นักตกปลา(ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ): จิตมนุษย์นี้ไซร้ ซับซ้อน/ซ่อนเร้น


กระแสสำนึกอันซับซ้อนสู่การกระทำล้ำเส้นศีลธรรม

นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ): จิตมนุษย์นี้ไซร้ ซับซ้อน/ซ่อนเร้น

       นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)คือหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวน 11 เรื่อง จากหนังสือรวมเรื่องสั้น ในโลกเล่า ของ วัฒน์ ดวงแก้วนักเขียนมือรางวัล จากเวทีการประกวดวรรณกรรมหลายเวที อาทิ รางวัลพานแว่นฟ้า, รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด, รางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม, รางวัลเปลื้อง วรรณศรี, และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย

       แม้ชื่อของ วัฒน์ ยวงแก้วจะยังไม่ค่อยเป็นที่คุ้นนักในหมู่นักอ่าน ทว่าการสร้างสรรค์และพัฒนางานเขียนของเขานั้น เปรียบเสมือน “คลื่นใต้น้ำ”ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง ด้วยการสะท้อนทัศนะที่มีต่อโลก สังคมและมนุษย์ ผ่านมุมมองที่ลึกซึ้งและแยบยล ผนวกเข้ากับกลวิธีการเขียนเล่าเรื่องด้วยเทคนิคแปลกใหม่ ท้าทายผู้อ่าน จึงนำไปสู่การพาหนังสือรวมเรื่องสั้น บันไดกระจกเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เป็นครั้งแรก ในปี  พ.ศ.2554  และประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2563 จากหนังสือรวมเรื่องสั้น ในโลกเล่า

       เรื่องสั้น นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)เป็นเรื่องราวของ ‘นักเขียน’ ที่ขอแยกตัวออกจากครอบครัวกลับมาอยู่บ้านเกิด เพื่อทุ่มเทให้กับการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง กระทั่งค้นพบว่าการ ‘ตกปลา’เป็นกิจกรรมที่ทำให้เขาสามารถเขียนงานได้ดียิ่งขึ้น และเป็นโอกาสที่เขาได้รู้จักกับคู่รักลูกจ้างนิสัยดีคู่หนึ่งอย่าง ‘กร ’และ ‘น้ำ’ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เขาระหว่างที่มาตกปลา

และใช้เวลากับการเขียนหนังสือทุกวัน เมื่อเกิดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ เสมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เขาและ ‘น้ำ’ กระทำล้ำเส้นศีลธรรมอันพึงปรารถนาของสังคม ด้วยการนอกใจคู่ครองของตน แม้นักเขียนจะมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ แต่ทว่าไม่สามารถทัดทานกระแส (น้ำ) แห่งกิเลสตัณหาได้ เกิดเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจ ระหว่างความต้องการและความถูกต้อง ก่อนที่เกมจบลงเมื่อเขาสามารถหลุดพ้นจากวังวนอันเชี่ยวกรากนั้นได้ แม้จะได้ชื่อว่าเคยตกเป็นผู้พ่ายในเกมแห่งอารมณ์ก็ตาม

       ‘กาเมสุมิจฉาจารหรือการประพฤติผิดในกาม’ถูกยกให้เป็นประเด็นที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเขียนอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นประเด็นที่หยิบจับง่ายและพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม ปัญหาของนักเขียนอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกประเด็น หากแต่เป็นความสามารถด้านเทคนิค กลวิธีการนำเสนอ อย่างไร?  ให้มีความน่าสนใจและสร้างความกระหายใคร่รู้ในตัวผู้อ่าน ซึ่ง วัฒน์ ยวงแก้ว ถือเป็นนักเขียนคนหนึ่ง ที่สามารถหยิบประเด็นพื้นฐานนี้ มาแต่งเติมเพิ่มรสชาติให้การจัดวางโครงเรื่อง ด้วยผสานเทคนิคการเล่าเรื่องแบบสลับไปมา จึงทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ลึกซึ้งและน่าสนใจ ซับซ้อนด้วยกลวิธีการนำเสนอ

       เรื่องสั้น นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)มีลักษณะเป็นโครงเรื่องแบบเปิด กล่าวคือ เป็นโครงเรื่องในลักษณะที่เหมือนชีวิตจริงและเน้นพฤติกรรมภายในของตัวละคร ที่เรียกว่า ‘พฤติกรรมเชิงจิตวิทยา’ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการบรรยายพฤติกรรมของตัวละคร ‘นักเขียน’ขณะที่กำลังตกปลา แต่กระแสความคิดกลับจดจ่อไปที่ลูกจ้างสาวซึ่งกำลังเขาอยู่เช่นกัน “... ขณะโยกคันไฟเบอร์ที่โก่งงอ ค่อย ๆ หมุนรอกเก็บสายอย่างระมัดระวัง สลับกับการถูกมันดึงออกไปอีกครั้ง ความคิดมากมายถาโถมไหลผ่าน นักเขียนเหมือนจมลึกลงในไปในกระแสแห่งเรื่องราวอันสับสน ปนเปและเชี่ยวกราก ...” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562: หน้า30)  ซึ่งการเปิดเรื่องในลักษณะนี้ทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าติดตามและสร้างความกระหายใคร่รู้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นผู้เขียนดำเนินเรื่องด้วยการเล่าเรื่องแบบสลับไปมา คือเริ่มจากปัจจุบันย้อนไปหาอดีตแล้วกลับมาที่ปัจจุบันอีกครั้ง

       การผูกปมขัดแย้งของเรื่องปรากฏในตอน บทที่หนึ่ง -ภรรยา กล่าวคือ จากความเชื่อของตัวนักเขียนที่ว่า “ในส่วนลึกของคนเรา ย่อมมีความปรารถนาควบคุมสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ”ทำให้ความรู้สึกที่นักเขียนมีต่อภรรยาเปลี่ยนแปลงไป เขาอ้างเอาเหตุผลด้านอาชีพเพื่อขอแยกออกจากภรรยา ผู้เขียนดำเนินไปอย่างเข้มข้น เมื่อนักเขียนย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด ใช้เวลาอยู่กับการเขียนงานไปพร้อม ๆ กับการตกปลา โดยมี ‘กร’ และ ‘น้ำ’ คู่รักลูกจ้างในสวนยาง ผลัดกันปรนนิบัติให้ความช่วยเหลือแก่เขา 

       เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนักเขียนเสนอจ้างให้กรทำงานเพิ่มเวลาและรายได้ จึงทำให้นักเขียนและน้ำ มีช่องว่างและโอกาสที่จะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น กระทั่งนำไปสู่การมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ... แต่ไม่สุดเสียทีเดียว เพราะกระแสสำนึกบางอย่างที่อยู่ภายในจิตใจของนักเขียน จึงทำให้เขาหวั่นเกรงที่จะทำมันลงไป

       ในตอนสุดท้ายผู้เขียนปิดเรื่องแบบหักมุมเหนือความหมาย ด้วยการให้นักเขียนขับรถออกไปโดยที่มีอะไรติดค้างอยู่ในกระแสความคิด แม้แต่ฉากเหตุการณ์ของเขากับน้ำ ที่พยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก ซึ่งในส่วนนี้ผู้วิจารณ์มองว่าการปิดเรื่องยังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การได้รู้จักใครสักคน และยิ่งไปกว่านั้นตัวละครในเรื่องมีความสัมพันธ์กันถึงขั้นเกือบจะลึกซึ้ง จึงยากที่จะลบลืมเหตุการณ์นั้นไปโดยง่าย

       เมื่อพิจารณาโครงเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่าผู้เขียนสามารถจัดวางโครงเรื่องได้ค่อนข้างสมจริงกับประเด็นทางสังคมที่เลือกหยิบมาเขียน เทคนิคกลวิธีการเล่าเรื่องมีชั้นเชิงในการนำเสนอ ซับซ้อนไม่ทำให้สับสนจนเกินไป ผู้อ่านสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบได้เพราะแต่ละตอนล้วนแต่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แต่ทว่ายังมีจุดที่ทำให้มองเห็นถึงความเป็นอุดมคติปรากฏอยู่ในจุดวิกฤติและการปิดเรื่อง ซึ่งความเป็นอุดมคตินั้นควรเป็นอิสระขาดออกจากประเด็นอันเป็นสัจนิยมที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ โครงเรื่องจึงจะช่วยเสริมให้แก่นเรื่องและองค์ประกอบอื่น ๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน

       พิจารณาถึงแนวคิดสำคัญหรือสารัตถะของเรื่อง พบว่าผู้เขียนต้องการนำเสนอทัศนะที่มีต่อเรื่องราวที่ว่าด้วย ‘กระแสสำนึกอันซับซ้อนและการกระทำอันล้ำเส้นศีลธรรมของคนในสังคมปัจจุบัน’โดยผ่านการมองอย่างมีมิติ กล่าวคือผู้เขียนสามารถสามารถมองทะลุและสะท้อนธรรมชาติส่วนลึกที่เคลื่อนไหวอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์อย่างเข้าถึงและเข้าใจ จากประโยคที่กล่าวว่า “ในส่วนลึกของคนเรา ย่อมมีความปรารถนาควบคุมสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ”นี่คือข้อเท็จจริงของความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ มนุษย์ทุกคนล้วนแต่เคยตกเป็นทาสแห่งอารมณ์และแรงปรารถนาส่วนลึกของจิตใจ มนุษย์ทุกคนล้วนดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งกิเลส ที่พร้อมจะสำแดงฤทธิ์เสมอเมื่อผู้นั้นถลำหลุดออกจากกรอบแห่งศีลธรรมและกระแสสำนึกอันดีงาม

       จึงนับว่าเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถหยิบประเด็นทางสังคมมาขยายความสู่วงวรรณกรรมอย่างมีชั้นเชิงในการนำเสนอ พร้อมกันนั้นยังสามารถสะท้อนแนวคิดอันลึกซึ้งกลับไปสู่สังคมเดิมเพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักและพิจารณาอย่างใคร่ครวญว่าหากวันใดที่พลั้งเผลอก้าวออกนอกกรอบศีลธรรม หากกระแสสำนึกยังแข็งแกร่ง ก็สามารถไหลทวนและออกจากกระแสแห่งกิเลสได้ เฉกเช่น ‘นักตกปลา’

       เมื่อกล่าวถึงตัวละคร ‘นักเขียน’นั้น พบว่าบุคลิกภาพ รวมถึงพฤติกรรมของตัวละครมีเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความซับซ้อนภายในจิตใจ ดังจะเห็นได้จากการที่นักเขียนมีความเชื่อว่า “ในส่วนลึกของคนเรา ย่อมมีความปรารถนาควบคุมสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ”จากความเชื่อนี้จึงนำไปสู่ตอนที่นักเขียนต้องการที่จะควบคุมและมีอำนาจเหนือภรรยา  ซึ่งเป็นไปตามสัญชาตญาณของผู้ชายในแง่ ‘ความแข็งแกร่งและความเป็นผู้นำ’ เมื่อภรรยาต้องขึ้นมาอยู่ในฐานะผู้นำครอบครัวและเร่งสร้างความมั่นคงในหน้าที่การงานจนสำเร็จ ขณะที่นักเขียนกำลังเริ่มนับหนึ่งกับอาชีพใหม่ และตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ต้องกลายเป็น ‘ผู้ตาม’ ทันที เหตุนี้จึงนำไปสู่การตั้งแง่กับภรรยาและต้องการเอาชนะ ด้วยการสร้างข้ออ้างเพื่อแยกตัวออกจากครอบครัว โดยให้เหตุผลว่าต้องการทุ่มเทในกับงานเขียนอย่างจริงจัง ทั้งนี้นักเขียนยังเชื่ออีกว่า เรื่องราวและตัวละครของเขาต้องหลุดพ้นไปจากความซ้ำซาก เป็นอิสระจากร่องรอยเก่าที่เขาเคยชิน จึงนำไปสู่จุดมุ่งหมายใหม่ในการเขียนงานระยะหลัง (คือตอนที่แยกตัวออกมาจากครอบครัวแล้ว) โดยการปล่อยตัวละครให้เป็นอิสระ ซึ่งนั่นหมายถึงการให้อิสระแก่ตัวนักเขียนด้วย นั่นคือความเป็นอิสระจากหน้าที่สามีที่ดีของภรรยา (แรงขับจากสัญชาตญาณความต้องการทางเพศ) และพ่อที่ดีของลูก

       ผู้เขียนสร้างให้ตัวละคร ‘นักเขียน’กลายเป็นเหยื่อทางอารมณ์จนนำไปสู่การกระทำอันล้ำเส้นศีลธรรมระหว่างเขาและน้ำ แต่ความสัมพันธ์นั้นแม้จะเข้าขั้นลึกซึ้งและก็ไม่สุดเสียทีเดียว เนื่องจากกระแสสำนึกซับซ้อนภายในจิตใจของตัวละครนักเขียน ทำให้เขาเกิดหวาดหวั่นที่จะกระทำสิ่งนั้นลงไป แม้พลั้งเผลอดิ่งลงไปในกระแสแห่งกิเลสตัณหาแต่ในท้ายที่สุดเขาก็สามารถว่ายทวนกระแสนั้นออกมาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ผู้เขียนสร้างบุคลิกให้ตัวละครนักเขียนเป็นแบบกลม มีพัฒนาการทางด้านพฤติกรรมตลอดการดำเนินเรื่อง ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกโดยส่วนมาก เป็นภาพแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสมจริงที่ว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ในสังคม ที่มีความซับซ้อน ซ่อนเร้นไว้ด้วยความขัดแย้งมากมายภายในจิตใจของตนเสมอ

       ทว่าในความสมจริงนั้น ยังพบความเป็นอุดมคติของตัวละครอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากฉากเข้ามุ้งของตัวละครน้ำและนักเขียน ซึ่งโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในเสี้ยววินาทีนั้น หากแต่นักเขียนเลือกที่จะหยุดชะงักและผละตัวออกจากกิจกรรมท่ามกลางกระแสความคิดที่หลากไหลและสับสน   ซึ่งหากมองในมุมของความเป็นจริง พฤติกรรมในตอนนี้ให้ความรู้ย้อนแย้งกับความรู้สึกของผู้อ่านในแง่ที่ว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์โดยแท้ ทั้งชาย-หญิง น้อยคนนักที่จะสามารถถอนตัวออกจากแรงปรารถนาทางอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีอันใกล้ ทั้งนี้ผู้วิจารณ์เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของผู้เขียนว่ามีความตั้งใจที่จะนำเสนอพฤติกรรมดังกล่าวของตัวละครเพื่อให้มีความสอดคล้องและส่งเสริมให้แนวคิดหรือสารัตถะของเรื่องนั้น มีความโดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น  

       นักตกปลา (ลึกลงไปในกระแสน้ำ)ถือเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถวางองค์ประกอบของเรื่องราวที่ต้องนำเสนอได้อย่างน่าสนใจและสมจริง (โดยส่วนใหญ่) กล่าวคือสามารถสะท้อนภาพความจริงในสังคมผ่านพฤติกรรมของตัวละครอย่างมีมิติ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีความซับซ้อนแต่ไม่สับสน เสมือนว่าค่อย ๆ กะเทาะและเปิดเปลือยความเป็นคนในเบื้องลึกออกมาสู่การโลดเล่นเป็นตัวละครที่ปรากฏในเนื้อหา ทั้งยังมีความลุ่มลึกในสารัตถะที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอแก่สังคม ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกทางเป็นพฤติกรรมภายนอกเท่านั้น หากแต่เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านได้เข้าไปทำความรู้จักกับความซับซ้อนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจของตัวละครและเมื่อมองสะท้อนกลับมายังตัวของตน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “... จิตมนุษย์นี้ไซร้ ซับซ้อน/ซ่อนเร้น ...”  เหลือเกิน

รายการอ้างอิง

วัฒน์ ยวงแก้ว.(๒๕๖๒).ในโลกเล่า.พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานครฯ:สำนักพิมพ์ผจญภัย

หมายเลขบันทึก: 688800เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท