เด็กระเบิด: วัยวานยังหวานอยู่


เราต่างข่มอัตตาที่แท้จริงไว้ในตัวเอง

 

“... บางทีหากร่างกายที่ใหญ่โตได้ลองเพ่งจ้องเงาสะท้อนแววตาในกระจก

  อาจแลเห็นตัวตนที่แท้จริงของเด็กที่ถูกจองจำนั่งคุดคู้สบตาตอบกลับมาด้วยแวววิงวอน ...”

                                                                     (รยางค์และเงื้อมเงา: หน้า40)

       หนังสือรวมเรื่องสั้น รยางค์และเงื้อมเงา ถือเป็นงานเขียนที่มีความเคร่งขรึม หนักแน่น และทรงพลัง ตามสไตล์การเขียนของ วิภาส ศรีทอง นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ จากนวนิยายเรื่อง คนแคระ ปี พ.ศ.2555  ผู้คร่ำหวอดในวงการน้ำหมึกที่ยังคงรักษาลายเซ็นของสำนวนการประพันธ์ซึ่งมีความลุ่มลึกและย่อยได้ไม่ง่ายนัก

       รยางค์และเงื้อมเงา คือ กระจกที่ส่องสะท้อนให้เรา-ผู้อ่านได้มองเห็นกลไกลึกซึ้งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวตนของมนุษย์ ผ่านมิติของความแปรเปลี่ยน เลื่อนไหล มืดดำ และน่าสะพรึงกลัว โดยการนำเสนอแนวคิด ทัศนะ มุมมองผ่านตัวละคร ประกอบกับการเลือกเลือกสรรค์ภาษาที่ความประณีตละเอียดลออ เรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกเคร่งขรึม หนักแน่นและจริงจัง ทั้งยังมีกลวิธีการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับ แต่มีชั้นเชิงที่ซับซ้อน เดาทางได้ยาก และแฝงสัญลักษณ์ไว้อย่างแยบยล                                                                       

       เด็กระเบิดคือหนึ่งในสิบเรื่องสั้นจากหนังสือ รยางค์และเงื้อมเงา เป็นการเขียนเล่าเรื่องราวของเด็ก ในธรรมชาติและบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งธรรมชาติของเด็กโดยทั่วไปนั้น ควรจะเป็นการฉายภาพให้เห็นถึงความสดใส ร่าเริง เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ แต่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ กลับไม่ปรากฏสิ่งเหล่านั้นอยู่เลย นอกเสียจากการเปลี่ยนเฉดสีความสดใสให้กลายเป็นบรรยากาศที่ถลำดำดิ่งอยู่ภายใต้ห้วงเหวแห่งความมืดดำ เพียงแค่อ่านชื่อเรื่องก็สามารถรับรู้ได้ถึงแรงปะทะที่มุ่งตรงเข้ามาสู่สายตาของผู้อ่าน ให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ติดตามว่าเรื่องราวการระเบิดของเด็ก ๆ นั้นจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงอย่างไร                                         

       ในเรื่อง เด็กระเบิด นั้น แบ่งออกเป็น 5 ตอน ซึ่งแต่ละตอนจะมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันในแง่ของการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทัศนะและธรรมชาติของความเป็นเด็ก ซึ่งเต็มไปด้วยความไร้เดียงสาและมีอิสรภาพในการทุก ๆ การกระทำ ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะถูกย่อยให้เล็กลงและอาจหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ขณะที่ช่วงวัยเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับห่วงโซ่แห่งกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่เข้ามาผูกพันธนาการ 

       การดำเนินเรื่องของ เด็กระเบิดนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เริ่มจากการเปิดเรื่องด้วยตอนที่มีชื่อว่า พี่สาวคนโตกำลังง่วนทาลิปสติกซึ่งเป็นการเรื่องราวที่เผยให้เห็นถึง ความไร้เดียงสา ของเด็ก โดยนำเสนอผ่านตัวละครเด็กหญิงที่แม้จะพยายามปกปิดความเยาว์วัยของเธอ ด้วยการนำเครื่องสำอางมาฉาบเคลือบให้ตัวเองดูเหมือนผู้ใหญ่ แต่ยิ่งปิดกลับยิ่งเปิดเผยให้เห็นถึงความไร้เดียงสาตามธรรมชาติของตน เพราะเพียงแค่การเล่นซน แกล้งตาย ของน้องชายนั้นสร้างความสับสน กระวนกระวายใจให้แก่เด็กหญิงอย่างหนักหน่วง ตามมาด้วยตอนที่มีชื่อว่า ใกล้มืด เด็ก ๆ วิ่งกรูกันออกมา ในตอนนี้เผยให้เห็นธรรมชาติของเด็กที่สามารถคืนสภาพตัวเองจากความเจ็บปวดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ได้ระเบิดระบายความเจ็บนั้นด้วยการร้องไห้จนกว่าจะพึงพอใจ และจบลงด้วยการไม่ติดค้างคาใจกับความทุกข์ใด ๆ ที่ผ่านมา                              

       ในตอนที่มีชื่อว่า ความตายสำหรับบรรดาเด็ก ๆ มีการเสนอมุมมองอันเป็นทัศนะของเด็กที่มีต่อ ความตาย ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน ห่างไกลและไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวเด็กเลย ซึ่งสามารถตีความได้อีกนัยหนึ่งว่า ความตาย เป็นสัญญะของ บรรดากฎเกณฑ์โดยธรรมชาติหรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่สังคมตราขึ้น ซึ่งเด็กเป็นวัยที่ยังไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านั้น จึงทำให้วัยเด็กเป็นวัยที่มีอิสรภาพทางความคิดและการแสดงออกมากที่สุด    

       เหตุการณ์ทวีความน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ ในตอน เด็กชายวิ่งกระฉับกระเฉง เป็นการนำเสนอทัศนะของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเริ่มมีการตระหนักถึงความตายหรือกฎเกณฑ์บางอย่างเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น ผู้เขียนยังคงเป็นการนำเสนอผ่านมุมมองของตัวละครเด็ก และมีการผูกปมให้เกิดความขัดแย้งภายจิตใจของตัวละครเด็กชายผู้มาใหม่ที่ต้องการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แม้จะเห็นต่างกับกติกาของเกมที่ตั้งขึ้น แต่ก็ปล่อยตัวยอมจำนนต่อสิ่งนั้นอย่างที่ไม่มีทางเลือกและสูญเสียอิสรภาพทั้งการคิดและการกระทำไปโดยปริยาย      

       จนถึงจุดวิกฤตในตอนที่เด็กชายปิดตาเดินตามคำบงการของเพื่อนมาหยุดยืนในระยะที่อยู่ห่างจากรางเหล็กที่รถไฟกำลังแล่นผ่านเพียงไม่กี่ก้าว ขณะนั้นเด็กตระหนักถึง ความตาย ที่รุกคืบเข้ามาใกล้ ห้วงเหตุการณ์ที่บีบคั้นหัวใจผ่านไปแล้ว แต่เด็กไม่สามารถคืนสภาพตัวเองจากความเจ็บปวดนั้นได้ และยังติดค้างคาใจอยู่กับความทุกข์ที่ผ่านมา ซึ่งต่างจากตอนที่เด็กยังอยู่ห่างไกลจากความตายและไม่ถูกบงการด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ      

       ตอน ปิดเทอมเด็กไปเที่ยวทะเล เผยให้เห็นถึงการคลายปมของเรื่องโดยผู้เขียนได้จำลองการสูญเสียตัวตนและอิสรภาพของวัยเยาว์เมื่อก้าวเข้าสู่วัยที่เติบโตขึ้น ผ่านตัวละครเด็กที่ถูกกลบฝังใต้พูนทราย และปิดเรื่องด้วยการเขียนเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้อ่านได้พินิจ พิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่อ่านได้อย่างมีอิสระ

       จะเห็นว่าผู้เขียนมีกลวิธีในการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและซับซ้อนด้วยชั้นเชิงลีลาการเขียน อีกทั้งการวางโครงเรื่องนั้นมีความน่าสนใจ และมีความสมจริงกับพฤติการณ์ของมนุษย์ในสังคม โดดเด่นด้วยการลำดับเนื้อหา ให้ผู้อ่านได้มองเห็นธรรมชาติโดยแท้เด็ก ทั้งในแง่ของความไร้เดียงสา การไม่ยึดติดกับความเจ็บปวดในอดีต รวมถึงการมีอิสรภาพทางความคิดและการแสดงออกในด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคมเฉกเช่นผู้ใหญ่ การสร้างปมความขัดแย้งมีความน่าสนใจและใคร่ติดตาม อีกทั้งยังช่วยเสริมให้โครงเรื่องมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น เพราะทำให้ผู้อ่านได้มองเห็นสัมพันธภาพของอิสรภาพในวัยเด็ก

       สารัตถะที่สะท้อนผ่านงานเขียนเรื่อง เด็กระเบิด นั้น คือ ทัศนคติหรือตัวตนของวัยเด็กที่หายไปเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ถูกเคลือบด้วยด้วยร่างกายที่ขยายใหญ่กว่าเดิม แต่ยังจะถูกบังคับให้ทำตามกฎเกณฑ์ กติกาของสังคมนั้น ๆ อีกด้วย จึงทำให้อิสระทางความคิดและการแสดงออกของตัวตนที่แท้จริง ๆ ลดน้อยถอยลง ตามภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งวุฒิภาวะที่เพิ่มมากขึ้น

       เมื่อพิจารณาตามโครงเรื่อง จะเห็นว่าทัศนะของผู้เขียนที่สะท้อนผ่านแก่นเรื่องมีความสอดคล้องสัมพันธ์และสมจริงกับสภาพโดยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งคำว่า เด็กระเบิด อาจตีความได้ว่า เมื่อคนเราโตขึ้นความเป็นเด็กได้ระเบิดหายไป เหลือแต่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกจำกัดอิสระให้อยู่ภายกรอบเกณฑ์เพื่อสนองความต้องการของสังคมที่แตกต่างกันไป หรืออาจจะตีความได้ว่า ด้วยความกดดันรอบด้านในวัยผู้ใหญ่ อาจจะมีสักวันที่ตัวตนเมื่อวัยเด็กซึ่งซุกซ่อนอยู่ที่ใดสักแห่งในตัวเรา อาจจะระเบิดออกมาก็เป็นไปได้เช่นกัน     

       พิจารณาจากแก่นเรื่อง จะเห็นได้ว่าผู้เขียนต้องการนำเสนอทัศนะที่สะท้อนสังคมในแง่ของการแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์โดยทั่วไป ซึ่งมีลักษณะขัดแย้งภายในจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากทุกคนต่างก็ล้วนมีความต้องการที่จะกระทำตามใจตนเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนตอนที่ยังเป็นเด็ก แต่ด้วยความเจริญด้านวุฒิภาวะ ความแปรเปลี่ยนของทัศคติที่มีต่อโลกและการมีชีวิตอยู่ในสังคมที่เป็นเสมือนการจำกัดอยู่ในกรอบ มนุษย์เราจึงได้แต่ข่มความเป็นอัตตาที่แท้จริงไว้ แต่ถึงกระนั้น เราทุกคนต่างก็เคยเผยให้เห็นความเป็นเด็กที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเอง โดยที่อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งนั่นก็คือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ในสังคมนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 688799เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท