ข่าวว่านกจะมา: สัญญะสีหม่น บนเส้นทางอพยพ


อิสรภาพ มิได้หอมหวานสำหรับทุกคน

ข่าวว่านกจะมา : สัญญะสีหม่น บนเส้นทางอพยพ

  เขาว่ามาอย่างนั้น ชื่อวรรณกรรมจำพวก “เสือ” เป็นงานเขียนประเภทที่อ่านง่ายแต่ย่อยยาก และจากประสบการณ์ที่ผ่านพบแลพินิจ พิเคราะห์ด้วยใจบริสุทธิ์ของข้าพเจ้า จึงใคร่ขอยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่า วรรณกรรมจำพวก “เสือ” เป็นงานเขียนที่ละเอียดลออและควรอ่านอย่างยิ่ง แม้จะย่อยได้ไม่ง่ายนักเสียทีเดียว ก็หาใช่การตั้งสมมติเอาตามสำนวนที่คนมักใช้พูดกันติดปากอย่าง เขาว่า

  ความฉกาดของ จเด็จ กำจรเดช ในวงการน้ำหมึก การันตีด้วยรางวัลนักเขียนดับเบิลซีไรต์ จากหนังสือเล่มล่าสุด ชุดเรื่องสั้น คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ สำแดงความดุดันจากการคว้าชัยชนะบนเวทีประกวดวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2563 ความดุดันไม่เพียงแค่ปรากฏผ่านชื่อเรื่องที่ประทับบนหน้าปกหนังสือเท่านั้น 11 เรื่องสั้น ที่รวมอยู่ภายในเล่มก็เข้มข้นไม่แพ้กัน ด้วยการเสนอเรื่องราวอย่างน่าสนใจ ทันสมัยกับเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบัน และร่วมสมัยกับเหตุการณ์ในอดีต เสนอผ่านกลวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายรูปแบบ และโดดเด่นด้วยการใช้สัญลักษณ์สื่อความผ่านสัตว์ชนิดต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งแยบยล

          ดังจะกล่าวถึง สัตว์ชนิดหนึ่ง มีปีก บินได้ อันเป็นสัญลักษณ์สากลที่ผู้คนรับรู้กันอยู่ทั่วไปว่า เป็นอุปมาของ การมีอิสระ/เสรีภาพ อย่างที่ใคร ๆ ต่างก็เคยคิดใฝ่ฝันอยาก ติดปีกบินได้เหมือนนก ชนิดใดก็เลือกกันตามใจมุ่งมาดปรารถนา แต่สำหรับบางคนแม้ปรารถนาอยากเป็นนกนางแอ่นรักรัง กลับเป็นได้เพียงนกอพยพไร้รังอย่างปฏิเสธมิได้ ไม่ใช่เพราะบ้านของพวกเขาตั้งอยู่ผิดที่ผิดทาง หากแต่ความชำรุดของโครงสร้าง อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายแหล่ง ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงในชีวิต บรรดาผู้ได้รับผลกระทบถึงพากันกลายร่างเป็นนกอพยพ โบยบินออกจากรังรักของตน จากรังหนึ่งไปสู่อีกรัง นกอพยพชุดเก่าและชุดใหม่ บินสวนทางกันตลอดเวลา ซึ่งในเรื่อง ข่าวว่านกจะมา ได้หยิบเอาสัญลักษณ์ความเป็นนกในบริบทที่แตกต่างกันมาประกอบเข้ากับการเล่าเรื่อง เสียดเย้ย ยั่วล้อกับความล้มเหลวของระบบสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก   

          ข่าวว่านกจะมา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘การเล่าเรื่อง’ ของ ‘ผม’ นักเขียนอดีตผู้รับเหมาก่อสร้างถึงชีวิตก่อนและหลังหย่าร้าง อันเป็นฉากหลังการหายตัวไปของ ‘อดีตภรรยา’ นานร่วม 3 เดือน หลังจากที่เธอตอบรับข้อเสนอของเขา ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนอิสรภาพ ให้เธอเป็นฝ่ายออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างเต็มที่และยาวนานตามแต่ใจปรารถนา สลับกับเขาจะเป็นฝ่ายอยู่บ้าน (บ้านซึ่งเขาเป็นคนออกแบบเองทั้งหมดด้วยเงินของภรรยา) เลี้ยงลูกแทนเธอ เธอโบยบินออกจากโถงถ้ำ (บ้าน) โดยขาดการติดต่อไปร่วมเดือน จากนั้นเธอก็ติดต่อมา ผ่านช่องทาง ‘อินสตาแกรม’ โดยใช้ชื่อบัญชีว่า ‘นกอพยพ’ ภาพถูกโพสต์ลงบนพื้นที่อย่างอิสระ  บางภาพเป็นสถานที่ที่ ‘ผม’ เคยไปนั่นคือ ‘เกาะกง’ และยังมีรูปภาพอีกมากมายจากหลายสถานที่ หลายมุม หลายประเทศ เสมือนว่าเธอกลายร่างเป็น ‘นก’ ตามข้อความที่เธอเขียนบันทึกไว้ในหนังสือเสริมสร้างกำลังใจ ชื่อ ‘How to fry’ ซึ่งเขา (อดีตสามี) เป็นคนแต่ง อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘ผม’ ที่ดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อนนั้น แท้จริงแล้วทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องที่ ‘ผม’ ฟังเขาเล่าต่อกันมาอีกที          

          จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้องออกตัวก่อนว่า การเขียนเล่าเรื่องโดยย่อ (ย) จากงานฉบับเต็มของจเด็จนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากกลวิธีการดำเนินเป็นการเล่าสลับตัดฉากเหตุการณ์ แต่ทว่าความยากนี้  กลับเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ผู้อ่านได้ตระหนักนึกถึงพลังแห่งของเรื่องเล่า อันเป็นกลวิธีการนำเสนอเนื้อหาจากมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อสังคม เมื่อนำมาประกอบสร้างและถ่ายทอดอย่างเป็นธรรมชาติ จึงทำให้เรื่อง ข่าวว่านกจะมา เป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นด้วยกลวิธีการนำเสนออย่างมีชั้นเชิง

          จเด็จ, ผู้เขียน เล่นกับกลวิธีเล่าเรื่อง เพื่อเน้นความเป็นเรื่องเล่า ด้วยการใช้คำขึ้นต้นประโยคว่า เขาว่า ซึ่งปรากฏย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ตลอดการดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบกับการเล่าเรื่องแบบตัดสลับเหตุการณ์  ไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร‘ผม’ ผู้เล่าเรื่อง “เขาว่าภรรยาผมหายไปสามเดือนกว่าแล้ว” (หน้า78)  “เขาว่าหลังเธอไปแล้วผมก็ใช้เวลาอยู่กับลูก จัดบ้านและตกแต่งสวน” (หน้า116)  จึงทำให้กลวิธีนี้ เสมือนเป็นหลุมพรางทางความคิด ขณะอ่านอาจเกิดความสับสนได้ ผู้อ่านจึงต้องครองสติให้มั่น เพื่อทำความเข้าใจและเชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน

          เปิดม่านวรรณกรรมสุดล้ำสมัย ด้วยการนำผู้อ่านกระโจนลงไปสัมผัสกับฉากพรรณนาถึงการกลายร่างจากคนเป็นนก เขาว่ามาแบบนั้น ตอนแรกขนอ่อนจะงอกจากนิ้วมือ .. ขนอ่อนค่อย ๆ กลายเป็นขนเต็มสีดำขลับสะท้อนไฟ จากนั้นอวัยวะที่มีขนเต็มนั้นแยกออกขนาดเท่า ๆ ตัวนก พูดง่าย ๆ ว่าหนึ่งคนแบ่งร่างออกเป็นนกหลายตัว” (หน้า 69)  การเปิดเรื่องในลักษณะนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพแล้ว ผู้เขียนยังสามารถสร้างจุดสนใจมายังผู้อ่าน จากการผนวกเรื่องราวอันเป็นความจริงและความเหนือจริงเข้าด้วยกัน  เป็นการจุดเร้าอารมณ์ให้ผู้อ่านกระหายใคร่ติดตามฉากตอนต่อ ๆ ไป

          สร้างความต่อเนื่องทางอารมณ์ ด้วยการตัดภาพเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ‘เขมรแดง’เชื่อมโยงกับพื้นที่บริเวณ ‘เกาะกง’ ซึ่งเคยเป็นของประเทศไทยในอดีต แต่ถูกแบ่งแยกออกไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา ผู้เขียนยังคงพรรณนาฉายภาพความโหดร้ายและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี “เอ็งพูดไทยเอ็งก็ตาย ผู้ชายถูกบังคับให้ทำงานหนัก ข้าวสารติดนิ้วมาสักเม็ดก็จะโดนยิง ผู้หญิงโดนข่มขืน   ใครจะอยากอยู่ที่นั่น ” (หน้า 70) การหยิบยกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาประกอบสร้างนี้ อาจทำให้ผู้อ่านแคลงใจอยู่บ้าง นอกจากผู้อ่านจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเขมรแดงแล้ว ยังจำเป็นต้องแปลความหมายจากสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนสร้างขึ้น “หญิงเฒ่าและทุกคนก็กลายร่างเป็นนกนางแอ่นโผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วบินเกาะฝูงข้ามอ่าวไทยมาถึงเมืองคู่แฝดอย่างประจวบคีรีขันธ์” (หน้า 71)  เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราว ที่เป็นลักษณะของเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า

          ปมขัดแย้ง เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเข้มข้น ซึ่งผู้เขียนสร้างปมขัดแย้งเริ่มต้นจากสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด นั่นคือ สถาบันครอบครัว เพื่อเป็นสัญญะเชื่อมโยงไปสู่สถานบันที่ใหญ่ขึ้นพร้อมกับปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของสังคม ดังที่กล่าวมานี้ พบว่าความขัดแย้งภายในเรื่องจัดเป็นความขัดแย้งประเภทมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่าง ‘ผม’ และ ‘ภรรยา’ เพราะทัศนคติและวิถีชีวิตที่ไม่ตรงกัน  “ผมซื้อหนังสือบ้านและสวนมากมาย ตกแต่งบ้านให้สวยและน่าอยู่ตามรูปหนังสือ” (หน้า 99) ขณะที่ “เธอขอแค่มีบ้านก็พอ บ้านที่มีพ่อแม่ลูก” (หน้า98) จะเห็นว่าทั้งสองคนให้ความสำคัญกับคำว่า บ้าน ต่างกัน

          ประเด็นนี้ อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนไม่เพียงแต่เสนอสภาพปัญหาภายในครอบครัวเท่านั้น นัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสะท้อนให้เห็นว่า ทุกสังคมย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ ความขัดแย้งมีหลายประเภท ความรุนแรงก็หลายระดับทั้งกรณีที่สามารถประนีประนอมกันได้และไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องและตรงกับสภาพจริงของทุกสังคมในโลก เฉกเช่นความไม่ลงรอยกันของ ‘ผม’ กับ ‘ภรรยา’ นำไปสู่การหย่าร้างและการล่มสลายของสถาบันครอบครัว

          หลังจากที่แยกทางกันครบ 1 ปี ‘ผม’ กลับมาที่บ้านอีกครั้ง  “แค่บอกให้เธอลองออกไปข้างนอก  ทิ้งผมอยูในโถงถ้ำนี่บ้าง ขอให้เธอไปเที่ยว ไปให้ไกลเท่าที่อยากไป” (หน้า 82) ดังนั้นภรรยาจึงออกจากบ้านไป และการติดต่อกลับมาทางหลังจากที่ขาดการติดต่อร่วมเดือนผ่านอินสตาแกรม เสมือนว่าเธอได้กลายร่างเป็นนกบินไปทุกที่ ‘ผม’ เคยตระเวนไปอย่างมีอิสระ

          เรื่องราวที่เริ่มต้นจากความขัดแย้งนี้เอง นำไปสู่การแตกแขนงเชื่อมโยงไปสู่เรื่องเล่าอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่  มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ไปในทิศทางเดียวกัน เรื่องเล่าหลังการหายตัวไปของภรรยา เชื่อมโยงไปสู่เรื่องเล่าในอดีตของตัวละคร ‘ผม’ ไม่ว่าจะเป็นความร้าวฉานภายในครอบครัว การเดินทางไปที่ ‘เกาะกง’ แล้วพบเจอกับคนไทยพลัดถิ่น “เขาว่าผมย้อนกลับไปเกาะกงในอีกสองวัน” (หน้า90) เรื่องเล่าเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ผู้ลี้ภัย ในดินแดนต่าง ๆ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างบ้านและคอนโดนกนางแอ่น ตลอดจนการให้ความสำคัญกับส่วนประกอบของชีวิต

          จากที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นเรื่องราวที่ถูกนำมาผูกร้อยเรียงกันเป็นโครงเรื่อง อย่างมีความสัมพันธ์ เลื่อนไหลกันตลอดทั้งเรื่อง ประกอบกับการใช้ประโยคความเดียวในการสื่อสาร สามารถเข้าใจง่าย ใช้ภาษาระดับไม่เป็นทางการ และการดำเนินเรื่องแบบตัดสลับเหตุการณ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของการเล่าเรื่องอย่างแท้จริง เพราะความเป็นจริงนั้น ขณะที่กำลังเล่าเรื่องหนึ่งอยู่ ผู้เล่าอาจจะหยิบยกอีกหลาย ๆ เรื่องมายำรวมกัน แม้จะ ‘ออกอ่าว’ ไปบ้าง  แต่ท้ายที่สุดแล้วก็สามารถ ‘ขมวดปม’ ให้อยู่ในแผ่นผืน ‘ทะเล’ เดียว ดังที่ จเด็จ, ผู้เขียนได้สรุปไว้ตอนท้ายเรื่อง “ที่ผมพูดทั้งหมดนี่ก็ฟังเขาว่ามาเหมือนกัน”  (หน้า 138)   

          ซึ่งยังคงเป็นไปเพื่อย้ำถึงเจตนาของผู้เขียน ในการถ่ายทอดมุมมองทางวรรณกรรม ด้วยการ ‘เล่าเรื่อง’ แบบ ‘เรื่องเล่า’ ซึ่งกลวิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบของเรื่องเล่าหรือมุขปาฐะ อันเป็นธรรมชาติของการสื่อสารที่ไหลเวียนเป็นวัฏจักรอยู่ทุกยุคทุกสมัย มิได้จำกัดเพียงแค่นิทานหรือตำนานที่เล่ากันปากต่อปากเท่านั้น หากแต่ในงานวรรณกรรม อักขระทุกตัวก็สามารถแสดงบทบาทในรูปแบบมุขปาฐะได้เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากกลวิธีการถ่ายทอดจากเรื่อง ข่าวว่านกจะมา

          คำว่า เขาว่า ปรากฏในเนื้อหาของเรื่องเกือบทุกย่อหน้า ทุกบรรทัด เรื่องเล่าของตัวละคร ‘ผม’ ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงตอนจบ จึงล้วนแต่เป็นเรื่องที่เขาว่าทั้งสิ้น ซึ่งนัยของคำหรือสำนวนที่คนมักพูดกันติดปากอย่าง เขาว่า นั้น คือการหลีกเลี่ยงหรือไม่ยืนยันถึงที่มาแท้จริงของแหล่งข้อมูล อย่างไรก็ตามไม่ว่า ผู้พูดจะเป็นคนว่าเสียเอง หรือ ผู้พูดจะฟังเขาว่ามาอีกที ล้วนเป็นผลให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง

          การที่ผู้เขียนย้ำคำว่า เขาว่าซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ประกอบกับเล่าเหตุการณ์ตัดสลับกันไปมา จนบางครั้งอาจทำให้ผู้อ่านหลงทิศจับต้นชนปลายไม่ถูกนั้น นอกจากจะให้ผู้อ่านได้ซึมซาบกับกลิ่นอายความเป็นเรื่องเล่าแล้ว  ยังเป็นการเสียดสียั่วล้อ ถึงบริบทการสื่อสารและการส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างฉาบฉวยของคนในสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารสะดวกและรวดเร็วเช่นนี้ คนจำนวนไม่น้อยเสพและส่งข่าวต่อ ๆ กัน โดยไม่สนใจว่ามีความจริงหรือลวงมากน้อยเพียงใด การขาดสติสัมปชัญญะ คิดใคร่ครวญ จึงอาจนำมาซึ่งความสูญเสีย กลายเป็นเหยื่อตกหลุมพราง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวออกสื่อเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างอยู่ทุกวัน ประเด็นนี้จึงถือได้ว่าเป็นแนวคิดสำคัญหรือสารัตถะที่ผู้เขียนต้องสื่อสารมายังผู้อ่าน

          สัญญะที่ปรากฏในเรื่องมีความโดดเด่นและน่าสนใจเช่นเดียวกัน มุมมองทางสังคมอันลึกซึ้งและแยบยลของผู้เขียน สู่การผนวกบริบทระหว่างคน สัตว์ สถานที่ ในแง่ของพฤติกรรมหรือลักษณะที่มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มาใช้สัญลักษณ์สื่อความหมาย เพื่อเปรียบเทียบ เพื่อเสียดสียั่วล้อกับความเป็นมนุษย์และสภาพสังคม ดังที่ผู้เขียนเลือกใช้ ‘บ้าน’ อันเป็นสถานที่และฉากสำคัญที่ปรากฏในปมความขัดแย้งระหว่าง ‘ผม’ กับ ‘ภรรยา’ จากวิถีชีวิต ความคิด ที่ไม่สัมพันธ์กัน จึงไม่สามารถปรับตัวอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกันได้   จึงกลายเป็นสาเหตุของการหย่าร้าง และ ‘ภรรยา’ เป็นฝ่ายออกจากบ้านไปตามข้อเสนอของ ‘ผม’  “แค่บอกให้เธอลองออกไปข้างนอก ทิ้งผมอยูในโถงถ้ำนี่บ้าง ขอให้เธอไปเที่ยว ไปให้ไกลเท่าที่อยากไป” (หน้า 82)

          เมื่อพิจารณาตามสัญญะ อาจกล่าวได้ผู้เขียนสร้างสัญลักษณ์ให้ บ้านสื่อความได้ทั้งความตรงและความหมายโดยนัย กล่าวคือหมายถึงที่อยู่อาศัย สังคม และประเทศ นอกจากนี้ วิถีชีวิต ความคิด ที่ไม่สัมพันธ์กันของ ‘ผม’ กับ ‘ภรรยา’ อันเป็นปัญหาที่สร้างความร้าวฉานในบ้าน คือสัญลักษณ์แทนความขัดแย้งจากหลายสาเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในสังคมหรือประเทศนั้น ๆ เช่น สงคราม ความรุนแรง การประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เป็นต้น

          ทั้งนี้การหย่าร้างและการออกจากไปของ ‘ภรรยา’ ตามเงื่อนไขอิสรภาพที่ ‘ผม’ เสนอแก่เธอนั้น  แฝงนัยสำคัญของผลกระทบจากความขัดแย้ง ที่นำไปสู่ความสูญเสีย ความแตกแยก การหลีกหนีจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือประเทศนั้น ๆ แม้ว่าเงื่อนไขที่ ‘ผม’ เสนอให้แก่ ‘ภรรยา’ จะเต็มเปี่ยมด้วยการมีอิสระ เสรีในชีวิต แต่การที่จะก้าวออกจากบ้าน  อันหมายถึงแผ่นดินหรือประเทศอันเป็นที่รัก อิสรภาพดังกล่าวนั้น ก็มิได้หอมหวานสำหรับทุกคน

          ประเด็นของ ‘ภรรยา’ ที่ออกจากบ้านไปนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาระดับโลกอย่างกรณีผู้ลี้ภัย  ซึ่งพวกเขาเหล่านี้หนีสงครามและความรุนแรงภายในประเทศของตน สามารถอิสระในการอพยพไปพักพิงชั่วคราวในประเทศโน้นที ประเทศนี้ที ประเทศใดก็ได้ ที่ไม่ใช่ประเทศตัวเอง เช่นเดียวกับปัญหาคนไร้บ้าน   คนเร่ร่อน คนจรจัด พวกเขาเหล่านี้ก็มีอิสระในการเลือกสถานที่หลับนอน ตามสวนสาธารณะบ้าง ตามสถานีรถไฟบ้าง ตามสะพานลอยบ้าง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามวาระและโอกาส

          อีกกรณีหนึ่งที่ปรากฏในเรื่อง นั่นก็คือ กรณีของคนไทยพลัดถิ่นเกาะกง พวกเขาเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับกรณีที่กล่าวมาข้างต้น แต่ต่างกันตรงที่ คนไทยเกาะกงมีอิสรภาพและเป็นพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินแม่ เพราะ “คนไทยที่นั่นมีสัญชาติฝรั่งเศสได้สักพักก็กลายเป็นเขมร เป็นคนอื่นในบ้านตัวเอง” (หน้า127) คนไทยเกาะกง อยู่เขมรเขาเรียกว่าไทย อยู่ไทยเขาเรียกว่าเขมร ในอดีตนั้นอิสรภาพของพวกเขาก็มิได้หอมหวานอย่างที่ควรเป็น เนื่องจาก “เขมรแดงถือว่าคนที่เกาะกงเป็นประชาชนใหม่ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างประเทศ” (หน้า127)

           พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างกล้า ๆ กลัว ๆ มีอิสรภาพแค่เพียงเหยียบยืนบนแผ่นดินเขมรเท่านั้น เพราะถูกกดขี่ ข่มเหง ทารุณทั้งร่างกายและจิตใจ “เอ็งพูดไทยเอ็งก็ตาย ข้าวสารแพงกว่าทอง ผู้ชายถูกบังคับให้ทำงานหนัก ข้าวสารติดนิ้วมาสักเม็ดก็จะโดนยิง ผู้หญิงถูกข่มขืน ใครยังจะอยากอยู่ที่นั่น” (หน้า70) การมีอิสรภาพอย่างข่มขื่น รวมถึงความผูกพัน ความสำนึกรักในแผ่นดินแม่ จึงเป็นสาเหตุให้คนไทยพลัดถิ่นเกาะกง ตั้งกลุ่มรวมตัวเพื่ออพยพกลับกลับไปเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ ด้วยการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลกับรัฐบาลไทย การเรียกร้องดังกล่าวมีทั้งผู้ที่สมหวังและผิดหวัง ผู้ที่ผิดหวังยังคงเฝ้ารอวันที่ดินแดนส่วนนี้จะได้กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของไทยอีกครั้งการรอคอยเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพอันหอมหวานนั้นยาวนานเสมอ จึงเป็นนัยสำคัญที่สอดคล้องกับการตั้งชื่อเรื่องว่า ข่าวว่านกจะมา

          สัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ นก  ซึ่งการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์เช่นนี้ เป็นไปตามแนวคิดในการนำเสนอของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ ทั้งนี้เรื่อง ข่าวว่านกจะมา ปรากฏการใช้ นก เป็นสัญลักษณ์ถึง การมีอิสรภาพ โบยบิน และการอพยพ เป็นนัยเพื่อเปรียบเทียบและแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในบริบทสังคมและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น  ผู้ลี้ภัย คนเร่ร่อน คนจรจัด คนไทยพลัดถิ่นในดินแดนต่าง ๆ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างมีอิสรภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน บางกลุ่มอพยพออกจากประเทศตน ในขณะที่บางกลุ่มอพยพกลับประเทศตน “นกทุกตัวบนโลกบินอพยพสวนทางไปมา” (หน้า71) คนเหล่านี้มีอิสรภาพเหมือนนก แต่เป็นอิสรภาพที่ขมเฝื่อนสิ้นดี

          ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ นกนางแอ่น แทนกลุ่มคนอพยพดังที่กล่าวไปแล้วนั้น เนื่องจากพฤติกรรมของ  นกนางแอ่น คือ เป็นนกรักรัง มีรักเดียวคู่เดียว ซึ่งเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อความร่วมกับพฤติกรรมของกลุ่มคนอพยพ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกรณีของคนไทยพลัดถิ่นเกาะกง ที่มีความปรารถนาจะอพยพกลับมายังประเทศอันเป็นที่รักของตน “พวกนั้นยืนกันที่หน้าผม แล้วกระโดดกลายเป็นนกนางแอ่นบินข้ามอ่าวไทย” (หน้า128)เพราะไม่ว่าคนเราจะเดินทางไปไกลสักแค่ไหน แต่ลึกแล้วในใจยังคงมีความผูกพัน  ให้หวนคิดถึงถิ่นที่จากมา

          การใช้สัญลักษณ์ นกนางแอ่น ยังเชื่อมโยงเข้าไปสู่ประเด็นที่ผู้เขียนพูดขึ้นเพื่อเสียดสีสังคม ในเรื่องความเห็นแก่ตัวของมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสัตว์ กรณีที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ การสร้างคอนโดนกนางแอ่นในพื้นที่ กันตัง ปากพนัง ปัตตานี นราธิวาส “ตึกเก่าที่ถูกทำให้เป็นรังนกนางแอ่น และมีตึกใหม่ที่สร้างให้นกนางแอ่น ตึกพวกนั้นบอกกได้ว่าคนที่นี่เริ่มมองหาทางทำมาหากินใหม่ ๆ ” (หน้า132) ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่อยากร่ำรวย จึงสามารถทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งกับสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างนก “พวกนั้นแทงรังที่หนึ่งกับรังที่สอง กระทั่งรังสุดท้ายที่นกกลั่นเอาเลือกออกมาสร้างแล้วพวกเขาก็ยังแทงมัน” (หน้า132)

          ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ต้องพื้นที่ใหญ่เกินไป คนบางกลุ่มสร้างบ้านหลังใหญ่โต ขยายพื้นที่อาณาเขตแสดงถึงความยิ่งใหญ่และความร่ำรวยของตน ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ยังนอนบนกระดาษลัง บนพื้นถนน บนเก้าอี้ในสวนสาธารณะ “ถ้ามนุษย์สร้างบ้านให้มีขนาดเหมาะกับการใช้จริง ๆ โลกจะบ้านเพียงพอให้กับทุกคน” (หน้า100) ผู้เขียนกะเทาะเปลือกสังคมอันเป็นประเด็นที่แสงส่องถึงได้อย่างเข้มข้นและดุดัน  แม้เพียงแก่นแท้ในใจมนุษย์ที่แสงจะส่องไม่ถึง ผู้เขียนก็พยายามถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมอันฉาบฉวยของตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่อง เปรียบเสมือนกระจกส่องสะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคม ให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและใคร่ครวญ ทบทวนหัวใจตัวเอง  

          ไม่ควรคาดหวังเอาแต่ความสมจริงจากตัวละครของจเด็จ เพราะหากสามารถสร้างตัวละครจากคนให้กลายร่างเป็นนกได้ แม้ “ผมยังแข็งแรงแม้จะอายุร้อยสิบสองปี” (หน้า133) ก็ถือเป็นเรื่องประหลาดอย่างจงใจให้เป็น แม้จะไม่สมจริงเสียทั้งหมด แต่ก็นับว่าสมเหตุสมผลกับความมุ่งหมายของตัวผู้เขียน ในการสร้างสรรค์ผลงานแนวสัจนิยม มหัศจรรย์ ความเป็นสัจนิยมปรากฏชัดในเหตุการณ์ที่ผ่านทอดผ่านเสียงเล่าที่เย้ยหยัน เสียดสีสังคม ซึ่งออกแบบและก่อสร้าง โดยมนุษย์ผู้อาศัย ความมหัศจรรย์ อันเกิดจากการเลือกใช้สัตว์เป็นสัญญะสื่อความ เสียดเย้ยและยั่วล้อกับความเป็นมนุษย์ ‘คนกลายเป็นนก’ และ ‘นกกลายเป็นคน’ 

          ขณะที่กำลังกระโจนลงไปแหวกว่ายในกระแสแห่งการเล่าเรื่อง อาจมีบางคำถามผุดขึ้นมาในกระบวนการทางความคิด แล้วหยิบคว้าสิ่งนั้นมาพิจารณาว่า ‘หรือคน/สัตว์ แท้จริงแล้วไม่ต่างกันในแง่ของพฤติกรรม’ สอดคล้องกับทรรศนะของอ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ที่ได้วิจารณ์ประเด็นนี้ไว้ว่า ‘การกล่าวถึงสัตว์เป็นคน หรือ คนเป็นสัตว์ ในลักษณะคล้ายภาพลวงตา เพราะนักเขียนต้องการใช้สัตว์สื่อสัญญะ เพื่อเสียดเย้ยความเป็นมนุษย์’ (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. 2563: ไม่ปรากฏเลขหน้า)

          เมื่อพิจารณาทุกองค์ประกอบทางวรรณกรรมอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ที่มีความสอดรับและผูกร้อยกันเป็นโครงเรื่องอย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดที่ครอบคลุมทั้งสาระและความบันเทิง โดยเฉพาะแนวคิดสะกิดต่อมสำนึก ซึ่งผู้อ่านจะต้องละเลียดอย่างละเมียดละไมทุกตัวอักษร เพื่อให้หัวใจได้สัมผัสรสคำและรสความที่ปรากฏบนเส้นบรรทัด

          ชั้นเชิงกลศิลป์ของจเด็จ อ่านรอบเดียวจึงเอาไม่อยู่ แต่ยิ่งอ่านหลายรอบ สาระและมุมมองที่ได้รับก็ยิ่งกว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะเรื่องราวทั้งหมดที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องในสังคมที่ทุกคนต่างเคยประสบพบเจออยู่ทุกวัน ซ้ำ ๆ วน ๆ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ใครก็ตามที่ได้อ่านเรื่องสั้นจากหนังสือเล่มนี้  ด้วยสายตาคู่เดิม แต่มุมมองและทัศนคติที่มีต่อสังคมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

          กลศิลป์การเล่าเรื่อง โดดเด่นด้วยเน้นให้เห็นพลังของเรื่องเล่า ไม่เพียงช่วยให้การดำเนินเรื่องน่าติดตามเท่านั้น หากแต่แฝงด้วยแนวคิดอันเป็นสารัตถะสำคัญซึ่งสอดรับกับกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของการสื่อสารอย่างฉาบฉวยในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การเล่าเรื่องให้มีความน่าสนใจต้องประกอบด้วยวรรณศิลป์เพื่อสื่อความ ซึ่งผู้เขียนสามารถถ่ายทอดและสื่อความหมายผ่านสัญลักษณ์ได้อย่างลึกซึ้งแยบยล ผู้เขียนเลือกใช้สัญญะที่มีความสากล แต่เลือกที่จะสื่อความหมายในมุมมอง สีหม่น กล่าวคือ นก เป็นสัญลักษณ์ของการมีอิสรภาพ เป็นความฝันใฝ่ของใครหลายคนที่อยากจะบินได้เหมือนนก แต่ในเรื่อง ข่าวว่านกจะมา นั้น สะท้อนมุมมองของอิสรภาพอีกด้านหนึ่ง ที่บางคนไม่พึงปรารถนจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งผู้เขียนสามารถตีความและนำเสนอความคิดนี้ตามบริบทของสังคมโลกอย่างแท้จริง

          สำหรับใครที่กำลังชั่งใจว่าจะหยิบหนังสือเล่มนี้มาเปิดอ่านดีหรือไม่ ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ลองเปิดใจ   ติดปีกให้จินตนาการ ปลดปล่อยความคิดให้โบยบินอย่างอิสระในดินแดนแห่งวรรณกรรม เพื่อสัมผัส พิสูจน์ และตัดสินด้วยตัวของตน ว่าวรรณกรรมซีไรต์เล่มนี้ ควรแก่การทำความรู้จักอย่างที่ ‘เขาว่า’ จริงหรือ

รายการอ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช. (2563). คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ. กรุงเทพมหานครฯ : สำนักพิมพ์ผจญภัย.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2563).คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ เรื่องเล่า กลวิธีการเล่าเรื่องและสัญญะ

      ออลแมกกาซีน. 15(8). ค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 1,2564, จาก https://bit.ly/3reMycI

หมายเลขบันทึก: 688803เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2021 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท