พลังของการเว้นช่วง



เพราะเว้นช่วงการอ่านหนังสือสองเล่มสลับกัน    ผมจึงได้แนวคิดนี้    ว่าการเว้นช่วงการเรียน ช่วยให้การเรียนรู้ได้ผลดีขึ้น   ซึ่งในชีวิตจริง ผมค้นพบวิธีนี้ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม    ที่เมื่ออ่านหรือทำแบบฝึกหัดของวิชาหนึ่งจนเพลีย หรือง่วง ก็สลับไปทบทวนหรืออ่านอีกวิชาหนึ่ง ช่วยเรียกพลังคืนมา    เป็นการค้นพบของเด็กวัยสิบสี่สิบห้า   

แต่เป้าหมายสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่สดชื่นตอนเรียน     อยู่ที่ผลการเรียนต่างหาก    ในการเรียน ผลที่เราต้องการคือ เข้าใจสิ่งที่เรียน และความเข้าใจนั้น เข้าไปอยู่ในความจำระยะยาว (long-term memory)     เมื่อกว่าหกสิบปีก่อนผมไม่รู้จัก long-term memory   รู้แต่ว่าเมื่อเรียนสลับวิชาแล้วผลการเรียนออกมาดี   

มาตอนนี้กำลังอ่านหนังสือเรื่อง Learn Better : Mastering the Skills for Success in Life, Business, and School, or How to become an Expert in Just About Anything    สลับกับหนังสือ มีวิจารณ์จึงมีวิจัย โดยเจตนา นาควัชระ บทความที่ ๒ เรื่อง ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของทฤษฎีในกระบวนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์     เพราะอ่านสลับ จึงเกิดความคิดในการเขียนบันทึกเรื่องพลังของการเว้นช่วง     โดยที่มุมหนึ่งเป็นพลังต่อการเรียนรู้    อีกมุมหนึ่งเป็นพลังต่อสุนทรียะและความบันเทิง   

หนังสือ Learn Better หน้า ๑๘๙ – ๑๙๖ กล่าวถึง space learning   ซึ่งหมายถึงวิธีจัดระบบการเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ให้เว้นช่วงไประยะหนึ่ง (หลายวันหรือหลายสัปดาห์) แล้ววนกลับมาเรียนเรื่องนั้นอีก    อาจโดยการทำแบบฝึกหัด  ทำกิจกรรมแก้ปัญหา  หรือ quiz   จะช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้นอย่างชัดเจน  

หนังสือ มีวิจารณ์จึงมีวิจัย  บทความที่ ๒ เรื่อง ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของทฤษฎีในกระบวนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์ หน้า ๑๐๒ - ๑๐๓   ระบุการใช้หลักการ discontinuity ในศิลปะการแสดง    ที่ตัวแสดงใช้วิธี ร้อง รำ และเจรจาสลับกัน    “เป็นกลวิธีทางศิลปะที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับศิลปะการแสดง”        

การเว้นช่วง หรือสลับช่วงของกิจกรรม จึงเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง     ที่สร้างพลังได้ในหลายกิจกรรม    เป็นหลักการหรือทฤษฎีที่น่าจะใช้ได้ในหลากหลายบริบท    หนังสือ Learn Better บอกว่า มี software ชื่อ Anki ช่วยจัดระบบการเรียนแบบเว้นช่วง  

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 688804เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท