วิถีแห่งสายน้ำ : จระเข้


"พราะบางทีกระแสน้ำซึ่งอันตรายแฝงตัวอยู่  อาจเป็นสิ่งคุ้นเคยที่เราไม่ยอมรับรู้

หรืออาจมองข้าม  และมันไหลอย่างเงียบเชียบอยู่ตรงนั้นเนิ่นนานมาแล้ว"      

(จระเข้, 2562, 16)

                หนึ่งในวิถีแห่งสายน้ำอาจเป็นทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ ที่ถูกฝังลึกแน่นภายในจิตใจจนกลายเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึก” แม้น้ำลึกตื้นเพียงใดก็มีเครื่องมือมาตรวัดที่แน่นอน แต่จิตใจมนุษย์ยากจะหาสิ่งใดมาวัดได้ น้ำใสสะอาดกว่าน้ำขุ่น  น้ำลึกอันตรายกว่าน้ำตื้น และน้ำนิ่งอันตรายยิ่งกว่าน้ำเชี่ยว หรืออาจตรงข้ามกันทั้งหมดก็เป็นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือจิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งที่ลึกที่สุด                                                                                                                                                                                                         “จระเข้” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นของหนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่อง “ในโลกเล่า” เป็นผลงานของวัฒน์ ยวงแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก Short List รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2563 ภายในหนังสือนั้นประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ส่วนแรกคือ“โลกเรื่องเล่า” และส่วนที่สองคือ “เล่าเรื่องโลก” เป็นหนังสือที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์เกือบทั้งเรื่องเพื่อสะท้อนความเป็นคนผ่านสายตาหลากหลายมุมมอง                                                                                                                                                                            เป็นเรื่องราวของหมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่งที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจระเข้หรือ“ไอ้ขอน”ต่าง ๆ นานา สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในหมู่บ้าน รวมถึงเด็ก ๆ เหล่านี้ที่กำลังกระโจนลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นมี “ผม” และ “ชิด” แต่แล้ววันหนึ่ง เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อไอ้ขอนโผล่มาจริง ๆ ทำให้ “ผม” เกือบไม่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น และนั่นทำให้ผมกับชิดสนิทกันมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ผม เข้าไปเรียนต่อในตัวจังหวัด ด้วยเวลาที่ทั้งสองห่างไกลกันและความแตกต่าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผมกับชิดขึ้น และเมื่อความเจริญได้เข้ามาถึงในหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว แม่น้ำที่เคยมีไอ้ขอนอยู่ กลายเป็นถนนลาดยาง ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แม้กระทั่ง “ชิด” จากเด็กขี้ขลาดในวันนั้น กลายเป็น “ชิด” พ่อค้ายารายใหญ่ในวันนี้                                                                                                                                           โครงเรื่องผู้เขียนมีกลวิธีในการนำเสนอได้อย่างสมเหตุสมผล และมีความเป็นเอกภาพ กล่าวคือ มีแนวคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ชัดเจน ซึ่งในเรื่องนี้มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้สัญลักษณ์ที่ลุ่มลึก ต้องอาศัยประสบการณ์การอ่านของผู้อ่านจึงจะสามารถเข้าถึงในเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้                                                                                                                                         การเปิดเรื่อง ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการพรรณนาถึงฉาก คือ หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำแห่งนี้ และเชื่อมโยงถึงชื่อเรื่อง โดยการกล่าวถึงเรื่องเล่าจระเข้ หรือ ไอ้ขอน ซึ่งเป็นการเปิดเรื่องที่น่าสนใจและดึงดูดให้ผู้อ่านอยากติดตามในตอนต่อไป การผูกปมของเรื่องนั้น ผู้เขียนได้สร้างปมขัดแย้งไว้ในเรื่อง เพื่อทำให้เนื้อเรื่องมีความเข้มข้น ซึ่งความขัดแย้งที่ปรากฏในเรื่อง คือ ความขัดแย้งภายในใจมนุษย์ เป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวละคร “ชิด”  ทำให้ตัวละครเกิดความสับสนในจิตใจตนเอง จนนำไปสู่การเลือกทำในสิ่งที่ผิด กล่าวคือ เนื่องจากผมกับชิดมีความแตกต่างกัน อาจด้วยสังคมหรือฐานะทางครอบครัว จึงทำให้ชิดเริ่มเปรียบเทียบกับผม แล้วเริ่มเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในตนเอง “ชิดเริ่มไม่เป็นกันเองกับผมเท่าที่เคย เขาเกรงเกร็งเงียบขรึมขึ้น และดูเหมือนไม่ค่อยยินดีที่พบกัน” (จระเข้, 2562, 16)                          เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นว่า ผู้เขียนมีความละเมียดละไมในการสร้างความขัดแย้งได้อย่างลงตัว อาจเป็นเพราะเรื่อง“จระเข้” นั้นเต็มไปด้วยสัญญะ โดยเนื้อเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ ทำให้ผู้เขียนสร้างปมความขัดแย้งอย่างเหมาะสมงดงาม กล่าวคือ เสนอภาพความขัดแย้งภายในจิตใจของมนุษย์ เพื่อกะเทาะเปลือกหนา ๆ ของมนุษย์ ให้เห็นถึงกมลสันดานและความเป็นคน เป็นความขัดแย้งที่เสริมให้เรื่องราวดูสมจริงอย่างลงตัว                                                                                                                                                             การหน่วงเรื่องเมื่อดำเนินเรื่องไปอย่างเข้มข้น ผู้เขียนยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เรื่องราวนั้นน่าสนใจ ชวนให้ผู้อ่านอยากรู้เรื่องราวไปตลอดทั้งเรื่อง ผู้เขียนจึงนำเสนอเหตุการณ์ ช่วงเวลาที่ผมกับชิดต้องแยกจากกัน ตัวละคร “ผม” ไปเรียนต่อในตัวจังหวัดตามพ่อแม่ที่เป็นครู ในขณะที่ตัวละคร “ชิด” ไม่ได้เรียนต่อ เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสียและต้องออกมาช่วยทำงาน จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผมกับชิด ดังตัวอย่าง “ประหนึ่งมีกำแพงขวางระหว่างความสัมพันธ์ ผมได้เรียนหนังสือ มีอนาคตยาวไกล แต่ชิดยังคงจมอยู่กับอาชีพปลูกผักหาปลาเช่นเดิม ความแตกต่างทำให้เกิดระยะห่างระหว่างเรา” (จระเข้, 2562, 16)ซึ่งเหตุการณ์ที่ผู้เขียนนำมาร้อยเรียงในเรื่องนั้น มีความสมจริง สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สามารถเห็นได้ชัดระหว่างตัวละคร “ผม” กับ ตัวละคร “ชิด”และความเหลื่อมล้ำทางสังคมนี้เอง เป็นสิ่งที่กำหนดคุณค่าของคน จนนำไปสู่การเลือกตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดของตัวละคร “ชิด”                                                                       เมื่อตัวละครผมกับชิดกลับมาเจอกันอีกครั้งในวันที่ต่างคนต่างเติบโต ทั้งคู่หวนนึกถึงอดีตครั้งวัยเด็ก แต่ทุกสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนไปตามเวลา ทั้งสภาพสังคมในหมู่บ้าน ผู้คน หรือแม้กระทั่งชิดเองที่เปลี่ยนแปลงไป  สร้างความตกตะลึงใจให้ทั้งตัวละคร “ผม” และผู้อ่าน ดังตัวอย่าง “ถึงหมู่บ้าน แทบไม่มีร่องรอยความเป็นชนบทห่างไกลให้เห็น ชิดจึงเลี้ยวรถเข้าในรั้วกำแพงสูง บ้านหรูราวคฤหาสน์ เด่นสง่าอยู่ในสวนที่ตกแต่ง    งดงาม” (จระเข้, 2562, 22) เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเข้มข้น ผู้เขียนจึงสร้างเหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องราวเข้มข้นถึงขีดสุด นั่นคือจุดสุดยอดของเรื่อง คือการหักมุมให้ตัวละคร “ชิด” ตาย ซึ่งเป็นการหักมุมที่เหนือความคาดหมายของผู้อ่าน นั่นอาจเป็นกลวิธีในการสร้างสรรค์งานเขียนของผู้เขียนก็เป็นได้ เพราะการหักมุมเช่นนี้ ชวนให้ผู้อ่านร่วมกันขบคิดว่าเหตุใดตัวละครเอกในเรื่องจึงตาย ทั้งยังเป็นเหมือนกับดับให้ผู้อ่านติดกับไปกับตัวหนังสือที่ผู้เขียนกำลังจะถ่ายทอดต่อไป และผู้เขียนได้คลายปมของเรื่อง คือ หลังจากตัวละครชิดตาย ผู้เขียนกล่าวถึงสาเหตุการตายของชิด ดังตัวอย่าง “ก่อนที่กระสุนปืนจากตำรวจถูกระดมยิงใส่ราวห่าฝน ชิดคว่ำหน้าลงกับพวงมาลัย จบชีวิตพ่อค้ายารายใหญ่” (จระเข้, 2562, 23)                    เมื่อเรื่องราวดำเนินถึงตอนจบของเรื่อง ผู้เขียนทิ้งท้ายด้วยการซ่อนเงื่อนให้ผู้อ่านแก้เอง ดังจะเห็นได้ว่า แม้ผู้เขียนจะกล่าวถึงสาเหตุการตายของชิดไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ยังคงไม่กระจ่างทั้งหมด เพราะผู้เขียนซ่อนสัญญะไว้ให้ผู้อ่านหาคำตอบด้วยตนเองโดยการแฝงสัญลักษณ์ได้อย่างลุ่มลึก ดังตัวอย่าง“เพราะบางทีกระแสน้ำซึ่งอันตรายแฝงตัวอยู่ อาจเป็นสิ่งคุ้นเคยที่เราไม่ยอมรับรู้หรืออาจมองข้าม  และมันไหลอย่างเงียบเชียบอยู่ตรงนั้นเนิ่นนานมาแล้ว” (จระเข้, 2562, 24)  ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผู้เขียนพยายามจะเชื่อมโยงเรื่องราวกับ “แม่น้ำ”ตลอดทั้งเรื่อง แม้กระทั่งการปิดเรื่อง นับว่าผู้เขียนใช้กลวิธีในการปิดเรื่องได้อย่างเหมาะสมงดงาม เพราะเป็นการทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้ขบคิดต่อว่าเหตุใดผู้เขียนถึงเชื่อมโยงเรื่องราวกับแม่น้ำ และจระเข้ ซึ่งเป็นการจบเรื่องแบบสมจริง เหมือนดั่งชีวิตคนเรา ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าวันข้างหน้าชีวิตจะเป็นเช่นไร                  เมื่อพิจารณาถึงโครงเรื่องจะเห็นว่า ทุกเหตุการณ์มีความสมเหตุสมผลกัน ตั้งแต่ชื่อเรื่อง “จระเข้” ซึ่งถือว่าเป็นชื่อเรื่องที่เหมาะสมอย่างมากและสอดร้อยกับโครงเรื่องอย่างลงตัว ในทางพระพุทธศาสนา จระเข้เป็นสัตว์ปริศนาธรรม กล่าวคือ เรามักจะเห็นธงรูปจระเข้เป็นธงกฐินอยู่เสมอ ซึ่งหากวัดใดประดับธงจระเข้ นั่นแปลว่าวัดนั้นได้ทอดกฐินเสร็จสิ้นแล้ว โดยความหมายของธงจระเข้คือ “ความโลภ”ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่แฝงคติธรรม ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อ ลักษณะนิสัย และธรรมชาติของจระเข้ที่ปากกว้าง และกินไม่รู้จักอิ่ม จึงกลายเป็นปริศนาธรรมให้ร่วมกันขบคิด  นับว่าผู้เขียนมีกลวิธีในการตั้งชื่อเรื่องให้ดึงดูดความสนใจ ทั้งยังสอดร้อยกับเนื้อหาในเรื่องได้อย่างน่าติดตาม และแสดงถึงฝีมือในการเลือกสรรคำหรือสัญลักษณ์ที่ลุ่มลึกของผู้เขียน นอกจากนี้ เนื้อหาในเรื่องมีความกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือมีการลำดับที่ดี ซึ่งผู้เขียนผูกเรื่องและคลี่คลายปมได้อย่างดี และความโดดเด่นที่ไม่อาจข้ามได้ คือ การใช้สัญลักษณ์เพื่อส่องลึกลงไปถึงตัวตนมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึกและแนบเนียน                                                                                                                                                                                           ผู้เขียนแฝงข้อคิดผ่านแก่นเรื่องได้อย่างสละสลวย กล่าวคือ ใช้สัญลักษณ์แทนการกล่าวตรง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสัมผัสถึงความงดงามในการเลือกใช้คำ โดยแก่นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อนั้น แสดงธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างแจ่มแจ้ง กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนล้วนมีกิเลส ความโลภในตัวตน แต่หากยอมให้กิเลสครอบงำแล้วนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอาจเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่นเดียวกับตัวละคร “ชิด” เพราะความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความโลภและความอยากได้ อยากมีครอบงำในตัวชิต  ทำให้เขาเลือกตัดสินใจในทางที่ผิด ดังตัวอย่าง                                                                      เพราะบางทีกระแสน้ำซึ่งอันตรายแฝงตัวอยู่  อาจเป็นสิ่งคุ้นเคยที่เราไม่ยอมรับรู้                                                                                       หรืออาจมองข้าม  และมันไหลอย่างเงียบเชียบอยู่ตรงนั้นเนิ่นนานมาแล้ว (จระเข้, 2562, 16)

                 จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนมีวิธีการนำเสนอแก่นเรื่องธรรมดา ๆ ได้อย่างลึกซึ้งและลุ่มลึก โดยใช้สัญลักษณ์ “แม่น้ำ” แทนจิตใจมนุษย์ “มันไหลอย่างเงียบเชียบอยู่ตรงนั้นเนิ่นนานมาแล้ว”กล่าวถึงตัวละคร “ชิด” ที่อาจมีความอยากได้ อยากมีมานานแล้ว แต่เขาทำอะไรไม่ได้ในวัยเด็ก ครั้งเมื่อถึงวัยเติบใหญ่ เขาจึงเลือกทำอาชีพพ่อค้ายา เพื่อสนองกิเลส ตัณหาในซ่อนลึกจิตใจที่ฝังไว้เนิ่นนาน เฉกเช่นกระแสน้ำ                       “จระเข้” เป็นเรื่องที่นักอ่านไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ส่องลึกลงไปถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ แม้เนื้อเรื่องเป็นพียงเรื่องที่เรียบง่าย แต่ผู้เขียนสามารถตรึงผู้อ่านได้อย่างมหัศจรรย์ด้วยการใช้สัญลักษณ์ที่ลุ่มลึก ทั้งยังสะท้อนแง่คิดให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดตลอดทั้งเรื่อง ในท้ายที่สุดแล้วอันตรายไม่ได้เกิดจากจระเข้ หากแต่เกิดจากจิตใจที่โดนกิเลสครอบงำ                                                                                                    ท้ายที่สุดแล้ว “วิถีแห่งสายน้ำ”คือสัญลักษณ์ที่ตีแผ่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ตัณหา ซึ่งบางครั้งเราเองอาจไม่รู้ตัวหรืออาจมองข้ามไป เช่นเดียวกับสายน้ำที่บางสายลึกลงไปใต้กระแสน้ำสุดยากเกินหยั่งถึง  และบางสายอาจตื้นเขิน ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่า “หากเรากระโจนไปแล้ว ไอ้ขอนอาจรอคอยอยู่ก็เป็นได้”

หมายเลขบันทึก: 688971เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท