ในโลกเล่า ในโลกว่าว


  ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม เรื่องสั้นหนึ่งในโลกเล่า หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ของผู้เขียน “บันไดกระจก” ผลงานรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๕๔ ของ วัฒน์ ยวงแก้ว “ในโลกเล่า” ได้ผ่านรอบคัดเลือก Shot List รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๖๓ เรื่องสั้น ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม มีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือมีบทแยกย่อยทั้งหมด ๔ บท คล้ายกับว่าเป็นเรื่องสั้นที่ซ้อนเรื่องสั้นอีกที ถึงแม้ในแต่ละบทอาจดูเหมือนเป็นเอกเทศ แต่ทุกบทเชื่อมกันด้วยคำถาม และปริศนาที่ วัฒน์ ยวงแก้วได้วางไว้ในบทแต่ละบทไว้อย่างแยบยล ทำให้เรื่องราวในเรื่อง ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม สัมพันธ์ได้อย่างน่าประหลาดใจ

๑. ว่าว (แห่งวัยเยาว์)

          เด็กคนหนึ่งกำลังเล่นว่าวอยู่กลางทุ่งนา โดยว่าวตัวนี้เขาได้มาจากชายชราอายุสองร้อยปีอาศัยอยู่ที่กระท่อมอันโดดเดี่ยวที่อยู่ในพื้นที่อันรกร้าง พื้นที่ที่พ่อและแม่ของเด็ก ๆ มักห้ามไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามบริเวณนี้โดยอ้างตัวเห่าช้างจะกัดเอา เด็กคนนี้เขาไม่สามารถประกอบว่าวและสามารถลอยบนท้องฟ้าได้ด้วยตัวเอง จึงรวบรวมความกล้าเข้าไปขอความช่วยเหลือ ณ พื้นที่ที่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ ชายชราได้ให้โครงว่าวเก่าและให้เขาไปซื้อเชือกกับกระดาษสี เด็กคนนี้จึงวิ่งหน้าตั้งไปร้านค้าซื้อกระดาษสีขาวมา ชายชราจึงถามว่าเหตุใดจึงเลือกกระดาษสีขาว เขาจึงให้เหตุผลว่าสีธงชาติมีอยู่มากแล้ว เมื่อประกอบเสร็จแล้วชายชราจึงกล่าวว่าเมื่อเขาส่งว่าวขึ้นบนฟ้า มันไม่ใช่ตัวแทน แต่เป็นชีวิต

“ว่าว” คืออะไร ?

ในเรื่อง ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม เริ่มเรื่องโดยปฐมบท ว่าว (แห่งวัยเยาว์) บทนี้เป็นบทเริ่มต้นด้วยจุดเริ่มต้นของเรื่องด้วยการพรรณนาให้เห็นถึงเด็กคนหนึ่งกำลังเล่นว่าวอยู่กลางทุ่งนาและเป็นจุดกำเนิดของว่าว สัญลักษณ์ในเรื่องสัมพันธ์กับชื่อของบทนี้อย่างเห็นได้ชัด แม้จะเป็นบทแรกของเรื่องแต่ก็แฝงไปด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของเรื่องไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชายชราอายุสองร้อยปี กระท่อมโดดเดี่ยว โครงว่าวเก่า ว่าวสีขาวหรือสีธงชาติ  ผู้อ่านจึงต้องอาศัยการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบในการแปลความหมายของแต่ละสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นการท้าทายความสามารถของผู้อ่านพอสมควร ในที่นี่ผู้วิจารณ์ขอแปลความหมายสัญลักษณ์ในบทแรกตามความคิดของผู้วิจารณ์เอง ถึงบทนี้จะมีสัญลักษณ์อยู่มากแต่ผู้เขียนก็ได้ใบ้และตั้งชื่อแต่ละบทเพื่อเป็นกุญแจในการไขสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้แล้ว ในปฐมบท ว่าว (แห่งวัยเยาว์) ในวงเล็บต่อท้ายข้างหลัง “แห่งวัยเยาว์” ก็สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจโดยนัยแล้วว่า “ว่าว” ตัวนี้นั้นกำลังอยู่ในวัยเด็ก และมีประโยคหนึ่งในเรื่องที่ว่า “เมื่อเธอส่งว่าวขึ้นบนฟ้า มันไม่ใช่ตัวแทน แต่เป็นชีวิต” (หน้า ๑๖๗) ก็เป็นอันไขได้แล้วว่าเรื่องนี้นั้นว่าวก็คือ ชีวิต และแต่ละบทก็คือชีวิตในแต่ละช่วงวัยนั่นเอง ชายอายุสองร้อยปีนั้นก็หมายถึงผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มายาวนาน มีความคิดที่แปลกใหม่และแตกต่างจากคนในสังคมทั่วไปจึงต้องไปอยู่ที่กระท่อมโดดเดี่ยวซึ่งก็สามารถมองโดยนัยได้ว่าเป็นการกีดกันทางสังคม โครงว่าวเก่าก็อาจจะหมายถึง ความรู้ และประสบการณ์ ที่ผู้ใหญ่นั้นมอบให้แก่เด็ก ส่วนว่าวสีขาวหรือสีธงชาตินั้น สามารถวิจารณ์ได้สองแนวทางด้วยกัน แนวทางแรกก็คือว่าวสีขาวนั้นเปรียบเสมือนเด็กที่ยังมีความขาวบริสุทธิ์อยู่ที่สามารถล่องลอยไปในท้องฟ้าได้อย่างอิสระ สีธงชาติก็อาจหมายถึงเด็กที่ถูกปลูกฝังด้วยการดำรงซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจไม่ควรจะเป็นในวัยเด็กเพราะวัยเด็กเป็นวัยแห่งที่มีอิสระทางความคิด มีจินตานาการ ตามที่ผู้เขียนได้ทัศนะไว้ แนวทางที่สองผู้วิจารณ์มีข้อคิดเห็นว่าผู้เขียนอาจจะมีนัยทางการเมืองในปัจจุบันทั้งนี้ก็แล้วแต่ประสบการณ์ของผู้อ่านเอง การเปิดเรื่องของ ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม แล้วแม้จะมีเพียงไม่กี่หน้าแต่ก็ต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์จึงจะสามารถอ่านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ เป็นการเปิดเรื่องที่ค่อนข้างจะท้าทายเพื่อจูงใจผู้อ่านได้ดีทีเดียว

๒. ว่าว (ในความซ่อนเร้น)

          ธันวาเด็กประถมหกผู้เชิดหนังตลุงทำให้ผู้คนสนุกสนาน เขาไม่ค่อยสุงสิงกับใครหลังเลิกเรียนเขามักจะขี่จักรยานเพื่อไปยังสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่มีอุโมงมุดเข้าพื้นที่ข้างในกว้างพอประมาณให้คนอยู่ได้ ธันวาสร้างขึ้นเพื่อการละเล่นที่คล้ายหนังตะลุงของเขา แต่ต่างตรงที่เป็นตัวละครที่มีอยู่ในชีวิตจริง วันนี้เขาต้องมาสร้างตัวละครใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนใหม่ในห้องเรียนของเขาชื่ออาทิตย์ แต่สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ตามเขามาและพบเขา แต่อาทิตย์ก็ไม่ได้ยุ่งหรือสงสัยใด ๆ ก่อนที่จะวาดรูปว่าวและจิตนาการว่ามันลอยอยู่บนอากาศ มีคืนหนึ่งธันวาฝันว่าเขาและอาทิตย์อยู่ด้วยกัน ณ บึงน้ำแห่งความเป็นผู้ใหญ่ มีชายคนหนึ่งเรียกพวกเขาให้ข้ามไปแต่พวกเขารู้สึกได้ถึงอันตราย แปลกที่พวกเขาต่างก็ฝันเหมือนกัน ฝันซ้ำเรื่อย ๆ จนในที่สุด อาทิตย์ก็กระโดดลงไป เย็นวันถัดมาอาทิตย์ก็ตายด้วยกระสุนปริศนาสองนัด และว่าวของอาทิตย์ก็หายไป ในความฝันของธันวาเขาจึงกระโดดลงไป มีชายคนหนึ่งเรียกเขาและปลายสายป่านอยู่ในมือ

         

“กุญแจดอกสำคัญ”

ในบทที่สองเรียกได้ว่าเป็นการหน่วงเรื่องหลังจากที่เปิดเรื่องแล้ว แต่ก็เป็นการหน่วงเรื่องได้อย่างสมเหตุสมผลเสียทีเดียวเนื่องด้วยบทแรก ว่าว (แห่งวัยเยาว์) เป็นบทที่สื่อถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กแล้ว ดังนั้นในบทที่สอง ว่าว (ในความซ่อนเร้น) จึงจำเป็นต้องมี เพราะเป็นช่วงต่อระหว่างวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ในบทนี้มีสัญลักษณ์ที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “บึงน้ำแห่งความเป็นผู้ใหญ่”(หน้า ๑๗๒) ที่ธันวาและอาทิตย์ต้องก้าวข้ามไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าบทนี้เป็นบทแรกที่มีชื่อตัวละคร ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่จะต้องใช้แก้ไขปริศนาที่ผู้เขียนได้สร้างเอาไว้ในเรื่องนี้ กุญแจที่จะไขปริศนานี้ได้คือหนึ่งในสองดอกนี้ ผู้เขียนได้สร้างกลไกนี้ไว้อย่างแยบยลทีเดียว และปริศนาที่ผู้เขียนให้ไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือ “อาทิตย์ตายแล้วกระสุนปริศนา สองนัดซ้อนเข้าที่ขมับซ้ายจนแทบจะกลายเป็นรูเดียว”(หน้า ๑๗๓) เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทนี้แล้วคงจะเกิดการตั้งคำถามว่า อาทิตย์กับธันวา คือใคร ปริศนาต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ไว้ให้ในแต่ละบทซับซ้อนอย่างยิ่งที่จะหาคำตอบ การหน่วงเรื่องในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้อ่านในการหาคำตอบอย่างยิ่ง

๓. ว่าว (แห่งชะตากรรม)

          หนุ่มใหญ่ทิ้งร่างไร้เรี่ยวแรงลงข้างถนน ว่าวตัวนั้นยังลอยท้าสายลมอยู่ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ยอมแพ้ และล้มเลิกแผนการหนี ภาพของเด็กหนุ่มคนที่ตายลงเพราะกระสุนสองนัดเขาไม่มีทางลืมเลือน

ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเขาต้องรีบเร่งเรียนให้จบเพราะอีกไม่กี่ปีน้องสาวของเขาต้องเข้ามหาวิทยาลัย เขามุ่งมั่นเช่นนี้มาตลอดจนกระทั่งการเมืองที่ร้อนระอุ ภาพอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นนำเขาหักเหเข้าสู่แนวร่วมนักศึกษา โกรธแค้นอย่างบ้าคลั่งก่อนที่เขาจะพบหนทางแสงสว่างนั่นก็คือศาสนา ทำให้เขารู้ว่ายังมีที่ที่เพื่อนมนุษย์ยังอยู่กันด้วยความรักจนในที่สุดเขาก็กลายเป็นผู้เผยแพร่ศาสนา

หนุ่มใหญ่เข้าทำงานเร่งรัดหนี้สิน เขาทำงานจนได้เป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมของบริษัท วันหนึ่งเขาต้องจัดการลูกหนีที่ไม่ส่งค่างวดรถ และไม่มีใครสามารถไกล่เกลี่ยได้เพราะลูกหนี้คนนี้ควงมีดดาบไปมาอย่างท้าทาย การทวงหนี้ในครั้งนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของเขา เขาพกปืนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปลอมเอกสารแสร้งทำว่าให้ลูกหนี้โกหกว่ารถหาย หนี้ครั้งนี้จึงถือเป็นอันจบกัน เมื่อลูกหนี้ตายใจและยินยอมเซ็นเขาก็ให้ลูกน้องยกรถขึ้นอย่างเงียบ ๆ แต่ระหว่างที่เขากำลังจะขับรถออกไปนั้น ลูกหนี้ได้มาขวางและฟันกระจกรถจนแตก เขากดลูกหนี้ลงพื้นจ่อปืนไปที่ขมับลูกหนี้ข้างขวา เขาไม่ได้เติบโตขึ้นแต่ถดถอยไปเป็นเด็กมาก ขึ้นแปลกหน้ามากขึ้น หลังกระสุนสองนัดซ้อน เขาขับรถออกสู่ถนนแผนการหนียังไม่ชัดเจนเขาเห็นว่าวตัวน้อยบนท้องฟ้า เขาตัดสินใจหยุดรถและโทรแจ้งตำรวจ กระสุนปืนสองนัดในการเลือกของเขาได้ฆ่าเด็กหนุ่มไปแล้ว แต่ในทางเลือกแยกย่อยของเขาคือเปลี่ยนจากขมับขวาเป็นขาทั้งสองข้าง เขาพบแล้วว่าเด็กหนุ่มคนนั้นยังไม่ตาย

 “กระสุนปริศนาถูกไขแล้ว”

ในบทที่สาม ว่าว (แห่งชะตากรรม) ก็ได้ดำเนินมาถึงจุดสุดยอดของเรื่องและนำไปสู่การคลายปมในที่สุด ปมขัดแย้งก็เห็นได้ชัดจากบทนี้เช่นเดียวกัน ปมขัดแย้งที่ปรากฎให้เห็นได้แก่ปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม ปมขัดแย้งภายในจิตใจของมนุษย์ ปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรมชาติ จะกล่าวในแต่ละปมไป ปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังมุ่งมั่นที่จะเรียนให้จบโดยเร็วที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ แต่ความขัดแย้งทางสังคมซึ่งก็คือความขัดแย้งทางการเมืองกำลังปะทุขึ้นจนทำให้เขามีส่วนร่วมในความขัดแย้งในครั้งนี้จนไม่บรรลุความมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ และหนุ่มใหญ่ที่ถูกสังคมที่บีบบังคับจนทำให้เขากลายเป็นคนแปลกหน้าจากบทบรรยายที่ว่า “ชีวิตที่ต้องดำเนินไปสังคมแห่งการดิ้นรนและแย่งชิง” (หน้า ๑๘๕) ปมขัดแย้งที่กล่าวไปนี้ก็นำไปสู่ปมความขัดแย้งภายในจิตใจ ทั้งของชายหนุ่มที่เขาต้องเลือกระหว่างครอบครัวหรืออุดมการณ์สุดท้ายเขาก็ถูกอุดมการณ์ครอบงำในที่สุด และหนุ่มใหญ่ที่เขาต้องเลือกระหว่างความถูกต้องหรือภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลครอบครัว และเขาก็เลือกที่จะทำเพื่อครอบครัว ในส่วนของปมขัดแย้งสุดท้ายนั้นก็คือ ปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งในเรื่องนี้ก็คือชะตากรรมนั่นเอง เคยมีคนมักกล่าวไว้เสมอว่าต่างคนต่างก็มีชะตากรรมที่แตกต่างกัน แต่เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้แล้วจะพบว่าชะตากรรมแตกจะต่างกันตั้งแต่ในช่วงวัยแต่ละช่วงวัยในคน ๆ เดียว จุดสุดยอดในเรื่องนี้จะอยู่ในตอนที่หนุ่มใหญ่ไปทวงหนี้กับลูกหนี้ตามหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมาย เขาเลือกที่จะหยิบปืนติดตัวไปด้วย เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเขาเลือกที่จะจึงใช้อาวุธจ่อไปที่ขมับขวาของลูกหนี้ตามด้วยกระสุนปืนสองนัดซ้อน และเขาได้ขับรถออกสู่ถนนใหญ่เพื่อจะหนี ก่อนที่จะไปถึงจุดคลายปม จุดสุดยอดในบทนี้ยังได้ไขปริศนาให้กับเราอีกว่า “ภาพของเด็กหนุ่มคนนั้น คนที่ไม่มีทางลืมเลือน เด็กหนุ่มคนที่ตายลงเพราะกระสุนสองนัด”(หน้า ๑๗๔) ตอนนี้ถือว่าปริศนาทุกอย่างได้ถูกไขได้แล้วว่า เด็กน้อยในบทแรก อาทิตย์ในบทที่สอง ชายหนุ่มและหนุ่มใหญ่ เป็นตัวละครตัวเดียวกันหากแต่มีความสัมพันธ์ของเรื่องราวกันอย่างไร จะวิจารณ์ในส่วนของแก่นเรื่องอีกครั้งหนึ่ง การคลายปมของเรื่องนี้เมื่อหนุ่มใหญ่ได้หนีออกสู่ถนนใหญ่แล้วเขาได้จอดรถและโทรแจ้งตำรวจ ภาพหากเขาเลือกยิงลูกหนี้ที่ขมับ เขาได้ฆ่าเด็กคนเก่าไปแล้ว แต่มีอีกทางเลือกหนึ่งที่เขายังไม่ได้พิจารณาคือเขายิงไปขาทั้งสองข้างของลูกหนี้ นั่นแสดงว่าเด็กคนนั้นยังไม่ตาย เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วก็จะเกิดคำถามว่าเด็กคนนี้เป็นใครและเป็นอะไรทำไมถึงตายในครั้งนี้จะนำเป็นถกประเด็นนี้กันในส่วนของแก่นเรื่องต่อไป

๔. ว่าว (ในสายตาของความเป็นอื่น)

          สายตาทั้งหลายจดจ่องมายังหุ่นเปรตที่ชายวัยกว่าหกสิบปีอาสาเชิด เด็กหลายคนร้องไห้เมื่อได้เห็นไม่แปลกเพราะวัยเยาว์คือวัยที่ความจริงกับจิตนาการซ้อนทับกันจนแยกไม่ออก ความจริงเปรตคือคนที่ได้กระทำบาปอย่างเช่นเขา บางครั้งก็ทำให้เขารู้สึกสงบใจอย่างประหลาด ทันใดนั้นเขาก็เห็นว่าวตัวหนึ่งลอยอยู่บนท้องฟ้าเขาสงสัยเหลือเกินว่าเด็กคนไหนสนใจว่าวมากกว่าการมาดูเปรต มีเพียงเขาที่เฝ้ามองมัน โดยสายตาที่เจาะขึ้นหรือบางทีอาจจะโดยสายตาของเปรต

          บทสุดท้ายก็นำมาสู่การปิดเรื่อง ผู้เขียนได้ปิดเรื่องโดยให้ตัวละครรู้สึกถึงอายุขัยในช่วงสุดท้ายของชีวิตเมื่อก้าวสู่วัยชรา การยอมรับชะตากรรมที่ตนเองได้กระทำ และยังสื่อให้เห็นว่าเป็นธรรมดาของโลกที่จะต้องมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นมาและอีกชีวิตหนึ่งดับสิ้นไป ดังบทบรรยายที่ว่า “หากแต่พลันเหลือบเห็นว่าวนกสีขาวตัวหนึ่งลอยท้าสายลมอยู่เหนือท้องนาหลังวัด” (หน้า ๑๘๘)

“สารัตถะของเรื่องคืออะไร ?

          แก่นของเรื่องนี้ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นชะตากรรมของชีวิต ที่กำหนดอยู่ในสัญลักษณ์ของว่าวผู้เขียนค่อย ๆ ทิ้งปริศนาไว้ในแต่ละบทราวกับต้องการไขปัญหาเพื่อให้ผู้อ่านได้เติบโตไปในแต่ละช่วงวัยในแต่ละบท ชะตากรรมของชีวิตที่ได้จากทัศนะของผู้เขียนในครั้งนี้ก็คือชะตากรรมของคนเรามีผลมาจากการกระทำ ถึงจะมีชีวิตเดียวแต่ในแต่ละช่วงของชีวิตของเราจะมีเหตุและผลที่แตกต่างกันในพฤติกรรมที่แสดงออกมา เมื่อเราได้กระทำลงไปแล้วเราก็ต้องรับผลกรรมที่เราก่อเป็นไปตามชะตากรรมของเรา ในเรื่อง ว่าว เล่าเรื่อง ชะตากรรมนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลของชะตากรรมที่เด่นชัดที่สุดก็คือวัยทำงานซึ่งก็คือ “หนุ่มใหญ่” นั่นเอง คนเรามักเชื่อเสมอว่าผลกรรมคือผลที่ตามมาในภายหลัง แต่เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมที่มีผลทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เปรียบเสมือนเชือกสายป่านที่ผูกติดอยู่กับว่าวซึ่งว่าวก็คือชีวิต หากเชือกสายป่านไม่ดีก็เปรียบเสมือนกับการกระทำไม่ดีสุดท้ายเชือกก็อาจขาดสะบั้นลงได้ ดังเช่นในบท ว่าว (แห่งชะตากรรม) ที่บรรยายว่า “นั่นคือการที่เขาเลือกที่จะเลื่อนปากกระบอกปืนจากขมับขาวไปที่ขาทั้งสองข้างของลูกหนี้ และการที่เขาได้มาพบเจอภาพนี้อีกครั้ง นั่นหมายความว่าเด็กหนุ่มคนนั้นยังไม่ตาย” (หน้า ๑๘๖) เด็กคนที่ยังไม่ตายไม่ใช่ใครหากแต่เป็นตัวเขาเองในอดีต การที่เขาไม่ได้ยิงลูกหนี้นั้นก็เปรียบเสมือนที่เขาให้โอกาสตัวเอง ให้โอกาสวัยเด็กที่เขาเคยมีความฝัน ให้โอกาสวัยที่เขาเข้ามหาวิทยาลัยและค้นพบแสงสว่างนำทางตนเอง เช่นนี้จึงแสดงให้เห็นแล้วว่าการกระทำมีผลต่อชะตากรรม และชะตากรรมก็มีผลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แม้ในช่วงชีวิตสุดท้ายการกระทำก็มีผลตามมาเช่นกันดังเช่นในบท ว่าว (ในสายตาความเป็นอื่น) ที่บรรยายว่า “ความจริงของเปรตคือเปรตชนผู้ได้กระทำบาปบางอย่าง กับความผิดบาปที่เขาเคยทำ” กับ “มีเพียงเขาที่เฝ้ามองมัน โดยสายตาที่เจาะขึ้นหรือบางทีอาจจะโดยสายตาของเปรต” (หน้า ๑๘๘) เขาว่ากันไว้ว่าเมื่อถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตคนเรามักจะระลึกได้ถึงสิ่งที่เรากระทำผิดพลาดในอดีต แต่นั่นก็อาจสายจนเกินไปแล้ว ชะตากรรม มีผลผูกพันมาจากการกระทำ และจะมีผลต่อชีวิต เรื่องนี้ผู้เขียนจึงเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการกระทำในแต่ละช่วงชีวิต

          ถ้าเปรียบโครงเรื่องและแก่นเรื่องเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว แก่นเรื่องก็เปรียบเสมือนปริศนาที่รอให้ผู้อ่านได้ไขให้กระจ่างแล้วโครงเรื่องก็เปรียบเสมือนหนทางที่นำไปสู่กุญแจเพื่อใช้ในการไขปริศนา องค์ประกอบทั้งสองอย่างล้วนมีความสำคัญที่สามารถดึงดูดให้เรื่องสั้นเรื่องนี้น่าค้นหาอย่างยิ่ง หนังสือและเรื่องสั้นเรื่องนี้จึงควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 688964เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท