Book Review : ขนำน้อยกลางทุ่งนา


ขนำน้อยครึกครื้นยิ่งนัก... คนบ้านอื่นทราบข่าวเพียงว่า เป็นขนำ ของเด็กสามคนกับคนหนุ่มอีกคน กลางคืนมีหัวมัน ข้าว...หุงหรือต้ม ให้กิน พวกเขาได้มาเยี่ยมเยียน นั่งพูดคุยพร้อมนำข้าวของมาฝาก บางครั้งมีกล้วย ข้าวสาร มะพร้าว ไม้ฟืน บางคนเอา หมอนกับผ้าห่มมาฝากไว้ เด็กๆ เริ่มสนุก พวกเขาต้อนรับ คนมาเยือนอย่างรักใคร่ พูดจาทักทายอย่างยิ้มแย้ม

“ขนำน้อยกลางทุ่งนา” วรรณกรรมเยาวชนที่ช่วยนำผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปสู่วัยเด็กอันอบอุ่นอีกครั้ง โดยนักเขียนฝีมือดีอย่าง “จำลอง ฝั่งชลจิตร” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี ๒๕๒๔ และรางวัลหนังสือดีเด่นสำหรับเยาวชน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๒๔ แม้ในตอนแรกเริ่มจุดมุ่งหมายของผู้เขียนเพียงต้องการถ่ายทอดความรู้สึกผูกพันต่อท้องทุ่งนาบ้านเกิดที่เคยลุยล่องหาปลา ตามประสาเด็กท้องนาทั่วไป แต่ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนที่มีความสมจริง โดยเฉพาะการบรรยายฉากและบรรยากาศในเรื่อง ให้เต็มไปด้วยกลิ่นอายและวิถีชีวิตแห่งชนบท ทำให้ ‘ขนำน้อยกลางทุ่งนา’ กลายเป็นนวนิยายที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านอย่างล้นหลาม การันตีได้จากรางวัลดังกล่าวข้างต้น

วรรณกรรมประเภท นวนิยาย เรื่องนี้ผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครเด็ก 3 คน คือ เด่น ชอบ บ่าวและพี่ยุทธ ชายหนุ่มอีกคน เด่นเป็นเด็กที่ไม่เห็นความสำคัญในการศึกษา เขาถูกพ่อและแม่บังคับให้ไปโรงเรียน แต่ด้วยความดื้อรั้นในตัวเด่น ท้ายที่สุดพ่อแม่จำใจให้เด่นหยุดเรียน ชอบเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน บ้านมีฐานะ มักช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระงานของแม่อยู่เสมอ บ่าวเป็นเด็กมีความมุ่งมั่นอยากจะเรียนหนังสือ แต่ด้วยฐานะทางบ้านยากจนมาก แม่จึงให้เขาไปเป็นเด็กวัดติดตามหลวงพี่ยุทธ พอให้ได้ข้าวก้นบาตรมาเลี้ยงประทังปากท้องคนในครอบครัวเด็กทั้งสามคนค่อยๆเรียนรู้โลกและเติบโตขึ้นโดยมีพี่ยุทธคอยให้คำแนะนำ ซึ่งผู้เขียนใช้ฉากสำคัญของเรื่องคือ ขนำน้อยกลางทุ่งนาหลังหนึ่ง” เป็นสถานที่บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่อง


แม้ว่าเด่น ชอบ บ่าวและพี่ยุทธจะมีทรรศนะและลักษณะนิสัยต่างกัน แต่ทั้งสามคนก็เป็นเพื่อนกันได้ถึงพี่ยุทธจะมีอายุมากกว่าเด็กทั้งสาม แต่ก็พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเป็นและยังคอยชี้นำแนวทางในการใช้ชีวิตให้พวกเขาประพฤติ ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดใจ ยอมรับในความต่างของกันและกัน ย่อมสร้างมิตรภาพที่ดีขึ้นได้ ความแตกต่างไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกเพียงอย่างเดียวหากคนในสังคมเรียนรู้ที่จะยอมรับความต่างของผู้อื่น 
ก็สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังมิตรภาพของ
เด่น ชอบ บ่าวและพี่ยุทธ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสอดแทรกแนวคิดเรื่อง ความสำคัญของการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ปัจจุบันสภาพการศึกษาในประเทศไทยเราอาจเห็นเด็กบางคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะ บางครอบครัวไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ซ้ำเด็กบางคนยังต้องทำงาน หาเลี้ยงครอบครัวก่อนถึงวัยอันควร ทำให้เด็กไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ทว่า ตัวละครเด็กอย่างบ่าวและเด่นในเรื่อง ขนำน้อยกลางทุ่งนา ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่า บ่าวจะมีฐานะยากจน เด่นที่ไม่อยากเรียนหนังสือ แต่ผู้เขียนก็สร้างเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ที่ทำให้บ่าวและเด่นได้เห็นความสำคัญของการศึกษา จนในที่สุดพวกเขาก็ได้ศึกษาต่อตามความตั้งใจ ทั้งนี้การที่ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดผ่านตัวละครหลักทั้งสามของเรื่องซึ่งอยู่ในวัยเด็ก ทำให้ได้เห็นมุมมองและทรรศนะของเด็กในด้านต่างๆ และได้หวนถึงภาพทรงจำในมิตรภาพวัยเด็กอีกครั้ง             

“แลน้องให้ดี แม่ไปหาไม้ขีด” (หน้า ๑๔๘) ประโยคข้างต้นเป็นตัวอย่างสำนวนภาษาที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา จะเห็นว่ามีภาษาถิ่นใต้แทรกอยู่บ้างตามแต่ละบริบทของการสนทนา ทั้งนี้อาจเพราะ ภูมิหลังของผู้เขียน เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงทำให้บทสนทนา ฉากและบรรยากาศในเรื่องแสดงภาพของวิถีชีวิตคนใต้ได้อย่างเด่นชัด นับเป็นสำนวนภาษาและกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น สร้างความประทับใจต่อสายตาผู้อ่านทุกท่าน

หากจะกล่าวว่า “ขนำน้อยกลางทุ่งนา” เป็นหนังสือที่อ่านแล้วสามารถเติมเต็มความสุขทางใจและสร้างรอยยิ้มเล็กๆบนใบหน้าแก่ผู้อ่านทุกท่าน    ก็คงจะไม่เกินเลยนัก เพราะยิ่งอ่านก็ยิ่งทำให้นึกถึงภาพเมื่อครั้งเป็นเด็ก ‘สองเท้าน้อยๆย่ำไปบนคันดินท่ามกลางท้องนาเขียวขจี ดื่มด่ำไปกับวิถีชีวิตชนบทและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์’ แม้ในชีวิตจริงเราไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ แต่หนังสือเล่มนี้จะนำทุกท่านกลับไปสู่วัยเด็กอันอบอุ่นอีกครั้ง

หมายเลขบันทึก: 689032เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท