ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ


แรงงานต่างชาติในต่างแดนที่มีความต่างทางภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี หากไม่มีความรู้ความเข้าใจก็ใช้ชีวิตอย่างลำบาก และในสังคมปัจจุบันไม่ใช่แค่แรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงานต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อปฏิบัติของประเทศนั้น ๆ

ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ :  ฤๅษีผู้แปลงสาร


“ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ”เป็นเรื่องสั้นจากหนังสือรวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” ของกำพล นิรวรรณ นักเขียนรางวัลยอดเยี่ยม กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งได้มีการบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรื่องราวในสังคมยุคสมัยที่ได้สัมผัส ถ่ายทอดมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทางสังคม นำเสนอเรื่องเล่า ความเชื่อ ฉากและตัวละครที่กลั่นออกมาจากชีวิตจริงของผู้เขียนที่ได้พบเห็นในชีวิต ทำให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบของเรื่องราวในสังคมที่แฝงอยู่ในเรื่อง

  เรื่องสั้น ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ เป็นเรื่องราวของแรงงานไทยในประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่อยู่ต่างประเทศโดยไม่รู้ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างแดน แต่ทำความผิดขับรถเหยียบคนซาอุดิอาระเบียเสียชีวิต ทำให้ต้องเชิญล่ามมาแปลภาษาในการพิจารณาคดีในศาล แต่ล่ามนั้นเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ใช่ล่ามมืออาชีพที่ต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณ จึงแปลงสารใหม่ ทำให้ญาติของผู้ตายเห็นใจจำเลย ชายแรงงานไทยทั้งสามคนจึงพ้นโทษ รักษาชีวิตไว้ได้

          ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงที่มาของอุบัติเหตุที่แรงงานชาวไทยต้มเหล้าดื่มจนเมาแล้วขับรถสิบล้อเหยียบหนุ่มซาอุฯ สามคนที่นอนอาบแสงจันทร์หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันในทะเลทรายเสียชีวิตจนต้องขึ้นศาล หลังจากนั้นผู้เขียนก็ได้มีการวางปมความขัดแย้งของญาติผู้ตายซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์และสามหนุ่มแรงงานไทยเป็นฝ่ายจำเลย แต่เป็นปมความขัดแย้งที่ไม่ชัดเจนนัก และผู้เขียนยังได้สอดแทรกเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบียและไทยในคดีแรงงานไทยขโมยเพชรซาอุฯ ซึ่งทำให้สามแรงงานไทยถูกจับจ้องมากขึ้น แต่เนื่องจากทั้งสามคนไม่สามารถสื่อสารภาษาอาหรับได้ จึงได้ให้ ลุงเงิน พ่อครัวแรงงานไทยผู้รอบรู้จากการอ่านมาเป็นล่ามแปลภาษาให้ ผู้เขียนหน่วงเรื่องด้วยให้ล่ามปฏิญาณตนต่อพระอัลเลาะห์ว่าจะแปลตามจริงทุกประการ จนถึงจุดสุดยอดคือลุงเงินแปลคำสารภาพของจำเลยว่าเป็นเพราะคิดถึงบ้านจึงต้มเหล้าเถื่อนดื่มจนเมา และมีการเสียดสีตำรวจไทยว่าต่อให้ถูกจับก็แค่จ่ายเงิน พอเมาจึงนึกสนุกออกไปขับรถเล่น ไม่ทราบว่าจะมีคนมานอนอาบแสงจันทร์ แต่ลุงเงินแปลงสารเป็น สามหนุ่มซาอุฯ ได้กลับสู่อ้อมกอดพระเจ้าแล้ว แต่สามหนุ่มแรงงานไทยกลับต้องตกนรก ลูกที่รออยู่ทางบ้านจะต้องอดตาย ญาติผู้ตายที่เป็นผู้หญิงจึงเกิดความสงสาร และเนื่องจากกฎหมายของซาอุดิอาระเบียเป็นกฎหมายชารีอะห์ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ญาติผู้ตายจึงมีอำนาจตัดสินพิจารณาคดีด้วย เมื่อลุงเงินพูดจนญาติเกิดความสะเทือนใจไปด้วย จึงได้คลายปมด้วยการอโหสิกรรม ไม่เอาผิดสามหนุ่มแรงงานไทย เนื่องจากสงสารลูกของจำเลยที่รออยู่ที่ประเทศไทย และปิดเรื่องด้วยการที่ผู้พิพากษาตัดสินให้จำเลยพ้นผิด เนื่องจากเป็นเรื่องสั้น โครงเรื่องจึงไม่ซับซ้อน ผู้อ่านสามารถอ่านได้ง่าย สามารถเดาทิศทางของเรื่องต่อไปได้

          แนวคิดที่ผู้เขียนถ่ายทอดคือการสะท้อนเสียดสีปัญหาสังคม ตั้งแต่เริ่มเรื่องคือปัญหาทางศาสนา ชาวซาอุดิอาระเบียนับถือศาสนาอิสลามแต่สามหนุ่มซาอุฯ ผู้เสียชีวิตมีรสนิยมเป็นชายรักชาย จึงแอบออกไปมีเพศสัมพันธ์กันกลางทะเลทรายโดยอ้างว่างอาบแสงจันทร์ ตามที่ผู้เขียนได้บรรยายไว้ว่า “สามหนุ่มซาอุฯ ขวนกันออกไปเสพเสรีภาพสีม่วงอันดื่มด่ำกลางทะเลทรายจนหมดแรง”(หน้า ๒๒๙) ส่วนสามหนุ่มแรงงานไทยก็ทำผิดศีลของศาสนาพุทธ ปัญหาต่อมาคือแรงงานต่างชาติในต่างแดนที่มีความต่างทางภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี หากไม่มีความรู้ความเข้าใจก็ใช้ชีวิตอย่างลำบาก และในสังคมปัจจุบันไม่ใช่แค่แรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงานต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อปฏิบัติของประเทศนั้น ๆ และเนื่องจากปัญหาแรงงานนี้เองที่สะท้อนปัญหาค่าครองชีพของไทย หากได้รับค่าตอบแทนดี ก็ไม่มีใครอยากไปทำงานต่างแดน ไกลบ้าน และเสียดสีด้านกฎหมาย ทั้งของไทยและซาอุดิอาระเบียที่ตำรวจรีดไถประชาชนที่ทำผิดกฎหมายเล็กน้อย ซึ่งในประเทศไทยเองก็สามารถเห็นได้บ่อยครั้ง เช่น ตำรวจตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ แต่ให้จ่ายน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง หรือการจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยที่ชาวไทยเห็นอยู่บ่อย ๆ ปัญหาสุดท้ายคือ ปัญหาด้านจรรยาบรรณวิชาชีพ ในเรื่องคือจรรยาบรรณของล่ามแปลภาษา แต่เนื่องจากลุงเงินไม่ใช่ล่ามมืออาชีพ อาศัยความรู้จากการอ่าน และมีจิตสงสารสามหนุ่มแรงงานไทย จึงเป็นฤๅษีช่วยแปลงสารให้ ส่วนในอาชีพอื่นๆ ปัญหานี้ก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่างจากปัญหาด้านกฎหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเห็นได้ว่าตำรวจเป็นผู้ทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นต้น ผู้เขียนวางเนื้อเรื่อง โครงเรื่อง และเหตุการณ์เป็นฉากในประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่แนวคิดกลับสะท้อนปัญหาทางสังคมของไทยออกมาได้อย่างชัดเจน และเป็นปัญหาในสังคมมาอย่างยาวนาน

          ในส่วนของตัวละคร ผู้เขียนใช้ตัวละครหลัก คือ ลุงเงิน ผู้พิพากษา และนายสำราญ   ทุ่งกาหลงหนึ่งในจำเลยเป็นผู้ให้การชี้แจง ซึ่งเป็นตัวละครหลายลักษณะ มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ปกติ มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ให้ผู้อ่านได้เห็น ลุงเงินผู้เป็นล่ามทำผิดคำปฏิญาณตนต่อพระอัลเลาะห์ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะลุงเงินเป็นชาวไทย นับถือศาสนาพุทธ จึงผิดคำปฏิญาณ และมีความสงสารสามหนุ่มแรงงานไทย อีกทั้งยังสนใจในรูปร่างของนายสำราญ จึงช่วยแปลงสารให้จนถูกตัดสินพ้นผิด จึงสามารถคาดเดาได้ว่า ลุงเงินก็เป็นชายรักชาย นายสำราญ ทุ่งกาหลง ในตอนแรกก็มีความเหงาคิดถึงบ้าน มีความคึกคะนอง ดื่มเหล้าเมาก็ออกไปขับรถเล่น แต่เมื่อทราบว่าทำให้สามหนุ่มซาอุฯ เสียชีวิตก็มีความหวาดกลัว เช่นอารมณ์มนุษย์ทั่วไป ส่วนผู้พิพากษาก็มักจับผิดคำแปลของลุงเงิน เนื่องจากคดีเพชรซาอุฯ จึงจดจ้องสามหนุ่มแรงงานไทยมากกว่าปกติ ตัวละครรอง ได้แก่ หนุ่มแรงงานไทยทั้งสอง และญาติผู้ตาย แรงงานไทยทั้งสองร่มทำผิดอย่างคึกคะนองกับนายสำราญ และมีความกลัวหลังทำผิด จึงเป็นตัวละครหลายลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ญาติผู้ตาย ผู้เขียนบรรยายให้เห็นเพียงด้านดีเท่านั้น ทั้งในตอนที่สะเทือนใจ สงสารลูกของจำเลยตามคำกล่าวของลุงเงิน และตอนอโหสิกรรมไม่เอาผิดกับจำเลย จึงเป็นตัวละครน้อยลักษณะ และตัวประกอบ คือ สามหนุ่มซาอุฯ ที่กล่าวถึงสั้น ๆ ให้เห็นเพียงด้ายเสีย คือ การชวนกันไปมีเพศสัมพันธ์กลางทะเลทราย ซึ่งผิดหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

          ผู้เขียนใช้ฉากและบรรยากาศของเมืองดาห์รานในการดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นศูนย์กลาง    การบริหารที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอาหรับ หรือตะวันออกกลาง มีความมั่งคั่งจากการเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซาอุฯ จึงเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง มีความต้องการด้านแรงงานมาก อีกทั้งค่าตอบแทนก็ยังสูงกว่าประเทศไทย จึงมีคนไทยจำนวนมากที่เดินทางออกนอกประเทศไปเป็นแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๓๒ เกิดเหตุการณ์คดีเพชรซาอุฯ  ที่นายเกรียงไกร  เตชะโม่ง ขโมยเพชรจากพระราชวังของพระเจ้าไฟซาล จนเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น ประเทศซาอุฯ จึงยกเลิกวีซ่าแรงงานจากประเทศไทย แรงงานไทยในซาอุดิอาระเบียจึงลดลงอย่างมาก และชาวซาอุฯ ก็เกิดอคติต่อชาวไทย ทำให้ชาวไทยในประเทศซาอุดิอาระเบียใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น บรรยากาศในเรื่องเป็นความตึงเครียดในการสอบสวน ชี้แจงคดี เนื่องจากจำเลยทำความผิดจริงจึงเกรงกลัวว่าจะต้องตายเนื่องจากกฎหมายที่เคร่งครัด และยังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศทำให้ถูกจับจ้องจากอคติมากยิ่งขึ้น ผู้อ่านจึงรู้สึกได้ถึงความอึดอัดใจ แต่ก็ไม่มากนัก

          นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีการใช้ภาษา โวหารภาพพจน์และสำนวนได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อให้สามารถรับอรรถรสในการอ่านได้อย่างดี แต่บางประโยคต้องอาศัยการตีความ เช่น “สามหนุ่ม    ซาอุฯ ขวนกันออกไปเสพเสรีภาพสีม่วงอันดื่มด่ำกลางทะเลทรายจนหมดแรง” (หน้า ๒๒๙) คำว่าเสพเสรีภาพสีม่วง อ่านในครั้งแรกอาจจะไม่เข้าใจ เพราะสีม่วงมาสารถตีความได้หลายความหมาย ทั้งแทนความลึกลับ ในทางศาสนา หมายถึงความยิ่งใหญ่และมีอำนาจ และในการรับรู้โดยทั่วไปของสังคม สีม่วงเป็นสีของเกย์หรือเพศที่ ๓ จึงต้องตีความจากบริบท เมื่อเจอคำว่าดื่มด่ำและหมดแรง จึงสามารถทราบได้ว่าทั้งสามคนชวนกันออกมามีเพศสัมพันธ์กันกลางทะเลทราย คำว่า “ตีนผี”(หน้า ๒๓๐) ก็เป็นการใช้โวหารภาพพจน์ การใช้สำนวน เช่น “ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก”(หน้า ๒๓๔)“ลูกไก่ในกำมือ”(หน้า ๒๔๑) ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพยิ่งขึ้นและยังเป็นการแสดงภูมิรู้ ความสามารถทางภาษาของผู้เขียนได้อย่างดี

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของเรื่องสั้น “ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ” ของกำพล นิรวรรณ ผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน มีการขัดเกลามาเป็นอย่างดี ทั้งการวางโครงเรื่องที่มีความสมจริง แนวคิดสอดคล้องกับสภาพสังคม ตัวละครจำลองจากคนในสังคม ฉากและบรรยากาศเหมาะสม และการใช้ภาษาความหมายแฝง ใช้คำเปรียบความหมายที่แสดงภูมิรู้ของผู้เขียน แสดงความสามารถและถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้เขียนได้อย่างลงตัว มีการดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา เล่าโดยผ่านมุมมองของผู้เขียน จึงสามารถเล่าได้แบบผู้รู้แจ้ง ทราบความคิดของตัวละครได้ ดังนั้นเรื่อง ล่ามผู้ไร้จรรยาบรรณ จึงเป็นเรื่องสั้นแบบสัจนิยม หรือ อัตถนิยม (Realism)

รายการอ้างอิง

กำพล นิรวรรณ. (2562).  อาถรรพ์ภาพวาดเสือ

ดำ และเรื่องราวอื่น ๆ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผจญภัย

หมายเลขบันทึก: 689115เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท