วิจารณ์ เรื่องสั้น


วีรชน: เรื่องเล่าจากวิญญาณ

    เรื่องสั้น “วีรชน”  เป็นหนึ่งในสิบสองเรื่องสั้นจากหนังสือรวมเรื่องสั้น “อาถรรพภาพวาดเสือดำ”  ผลงานของ  กำพล  นิรวรรณ  ถือได้ว่าเป็นนักเขียนที่มีความสามารถอีกท่านหนึ่ง  ที่สามารถสร้างสรรค์งานเขียนให้ตราตรึงใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะการนำประสบการณ์ที่ตนได้ประสบมาแต่งเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจหนึ่งในนั้นคือเรื่องสั้น “วีรชน” คาดว่าเป็นเรื่องสั้นที่แต่งจากประสบการณ์ของผู้แต่งเอง  นอกจากนั้นยังมีกลวิธีในการแต่งที่แปลกใหม่ไปจากเดิม  และยังสามารถกระชากวิญญาณของผู้อ่านเข้าไปมีส่วนร่วมในการลิ้มรสงานเขียนของเขาได้เป็นอย่างดี  ทำให้ผู้อ่านได้รับรสวรรณศิลป์ของเขาได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์เป็นอย่างมาก  สมกับเป็นเรื่องสั้นของนักเขียนรางวัลยอดเยี่ยม ‘กนกพงศ์  สงสมพันธุ์’

  เรื่องสั้น “วีรชน” เป็นเรื่องราวของผู้เล่าคือ “ข้าพเจ้า” ชายหนุ่มผู้หนึ่งที่เข้าไปมีส่วนในการปฏิวัติประเทศกับกลุ่มนักปฏิวัติคนอื่น ๆ บนเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นฐานทับ  กลุ่มนักปฏิวัติต่างต้องการให้สมาชิกทุกคนมีความเสมอภาพและเท่าเทียมกัน  เดชะกรรมข้าพเจ้าเป็นผู้ที่มีอุณหภูมิในร่างกายสูงทำให้เขาต้องแก้ผ้านอนตลอดในตอนกลางคืน  ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถอดทนนอกร่วมกับเหล่าสหายนักปฏิวัติท่านอื่น ๆ ได้  จึงแยกตัวออกไปสร้างกระท่อมอยู่อย่างสันโดษเพื่อจะได้นอนแก้ผ้าได้อย่างสบายใจ  แต่แล้วข้าพเจ้าก็ไม่สามารถทนเสียงวิจารณ์ว่าเป็นลัทธิเสรีชนไม่เข้ากลุ่มกับสหายท่านอื่น ๆ  เนื่องจากเรือนนอนเดี่ยวนั้นอยู่ได้เฉพาะสหายนำกับสหายที่เป็นคู่ผัวเมียเท่านั้น  สุดท้ายข้าพเจ้าจึงไปผูกเปลนอนอยู่ริมลำธารท้ายค่าย  อากาศเย็นด้วยลมและไอน้ำเหมาะแก้การนอนแก้ผ้าสำหรับข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก  ในวันหนึ่งสหายนำได้ฝากคำเตือนมากับสหายท่านหนึ่งบอกให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบหากศัตรูมาทำลายค่ายและยิงเขาตาย  ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นได้ตกกลางคืนจึงไม่ได้เฉลียวใจเมื่อเห็นศัตรูมุ่งหน้ามาทางที่ตั้งค่าย  ฝนกระสุนสาดกระหน่ำให้ร่างของข้าพเจ้าที่นอนอยู่ในเปลอย่างได้ความปราณี  จนร่างไร้วิญญาณตกลงจากเปลแล้วขยายร่างเท่ากับความถึก  ร่างกายขึ้นอืดน่าเกลียดน่ากลัวทำให้ศัตรูตกใจกลัวและหนีกระเจิงไปคนละทิศละทาง  ฝ่ายสหายนักปฏิวัติเมื่อได้ยินเสียงปืนดังลั่นป่าต่างก็พากันเก็บข้าวของอพยพเข้าไปในป่าลึกกว่าเดิม

      ในส่วนของโครงเรื่อง  กำพล  นิรวรรณ  สามารถวางโครงเรื่องได้อย่างแยบยลและน่าสนใจเป็นอย่างมาก  เพราะให้ตัวละครข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องได้จบชีวิตในตอนจบ  การเล่าเรื่องที่ผ่านมาจึงเป็นการเล่าเรื่องจากดวงวิญญาณของข้าพเจ้าและยังสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่  ดังเช่นตัวอย่าง “ดวงวิญญาณของข้าพเจ้ายังคงล่องลอยอยู่บริเวณนั้น  จึงได้ยินเสียงใครคนหนึ่งหัวเราะหึๆ ในลำคอหลังคำสดุดีสิ้นสุดลง”  (กำพล  นิรวรรณ 2562 : 76)   นอกจากนั้นการวางโครงเรื่องของ  กำพล  นิรวรรณ  ยังสัมพันธ์กับเรื่องอย่างลงตัว  และยังสัมพันธ์กับชื่อหนังสือเป็นอย่างมากเพราะหากกล่าวถึงอาถรรพ์ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องลี้ลับหรือเรื่องผี  วิญญาณ  นอกจากนั้น  กำพล  นิรวรรณ  ยังวางโครงเรื่องได้อย่างไม่สลับซับซ้อนทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและเข้าถึงรสวรรณศิลป์ได้ง่าน  จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นผู้เขียนสามารถนำประสบการของตนมาผสมกับจินตนาการก่อเกิดเป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่านได้อย่างลงตัวและมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก  ในส่วนของการเปิดเรื่อง  กำพล  นิรวรรณ  ได้ใช้กลวิธีการแนะนำตัวละครในการเปิดเรื่อง  ซึ่งเป็นการทำให้ผู้อ่านทราบถึงภูมิหลังของตัวละคร  และเป็นการท้าทายให้ผู้อ่านคาดเดาว่าตัวละครจะดำเนินเรื่องไปในทิศทางใด  ดังเช่นตัวอย่าง  “ข้าพเจ้าเป็นคนอาภัพ  เกิดมาเป็นคนธาตุร้อน  ต้องนอนแก้ผ้าแทบทุกค่ำคืน  ยิ่งคืนไหนอากาศอบอ้าว  ซึ่งบ้านเมืองเรามันก็อบอ้าวอยู่เกือบทั้งปี  แค่นอนแก้ผ้ายังไม่พอ  ต้องหาที่เย็นๆ นอนถึงจะหลับ”  (กำพล  นิรวรรณ 2562 : 65)

          กำพล  นิรวรรณ  ได้ดำเนินเรื่องด้วยการนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเองมาผสมผสานกับจินตนาการที่ล้ำเลิศได้อย่างลงตัวน่าตื่นตาตื่นใจผ่าตัวละคร  “ข้าพเจ้า”  ผู้เล่าเรื่องโดยเล่าเป็นลำดับเหตุการณ์  ให้เห็นความรู้สึกของตัวละครที่มีทั้งความอ่อนโยน  โกรธ  ดีใจ  มีความสุข  เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสื่อและรู้จักตัวละครมากขึ้น  ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดำเนินเรื่องที่มีความพิสดารเฉพาะตัวด้วยการใช้ดวงวิญญาณในการดำเนินเรื่อง  นอกจากนั้น  กำพล  นิรวรรณ  ยังได้ดำเนินเรื่องด้วยการผูกปมเพื่อให้เรื่องมีความน่าสนใจมากขึ้น  ชวนให้ผู้อ่านใช้เชาว์ปัญญาในการคิดคาดเดาล้วงหน้าว่าเรื่องจะดำเนินไปในทิศทางใด  และตัวละครจะแก้ปัญหาอย่างไรทำให้ผู้อ่านเกิดความท้าทายมากยิ่งขึ้น  ว่าสิ่งที่ผู้อ่านคาดเดากับเรื่องที่ดำเนินไปตรงตามความคิดหรือไม่  หรือเรื่องมีการหักมุมผิดจากความคิดที่คาดเดา  เป็นการส่งเสริมให้ผู้อ่านอยากอ่านงานเขียนเรื่องอื่นมากขึ้นเพราะผู้อ่านได้เกิดภาพความสนุกที่ได้อ่านเรื่องนี้   ปมในเรื่องนี้คือตอนที่ข้าพเจ้าไปผูกเปลนอนที่ลำธารตัวคนเดียว  จึงได้คำเตือนจากสหายนำผ่านสหายหัวหน้าหน่วยนายหนึ่งว่า  ให้รับผิดชอบหาข้าพเจ้าถูกศัตรูยิ่งตายและทำให้ค่ายเสียลับ  ดังตัวอย่าง  “สหายต้องรับผิดชอบนะ  ถ้าศัตรูมาพบเข้าแล้วเกิดว่าเขายิงคุณตาย  แล้วถ้าค่ายเสียลับ  พวกเราต้องอพยพออกจากค่าย  สหายต้องรับผิดชอบนะ”  (กำพล  นิรวรรณ  2562 : 70)

          ในส่วนของการคลายปมเป็นการเฉยปมปัญหาของเรื่องว่าเป็นอย่างไร  ผู้อ่านเองก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่ตนคาดเดานั้นเป็นไปตามที่คิดหรือไม่  ถือได้ว่าเป็นการเฉลยเรื่องทั้งตัวละครและตัวผู้อ่าน  การคลายปมของเรื่องคือตอนที่ตัวละครข้าพเจ้าถูกยิงและสามารถรักษาค่ายเอาไว้ได้  ดังตัวอย่าง  “ผ้าเปลถูกห่ากระสุนฉีกขาด  ร่างเปลือยเปล่าปรุพรุนด้วยรูกระสุนของข้าพเจ้าร่วงลงไปกองอยู่ริมตลิ่ง  จากนั้นเนื้อตัวก็พองพรวดๆ  จนโตเท่าความถึก  ตาถลนออกมานอกเบ้าและขยายใหญ่เท่ากำปั้น  ลิ้นสีม่วงแลบออกมาคาปาก  เลือดไหลโกรกออกมาตามรูกระสุน  ไม่ทันไรน้ำในลำธารก็แดงฉานไปทั่วบริเวณ  และเริ่มแดงเข้มขึ้นเรื่อยๆ  พร้อมกับกระเพื่อมเป็นริ้วคลื่นพัดตัดกระแสน้ำพุ่งข้ามฝั่งไปยังฝ่ายศัตรูที่ส่องไฟฉายสาดจับศพข้าพเจ้าด้วยความจังงัง  ก่อนจะพากันตะเกียกตะกายปีนตลิ่งเผ่นหายไปในความมืด  บ้างก็ทิ้งปืนไว้ข้างหลัง  บ้างก็ร้องขอชีวิตลั่นป่า  ไม่มีใครกล้าเหลียวหลังมาแลศพของข้าพเจ้าแม้แต่คนเดียว”  (กำพล  นิรวรรณ 2562 : 74 - 75)

          เรื่องสั้นวีรชนเป็นการปิดเรื่องแบบโศกนาฏกรรม  เพราะตัวละครหลักได้เสียชีวิตใช่ตอนจบ  ซึ่งในตอนจบของเรื่องกล่าวถึงพิธีศพของข้าพเจ้า  เมื่อกล่าวถึงงานศพซึ่งเป็นงานขาวดำย่อมนึกถึงความเศร้าโศก  เรื่องสั้นวีรชนจึงเป็นการจบแบบโศกนาฏกรรม  ดังตัวอย่าง  “เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากจัดการฝังศพของข้าพเจ้าเป็นที่เรียบร้อย  ทางพรรคได้ประกาศยกย่องผู้ตายตามธรรมเนียม”  (กำพล  นิรวรรณ 2562 : 75)

          กำพล  นิรวรรณ  ได้สอดแทรกแนวคิดไว้ในเรื่องได้อย่างเห็นได้ชัดคือความไม่เสมอภาพของนักปฏิวัติ  แม้ตนจะทำการปฏิวัติเพื่อทำให้ทุกคนมีความเสมอภาพกัน  สังเกตได้จากการที่นักปฏิวัติใช้สรรพนามบุรุษที่สามว่าสหาย  เมื่อกล่าวถึงสหายย่องมีความเสมอภาพกันทางอายุทุกอย่างจะต้องได้ในสิ่งเดียวกัน  อิ่มด้วยกันอดก็ต้องอดด้วยกัน  ต้องนอนในที่เดียวกันไม่มีข้อยกเว้น  แต่ในเรื่องกลับแบ่งแยกกันโดยสิ้นเชิง  ดังตัวอย่างตอนที่ข้าพเจ้าแยกตัวออกมาปลูกกระท่อมเดี่ยวเพื่อจะได้นอนแก้ผ้าได้  แต่กลับถูกสหายท่านอื่นวิจารณ์  “สหายทำแบบนี้ไม่ถูกนะ  บ้านพักเดี่ยวเขาอนุญาตให้มีได้เฉพาะสหายนำกับสหายที่แต่งงานแล้วเท่านั้น”(กำพล  นิรวรรณ 2562 : 68)

          ตัวละคร  ข้าพเจ้า  เป็นตัวละครที่  กำพล  นิรวรรณ  ได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยจินตนาการที่แปลกใหม่เนื่องจากสร้างให้ตัวละคร  ข้าพเจ้า  ซึ่งเป็นผู้เล่านั้นได้ตายในตอนจอบจึงเป็นไปได้ว่าเรื่องเล่าที่ผ่านมาเป็นเรื่องเล่าจากดวงวิญญาณ  ซึ่งตามความจริงแล้วเป็นไปไม่ได้นับว่าเป็นความแปลกใหม่ที่สามารถดึงดูดให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ  และเกิดความรู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก  อีกทั้งตัวละครข้าพเจ้ายังเป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะหรือตัวละครแบบกลม  ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนจริง ๆ แต่เป็นวิญญาณที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องของตนได้  จึงกล่าวได้ว่าตัวละครข้าพเจ้าเป็นตัวละครที่ไม่มีความสมจริง  ดังเช่นตัวอย่าง  “แต่เลือดในกายข้าพเจ้ามันปุดๆ  ไม่หยุดเสียแล้ว  ดีแต่ว่าในจังหวะนั้นเอง  เจ้าความขี้ขลาดตาขาวที่สิงอยู่ในตัวข้าพเจ้าเช่นกันเริ่มกระซิบเตือนให้ระวัง”(กำพล  นิรวรรณ 2562 : 72)  นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่าตัวละครข้าพเจ้าเป็นคนที่สามารถควบคุมอารมณ์และสติของตนได้เป็นอย่างดี  เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างมาก

          เรื่องสั้นเรื่องนี้  กำพล  นิรวรรณ  ได้สร้างสรรค์ฉากให้มาความสวยงามตามธรรมชาติของป่าในช่วงกลางคืนได้น่าประทับใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก  และยังสัมพันธ์กับบรรยากาศได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน  เป็นฉากตอนที่ข้าพเจ้ากำลังนอนชมธรรมชาติช่วงค่ำคืนอยู่ที่ริมลำธาร  ดังตัวอย่าง “ดึกของคืนไร้เดือนคืนหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้านอนตัวล่อนจ้อนให้สายลมอ่อนลูบไล้อยู่ในเปล  เหม่อมองแสงดาวระยิบที่ระบายแผ่นฟ้าให้ใสกระจ่างจนดูต่ำเตี้ยเรี่ยยอดไม้  ดื่มดำกับเสียงพลอดรักของสายน้ำกับแก่งหิน  เสียงนกละเมอเพ้อพกในราวไพร  ปล่อยใจให้ลอยตามหาคนรักที่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจในหน่วยหน้า”  (กำพล  นิรวรรณ 2562 : 73)  แสดงให้เห็นว่าฉากมีความสอดคล้องกันกับบรรยากาศเป็นอย่างมากและยังสอดคล้องกับความรู้สึกของข้าพเจ้าที่คิดถึงคนรักที่ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ห่างไกล  จึงกล่าวได้ว่าฉาก  บรรยากาศ  และตัวละคร  มีความสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน

          เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดจึงสรุปได้ว่าทุกองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กันและเชื่อมโยงกันอย่างกลมกลืน  ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่อง  เนื้อเรื่อง  โครงเรื่อง  แก่นเรื่อง  ตัวละคร  ฉากและบรรยากาศ  ต่างก็มีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งสิ้น  อีกทั้งโครงเรื่องยังมีการวางโครงเรื่องอย่างเหมาะสม  แก่นเรื่องแสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคกันในกลุ่มงานแม้ตนจะเรียกร้องหาความเสมอภาคกันก็ตาม ตัวละครหลักไม่มีความสมจริงแต่เป็นตัวละครที่ควรยึดเป็นแบบอย่างในด้านที่ดี  นอกจากนั้นผู้อ่านยังได้รู้ถึงประวัติศาสตร์บางส่วนที่เกินขึ้นจริงและสถานที่ที่มีจริง  ทำให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลินเพราะเรื่องมีความสมจริงและยังได้ใช้เชาว์ปัญญาในการคิดแก้ปัญหาไปกับตัวละคร  เรื่องสั้น  วีรชน  จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง

กำพล  นิรวรรณ.  (2562).  อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ.  กรุงเทพมหานครฯ : ผจญภัยสำนักพมพ์

ภาพหน้าปกหนังสือ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ.  ค้นเมื่อ 10 มกราคม 2564. จาก    

            https://kledthai.com/9786164790094.html

หมายเลขบันทึก: 689117เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2021 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท