วัง น้ำ วน จระเข้ตาขุนขุ่นมัว



      “ กระแสน้ำไหลแรงเชี่ยว เรือลำเดียวไม่อาจต้าน ชีวิตคล้ายลำธาร หลงอยู่นานในวังวน” 

เรามักได้ยินคนอื่น ๆ กล่าวเสมอว่าแต่ละคนต่างก็มีชะตาชีวิตที่แตกต่างกันคล้ายสายน้ำ ที่เราไม่อาจรู้จุดสิ้นสุดของสายน้ำแห่งนี้ได้ แต่ในชีวิตของบางคนอาจไปไม่ถึงจุดสิ้นสุดของแม่น้ำ หากเรากำลังตกอยู่ใน วังวน

          “จระเข้ตาขุน” หนึ่งในเรื่องสั้นอ่านง่ายของหนังสือรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ซึ่งเป็นฝีไม้ลายมืออันเลื่องชื่อของ จเด็จ กำจรเดช จากรางวัลซีไรต์ของหนังสือเล่มก่อน “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” ในปี 2554 ที่ทำให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่องที่มีเส้นทางและประสบความสำเร็จไม่แตกต่างกันในปี 2563 “จระเข้าตาขุน” เรื่องราวของเรือชีวิตที่กำลังแล่นไปในสายธารแห่งชีวิตของ “ผม” ที่ไม่อาจคาดเดาจุดสิ้นสุดหรือจุดแยกของสายธารชีวิตสายนี้ได้

         

         วังวนที่เริ่มต้น

          “ผมรับเขาขึ้นรถระหว่างทางกลับบ้าน” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 453) สายน้ำกำลังเปลี่ยนไปเมื่อคำว่า “บ้าน” ในประโยคเริ่มต้นนี้ กำลังจะไม่มีอยู่จริง ประโยคบอกเล่าธรรมดาที่เล่าผ่านตัวละครโดยใช้สรรพนามแทนบุรุษที่ 1 “ผม” และตัวละครที่ใช้สรรพนามแทนบุรุษที่ 3 “เขา” กลายเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้อ่านถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและสงสัยว่า “ผม” และ “เขา” คือใครและมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร ผู้เขียนใช้ประโยคบอกเล่าชวนให้ผู้อ่านสงสัยโดยไม่ต้องตั้งประโยคคำถามเพื่อให้ผู้อ่านติดตามต่อไปได้ดี

          “เขาเพิ่งขึ้นจากทะเล ทิ้งเรืออวนไว้ที่ริมฝั่ง หอบกระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นรถ มีทะเลมากมายรอการค้นพบ มีแม่น้ำอีกหลายสายรอให้เราล่องเรือ” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 453) กระแสน้ำที่เปลี่ยนสายในครั้งนี้เป็นของ “เขา” ตัวละครอีกตัวที่ทิ้งทะเลมาล่องเรือในแม่น้ำคอนกรีตและยางมะตอย ในบทนี้ผู้เขียนยังให้ผู้อ่านรู้จักตัวละคร “ผม” มากยิ่งขึ้น “ผม” ต้องห่างจากครอบครัวเป็นระยะเวลานาน บางครั้ง “ผม”ได้แวะไปบ้านบ้างหากงานของเขาก็คือการติดตั้งป้ายโฆษณา มีเส้นทางต้องผ่านบ้าน และในบทนี้ผู้เขียนยังซ่อนสัญลักษณ์ของถนนซึ่งไม่ได้กล่าวออกมาโดยตรงคือ “แม่น้ำคอนกรีตและยางมะตอย”  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แรกของเรื่องที่ผู้อ่านสามารถแปลได้โดยง่าย หรือเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์เรียกน้ำย่อยก่อนจะไปถึงสัญลักษณ์หลักของเรื่องที่ผู้เขียนปรุงแต่งได้น่าอร่อยดีทีเดียว

         

          กระแสน้ำที่ขุ่นมัว

          น้ำขุ่น ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วน้ำที่ขุ่นก็คือน้ำที่พัดพาเอาเศษตะกอนของแร่ธาตุต่าง ๆ มาทับถมซึ่งเป็นน้ำที่ดีกว่าน้ำใส หากเปรียบกับคนแล้วก็เหมือนคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ มามากพอสมควร จากบทที่ 1 ผู้เขียนได้กล่าวถึง “เขา” ชายผมสีสนิมผู้มาจากทะเล สัญลักษณ์นี้ปรากฎขึ้นอีกครั้ง คำว่า “ผมสีสนิม” มีความหมายโดยนัยอีกอย่างก็คือ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามาก เพราะทะเลคือความบ้าคลั่งของความแปรปรวนทางสภาพอากาศหากเขาผ่านมาได้ ก็แสดงว่าเขามีประสบการณ์ในการเผชิญหน้าต่อสิ่งต่าง ๆ ในบทที่ 2 ผู้เขียนได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละคร “เขา” มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่ช่วยบ่งบอกให้รู้ว่า “เขา” ผ่านประสบการณ์มามากได้จากบทบรรยายที่ว่า “เขาเป็นผู้ชายอายุหลักสี่สิบแล้ว (อายุมาก) แต่แข็งแรงกล้ามเนื้อเป็นมัด (ทำงานหนัก) ผิวกรานแดด (ผ่านลมผ่านฝนมาเยอะ) นิ้วมือใหญ่ (แบกหามของหนัก)” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 455) อาจกล่าวได้ว่า 2 บทแรกนั้นผู้เขียนต้องการแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครมากขึ้นเพื่อขยายความจากประโยคแรกของเรื่องให้กระจ่างมากยิ่งขึ้น หากเปรียบกับการสรุปเรื่องแล้ว เราสามารถรู้ได้แล้วว่าเป็น ใคร กำลังทำอะไร และเรื่องก็เริ่มชี้ชัดไปถึงปมของเรื่องผ่านบทบรรยายที่ว่า

 “ผมกำลังถูกขอหย่า” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 456) เพียงแค่ประโยค ๆ เดียวของบทที่ 3 นี้ ก็สามารถอธิบายได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับ “ผม” และยังเป็นที่มาของคำว่า ขุ่นมัว ในอีกแง่หนึ่งที่ผู้วิจารณ์ได้สร้างหัวข้อย่อยขึ้นเพื่อแสดงอารมณ์ของตัวละครที่กำลังครุกรุ่นภายในจิตใจกับเรื่องราวที่ “ผม” กำลังเผชิญ บทนี้ดูเหมือนจะเป็นบทยาวที่สุดของผู้เขียนเพื่อแสดงปมขัดแย้งระหว่างตัวละครในเรื่อง อันประกอบไปด้วยสาเหตุของปมขัดแย้งจนนำไปสู่ปมขัดแย้งในที่สุด ซึ่งสมเหตุสมผลกับการสร้างปมขัดแย้งของผู้เขียน สาเหตุของปมขัดแย้งในครั้งนี้มาจากการทำงานของ “ผม” ที่ต้องห่างจากบ้านมาเป็นเวลานาน ชาวบ้านลือกันว่าเมียเขามีชู้ เขาบอกว่าเขาไม่เชื่อและจากบทบรรยายที่กล่าวว่า“ความจริงเป็นผมเอง ที่มีคนอื่น” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 456) ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าตัว “ผม”นอกใจภรรยา แต่ก็มีบทบรรยายที่บอกว่า “เราเสมอกัน” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 457) นั่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าอีกใจหนึ่งเขาก็เชื่อที่ภรรยามีชู้ สายน้ำที่เปลี่ยนไปเกิดจากการแหกโค้งของคนทั้งสอง สายน้ำที่เคยไหลเชี่ยวเป็นสายเดียวกันตอนนี้ต่างเส้นต่างมาถึงจุดที่จะต้องแยกสายกัน แต่กลับมีอีกสายที่กำลังขุ่นและดำดิ่งลึกลงไปเป็นวังวน

       วังน้ำจระเข้ตาขุนกำลังขุ่นมัว

      ตำนานของจระเข้พ่อตาขุนที่รอคอยแก้แค้นคนรักของเขาที่หักหลังและไปมีชู้ จนกลายเป็นจระเข้ขนาดใหญ่ ตำนานที่ผู้เขียนยกมานี้คงไม่ได้ต้องการที่จะยกมาเฉย ๆ เพียงเพราะมันเป็นตำนานอยู่ใกล้กับวัดตาขุนที่ตัวละครของเขากำลังทำงาน เมื่อพิจารณาแล้วเหตุที่ผู้เขียนยกมาเพราะมันอาจสัมพันธ์กับจิตใจของตัวละคร “ผม” ในเรื่อง ...ใช่แล้ว ผู้วิจารณ์เองวิเคราะห์ว่าผู้เขียนกำลังแสดงอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครผ่านตำนานนี้ “ผม” กำลังมีชะตากรรมไม่ต่างจากจระเข้ตาขุน เขากำลังแค้นที่ภรรยาของเขาไปมีชู้ นับว่าเป็นการแสดงอารมณ์ของตัวละครได้ลึกซึ้งทำให้ผู้อ่านต้องตีความความหมายที่ผู้เขียนแฝงไว้ในเรื่อง โดยไม่ยากจนเกินไป “จระเข้” ในบทนี้อาจเปรียบได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความแค้นที่ทำให้มนุษย์อาฆาตแค้นคนรักจนทำให้ตัวเองกลายเป็นสัตว์ที่ดุร้ายและน่ากลัว จมอยู่ในสายน้ำแห่งความหลังในอดีตที่ไม่สามารถหลุดพ้นบ่วงพันธนาการไปได้ จนตัวเองได้หลงลืมความเป็นมนุษย์ไปในที่สุด  “ผม” กำลังทำงานถอดป้ายหาเสียงออก เพราะใกล้ถึงวันเลือกตั้งแล้ว แต่ก็พบว่าพรรคการเมืองอีกฝ่ายที่เป็นคนใหญ่คนโตในพื้นที่เอาป้ายหาเสียงมาแปะทับบน เค้าโครงไม้ป้ายหาเสียงของเขา “ผม” ลังเลที่จะถอดป้าย แต่ “เขา” เลือกที่จะถอดออกและรอเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายอย่างไม่หวั่นเกรง

ในขณะนี้เราจะเห็นบรรยากาศรอบข้างของเรื่องที่ผู้เขียนได้บรรยายเอาไว้ว่า “ทั้งที่มืดคำ และฝนตกหนัก” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 460)  บทบรรยายบรรยากาศดังกล่าวเพื่อเพิ่มอุณหภูมิของตัวละครให้สูงขึ้น ทั้งความกล้า ความกลัว และความเข้มข้นของเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นที่จะต้องการรู้ให้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

       วังวนแห่งความหลังที่มาของการหลุดพ้น

       ดูเหมือนว่าผู้เขียนจะรับรู้ถึงความตื่นเต้นที่ผู้อ่านได้รับเป็นอย่างดี จึงขั้นด้วยอดีตของ “ผม” ซึ่งก็เปรียบเสมือนละครหลังข่าวที่ผู้ชมกำลังชมตอนที่กำลังมีการลุ้นระทึก เช่น พระเอกหรือนางเอกจะรอดหรือไม่ พระเอกกับนางเอกจะได้พบกันหรือไม่ แล้วอยู่ ๆ โทรทัศน์ก็ตัดไปที่โฆษณาเสียดื้อ ๆ นั่นก็เป็นเพราะการตลาดนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนเองก็ทำแบบนั้นอยู่ แต่ต่างกันตรงที่ว่าผู้เขียนนำบทนี้มาหน่วงเรื่องเพื่อให้แก่นสำคัญของเรื่องเด่นชัดขึ้น นั่นคือ “แม่น้ำทุกสายล้วนอันตราย แม้คนที่เคยผ่านทะเลมาแล้วอย่างโชกโชนก็ต้องเกรงมัน” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 462) “แม่น้ำ” เป็นสัญลักษณ์จากเรื่องที่แปลความหมายได้ว่าคือ ทางเดินของชีวิต หากเรามีเหตุต้องเปลี่ยนหรือเลือกแม่น้ำสายใหม่ จงตระหนักไว้เสมอว่าแม่น้ำทุกสายล้วนอันตราย คนที่ผ่านทะเล ก็หมายถึงคนที่มีประสบการณ์มากดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังต้องเกรงมัน จะเห็นได้ว่าผู้อ่านต้องการเน้นแก่นเรื่องอีกครั้งในบท ๆ นี้ และอีกอย่างก็เป็นการกระตุ้นผู้อ่านให้สนใจเรื่องราวในตอนต่อไปมากยิ่งขึ้น

       “หนีเสือปะจระเข้”สำนวนสุภาษิตที่อธิบายได้ดีในตอน ๆ นี้ เหตุการณ์มีอยู่ว่า “ผม” และ “เขา” กำลังเผชิญหน้ากับคนของเจ้าถิ่น จนต้องหนีลงไปในคุ้งน้ำลึกของจระเข้ตาขุน “ผม” ถูก “เขา” ฉุดลงไปในน้ำ ระหว่างนั้น “ผม” “สัมผัสโดนปุ่มปมแข็ง ๆ ของอะไรบางอย่างใต้น้ำ มือใครบางคนดึงผมขึ้นไป” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 463) การสัมผัสโดนปุ่มแข็ง ๆ อยู่ใต้น้ำ ผู้เขียนไม่เฉลยว่าสิ่งนั้นคือสิ่งใด อาจเนื่องด้วยให้ผู้อ่านตัดสินใจด้วยจินตนาการของตัวเอง จากประโยคดังกล่าวผู้วิจารณ์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่ “ผม” สัมผัสนั้นอาจเป็นจระเข้ตาขุน และหากพิจารณาโดยลุ่มลึกแล้ว ผู้เขียนอาจแสดงสารัตถะของเรื่องซึ่งเป็นแก่นแท้ของจิตใจมนุษย์ ที่จระเข้เปรียบเสมือนจิตใต้สำนึกซึ่งกำลังฉุดให้จิตใจของมนุษย์ต่ำลงด้วยโทสะและความแค้น จิตใต้สำนึกที่ถูกกระตุ้นจะควบคุมระบบประสาท ซึ่งทำให้มันยังควบคุม ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด โดยมนุษย์ไม่สามารถควบคุมมันได้และไม่รู้ตัว  ดังนั้น “ผม” จึงตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ถูกควบคุมโดยจิตใต้สำนึกซึ่ง “ผม” เองก็ไม่รู้ตัวเช่นกันและ “เขา” ก็คือตัวแทนประสบการณ์ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ประสบการณ์นี้เองที่ดึงให้เขาพ้นจากจิตใต้สำนึกให้หลุดพ้นจากโทสะและความแค้น

ผู้เขียนได้เฉลยในตอนท้ายของเรื่องแล้วว่าประสบการณ์ใดที่ทำให้ “ผม” หลุดจากจิตใต้สำนึกที่กำลังฉุด “ผม” ให้จมลงด้วยโทสะและความแค้นดังบทบรรยายความทรงจำในอดีตที่กล่าวว่า “ทำไมพ่อไม่ลงไปช่วย จะนิ่งเฉยรอให้ผมจมน้ำหรือไร” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 464) ประสบการณ์นี้เคยเกิดกับ “ผม” ในอดีตและตอนนี้ “ผม” ได้เข้าใจว่า “สิ่งซึ่งเขาควรเรียนรู้คืออันตราย  กับการเอาตัวรอด” (จเด็จ กำจรเดช, 2563, หน้า 464) และไม่มีใครอยู่เคียงข้างเขาตลอดไป

 

       แม่น้ำสายหน้า

“ขึ้นจากวังวนพ้นบ่วง ยังห่วงแม่น้ำทางข้างหน้า อันตรายลึกล้ำเกินพรรณนา ช้าหรือเร็วคงมีวันต้องพบเจอ”

ตอนจบของเรื่องยังอาจไม่จบ เราไม่รู้เลยว่าตัวละคร “ผม” จะยอมเลิกกับภรรยาของเขาหรือไม่ และชีวิตของเขาในแม่น้ำสายใหม่ที่เขาต้องเลือกจะเป็นอย่างไร สาเหตุที่ผู้เขียนไม่เขียนตอนจบให้ชัดเจน อาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านรังสรรค์ตอนจบของเรื่องขึ้นมาเอง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าจบแบบปลายเปิด เพื่อเปิดให้ผู้อ่านได้ใช้ความคิด สิ่งที่เราได้รู้จากผู้เขียนในการแปลความหมายของสัญลักษณ์ในเรื่องแล้วว่า ตัวละคร “ผม” ละซึ่งความแค้นและโทสะที่มีต่อภรรยาของเขาไปแล้ว และเรื่องราวนับจากนี้จะเป็นอย่างไร “ผม” จะตัดสินใจแยกทางหรือกลับไปคืนดีกับภรรยา ทุกทางเลือกล้วนแล้วแต่เป็นแม่น้ำสายใหม่ที่ “ผม” ต้องเผชิญ นับว่าผู้เขียนได้วางโครงเรื่องและตอนจบได้ดีทีเดียว เพื่อให้ผู้อ่านได้ขบคิดและตัดสินใจฉากจบ ซึ่งเป็นการดึงผู้อ่านให้มีส่วนร่วมในเรื่องราวที่ผู้เขียนแต่งขึ้น

“จระเข้ตาขุน” นับว่าเป็นเรื่องที่อ่านง่าย (หมายถึงอ่านแล้วแปลความและจับใจความได้ง่าย) กว่าเรื่องอื่น ๆ ของรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสื้อ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” แม้โครงเรื่องจะเป็นโครงเรื่องแบบใหม่มีการย้อนกลับไปกลับมาของฉาก เวลา สถานที่ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องที่เด่นชัด รวมทั้งจำนวนหน้าที่น้อยและประโยคในเรื่องเป็นประโยคความเดียว ความรวม ความซ้อนที่ค่อนข้างจะตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย ส่วนสัญลักษณ์ภายในเรื่อง ผู้อ่านอาจจะรู้มาก่อนหรือไม่ก็ได้ เพราะนักเขียนได้ให้ความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ โดยแฝงไว้ภายในเรื่องแล้ว และเรื่องราวของ “ผม” ผู้เขียนได้นำเรื่องราวที่ผู้อ่านได้พบเห็นได้ในสังคมอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือการแตกแยกของสถาบันครอบครัว จึงทำให้ผู้อ่านใช้เวลาเพียงไม่กี่อึดใจที่จะอ่านเรื่องนี้จนจบ

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้วิจารณ์แนะนำให้อ่าน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สับสน อ่านง่ายกว่าเรื่องอื่น ๆ ในเล่ม นอกจากนี้ยังใช้เวลาน้อยทำให้ไม่กระทบกิจวัตรประจำวันของผู้อ่านและยังแฝงข้อคิดสารัตถะของเรื่องไว้อย่างดี อ่านลื่นไหลไม่มีสะดุด จึงทำให้เรื่องนี้จะควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง เหมาะกับทุกเพศทุกวัยที่กำลังเผชิญกับการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิตที่ผู้อ่านจำเป็นต้องมองอดีต เพื่อเป็นประสบการณ์นำมาสู่การตัดสินใจที่รอบคอบในปัจจุบันและอนาคต

อ้างอิง

จเด็จ กําจรเดช. (2563). คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพฯ : ผจญภัย.

         

20210215155242.pdf

หมายเลขบันทึก: 688965เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2021 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท