เบ็ด ตกใจ : นักตกปลา(ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)



ก็สมควรแล้ว ที่ผู้แพ้ควรจะถูกเบ็ดเกี่ยวปากลากเข้าฝั่ง” (วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 34)

               ธรรมดาของการต่อสู้ ย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ แต่ผู้ชนะที่แท้จริง คือการเอาชนะกระแสของกิเลส ตัณหาที่เข้าครอบงำภายในตนได้ แต่หากพ่ายแพ้ต่อกระแสเหล่านั้น  ย่อมนำพาหายนะมาสู่ตนและคนรอบข้าง เปรียบกับ “เบ็ด ตก ใจ” ที่ล่อปลาได้โดยง่าย หากปลาตัวนั้นติดกับกระแสของกิเลส ซึ่งอันตรายกว่า “เบ็ดตกปลา” เสียอีก 

              “นักตกปลา(ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นของหนังสือรวมเรื่องสั้น “ในโลกเล่า” ผลงานของวัฒน์ ยวงแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก Short List รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์)ประจำปี 2563 ภายในหนังสือนั้นประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ส่วนแรกคือ“โลกเรื่องเล่า” และส่วนที่สองคือ“เล่าเรื่องโลก” เป็นหนังสือที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์เกือบทั้งเรื่องเพื่อสะท้อนความเป็นคนผ่านสายตาหลากหลายมุมมอง

               จากที่กล่าวข้างต้นหนังสือ “ในโลกเล่า” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ซึ่งผู้เขียนแฝงไว้เพื่อซ่อนเงื่อนให้ผู้อ่านแก้และหาคำตอบด้วยตนเอง ดังเรื่อง “นักตกปลา(ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)” เป็นเรื่องราวของ“นักเขียน” ชายหนุ่มที่มีอาชีพนักเขียน และเขาตกปลาเพื่อเขียนหนังสือเรื่องใหม่ ในระหว่างที่เขาหาแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเรื่องใหม่อยู่นั้น เขาได้พบคู่รักวัยหนุ่มสาว“กร” และ “น้ำ” ทั้งสองเป็นลูกจ้างในสวนเขา ด้วยความใกล้ชิดและความเหมือนระหว่างนักเขียนกับน้ำ จึงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ผิดกรอบศีลธรรม ผู้เขียนเสนอเรื่องโดยแฝงสัญลักษณ์ไว้ตลอดทั้งเรื่อง แม้กระทั่งชื่อเรื่องสั้น “นักตกปลา(ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)” ท้ายที่สุดแล้วคำตอบของเรื่องคืออะไร และใครคือ “นักตกปลาที่แท้จริง?”  

                ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละคร “นักเขียน” โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบย้อนเรื่องสลับบทย้อนไปมา  บทที่ศูนย์ การต่อสู้ (บนพื้นผิว) ผู้เขียนอาจสื่อถึงการต่อสู้ระหว่าง “นักตกปลา” กับ “ปลา”อาจไม่ใช่เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างคนกับปลา แต่เป็นการต่อสู้ของ “ทั้งคู่” กล่าวคือ บางการต่อสู้นั้นอาจใช้เวลายืดเยื้อกว่าหลายชั่วโมง กล่าวคือ เป็นการต่อกรระหว่างคนกับปลาตัวหนึ่งที่มีน้ำหนักราวร้อยกิโลกรัม แต่ในที่สุดคนอาจชนะปลา หรือปลาชนะคนล้วนเป็นได้ ผู้เขียนจึงนำเสนอภาพ “การยืดเยื้อระหว่างบนบกกับในน้ำ” บทที่สาม น้ำ (ใต้กระแสน้ำ) ผู้เขียนกล่าวถึงตัวละคร “น้ำ” หญิงสาวเชื้อจีน หน้าตาคมคาย ผู้เขียนอาจเปรียบ “ใต้กระแสน้ำ” กับ “ใต้กระแสความคิด”ของมนุษย์ โดยนำเสนอผ่านเหตุการณ์ภายในมุ้งระหว่างนักเขียนกับน้ำ บทที่สอง กร (ลึกลงไป..) ผู้เขียนกล่าวถึงตัวละคร “กร” ชายหนุ่มต่างด้าว และเล่าถึงความใกล้ชิดระหว่างนักเขียนและน้ำ เหตุใดจึงตั้งชื่อว่า“ลึกลงไป...” ?อาจเพราะต้องการสื่อถึง“กร”ตัวละครที่ถูกกดอยู่ใต้กระแสน้ำอย่างน่าเห็นใจ บทที่หนึ่ง ภรรยา (นักตกปลา)  เหตุใดภรรยาจึงเป็นนักตกปลา? ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบนิเวศมีทั้งผู้ล่าและเหยื่อ ภรรยาเช่นกัน เขาผลัดกันเป็นทั้งเหยื่อและผู้ล่ากับนักเขียน เพราะนั่นเป็น “เกม” ในชีวิตคู่ของพวกเขา ซึ่งสุดท้ายแล้ว “นักเขียน” คือผู้กุมชัยชนะ บทที่ศูนย์ นักตกปลา(ที่สูญหาย)  เหตุใดนักตกปลาจึงสูญหาย? ในที่นี้กล่าวถึง “นักเขียน” และเหตุที่นักตกปลาสูญหาย อาจเป็นเพราะนักเขียนสามารถสลัดกิเลสความใคร่ของตนได้ ไม่ถลำลึกในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับน้ำ หรืออาจกล่าวได้ว่า จิตมืดย่อมพ่ายแพ้ให้กับมโนธรรมอันดีของเขาก็เป็นได้

               ดังจะเห็นจากเรื่อง ผู้เขียนพรรณนาขณะปลากำลังกินเบ็ดตกปลา...“รอกกรีดเสียง สายเอ็นถูกลากออกไปอย่างรวดเร็ว หัวใจของนักเขียนเต้นแรง รีบพลิกตัวลงจากเปลผ้าใบที่ผูกไว้ระหว่างกอไผ่ วางคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คลงบนเสื่อ พุ่งตัวไปคว้าคันเบ็ดตวัดสวนฉับพลัน ปลายคันไฟเบอร์ขนาดเล็กโค้งวูบ รู้ได้ทันทีว่าเป็นการต่อสู้ที่ต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป ” (วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 29)ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ปลา” กับ “คน”ความน่าสนใจของกลวิธีการเปิดเรื่องของผู้เขียนนั้น คือ “สัญลักษณ์” ที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึง เพื่อส่งต่อเนื้อเรื่องให้มีสัญญะแฝงอยู่อย่างลุ่มลึกแยบยล จากนั้นจึงเริ่มดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องย้อนหลัง เปรียบเหมือนการหย่อนเบ็ดลงสู่ห้วงกระแสความคิด...เรื่องราวต่าง ๆ ผุดขึ้นทีละบท โดยใช้ชื่อตัวละครเอกอย่าง“น้ำ” “กร” “ภรรยา” และ“นักเขียน” เป็นชื่อบทเพื่อเชื่อมเหตุการณ์ให้สอดร้อยกันอย่างกลมกลืน 

               “หนูไม่แน่ใจเรื่องแต่งงานแล้วพี่” “ทั้งหมดเป็นเพราะพี่หรือเปล่า” (วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 34) ประโยคที่เกิดจากความสับสนภายในจิตใจของตัวละครน้ำและนักเขียน เขาทั้งสองจึงต้องตัดสินใจจะถลำลึกตามกระแสความใคร่ที่หลั่งไหลภายในตนหรือจะฝืนขีดจำกัดทางกามารมณ์ไว้เพียงเท่านี้ จึงนำพาไปสู่ปมความขัดแย้งภายในจิตใจ ซึ่งเป็นธรรมดาของชายหญิงที่อยู่ใกล้ชิดกัน ย่อมเกิดความรู้สึกชอบพอกันโดยง่าย แต่คงไม่ผิดอะไร หากถูกกรอบศีลธรรมของสังคม แต่เป็นที่น่าคิดว่า “เหตุใดผู้เขียนจึงนำเสนอปมความขัดแย้งนี้?” เป็นคำถามที่สามารถตอบได้ทันที อาจเพราะผู้เขียนต้องการสะท้อนภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการนอกใจ ยังคงมีให้เห็นสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่า ปมปัญหาภายในเรื่องจึงสอดคล้องกับเหตุการณ์สังคมในปัจจุบันอย่างกลมกลืน    

              เมื่อบรรยากาศครุกรุ่นด้วยกระแสความใคร่ของทั้งคู่ เรื่องจึงดำเนินไปอย่างเข้มข้น ดังเหตุการณ์นอกมุ้ง ทุกอย่างผ่านไปโดยไม่รู้ตัว และในขณะนั้น “ปลากินเบ็ดแล้ว”ผู้เขียนยังคงซ่อนสัญลักษณ์ไว้ในทุกเหตุการณ์สำคัญ เพื่อเพิ่มอรรถรสการอ่านวรรณกรรมให้ผู้อ่านติดเบ็ด เช่นเดียวกับ “ปลากินเบ็ด” ท้ายที่สุด นักเขียนตัดสินใจเลือกเดินออกจากความสัมพันธ์ของเขากับน้ำ“ก็สมควรแล้ว ที่ผู้แพ้ควรจะถูกเบ็ดเกี่ยวปากลากเข้าฝั่ง”(วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 60) เหตุใดผู้เขียนจึงเป็นผู้แพ้? หรือนักตกปลาที่สูญหาย อาจเพราะจิตมืดในตัวเขาพ่ายแพ้ให้กับมโนธรรมอันดีหรือ“ความดีย่อมชนะความชั่ว”แต่ใครเล่าจะรู้ว่าสุดท้ายแล้วนักตกปลาอาจกลับมาเป็นนักตกปลาตอนไหนย่อมได้ สุดแท้แต่มโนธรรมภายในจิตใจตน ผู้เขียนทิ้งท้ายให้ผู้อ่านคิดต่อเอง ซึ่งเป็นการให้อิสระทางความคิด ไม่ยัดเยียดหรือชักนำความคิดของผู้อ่าน ซึ่งเป็นการปิดเรื่องที่สมเหตุสมผล นับว่าผู้เขียนใช้กลวิธีในการปิดเรื่องได้อย่างเหมาะสมงดงาม

             กล่าวได้ว่าโครงเรื่องนั้นมีกลวิธีในการนำเสนอได้อย่างสมเหตุสมผล และมีความเป็นเอกภาพ กล่าวคือ มีแนวคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ชัดเจน ซึ่งในเรื่องนี้มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้สัญลักษณ์ ต้องอาศัยประสบการณ์การอ่านของผู้อ่านจึงจะสามารถเข้าถึงในเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้อย่างถ่องแท้  ทั้งยังสอดคล้องกับเนื้อหาในเรื่องได้อย่างน่าติดตาม และแสดงถึงความสามารถในการเลือกสรรคำหรือสัญลักษณ์ที่ลุ่มลึกของผู้เขียน นอกจากนี้ เนื้อหาในเรื่องมีความกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ  มีการลำดับที่น่าฉงน เร้าความสงสัยของผู้อ่าน   ซึ่งผู้เขียนผูกเรื่องและคลี่คลายปมได้อย่างดี และความโดดเด่นที่ไม่อาจข้ามได้ คือ การใช้สัญลักษณ์เพื่อส่องลึกลงไปถึงตัวตนมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก

เหยื่อ หรือ ผู้ล่า ?

              เป็นธรรมดาของระบบนิเวศ ในที่นี้กล่าวถึง “ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ”  มีทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของบรรดาสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลลึก บางเวลาผู้ล่าอาจเป็นผู้ถูกล่ามาก่อน และในทางเดียวกัน ผู้ถูกล่าอาจเป็นผู้ล่าได้เช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ทุกเรื่องราวต่างมีทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ดังเรื่องราวของ “นักเขียนกับภรรยา”  

                   การสร้างความประทับใจด้วยความไม่ชัดเจนของเนื้อหาหรือความหมายซ่อนเร้น เป็นเสน่ห์ของงานเขียนประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านติดกับและครุ่นคิดไปกับพฤติกรรมที่ตัวละครแต่ละตัวแสดงออกมา ผู้เขียนเสนอภาพ “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” ผ่านตัวละคร “นักเขียน”ตัวละครหลายลักษณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นชายของตัวละคร กล่าวคือ แม้ปัจจุบันมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ย่อมไม่ยอมถูกผู้หญิงควบคุม สังเกตได้จาก “น้ำเสียงของภรรยาเปี่ยมสุขและแฝงไว้ด้วยอำนาจ เธออาจลำพองใจที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในบทบาทผู้นำ” (วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 55) ภายในเรื่องไม่อาจรับรู้ได้ว่าตัวละครภรรยาแผดเสียงซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้นำจริงหรือไม่ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปอย่างเข้มข้นแล้ว สามารถตีความได้จากความคิดของนักเขียนที่มีต่อภรรยาว่า “การเผยความอ่อนแอของภรรยาคือไม้เด็ดในการเอาชนะเขาหรือไม่ เพราะบทสรุปสุดท้าย ดูเหมือนชีวิตเขาถูกเคลื่อนไปตามที่เธอต้องการ”(วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 57) เพราะเหตุใดนักเขียนจึงมีความคิดว่าภรรยากำลังเล่นเกมเพื่อควบคุมเขา? อาจเพราะความเชื่ออย่างหนักแน่นว่า“ในส่วนลึกของคนเรา ย่อมมีความปรารถนาควบคุมสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ” แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อคิดควบคุมสิ่งใดแล้วนั้น นั่นคือ “ความพ่ายแพ้” เพราะเป็นได้ยากที่จะควบคุมทุกสิ่งให้ตามใจตน และปฏิเสธไม่ได้ว่าในสถานการณ์นี้ นักเขียนกลายเป็น“เหยื่อ”ของภรรยาอย่างสมบูรณ์ เขาจึงพยายามต่อกรเพื่อให้ตัวเองเป็น  “ผู้ล่า” มิใช่ “เหยื่อ” ด้วยวิธีกลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ เพื่อให้ภรรยายอมจำนนต่อเขา ท้ายที่สุดแล้วเขาจึงเป็น “ผู้ล่า”อย่างชาญฉลาด “เขาเปิดเปลือยความอ่อนแอของตัวเองจนหมดสิ้นด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและเสียงเศร้า แม้ในส่วนลึก มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของเกมที่เขาอยากเอาชนะ”  (วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 58)   

                นอกจากนี้ตัวละคร “นักเขียน” เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด สังเกตจากเหตุการณ์ในมุ้งกับหญิงสาว เป็นเพียงการเล้าโลมกันนอกมุ้งเท่านั้น เพราะเมื่อเขาหันไปเห็นหนังตะลุงที่กรถือเป็นประจำ จึงยุติเหตุการณ์ไว้เพียงนอกมุ้ง ดังตัวอย่าง“สายตาเพ่งมองตัวหนังตะลุง ความรู้สึกของนักเขียนเหมือนถูกโถมทับด้วยกระแสความคิดอันหลากไหลและสับสน”(วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,37)นี่อาจเป็นจุดบอดของผู้เขียน กล่าวคือ ธรรมชาติความเป็นชาย ยากจะฝืนขีดจำกัดทางกามารมณ์ที่หลั่งไหลภายในตนได้ แต่ตัวละคร“นักเขียน”นั้นฝืนธรรมชาติความเป็นชาย ซึ่งผู้เขียนอาจต้องการสร้างตัวละครตามแบบขนบ เมื่อเป็นเช่นนี้ คำกล่าวที่ว่า “หากเปรียบตัวละครนั้นเหมือนเครื่องปรุง” คงเป็นเรื่องจริง เพราะทำให้เนื้อเรื่องขาดรสชาติ และขาดความสมจริง

ใต้กระแสน้ำ (ใต้กระแสแห่งความคิด)

             “ใต้กระแสน้ำ”อย่างที่ทราบดีว่า “น้ำ” ยิ่งลึก ยิ่งอันตราย เพราะไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ใต้กระแสแห่งความคิด”แม้ผ่านการคิดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สุดท้ายหาตกตะกอนได้ไม่ จึงยิ่งทำให้เกิด ‘ความสับสน’ ‘ความลุ่มหลง’ และท้ายที่สุดจึงจมดิ่งสู่ห้วงกระแสจิตไม่รู้สำนึกโดยไม่รู้ตัว

               หากเปรียบเทียบ “ใต้กระแสน้ำ” กับ “ใต้กระแสความคิด”ของมนุษย์แล้วนั้น ทั้งสองเป็นสิ่งที่ยากแท้หยั่งถึง ผู้เขียนจึงเปรียบตัวละคร “น้ำ” กับกระแสความคิดลึก ๆ ของมนุษย์ “น้ำ” ตัวละครหลายลักษณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “จิตใต้สำนึกของมนุษย์” กล่าวคือ สัญชาตญาณแท้ของมนุษย์ แม้สิ่งที่ตนมีอยู่คือสิ่งที่ดีแล้ว แต่มนุษย์ยังคงเสาะหา“สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับตนเสมอ สังเกตได้จากเรื่องราวความรักของน้ำและกร แม้เขาทั้งคู่ผ่านเรื่องราว อุปสรรค ความแตกต่าง เพราะอย่างที่ทราบดีว่าปัญหาที่ทั้งคู่ร่วมกันเผชิญ แม้เป็นปัญหาจากปัจจัยภายในครอบครัวเรื่อง “ฐานะ” น้ำก็พร้อมสละทุกสิ่งเพื่อความรักของทั้งคู่ และร่วมกันอดทนต่อความลำบากอย่างเต็มใจ ดังตัวอย่าง “ต้องเผชิญการต่อต้านจากครอบครัวฝ่ายหญิงที่ค่อนข้างมีฐานะ เมื่อถึงเวลาต้องเลือก น้ำยอมทิ้งทุกอย่างหนีตามกรมา”(วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 40)กระนั้นยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า “กร” คือตัวเลือกสุดท้ายในชีวิตของน้ำ จึงสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจมนุษย์ เพราะเหตุใดน้ำจึงปันใจให้นักเขียน? อาจเพราะน้ำต้องการหนีจากสิ่งที่ตนมี นั่นคือ “กร” ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนมีนักเขียน กรอาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับน้ำ แต่ใครเล่าจะล่วงรู้ได้ว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” จะมาถึงวันใด และในวันนั้นจิตใจจะยังคงเดิมหรือแปรเปลี่ยนไปกับ “สิ่งที่ดีที่สุด”ที่แฝงมากับ “ความผิดศีลธรรม” ซึ่งท้ายที่สุด“ปลากดขนาดเท่าข้อมือติดเบ็ด เขารู้สึกสนุกกับการต่อสู้”(วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 49) คือเหตุการณ์ที่น้ำกำลังถลำเข้าไปในวังวนแห่งตัณหา เปรียบกับ “ปลาที่ว่ายเข้าสู่ความตาย”ผู้เขียนพยายามแทรกเหตุการณ์กับการตกปลาได้อย่างลุ่มลึกแยบยล และสะท้อนให้เห็นถึงกระแสความคิดมนุษย์ ยิ่งลึก ยิ่งอันตราย เช่นเดียวกับกระแสน้ำ เพราะอันตรายนั้นสามารถโน้มน้าวจิตใจให้ลุ่มหลง มัวเมากับกิเลส ตัณหา ท้ายที่สุดจึงจมดิ่งสู่ห้วงกระแสจิตไม่รู้สำนึกโดยไม่รู้ตัว

“ความมืด” ใต้กระแส

               “ความมืด” ใต้กระแส อย่างที่ทราบดีว่า ใต้กระแสน้ำนั้นยิ่งลึก ยิ่งมืด เมื่อถูกปกคลุมด้วยความมืด อันตรายสามารถคุกคามได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับตัวละคร “กร”

           ท่ามกลางความเจริญทางสังคม ยังมีชนชั้นเล็ก ๆ อาศัยและทำงานในบ้านเมืองอื่น เรียกตนเองว่า “ต่างด้าว” ผู้เขียนเสนอชนชั้น “แรงงานต่างด้าว” ผ่านตัวละคร “กร” ตัวละครน้อยลักษณะ เป็นภาพแทนของ“คนชายขอบ" อย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านลักษณะนิสัย ดังตัวอย่าง “กรเป็นคนน่ารัก เขาคิดถึงคนอื่นเสมอค่ะ”(วัฒน์ ยวงแก้ว, 2562, 44) ด้านความเก็บกดภายในจิตใจ เป็นที่สังเกตว่า เหตุใดกรจึงถือหนังตะลุงไว้ตลอดเวลา? อาจเพราะชนชั้นตน อยู่บ้านอื่นเมืองอื่น ต้องอยู่แบบเจียมตัว ไม่มีปาก ไม่มีเสียง จึงระบายสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจผ่านหนังตะลุง และเป็นที่สงสัยอีกว่าเหตุใดผู้เขียนจึงสร้างตัวละคร“ต่างด้าว”แทนการสร้างตัวละครคนไทย?อาจเพราะผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการเป็น“คนไร้สัญชาติ”การเหยียดเชื้อชาติ สีผิวหรือแม้แต่ภาษา ไม่เพียงแต่สัญชาติอื่นที่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยที่ไปอาศัยในประเทศอื่นต่างถูกเหยียดเช่นกัน เพียงเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษาหรือความคิด ตัวละครชายขอบมักเป็นผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับตัวละคร “กร” ดังเหตุการณ์ที่กรถูกน้ำและนักเขียนหลอกลวง เพียงเพราะตนด้อยกว่านักเขียนทุกอย่าง ทั้งการศึกษา และฐานะ “กร” จึงเป็นตัวละครที่น่าสงสารอย่างมาก เพราะถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว มิหนำซ้ำเขายังต้องยอมรับชะตากรรมโดยไร้แรงต่อสู้ แม้กรรู้เรื่องการนอกใจของน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในการใช้ชีวิตคู่ แต่เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้เปล่งเสียงออกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวของคนชายขอบมักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แม้แต่เสียงยังไร้ซึ่งการได้ยินหรือการตอบรับจากคนในสังคม เฉกเช่น “ความมืด”เมื่อใดมีแสงสว่าง ย่อมปลอดภัย แต่เมื่อความมืดเริ่มปกคลุม ภัยอันตรายสามารถเข้ามาคุกคามได้ทุกเมื่อ และความมืด ยังหมายถึง จุดบอดได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาการสร้างตัวละคร “กร” นั้น แม้เป็นการสร้างตัวละครที่สะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างแนบเนียน แต่ในขณะเดียวกันสามารถมองเป็นการลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นคนได้เช่นกัน นับว่าเป็นจุดบอดของผู้เขียนอย่างแจ่มแจ้ง แต่อาจเป็นกลวิธีอันแนบเนียนของผู้เขียนก็เป็นได้ เพื่อต้องการให้ผู้อ่านฉุกคิด และตระหนักถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

                เมื่อกล่าวถึงตัวละครนั้น นับว่าผู้เขียนสร้างตัวละครหลากหลายรูปแบบ ทั้งตัวละครในอุดมคติและตัวละครสมจริง แต่ยังคงมีจุดบอดสำหรับการสร้างตัวละครบางตัว เพราะตัวละครเปรียบเสมือนเครื่องปรุง เมื่อขาดเครื่องปรุง จึงไร้รสชาติ ทำให้ขาดอรรถรสและความสมจริงในบางประเด็น แต่ด้วยความชาญฉลาดในการใช้สัญลักษณ์อย่างลุ่มลึกที่ผู้เขียนแฝงในเนื้อเรื่องชูเนื้อเรื่องให้มีความโดดเด่นและแปลกใหม่  นอกจากนี้ผู้เขียนแฝงข้อคิดผ่านแก่นเรื่องได้อย่างสละสลวย กล่าวคือ ใช้สัญลักษณ์แทนการกล่าวตรง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสัมผัสถึงความงดงามในการเลือกใช้คำ โดยแก่นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อนั้น สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์และให้คำตอบของคำถาม “ใครคือนักตกปลา” 

 ใครคือนักตกปลาที่แท้จริง ?

               เบ็ดตกปลาย่อมฆ่าปลาที่ถูกตกใจ  เช่นเดียวกับมนุษย์เมื่อถูกกิเลสครอบงำก็ย่อมถลำโดยง่าย  ในชีวิตจริงหากจะหาผู้ที่ถูกตกหรือนักตกปลาที่แสวงหาผลประโยชน์นั้นมีมากมาย และในบางโอกาสหรือบางสถานการณ์เราต่างเคยเป็นทั้งผู้ล่าและเหยื่อเช่นเดียวกัน ซึ่งยากจะเรียกร้องความยุติธรรม เพราะชีวิตคือชีวิต และเพราะมีชีวิตจึงต้องมีชีวิต แต่ก็ไม่จำเป็นที่ชีวิตหนึ่งจะต้องทำให้อีกชีวิตหนึ่งหรือหลาย ๆ ชีวิตเดือดร้อน คำตอบของคำถามที่ว่าใครคือนักตกปลาที่แท้จริง คือ…ทุกคนต่างเคยเป็นนักตกปลาและปลาที่ติดเบ็ดด้วยกันทั้งนั้น..และหากเรามิใช่นักตกปลาก็จะกลายเป็นเหยื่อของผู้อื่นอยู่ดี ในทางเดียวกันหากมิใช่เหยื่อก็จะกลายเป็นนักตกปลาในบางสถานการณ์หรือบางโอกาสเช่นเดียวกันดังนั้น หากมิอยากติดอยู่ในวังวนของกระแสน้ำแห่งจิตไม่รู้สำนึก  ต้องควบคุมมิให้จิตใจไหลไปตามกระแสน้ำนั้นอย่างรู้เท่าทัน


อ้างอิง

วัฒน์ ยวงแก้ว.  (2562).  ในโลกเล่า.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผจญภัย.


หมายเลขบันทึก: 688967เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท