โรงเรียนคุณธรรม​ : จุดคานงัดของการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้


 ​

​1. เรื่องโรงเรียนคุณธรรม น่าสนใจและเข้าใจได้ง่ายด้วย คำบรรยายของ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม​ วัฒนชัย​ องคมนตรี ท่านบรรยายไว้เมื่อ​สามปีก่อน​ (ไปที่ YouTube ค้นด้วย​คำว่า​ เกษม วัฒนชัย​ แนะนำโครงการโรงเรียนคุ​ณ​ธรรม)  มีความยาว เพียง 20 นาที  จะทำให้​ทราบที่มาของโครงการ​ แนวคิดสำคัญ​ ขั้นตอนการทำงาน และที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ​ ผลลัพธ์และ​ผลกระทบ​​จากโครงการที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน (รวมถึงครู ผู้บริหารโรงเรียน​ และผู้ปกครอง) และผล​การเรียน​ของนักเรียน​ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน  

2. ท่านที่สนใจเรื่องโรงเรียนคุณธรรม​ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ขอเชิญที่เว็บไซต์ของมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึี่งปัจจุบันมีเครือข่าย โรงเรียนคุณธรรม​​อยู่​​ 502 แห่ง​ ถ้าท่านอ่าน​คู่มือปฏิบัติโรงเรียน​คุณธรรม​ (ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดที่เว็บไซต์) ก็จะทราบว่า โครงการ​โรงเรียนคุณธรรมก็คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน

3. สพฐ.​ได้นำแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม​ไปพัฒนาต่อ โดยมีเป้าหมายให้ครบทุกโรงเรียน​ในสังกัด​ จากเว็บไซต์กระทรวง​ศึกษา​ธิการ​พบข้อมูลว่า ณ​ วันที่​ 21 กันยายน 2560 มีโรงเรียนคุณธรรมในสังกัด​ สพฐ.​ จำนวน 19,082 แห่ง​ และ​มีครู​วิทยากร​ที่ได้รับการอบรมแล้ว 135,529 คน ถ้านับถึงวันนี้คงจะมีเพิ่มขึ้นอีกมาก​ น่าจะครบทุกโรงเรียน​ ชวน​ให้คิดว่า​น่าจะนำทรัพยากร​ที่มีอยู่​​มาใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น​ เนื่องจากโรงเรียนและครูจำนวนมากเหล่านี้น่าจะมีความพร้อมสูงที่จะ นำความรู้ที่ได้จากการ ลงมือทำนี้ ​(การจัดการเรียนรู้​โดยใช้​โครงงานเป็นฐาน เพื่อการเรียนรู้ทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21) ไปใช้กับเนื้อหา​สาระ​​ต่าง​ๆ ในหลักสูตร​ของ​โรงเรียน​

4. เว็บไซต์​ ครูอาชีพดอทคอม เสนอบทความเรื่อง การสอนแบบโครงงาน​ (PROJECT-BASED LEARNING) สอนอย่างไร? ไว้เมื่อ 14 ตุลาคม​ 2563 โดย​ admin เขียนไว้อย่างเข้าใจง่าย และมีเนื้อหามากเพียงพอที่จะ​นำไป​ใช้งานได้ ซึ่งรวมถึง​แนวทางการ​จัดการเรียนรู้​ 2 รูปแบบ คือ การจัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน​ และการจัดกิจกรรมตามสาระ การเรียนรู้​ของหลักสูตร ในที่นี้ขอเน้นที่การจัดกิจกรรมตามสาระการเรียนรู้ข​องหลักสูตร​(เพื่อนำมาใช้แทนกิจกรรมการสอนเดิม​จะได้ไม่เป็นการเพิ่มภาระครูเกินสมควร)

5. การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เป็นการยกระดับการเรียนรู้จากระดับความรู้ที่จำได้ เข้าใ​ ไปสู่ระดับ​การนำความรู้ไปใช้ (แก้ปัญหา) ​​ซึ่งตรงกับระดับที่ใช้เป็นหลักของการทดสอบ PISA และการ​ทดสอบ​โอเน็ตก็เริ่มใช้​หลักการแบบ PISA นี้​ตั้งแต่​ พ.ศ. 2559 สทศ.​ ผู้สนใจสามารถดูตัวอย่างได้จากเฉลยข้อสอบโอเน็ต​ ม.​ 6 พ.ศ.​ 2562​ ของสทศ.

6. หากจะเริ่มต้นปรับรูปแบบการเรียนรู้​ ควรเริ่มในสาระการเรียนรู้ที่มีการทดสอบโอเน็ตก่อน​ จะได้ใช้ผลการทดสอบ​โอเน็ตเป็น​ส่วนหนึ่งของ​การ​ประเมิน​ผลด้วย

7. สพฐ.​ น่าจะจัดให้มีการประกวดโครงงานในแต่ละสาระการเรียนรู้เหล่านี้​ เพื่อเป็นแรงจูงใจ​ และเพื่อให้ได้ตัวอย่าง โครงงาน​ที่หลากหลาย สามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบ​ของแต่ละสาระการเรียนรู้

8.  ในที่สุดน่าจะพบว่า​ ควรจะกลับไปทบทวนเนื้อหาสาระ​หลักสูตร​ เพื่อแบ่งเป็นหัวข้อสาระที่ต้องรู้และสาระที่ควรรู้​ (โปรดดูหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงผู้อำนวยการสำนักงาน​เขตการศึกษา​ทุกเขต​ เรื่องตัวชี้วัด​ต้องรู้และควรรู้​ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช​ ๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม​ พุทธศักราช​ ๒๕๕๙)  ทั้งนี้ เพื่อปรับให้สาระที่ต้องรู้เป็นเรื่องที่โรงเรียนทุกแห่งต้องจัดการเรียนการสอนและเนื้อหาสาระที่นำมาใช้ในแบบทดสอบโอเน็ต้องมาจาก​สาระที่ต้องรู้เท่านั้น การทดสอบโอเน็ตจึงจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ทั่วประเทศ

สรุปว่า​ การพัฒนาโรงเรียน​คุณธรรม​ นอกจากจะพัฒนาเรื่องคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องยาก อย่างได้ผลดีแล้ว ยังนำไปสู่การ​เรียนรู้​จาก​การลงมือทำในเรื่องการจัดการเรียนรู้​โดยใช้โครง​งานเป็นฐาน​ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ เพื่อ​ยกระดับ​การเรียนรู้ของนักเรียน จากระดับ​จำได้​ เข้าใ​ เป็นระดับการนำความรู้ไปใช้​​ ดังแสดงไว้ในภาพ

อำนาจ​ ศรีรัตนบัลล์

8 กุมภาพันธ์​ 2564 

หมายเลขบันทึก: 688821เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2021 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2021 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท