เสวนาการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย (ตอนที่ ๑)


          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ผู้เขียนได้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการ Online เรื่อง“ความก้าวหน้าและความท้าทายในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย” จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับ โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (โครงการ SDG Move) มีวิทยากร ๒ ท่าน คือ ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ผศ.ชล บุนนาค ผู้จัดการ SDSN Thailand ผู้อำนวยการโครงการ SDG Move และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

          จากการเสวนาฯ ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจแนวคิด แนวทางการขับเคลื่อน SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015  ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ UN 

          เรื่องการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย ดร.ธัชไท ได้นำเสนอให้ฟังว่า ในยุคแรกจะเป็นการสานต่อ MDGs คือ Millennium Development Goals หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Summit) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ ๒๕๔๓ (ค.ศ. 2000) ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ๑๘๙ ประเทศ ได้ให้คำรับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดวาระการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคนและลดช่องว่างการพัฒนาให้เป็นจุดเริ่มต้นศตวรรษใหม่ 

          ส่วนการขับเคลื่อน SDGs ในระย ๕ ปีแรก (ค.ศ.2015-2020) ไทยได้มีการตั้งกลไกระดับชาติเพื่อขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย คือ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ กพย. มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้ SDGs เป็นวาระของชาติ  มีการจัดทำรายงานการเผยแพร่รายงานทบทวนระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review-VNR) และมีการนำเสนอในเวทีทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ในปี ค.ศ. 2017 มีการนำร่องการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ และมีการจัดทำรายงานความก้าวหน้า SDGs ระยะ ๕ ปี 

          สำหรับในปี ค.ศ. 2021-2030 เป็นช่วง “Decade of Action” ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) โดยได้มีการจัดทำ Thailand’s SDG Roadmap เพื่อให้ทุกภาคส่วนของไทยเดินไปในทิศทางเดียวกัน มีการเชื่อมโยงกับแผนทุกระดับกับ SDGs  มีการจัดทำตัวชี้วัด SDGs ที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย และมีระบบติดตามและประเมินผล SDGs ที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะยังหาข้อสรุปในเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ คือ การพัฒนาตัวชี้วัดและข้อมูล
ให้ได้มากที่สุด

          นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาขับเคลื่อน SDGs ที่เป็นรูปธรรม โดยไม่ใช่ภาครัฐเป็นคนนำ แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเน้นการขยายลงไปในระดับพื้นที่ (SDGs Localization) เพื่อต้องการให้เกิด Active Partners โดยได้มีการทำความเข้าใจกับสถานศึกษา อปท. ภาคเอกชน โดยมีจังหวัด เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือในระดับพื้นที่บ้างแล้ว

          (ติดตามตอนต่อไป)

          นภินทร ศิริไทย

คำสำคัญ (Tags): #km#SDGs
หมายเลขบันทึก: 688677เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท