เศรษฐกิจพอเพียง กับ เศรษฐศาสตร์


จิตใจคนอ่อนแอเกินกว่าจะควบคุมตนเองไม่ให้ไปตามกระแสสังคม ในขณะที่กลไกที่ควบคุมระบบสังคมก็อ่อนแอ

มีผู้เขียนมาถามว่า  เศรษฐศาสตร์กระแสหลักต่างกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

  

คำตอบแรก คือ  เศรษฐกิจพอเพียงบอกสิ่งที่ควรเป็น  แต่เศรษฐศาสตร์ พยายามอธิบาย สิ่งที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้น  ว่า ถ้าคนมีเป้าหมายแสวงหาอรรถประโยชน์ (ความพอใจ)สูงสุด  แล้วเขาจะมีพฤติกรรมอย่างไร ถ้าหน่วยธุรกิจมีเป้าหมายแสวงหากำไรสูงสุด (หรือต้นทุนต่ำสุด หรือ ลดความเสี่ยง) จะมีพฤติกรรมอย่างไร  เศรษฐศาสตร์จุลภาคจึงพยายามอธิบายพฤติกรรมตัวละคร (ปัจเจกบุคคล  หน่วยผลิต) และผลต่อสังคมที่เกิดขึ้น

  

คำตอบที่สอง    ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (นีโอคลาสสิค)  หากพฤติกรรมไม่เป็นที่พึงปรารถนาต่อสังคมก็จะมีข้อเสนอว่า รัฐควรเข้ามาแก้ไขอย่างไรเพื่อปรับพฤติกรรม ซึ่งจะเป็นกลไกเชิงสถาบัน เช่น  ระบบภาษี  ระบบการอุดหนุน   โดยไม่ได้เสนอให้ปรับเป้าหมาย (คือการหาอรรถประโยชน์ หรือ การหากำไร)   แต่เศรษฐกิจพอเพียง เน้นหาทางออกโดยปรับเป้าหมาย ปรับทัศนคติ  เป็นการระเบิดจากข้างใน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง   มากกว่าการออกแบบกลไกภายนอกมาคุมพฤติกรรมอย่างข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์

  

คำตอบที่สาม   เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก  เป็น anthropocentric  (anthro= มนุษย์, centric = ศูนย์กลาง) คือ มองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง  แม้แต่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ยังเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์   ในขณะที่เศรษฐกิจพอเพียง จะมองมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียมกันมากกว่า และเน้นไม่ให้คนไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

   

นอกจากนี้เศรษฐศาสตร์มีแนวคิดที่ชัดเจน เรื่อง  ความพอดี (optimal)  ความมีเหตุมีผล (rationality) ความยั่งยืน (sustainability)  การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk averse)  การลดความเสี่ยง (risk minimization)  การออม (saving)  และให้ความสำคัญกับ ความรู้ที่เรียกว่า ข้อมูล (information)   แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่   มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เรื่อง 

  

เศรษฐศาสตร์ มีแนวคิดเรื่อง จริยวิบัติ (moral hazard) ที่ไม่ได้สอนให้คนมีจริยธรรม  แต่จะอธิบายว่า  ภายใต้สถานการณ์ใด คนมีแนวโน้มจะไม่มีจริยธรรม    …..มีแนวคิด เรื่อง  ตีตั๋วฟรี (free rider)  ที่ไม่ได้สอนไม่ให้เอาเปรียบคนอื่น   แต่จะอธิบายว่า ภายใต้สถานการณ์ใด  คนจะถือเอาประโยชน์โดยตัวเองไม่ลงทุนลงแรง …. แล้วก็จะเสนอทางแก้โดยปรับระบบแรงจูงใจ

  

เศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับเป้าหมาย  และการหาทางออกโดยการใช้สติและปัญญา   แต่เศรษฐศาสตร์เชื่อในเรื่องแรงจูงใจ  ทางออกจึงเน้นการสร้างกลไก เครื่องมือมาปรับแรงจูงใจ

  

เศรษฐกิจพอเพียงเสนอแนวทางที่ควรเป็น โดยเน้นการควบคุมตนเอง  เราคิดว่า หากใช้ผสมกับกลไกเชิงระบบ ออกมาควบคุมกำกับซ้ำอีกที   บางทีก็อาจจะมีประสิทธิผลดี  

  

ปัญหาเมืองไทยตอนนี้ คือ  จิตใจคนอ่อนแอเกินกว่าจะควบคุมตนเองไม่ให้ไปตามกระแสสังคม  ในขณะที่กลไกที่ควบคุมระบบสังคมก็อ่อนแอ   นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า  แค่รัฐมีความจริงจังกับบทบาทหน้าที่ของตน  ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น ระบบภาษี  กม.ควบคุมการผูกขาด  กม.คุ้มครองผู้บริโภค ภาษีสิ่งแวดล้อม ฯลฯ)  แค่นี้  ประเทศก็จะเดินอยู่ในร่องในรอยที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่านี้

  

อ้อ  ยังมีบางประเด็นที่ต่างมาก เช่น  การมองการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหนึ่งของเศรษฐศาสตร์มหภาค  โดยไม่เตือนสติเรื่องการเติบโตอย่างมีขั้นตอน  และมองข้ามต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจ  ทั้งที่เศรษฐศาสตร์อีกสาขาหนึ่ง เช่น เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (ซึ่งเป็นนีโอคลาสสิคเหมือนกัน) ก็เตือนถึงปัญหาเหล่านี้ไว้แล้ว    แสดงถึงปัญหาการวิเคราะห์แยกส่วน ที่ต่างจากความพยายามมองเป็นองค์รวมของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐศาสตร์เห็นประโยชน์ของการแข่งขัน แต่เศรษฐกิจพอเพียงเห็นประโยชน์ของความร่วมมือ   เศรษฐศาสตร์มองว่า ความร่วมมือไม่ใช่สิ่งปกติ   จะมีความร่วมมือภายใต้บางสถานการณ์  แต่ความร่วมมือนั้นอาจไม่เสถียร  สมาชิกอาจจะหักหลังถ้ามีโอกาส   แต่ก็มีเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงทุนทางสังคม (social capital) ที่บอกว่า ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ถ้าคนมีความไว้วางใจกัน  เป็นต้น 

หมายเลขบันทึก: 106332เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรียน อาจารย์ ปัทมาวดี ที่เคารพ

  • วันนี้อ่านบล็อกแล้ว ก็รู้สึกว่า "สติ" ที่พระพุทธองค์ทรงเตือน
  • เป็นปัจฉิมโอวาท ให้ทุกคนระลึกรู้ และยังความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมนั้น
  • สำคัญมากเลยละครับ
  • ไม่ว่า จะมีความเหมือน ความต่างของทั้งสองสิ่งเพียงไหน
  • แต่ถ้าคนใช้งานมีสติ รู้ตัวและจดจ่อ ผมว่าไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก
  • เพราะลึกๆแล้ว ตัวปัญญาญาณ จะทำงานชี้ถูกชี้ผิดให้เราเอง

(ไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่เดาจากประสบการณ์ส่วนตัวครับ คงเหมือนคนตีระฆังกังสดาล จะตีแบบไหน ยังไง เมื่อไหร่ ต้องใช้สติ ต้องตั้งคำถาม แล้วประโยชน์จึงเกิด เปรียบไว้ประมาณนี้และครับอาจารย์)

ขอบคุณครับ

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
เป็นคำอธิบายที่ดีมากๆ ครับ หากอาจารย์ช่วยเรียบเรียบเพิ่มเป็น 2 หน้ากระดาษ A4 (โดยอาจขยายความในประเด็นที่เป็น normative กับ positive พร้อมตัวอย่าง) ผมจะขออนุญาตนำไปเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ โดยใช้ byline เป็นชื่ออาจารย์เลยได้ไหมครับ

เรียนอาจารย์โชคธำรงค์

ขอบคุณมากสำหรับความเห็นของอาจารย์ค่ะ  "สติ" สำคัญมากจริงๆสำหรับการดำเนินชีวิต   

"การศึกษาสุนัขหางด้วน"  อย่างที่ท่านพุทธทาสว่าไว้มองข้าม การใช้สติและปัญญา สังคมจึงสับสนวุ่นวายค่ะ

ดีใจมากที่ได้รับความเห็น จาก ดร. พิพัฒน์ และดีใจมากขึ้นที่รู้ว่า บทความจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะค่ะ

รับปากว่าจะไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้นะคะ

เศรษฐกิจพอเพียง กับ เศรษฐศาสตร์

ขอบคุณค่ะ มีประโยชน์มากเลย

ขอบคุณสำหรับข้อมูลแต่อยากรู้ค่ะว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับเศษรศาสตร์มีความสัมพัน

กันอย่างไร หรือมีทฤษฏีใดบ้างค่ะที่เป็นตัวอย่างค่ะ ขอบคุณมากนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท