บางโก้งโค้ง


เมื่อไม่กล้าขัดความต้องการของผู้มีอำนาจ การบุกรุกป่า ล่าสัตว์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นค่านิยมวัดความแข็งแกร่ง วัดความเป็นชายมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันค่านิยมนี้ก็ยังคงอยู่ จึงไม่มีใครกล้าขัดขวาง

บางโก้งโค้งจากอดีต...สู่ปัจจุบัน

  และอำนาจที่ไม่อาจต้านทาน


  “บางโก้งโค้ง”เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวจากหนังสือรวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” ของกำพล นิรวรรณ นักเขียนรางวัลยอดเยี่ยม กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งได้มีการบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตและสังคมยุคสมัยที่ได้สัมผัส ถ่ายทอดมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทางสังคม นำเสนอเรื่องเล่า ความเชื่อ อาถรรพ์แห่งป่า ฉากและตัวละครกลั่นออกมาจากชีวิตจริงของผู้เขียน ทำให้ผู้อ่านได้ค้นหาอดีตและตั้งคำถามกับปัจจุบัน จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เรื่องบางโก้งโค้งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอำเภอเบี้ยซัด เมื่อนายอำเภอคนใหม่จากเมืองหลวง ฉายาลูกโดด โผงเดียวมาประจำการ เนื่องจากเป็นคนชอบล่าสัตว์ จึงหาพรานในพื้นที่เพื่อนำทาง ซึ่งก็คือ เฒ่าเหิน ในการล่าสัตว์ครั้งล่าสุด ล่าได้แม่กวางลูกอ่อน ในครั้งนี้จึงให้เฒ่าเหินนำทางไปล่าลูกกวางที่รอดชีวิต แต่ในครั้งนี้คณะล่าสัตว์ก็ต้องเผชิญกับเภทภัยจนถึงแก่ชีวิต 

ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันคือ เดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๐๕ ในอำเภอเบี้ยซัด บรรยายถึงสภาพของลูกโดด โผงเดียวที่กลายเป็นชายเสียสติ เจ้าอาวาสเหิน วัดบางกระเรียนทมแหล่งพักพิงผู้สูญเสียจริต และไอ้ผิน ฟันทอง ที่เสียสติเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีการกล่าวถึงสภาพสังคมในขณะนั้นว่าเป็นเหตุการณ์หลังจากนายครอง  จันดาวงศ์ถูกประหาร ภาคใต้ในขณะนั้นจึงมีความวุ่นวายจากการกวาดล้างผู้ต่อต้านอำนาจรัฐไปด้วย ต่อมาผู้เขียนก็เล่าย้อนอดีตไปเดือนตุลาคม ปี ๒๔๘๐ เฒ่าเหินกำลังเตรียมตัวพาคณะล่าสัตว์ของนายอำเภอลูกโดด โผงเดียวไปล่าลูกกวาง และผูกปมความขัดแย้งในจิตใจของเฒ่าเหินที่เห็นอกเห็นใจลูกกวางแต่ก็ไม่กล้าขัดใจผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นปมความขัดแย้งที่เด่นชัดและความขัดแย้งระหว่างมนุษย์คือ อีพร้อย เมียเฒ่าเหินกับหมวดผิน ฟันทอง รวมทั้งไม่ชอบใจผู้มีอำนาจทั้งหลายเนื่องจากคนเหล่านั้นมักวางอำนาจ และหยิ่งยโส เมื่อเฒ่าเหินพาคณะล่าสัตว์เข้าป่าไปก็มีการผูกปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งก็คือสภาพอากาศที่แปรปรวน พายุเข้า ลมกรรโชก และน้ำท่วม จนทำให้คณะล่าสัตว์ต้องทำการโก้งโค้งเพื่อทำความเคารพ  ทำให้คณะล่าสัตว์พบอุปสรรคในการเดินทาง จนเกือบจนถอยกลับ อีกทั้งยังมีความขัดแย้งของมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือคณะล่าสัตว์กับวิญญาณของแม่กวางและเหล่าสรรพสัตว์ที่ถูกพรากชีวิตไปในระหว่างทาง ต่อจากนั้นผู้เขียนได้มีการหน่วงเรื่องคือการเตือนจากยายนวลผู้มีสัมผัสพิเศษทำให้คณะล่าสัตว์เริ่มลังเลมากขึ้น แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะเดินทางต่อ เฒ่าเหินพาไปที่ถ้ำลวงตา เป็นจุดสุดยอดของเรื่อง เนื่องจากในถ้ำทุกคนเห็นร่างตัวเองที่ไม่มีหัวจึงตกใจมาก หวาดกลัวสิ่งลี้ลับอย่างแท้จริง รีบออกไปจากถ้ำกลับสู่ป่า จนเดินทางไปถึงที่พักที่สร้างไว้และซุ่มรอจนได้ยินเสียงลูกกวาง เฒ่าเหินจึงเปลี่ยนกระสุนลูกโดดของนายอำเภอเป็นกระสุนหัวกระดาษที่ได้เตรียมมาและโกหกว่าเป็นกระสุนปลุกเสก และทุกคนยกเว้นเฒ่าเหินก็ออกไปล่าลูกกวาง ในการปิดเรื่อง ผู้เขียนปิดเรื่องด้วยโศกนาฏกรรม เฒ่าเหินตามหลังมาเห็นร่างของคณะล่าสัตว์สามคน คือผู้พัน ผู้กอง และนายตำรวจ ส่วนนายอำเภอลูกโดด โผงเดียว กับหมวดผิน ฟันทองหายตัวไป ในส่วนของการคลายปมที่ไม่ได้กล่าวถึงเนื่องจากไม่ปรากฏอย่างเด่นชัด เช่น ความขัดแย้งของอีพร้อยกับคณะล่าสัตว์ ความขัดแย้งกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ มีเพียงปมความในใจของเฒ่าเหิน ที่เริ่มคลายจากการที่เปลี่ยนกระสุนเนื่องจากไม่กลัวอำนาจของนายอำเภออีกต่อไป และเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง

  บางโก้งโค้งเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ดังนั้นโครงเรื่องจึงมีความซับซ้อน ผู้เขียนใช้กลวิธีการเขียนแบบเล่าย้อนอดีต มีการยกเหตุการณ์ในปัจจุบันมาเล่าก่อน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย จากนั้นถึงเล่าเรื่องราวในอดีตที่เป็นสาเหตุของปัจจุบัน เป็นการอธิบายที่มาของลูกโดด โผงเดียวและไอ้ผิน ฟันทอง ก่อนที่จะวิกลจริตและสาเหตุที่เกิดอาการวิกลจริต และที่มาของเจ้าอาวาสเหินผู้มีเมตตาธรรม ที่ในอดีตเป็นพรานผู้คร่าชีวิตสัตว์มามากมาย ซึ่งเล่าเรื่องแบบผู้เล่าเป็นผู้รู้แจ้ง บรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล่วงรู้จิตใจของทุกตัวละคร ทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครอย่างรอบด้าน

          แก่นเรื่องหลักที่ผู้เขียนแฝงไว้ในเรื่องบางโก้งโค้ง คือ เรื่องของอำนาจและเสียดสีระบบชนชั้นในสังคม ตัวอย่างเช่น

 “มันเริ่มกันมาตั้งแต่สมัยไอ้สากกะเบือตัวไหนวะ ไหนมึงบอกกูหน่อยซิ ที่คนแก่คนเฒ่าอย่างมึงอย่างกูต้องยกมือไหว้ไอ้เด็กเมื่อวานซืนพวกนี้...แล้วทำไมเวลามันเข้าไปหาเถ้าแก่ในนั้น มันถึงต้องยกมือไหว้อย่างกะขอทาน ทั้ง ๆ ที่เก้าแก่อายุน้อยกว่ามึงกะกูเสียอีก ความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของมันหายไปไหน ห๊ะ”(หน้า ๑๐๙)

“คนเกลียดกลัวมันเพราะมันชอบข่มขู่รีดไถ แม่ค้าในตลาดต่างรู้ซึ้งแก่ใจเพราะเคยถูกมันจับไปปรับบนโรงพักมาแล้วแทบถ้วนทั่ว ด้วยข้อหาสารพัดตามแต่มันจะหามายัดให้”(หน้า ๑๑๐)

“พรานเฒ่ายกมือไหว้ทุกคนด้วยความนอบน้อม ทุกคนยกเว้นหมวดผินรับไหว้ด้วยมือข้างเดียวตามประสาคนเป็นนาย ส่วนหมวดผินแค่พยักหน้าแกนๆ...นายอำเภอตอบ ไม่มีคำขอบคุณสักคำ...นายอำเภอบอกแกมสั่ง ท่าที่วางอำนาจ”(หน้า ๑๑๘–๑๑๙)

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ถึงการแบ่งแยกชนชั้นจากอำนาจที่ถือครอง มีชาวบ้านธรรมดา คนสามัญเป็นชนชั้นล่างสุด จึงต้องเคารพ ยกย่อง ทำตามคำสั่ง ไม่กล้ามีปากเสียงหรือโต้แย้งกับข้าราชการผู้มีอำนาจมากกว่า เพราะอาจจะทำให้ตนเองเดือดร้อนได้ แต่ข้าราชการเองก็ต้องนอบน้อมต่อนายทุน ผู้มีเงิน มีอำนาจมากกว่าเช่นกัน หรือแม้กระทั่งมนุษย์ต้องยอมสยบต่ออำนาจของธรรมชาติที่เกรี้ยวกราดพร้อมพรากชีวิตทุกคน มีการภาวนา วิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองชีวิตตน เช่นที่เฒ่าเหินและคณะล่าสัตว์ต้องทำการโก้งโค้งให้กับป่า เพราะในขณะนั้นธรรมชาติมีอำนาจตัดสินชีวิตของพวกเขา ดังนั้นผู้ด้อยกว่าจึงไม่อาจต้านทานหรือต่อต้านผู้มีอำนาจมากกว่าได้

เมื่อไม่กล้าขัดความต้องการของผู้มีอำนาจ การบุกรุกป่า ล่าสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมค่านิยมวัดความแข็งแกร่ง วัดความเป็นชายมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันค่านิยมนี้ก็ยังคงอยู่ จึงไม่มีใครกล้าขัดขวาง เช่น คดีฆ่าเสือดำของนายเปรมชัย กรรณสูต ที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเนื่องจากบุรุกเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พกอาวุธปืนและเครื่องกระสุน พบซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง ซึ่งการล่าสัตว์ของชนชั้นผู้มีอำนาจจะต่างจากการล่าสัตว์ของชาวบ้าน เนื่องจากผู้มีอำนาจล่าเพื่อความสนุกสนาน แต่สำหรับชาวบ้านล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เพื่อความอยู่รอด

นอกจากเรื่องอำนาจ ยังมีแก่นเรื่องรองที่เป็นหลักธรรม ความเชื่อสอดแทรกในเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่จิ้งจกตกลงมาตายเป็นลางบอกเหตุร้าย หลักธรรมเรื่องกรรมตามสนอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวดา รวมทั้งความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน ซึ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์และหลักธรรมมาจากศาสนาพุทธ

ในส่วนของตัวละครผู้เขียนได้เขียนตัวละครหลัก ๔ ตัว คือ เฒ่าเหิน พร้อย นายอำเภอลูกโดด โผงเดียว และหมวดผิน ฟันทอง เป็นตัวละครหลายลักษณะ คือผู้อ่านสามารถทราบพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจของตัวละคร ที่มีความซับซ้อน แปรเปลี่ยนไปจากเดิมได้ และเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของลักษณะนิสัยต่าง ๆ ของคนในสังคม เฒ่าเหินเป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่อง แต่แรกที่ประกอบอาชีพนายพรานก็เพื่อยังชีพเท่านั้น ตัวละครเฒ่าเหินเป็นตัวแทนของคนที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้มีอำนาจ แต่เมื่อคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก็เริ่มเกิดการต่อต้านอำนาจนั้น พร้อย เป็นภรรยาที่รักสามีมากจึงยอมโอนอ่อนให้กับผู้มีอำนาจ แต่ภายในใจของพร้อยต่อต้านอยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่แรก ว่าทำไมเราต้องยอมสยบต่อผู้มีอำนาจมากกว่าแต่กระทำไม่ถูกต้อง นายอำเภอลูกโดด โผงเดียวเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจที่หลงระเริงในอำนาจของตน เอาแต่ใจตนเองไม่สนใจคนอื่น หมวดผิน ฟันทอง เป็นตัวแทนของคนชอบวางอำนาจข่มเหงผู้ที่ด้อยกว่า แต่ต้องนอบน้อมให้กับผู้ที่มีอำนาจมากกว่าอย่างนายอำเภอลูกโดด โผงเดียว นอกจากตัวละครหลักยังมีตัวละครประกอบอีก ๓ ตัว คือ ผู้พัน ผู้กอง และนายตำรวจแขวนปลัดขิก ซึ่งตัวละครทั้งสามเป็นตัวละครน้อยลักษณะ คือแสดงลักษณะนิสัยให้เห็นเพียงด้านเดียว มีความคึกคะนอง เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นเพื่อความสนุกสนาน ในวันนั้นทั้งสามคนได้ฆ่าสัตว์ระหว่างการเดินทาง จึงทำให้กรรมตามสนองต้องพบกับความตายในวันเดียวกัน

ผู้เขียนใช้ฉากและบรรยากาศในยุคสมัยของนายกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการประกาศห้ามตั้งพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ห้ามชุมนุมการเมืองเกินห้าคน พร้อมกวาดล้างผู้ที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง ยกเลิกระบอบรัฐสภาและยุติการเลือกตั้ง ปกครองในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งในตอนเปิดเรื่องผู้เขียนได้มีการกล่าวถึง        นายครอง  จันดาวงศ์ เป็นอดีตเสรีไทยสายอีสาน มีบทบาทการต่อสู้ทางการเมืองเคยถูกจับข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและกบฏสันติภาพ จัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” ต่อต้านเผด็จการ สอนประชาชนให้รู้จักความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และอธิบายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง ท้ายที่สุดนายครองถูกล้อมจับในและถูกสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดี ซึ่งนายครองก็เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวภาคใต้ต่อต้านอำนาจรัฐบาล แต่ก็ถูกกวาดล้างเช่นเดียวกัน ในยุคของนายก   จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงถูกเรียกขานเป็น “ยุคปืนปิดปาก”

นอกจากยุคสมัยแล้วผู้เขียนได้มีการใช้สถานที่จริงมาเป็นฉากของเรื่อง คือ บางโก้งโค้ง ในอำเภอเบี้ยซัด ปัจจุบัน คือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช คำว่า บาง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ คือ ทางน้ำเล็ก ๆ ทางน้ำเล็กที่ไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล ตำบลบ้านที่อยู่ หรือเคยอยู่ริมบาง หรือในบริเวณที่เคยเป็นบางมาก่อน การใช้คำว่า “บาง”  เป็นชื่อต้นของชุมชน จึงมักหมายถึงแหล่งที่มีทางน้ำ หรือมีท่าเรือซึ่งมีเรือจอดอยู่เสมอ ขณะเดียวกันหากพื้นที่นั้นมีสิ่งใดที่โดดเด่นแล้ว ชาวบ้านมักนำชื่อของสิ่งนั้นมาตั้งเป็นชุมชนต่อท้ายคำว่า บาง ของตนเอง เช่น บางกะปิ บางรัก คำว่า “โก้งโค้ง”จากในเรื่อง มีที่มาจากการต้องโก้งโค้งให้กับป่า เจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อทำการเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นที่มาของชื่อ บางโก้งโค้ง เนื่องจากเป็นป่าโกงกางที่อยู่ติดกับทะเล มีทางน้ำ ส่วนบรรยากาศของเรื่องผู้อ่านจะสามารถรับรู้ได้ถึงความวังเวงของป่า ที่มีสิ่งลี้ลับจับตาดูอยู่รอบตัว ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดออกมาได้เหมือนจริง ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร

กำพล นิรวรรณเคยเข้าป่าไปในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ในเขตเทือกเขาบรรทัด จังหวัดสตูล จึงได้นำประสบการณ์ในป่าครั้งนั้นมาถ่ายทอดในเรื่องและเป็นส่วนประกอบของเรื่องสั้นอยู่มาก ทั้งเนื้อเรื่อง โครงเรื่อง แก่นเรื่อง ฉากและบรรยากาศ ในส่วนของตัวละครก็จำลองความคิดและการกระทำมาจากคนในสังคม เรื่องการแบ่งแยกชนชั้น การต่อต้านอำนาจที่ผู้เขียนได้ประสบโดยตรงในอดีต จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการต่อต้านอยู่ ซึ่งในอดีตต้องพ่ายแพ้จนหนีเอาชีวิตรอดเข้าไปในป่า ส่วนปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทุกคนก็ยังหวังว่าอำนาจและชนชั้นจะหายไป ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสักวัน

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณ. (2562).  อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผจญภัย

ไทยรัฐออนไลน์. (2562).  "ปืนปิดปาก ประหารชีวิต" ปราบคอมมิวนิสต์ยุค "สฤษดิ์ ธนะรัชต์" ที่สุดของ

เผด็จการ.  สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/

ไทยรัฐออนไลน์. (2562).  กระสุนสาด ตายคาหลักประหาร “ครูครอง จันดาวงศ์” ตั้งสมาคมลับ ท้าอำนาจ

รัฐ.  สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1554833

RU library's Webmaster.  (2556).  ความหมายของคำว่า “บาง”.  สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2564 จาก

https://www.lib.ru.ac.th/miscell2/?p=1732

ไม่ปรากฏ.  (2562).  สรุปไทม์ไลน์ 'คดีเสือดำ' ก่อนศาลพิพากษา.  สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2564 จาก

          https://www.tnnthailand.com/content/4696


หมายเลขบันทึก: 689114เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท