ทำหน้าที่ของผู้แทนที่ดีต่อไป กระบวนการสร้างความปรองดองหรือความสมานฉันท์จึงจำเป็น [10]เพื่อการเยียวยาแก้ไขปัญหา โดยเปลี่ยนแปลงชุมชนหรือสังคมที่แบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายไปสู่ชุมชนสามัคคีที่ยึดโยงผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต ที่ควรเป็นเรื่องของ “มาตรการกำกับดูแลจริยธรรมนักการเมือง” นั่นเอง

มาตรการทางกฎหมายกรอบคุมจริยธรรม

ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองฯ เริ่มจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท. ทั้งหมด รวมทั้ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) พ.ศ. 2562 เหล่านี้ ถือเป็นบทกฎหมายที่ต้องแยกแยะและปฏิบัติ แต่ปัญหาที่เกิดคือการขาดการมอนิเตอร์ติดตามผล ขาดการรายงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบกำกับ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และ หน่วยงานผู้ปฏิบัติ เช่น ขาดการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ เพราะการใช้ปากทำงาน ใช้เอกสารทำงาน ใช้มือทำงาน ใช้ความอดทน ใช้เวลา ใช้การประสานงานความร่วมมือ ใช้เงินงบประมาณ ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ขาดการทำด้วยใจที่แตกต่างกัน

การสร้างองค์การที่มีศักดิ์ศรีและจริยธรรม

มีเครื่องมือหรือเทคนิควิธีการที่มีประสิทธิผล ซึ่งสามารถที่จะไปประยุกต์ใช้ในการสร้างศักดิ์ศรีและจริยธรรมให้เกิดขึ้นในระดับตัวบุคคลก่อนที่จะก้าวขึ้นไปสู่ในระดับของการเป็นองค์การที่มีศักดิ์ศรี ได้แก่ [11]

(1) ผู้นำต้นแบบที่ดี (Leadership) (2) การฝึกอบรมจริยธรรม (Ethical Training) (3) ประมวลจริยธรรมและการปฏิญาณ (Codes & Oaths) (4) การตรวจสอบจริยธรรม (Ethics Audits) (5) การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resources)

ปัจจุบันมี “ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน” ตามรัฐธรรมนูญ 10 ข้อใหญ่ 42 ข้อย่อย ก่อนหน้านี้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 [12] ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 279 มีประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดแนวทางให้ ข้าราชการประพฤติปฏิบัติรวม 10 ประการ [13]  

ปัจจุบันมี “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561” [14] ประกอบด้วย หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ 6 ข้อ หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก 10 ข้อ หมวด 3 จริยธรรมทั่วไป 6 ข้อ หมวด 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 27 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ นั้น

ตามมาตรา 219 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า

“ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง

ในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

ประเด็นปัญหา “คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง” ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในหลากหลายแนวทางซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยต่างคาดหวังต่อนักการเมืองไทยปัจจุบันไว้มากว่า บ้านเมืองมิได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของชาวไทยทุกคนที่ต้องจรรโลง สังคมไทยพุทธมีหลักธรรมมากมายที่ควรยึดถือปฏิบัติ ขอฝากส่งท้าย กัลยาณมิตรธรรม [15] ซึ่งมี 3 หมวด ได้แก่ สังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 และ สัปปุริสธรรม 7 ให้ลองไปถือปฏิบัติ

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://siamrath.co.th/n/223308.

[2]ดู วาทะจาก James Anthony Froude นักจิตวิทยา ว่า “The upward sweep of excellence is proportioned, with strictest accuracy, to oblivion of self which is ascending. – การก้าวสู่เบื้องสูงแห่งคุณธรรม ความดี มีส่วนสมดุลอย่างเคร่งครัดกับการลด-ละ-เลิก อัตตา ซึ่งมักทวีขึ้นตามลำดับ ใน 'Euripides and sea studies', in Fraser's Magazine, NS II (May 1875)

ดู ระหว่าง”อยู่ๆกันไปได้”กับ”อยู่-เย็น-เป็นสุข”, ไทยโพสต์, 22 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/93781

[3]Moral Hazard จริยธรรมวิบัติ หรือ จรรยาบรรณวิบัติ หรือ จริยวิบัติ หรือ คุณธรรมวิบัติ คืออะไร ในทางเศรษฐศาสตร์ มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้

การพูดถึงปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของคอรัปชั่น ก็มีการพูดกันมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมีการพูดกันน้อยคือ ประเด็นของจรรยาบรรณวิบัติหรือ Moral Hazard จรรยาบรรณวิบัติตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งที่ต้องกระทำการตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้า และมีการรับรู้เป็นอย่างดี เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมออกนอกกรอบ ไม่ได้ให้ความระมัดระวัง เคร่งครัดเหมือนเดิม เพราะไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของหรือไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป จึงไม่คิดจะรับผิดชอบต่อองค์กร อันเนื่องมาจากการกระทำของตนอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของจรรยาบรรณวิบัติ คือ การเช่ารถมาขับจะทำให้ความระมัดระวัง ไม่เท่ากับขับรถของตนเอง การให้ลูกจ้างทำอาหารแทนนายจ้าง จะไม่สนใจความสะอาด รสชาติเพราะไม่ได้กินอาหารนั้นเอง การจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ให้แก่หน่วยงานอื่น ผู้จัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์นั่นเอง

ดู ลดความเสี่ยงคอรัปชั่น ต้องหยุดพฤติกรรมจรรยาบรรณวิบัติ -เรื่องที่ 600, โดย จิรพร สุเมธีประสิทธิ์ และคณะ, ใน การบริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพ (Professional Risk Management) พิมพ์ครั้งที่ 2, 8 พฤษภาคม 2557, https://chirapon.wordpress.com/tag/moral-hazard/  

& เศรษฐกิจพอเพียง กับ เศรษฐศาสตร์, ปัทมาวดี โพชนุกูล, 25 มิถุนายน 2550, https://www.gotoknow.org/posts/106332

& ผลจากการจัดการเศรษฐกิจแบบการตลาดไปสู่ประชานิยม 1. ความหมายของประชานิยมและประวัติศาสตร์ของแนวคิดนี้ (ต่อ) ตอนที่ 4, ณัฐพงษ์ บุญธรรม (Natthaphong Buntham), 20 มีนาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/564309   

& ความล้มเหลวของระบบตลาด : ด้านข้อมูล, โดย ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี , เศรษฐศาสตร์นโยบายสาธารณะ (Economics of public policy) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3, โครงการส่งเสริมและพัฒนาเอกสารวิชาการ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2552, http://www2.fpo.go.th/S-I/Source/ECO/ECO83.pdf

[4]มีหลักการอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับ “หลักนิติธรรม” (The Rule of Law) คือคำว่า “กระบวนการยุติธรรม” (Due Process of Law) ซึ่งใช้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และคำว่า “นิติรัฐ” (Legal State) ซึ่งใช้แพร่หลายในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป เช่นประเทศเยอรมนี และในประเทศไทยก็มักมีการกล่าวอ้างคำว่า “นิติรัฐ” ควบคู่กับหลักนิติธรรมอยู่เสมอ ซึ่งจะกล่าวถึงความหมายของคำว่า “หลักนิติธรรม” “หลักนิติรัฐ” และ “กระบวนการอันชอบธรรม”

หลักนิติธรรม (Rule of Law) การปกครองที่ดีนั้นควรจะต้องให้กฎหมายอยู่สูงสุด (supremacy of law) และทุกๆ คนต้องมีสถานะที่เสมอภาค และเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย กล่าวคือ แม้ตามหลักการของการแบ่งแยกอำนาจ ผู้ปกครองจะมีอำนาจอันชอบธรรมในการออกและบังคับใช้กฎหมาย แต่ตัวผู้ปกครอง หรือ รัฐเองก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่พวกเขาออก และบังคับใช้ด้วยเฉกเช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่นๆ ในรัฐ เพื่อที่จะทำให้การเมืองนั้นวางอยู่บนรากฐานของกฎหมาย และรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่จำกัด (limited government) โดยตัวกฎหมายเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ นิติรัฐ (เยอรมัน: Rechtsstaat)เป็นถ้อยคำที่ใช้กันในประเทศที่ใช้ระบบ ประมวลกฎหมาย ซึ่งถือกำเนิดในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยมีกฎหมายโรมัน Jus Civile เป็นแม่แบบ หมายถึงการบริหารปกครองรัฐหรือสังคมซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ เป็น "การปกครอง" โดยกฎหมาย

มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือ "ผู้ปกครอง" สามารถตรวจสอบผู้ใช้อำนาจได้ โดยภายหลังแปรเปลี่ยนเป็นกฎหมายมหาชน ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ หรือ Common law ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบนั้นจะอ้างถึง "หลักนิติธรรม" หรือ Rule of Law ซึ่งโดยสรุปก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ในการบริหารจัดการรัฐ : วิกิพีเดีย

ดู หลักนิติธรรม โดยอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด, บทความวิชาการ วารสารจุลนิติ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 หน้า 33-58, https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/3journal/b166%20jun_11_1.pdf

[5]Integrity แปลว่า ความซื่อสัตย์สุจริต (ความมีคุณธรรมและจริยธรรม)คำนี้ อาจเทียบเคียงกับคำไทยได้ว่า ความมีคุณธรรมจริยธรรม ความมีจรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง (ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมความหมายที่แท้จริง หรือสามารถทำความเข้าใจให้ตรงกันได้โดยง่าย) หากท่านซึ่งเป็นผู้ที่ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ อาจทำการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลายและเผยแพร่โดยทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความเข้าใจอย่างถ่องแท้และชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดู

Integrity Glossary จัดทำโดย Ellen Goldberg Integrity Action ประเทศอังกฤษ, ISBN978-974-680-427-1,  พิมพ์ครั้งที่ 1, ตุลาคม 2561, โดย องค์กร Integrity Action จัดแปลและพิมพ์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประเทศไทย, https://www.undp.org/content/dam/thailand/docs/Integrity%20Glossary.pdf

[6]ตุลาการภิวัตน์ (judicial activism)ใช้เรียกกรณีที่อำนาจตุลาการต้องสงสัยว่าบังคับใช้กฎหมายตามความเชื่อส่วนบุคคลหรือการเมือง แทนที่จะอิงตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ พจนานุกรมกฎหมายของแบล็ค ให้คำจำกัดความไว้ว่า "แนวคิดที่ตุลาการให้ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่น ๆ มาชี้นำการตัดสินของตน" ("philosophy of judicial decision-making whereby judges allow their personal views about public policy, among other factors, to guide their decisions.")

 ธีรยุทธ บุญมีบัญญัติศัพท์นี้หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (อักขราทร จุฬารัตน) และประธานศาลฎีกา (ชาญชัย ลิขิตจิตถะ) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 เพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองไทย : วิกิพีเดีย

[7]ขู่กลางเทศบาล ไม่ให้สมัครนายกฯ, ข่าวสด, 19 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.facebook.com/watch/?v=129445175728749

[8]บุคคลผู้สมัครฯ ที่เป็น “ตัวกวน ตัวป่วนฯ” ประเภทนี้ หากได้เข้าไปในสภา เมื่อไม่ใช่คนของพวกเขา อีกฝ่ายเขาก็จะไม่มาคบด้วย แต่บุคคลนี้ยังมีศักยภาพในการเป็นฝ่ายค้านไปเสียเกือบทุกเรื่องได้ กระบวนการสภาฯ จึงไม่เวิร์ค อีกอย่างสังเกตดูง่ายจากการจัดสรรงบพัฒนาเงินอุดหนุนฯ หรือ เงินโครงการฯพัฒนาต่างๆ จากส่วนกลางให้แก่ อปท.หาก อปท.ใด ไม่ใช่พวก ก็จะไม่ได้งบ จะไม่มีงบประมาณพัฒนามาลง กระบวนการจัดสรรโครงการ จะอยู่ที่ผู้มีอำนาจ อำเภอ จังหวัด และกรมฯ บาง อปท.ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่ บาง อปท. สร้างจนไม่มีที่สร้าง หรือ รื้อ(ถนน) แล้วทำใหม่ หรือรื้อใหม่ทำใหม่ โดยใช้เสียงส่วนใหญ่จากมติสภา ซึ่งหลายครั้งมีประโยชน์ทับซ้อน เช่น ทำถนนเข้านาเข้าสวนเข้าที่ดินของหัวคะแนน พวกพ้องฯ หรือหาพื้นที่จัดทำโครงการที่เอื้อประโยชน์คนใดคนหนึ่งฯ เป็นต้น

[9]ClubHouse มีผู้ให้ฉายาว่าเป็น “สโมสรต่อต้านเผด็จการ” “สนามรบไซเบอร์” ของฝ่ายประชาธิปไตย (มติชน TV) เป็นแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่ที่ใช้เสียงในสื่อสาร

ClubHouse เป็นแอปพลิเคชั่นที่ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน App Store ซึ่งในอนาคตอาจจะเปิดให้บริการสำหรับผู้ใช้งาน Android สำหรับแอปพลิเคชั่น นั้นเป็นเหมือนกับ Social Media แพลตฟอร์ม ที่ใช้เสียงในการสร้าง Content, สื่อสาร และ พูดคุย โดยจะไม่มีภาพ ไม่มีข้อความ เปรียบเสมือนการ Live Podcast ที่ไม่สามารถฟังย้อนหลังได้ แบบว่าฟังจบแล้วจบเลย ไม่มีการบันทึกเสียงใดๆทั้งสิ้น ที่สำคัญเลยก็คือ แพลตฟอร์มที่สามารถสื่อสารในรู้แบบ Two Way Communication ที่คนฟังสามารถขอเข้าร่วมพูดคุยกับผู้จัดรายการได้แบบ Real Time

Clubhouse เปิดตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ Alpha Exploration Co. และยังมีบริษัท Andreessen Horowitz เข้าร่วมลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการประเมินมูลค่าแอปดังกล่าวถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้คือเป็นแอปแชทที่สื่อสารด้วย 'เสียง' เท่านั้น ไม่เห็นภาพ ไม่เห็นหน้า ไม่ต้องพิมพ์ข้อความ ลักษณะคล้ายพอดแคสท์ แต่ผู้พูดสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังในห้องแชทได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะพูดขึ้นมาก็ได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของห้องแชทก่อนเสมอ ซึ่งเจ้าของห้องจะเป็นผู้ดูแลควบคุมเปิดหรือปิดไมค์สมาชิกในห้องแชท

ดู ClubHouse คืออะไร, 16 กุมภาพันธ์ 2564, https://accesstrade.in.th/clubhouse-คืออะไร-ทำไมถึงน่าสนใจ/#:~:text=ClubHouse%20เป็นแอปพลิ,ฟังย้อนหลังได้%20แบบ

& Clubhouse คืออะไร ดียังไงทำไมถึงฮิตกันจัง?, โพสต์ทูเดย์, 16 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.posttoday.com/world/645521

[10]จริยธรรมนักการเมือง (2), ประลอง ครุฑน้อย (Dr. Pralong Krutnoi), 3 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/452216

[11]การสร้างองค์กรที่มีศักดิ์ศรีและจริยธรรม, โดย บุษยมาศ แสงเงิน, 23 กุมภาพันธ์ 2553, https://www.gotoknow.org/posts/339344

[12]ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไป และให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2543  ดู ความคาดหวังที่มีต่อจริยธรรมนักการเมืองไทย โดย บาว นาคร (บุญยิ่ง ประทุม), 10 พฤศจิกายน 2551, http://oknation.nationtv.tv/blog/baocd12/2008/11/10/

[13]ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ประกาศ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 162 ง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 หน้า 73-86, มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันครบเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552), https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/ethics_compile.pdf

[14]มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 5 ก วันที่ 30 มกราคม 2561 หน้า 13-17, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/005/13.PDF

[15]กัลยาณมิตรธรรมซึ่งมี 3 หมวด ได้แก่ สังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 และ สัปปุริสธรรม 7

สังคหวัตถุ 4(คุณธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจผู้อื่น) ได้แก่

(1) ทาน คือ การสละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน (2) ปิยวาจา คือ การพูดจาอ่อนหวาน (3) อัตถจริยา คือ การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น (4) สมานัตตตา คือ ความเป็นคนมีตนเสมอ วางตัวเหมาะสมเสมอต้นเสมอปลายไม่ถือตัว

ฆราวาสธรรม 4  (คุณธรรมสำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักบวช) ได้แก่

(1) สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ต่อกัน (2) ทมะ คือ การรู้จักข่มจิตของตน เช่น ยับยั้งใจไม่ให้ทำชั่ว ไม่โกรธ เป็นต้น (3) ขันติ คือความอดกลั้น เช่น ทนต่อความอยาก ในทางที่ไม่ดี ทนต่อความเย้ายวนเย้ยหยัน หรือการล่วงเกินของคนอื่น เป็นต้น (4) จาคะ คือ การสละให้ปันแก่คนที่ควรให้

สัปปุริสธรรม 7(คุณธรรมของสัตบุรุษ คือคนที่น่านับถือ) ได้แก่

(1) ความเป็นผู้รู้จักเหตุผล รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งสุข สิ่งใดเป็นเห็นแห่งทุกข์ (2) ความเป็นผู้รู้จักผล รู้ว่าสุขเป็นผลจากเหตุนี้ ทุกข์เป็นผลจากเหตุนั้น (3) ความเป็นผู้รู้จักตน รู้ว่าตนเป็นใคร อยู่ในฐานะใด และประพฤติตนให้สมควรแก่ฐานะที่เป็นอยู่อย่างไร (4) ความรู้จักประมาณ เช่น รู้จักประมาณในการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบและรู้จักประมาณในการบริโภค (5) ความรู้จักกาลเวลาอันสมควรในการประกอบกิจต่างๆ (6) ความรู้จักหมู่ชนและกิริยาที่ควรประพฤติต่อหมู่ชนนั้นๆ ว่าควรประพฤติอย่างไร (7) ความรู้จักเลือกบุคคลว่าใครเป็นคนดีควรคบ ใครเป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท