โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

พระริมฝั่งแควใหญ่


โสภณ เปียสนิท

.....................

        เมื่อก่อนเข้าพรรษาของปีพุทธศักราช 2563 พระอาจารย์ที่สำนักสงฆ์เขาหินเทินหัวหินมอบหมายให้ผมขับรถพาพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางกลับไปเยี่ยมโยมบิดาของท่านที่เมืองกาญจน์ เพราะท่านทราบว่า ผมมักจะเดินทางกลับบ้านตอนบ่ายวันศุกร์เสมอๆ ถึงวันนัดหมายผมเดินทางไปรับท่านแล้วเดินทางไปด้วยกัน ขณะนั่งรถไปด้วยกัน จึงถือโอกาสสนทนาธรรมไปด้วยระหว่างเดินทาง ทราบว่า บ้านของท่านอยู่ที่ชุกโดนใกล้วัดไชยชุมพลชนะสงคราม หรือชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าวัดใต้ บิดาของท่านย่างเข้าสู่วัยชรานานแล้ว เจ็บป่วยตามสังขาร ส่วนโยมแม่ของท่านอ่อนกว่าพ่อสิบกว่าปี ยังมีเรี่ยวแรงดีอยู่พอควร

            ผมชวนพระอาจารย์ท่านสนทนาระหว่างเดินทาง “พระอาจารย์บวชมาหลายปีแล้วหรือครับ” “นับถึงตอนนี้ก็สิบกว่าปีแล้วโยม” “อ่อ ครับ บวชที่วัดไหนหรือครับ” “บวชที่วัดในไร่ สายหลวงปู่ชาที่เมืองกาญจน์โน่นแหละ ชอบแนวปฏิบัติแบบหลวงปู่ชาเลยบวชที่นั่น” “แล้วจำพรรษาที่วัดนี้ตลอดเลยหรือครับ” “เปล่าดอกโยม บวชแล้วระยะหลังๆ อาตมาเดินทางไปอยู่วัดต่างๆ ในสายของหลวงปู่ชาหลายแห่งด้วยกัน สำนักสงฆ์เขาหินเทินหัวหินก็เคยมาจำพรรษา เลยได้รู้จักหลวงพ่อเหนาะ หัวหน้าสงฆ์ นี่ก็เพิ่งไปจำพรรษาที่วัดแถวลำพูนโน่น”

            “มีแรงบันดาลใจอะไรหรือครับที่ทำให้บวช” ผมถามเรื่อยๆ เพื่อใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ “จริงๆ แล้วอาตมาเคยบวชมาก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่าครบพรรษาแล้วก็สึกหาลาเพศไป ออกไปผจญชีวิตอีกพักหนึ่ง ชีวิตพลิกผันต้องออกจากงานประจำที่การไฟฟ้า เลยเดินทางไปรับเหมารับจ้างไปทั่ว ทำทุกอย่างที่ได้เงิน ได้เงินแล้วก็เอามากินมาเที่ยว วนอยู่อย่างนี้หลายปีจนรู้สึกว่า ชีวิตไม่น่าจะมีแค่นี้ เลยคิดอยากบวชขึ้นมาเอง ซึ่งมันก็แปลกๆ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม”

            “ครับ ชีวิตมันก็แปลก มีทางเดินของตัวเอง ทางใครก็ทางใคร” ผมเสริมแนวคิดของพระคุณเจ้า “บวชแล้วเป็นไปตามที่คิดไว้ไหมครับ” ผมถามเป็นเชิงชวนคุยต่อ พระคุณเจ้ามองไปบนถนนข้างหน้า บางช่วงคดโค้ง บางช่วงทอดตรงยาวไกล ผ่านบ้านเรือนและป่ารกสองข้างทาง เหมือนทบทวนความทรงจำยาวนานในชีวิตพระสงฆ์ของท่าน “มันก็ได้บ้างไม่ได้บ้างอย่างที่ใจเราคิดนะโยม บางช่วงมันก็เป็นไปตามที่เราคิด บางช่วงมันก็ห่างไกลจากที่เราคิดไว้”

            พระอาจารย์ตอบแบบกึ่งรับกึ่งสู้กึ่งดีกึ่งร้าย “อย่างไรหรือครับท่านอาจารย์” ผมสอบถามท่านเรื่อยๆ ขณะขับรถไปตามเส้นทางหัวหิน ราชบุรี บ้านโป่ง กาญจนบุรี “คิดว่าจะเร่งปฏิบัติธรรมให้ผ่านพ้นกิเลสนานาไปได้อย่างรวดเร็ว มันก็ยังไปได้ไม่ถึงไหนดั่งหวังไว้” “มีอุปสรรคอะไรในการปฏิบัติหรือครับ” ได้ยินท่านพูดเรื่องการปฏิบัติผมดีใจ เพราะการปฏิบัติธรรมสมัยนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันสักเท่าไร คนที่ปฏิบัติไม่ว่าพระหรือโยมมีน้อยอยู่แล้ว แถมคนที่ปฏิบัติส่วนหนึ่งคิดว่า การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรบอกกัน

            พระคุณเจ้านั่งนิ่งไตร่ตรองนิดหน่อย “เวลาเร่งมากก็ตื้อ ต้องผ่อนลงมา ผ่อนมากไปก็เผลอเข้าอีก เรียกว่า เข้าทางสายกลางยังไม่ถูกต้อง เร่งมากหลายเป็นเพ่ง ผ่อนลงก็กลายเป็นเผลอ เพ่งเผลอๆ อยู่อย่างนี้ อาตมาเลยเห็นว่า ยังไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ส่วนที่ได้คือ ได้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เดินช้าๆ แต่ก็ยังไม่ถอยหลังหวังจะสึกกลับไปครองเรือนอีก” “แล้วพระคุณเจ้าไม่ชอบอยู่ในวัดร่วมกับองค์อื่นๆ หรือครับ” “ใช่ๆ นิสัยชอบอยู่องค์เดียวไม่ต้องอยู่กับใคร แต่ว่าอยู่ร่วมกับรูปอื่นได้ ถ้ามีแนวทางและวัตรปฏิบัติไปในทิศทางเดียว อาตมาชอบแนวทางหรือวัตรปฏิบัติแบบหลวงพ่อชา พ่อแม่ครูอาจารย์ที่สืบทอดกันต่อๆ มา”

            “อย่างไรหรือครับ แนวทางปฏิบัติแบบสายหลวงปู่ชา” ผมถือโอกาสถามเรื่องของพระอาจารย์ชา หรือหลวงปู่ชา เคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านมานานมากแล้ว ท่านตอบสบายๆ “เช้ามืดตื่นขึ้นทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม ทำสมาธิภาวนาไป สว่างก็บิณฑบาต สองโมงก็ฉันอาหารตามมีตามได้ มีอาหารมากก็ลดการเดินลง มีน้อยก็ฉันแต่น้อย วันละมื้อ บ่ายมีฉันน้ำปานะ น้ำชากาแฟได้บ้าง เดินจงกรมทำสมาธิภาวนาไป ผ่อนลงหน่อยก็ทำไม้กวาดไว้กวาดลานวัดลานกุฏิไป เย็นทำวัตรสวดมนต์เย็นทำสมาธิภาวนาต่อ แล้วก็จำวัด ชีวิตพระป่าสายหลวงปู่ชาในแต่ละวันก็วนเวียนอยู่ไปอย่างนี้แหละโยม

            ผมพาท่านกลับไปถึงบ้านราวสองสามทุ่ม จึงนิมนต์ท่านพักที่บ้านหลังใหม่ที่สร้างไว้ใกล้บ้านหลังเดิม แต่ยังไม่เสร็จดี เช้านิมนต์ท่านฉันภัตตาหารเช้าถือเป็นการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ไปในตัว เชิญพี่น้องสองสามคนมาร่วมทำบุญ ถวายภัตตาหารแล้วรับพรพวกเรารับประทานอาหารร่วมกันคนละเล็กคนละน้อย นัดหมายท่านว่า บ่ายๆ จะพาท่านไปกราบนมัสการพระอาจารย์และขออยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนั้น ถ้าท่านพิจารณาว่าพออยู่ได้

            เมื่อพาท่านไปพบพระอาจารย์ที่วัดป่าแห่งนั้น พระอาจารย์ทั้งสองสนทนากันแล้ว แนวทางแห่งการปฏิบัติวัตรประจำวันแตกต่างกัน จึงพาท่านพระอาจารย์มาดูอีกวัดหนึ่งไม่ไกลจากบ้านที่พักเมื่อคืนนัก ท่านไปเยี่ยมชมสถานที่แล้ว ค่อนข้างร้อนแล้งกันดาร ยังไม่เป็นสัปปายะ จึงพาท่านกลับมาพักที่ป่าไผ่ริมตลิ่ง ฝั่งน้ำแควใหญ่หลังบ้านของผู้ใหญ่บ้านเป็นการชั่วคราวไปก่อน ท่านพักอยู่แล้วรู้สึกพอใจว่าเป็นสถานที่สงบสงัดพอควรแก่สมณสารูป

            ในสัปดาห์ต่อมาพาท่านไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสวัดท่ามะนาว ซึ่งเป็นวัดในเขตการปกครอง วันนั้นฝนตกหนักผมนั่งรอท่านพระอาจารย์ทั้งสองสนทนาธรรมกันกว่าหนึ่งชั่วโมง ก่อนพาท่านเดินทางกลับไปพักที่ริมตลิ่งเดิม พระอาจารย์แจ้งว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาสนิมนต์ให้มาพักที่ริมตลิ่งของวัด จะได้แก้ข้อครหาว่า “พระต้องอยู่ในวัด” อยู่ตรงนั้นตรงนี้นอกวัดนั้นดูไม่ควร สัปดาห์ต่อมา ด้วยความเมตตาของท่านเจ้าอาวาสวัดท่ามะนาว ท่านประสานงานให้สร้างกุฏิหลังเล็กๆ หนึ่งหลังขึ้นริมตลิ่ง ฝั่งน้ำแควใหญ่ในเขตที่ดินของวัด มีผู้มีจิตศรัทธามาช่วยทำทางเดินจงกรมใกล้ตลิ่งสองแห่งไว้ให้พระอาจารย์เดินปฏิบัติธรรม

            สามปีกว่าที่ผ่านมา ทุกวันศุกร์ผมเดินทางไกลกลับบ้านเมืองกาญจน์ เช้าวันเสาร์ช่วงนี้ จึงถือโอกาสไปทำบุญกับท่านอาจารย์และสนทนาธรรม และช่วยท่านทำกิจเล็กๆน้อยๆ ถวายท่านอาจารย์ เช่นการถวายภัตตาหาร ถวายแล้วทำตัวเป็นศิษย์วัด รับอาหารส่วนที่เหลือมารับประทานตามส่วน สนทนาธรรมกับท่านบ้างตามสมควรแล้วค่อยกลับบ้านมาเพาะต้นไม้ ปลูกต้นไม้ เตรียมพร้อมไว้รอวันเกษียณจะได้กลับมาอยู่บ้านที่ “พร้อมอยู่” ดังปรารถนา

            เช้าวันหนึ่งหลังการก่อกองไฟเพื่อต้มน้ำร้อนซักและย้อมจีวรถวายท่านระหว่างก่อกองไฟมีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านบ้าง “อยู่ใกล้ริมฝั่งน้ำแควใหญ่อย่างนี้ก็ดีนะครับ ร่มเย็นดี” “ใช่ โยม แต่คืนวันก่อนในหมู่บ้านมีงานฉลองกันครื้นเครงเสียงกังวานมาถึงนี่เชียว” “ครับ แหม รบกวนการปฏิบัติธรรม” พระอาจารย์ยิ้มๆ นิ่งสักครู่หนึ่งจึงกล่าว “เคยมีหลวงตาองค์หนึ่งสนทนาธรรมกับหลวงพ่อชาว่า “หลวงพ่อครับ เมื่อคืนตุ๊กแกส่งเสียงร้องรบกวนเกือบทั้งคืนเลยครับ” หลวงพ่อท่านยิ้มๆ แล้วบอกว่า “ท่านอย่าส่งจิตรบกวนตุ๊กแกซิคุณ” หลวงตางงไปสักครู่จึงพอจะเข้าใจว่าหลวงพ่อชาท่านกำลังสอนเรื่องอะไร อาตมาก็ได้คำสอนนี้เป็นเครื่องอาศัยเหมือนกันโยม”

            “มีอะไรอื่นอีกไหมครับ ที่รบกวนการปฏิบัติธรรม” “อย่าเรียกว่ารบกวนการปฏิบัติธรรมเลยโยม การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม” “มีสิ่งแวดล้อมที่น่าสังเกตอย่างไรบ้างครับ” ผมปรับเปลี่ยนคำถามให้สอดคล้องกับแนวทางของพระอาจารย์ พระอาจารย์นิ่งคิดสักครู่ “วันก่อนกิ่งสะเดาต้นข้างๆ ทางจงกรมหล่นลงมาทับต้นไผ่เอนลงไปทางแม่น้ำแควใหญ่ แปลกที่ไม่ล้มมาทางทางจงกรม ทั้งที่กอไผ่ปกติเอนมาทางทางจงกรม แต่ถ้าล้มมาทางจงกรมจะทับที่นั่งพักของอาตมา”

            ผมขอตัวพระอาจารย์เดินลงไปดูสถานที่จริงอีกครั้ง ดูแล้วก็แปลกจริงดังพระอาจารย์ว่า ทางจงกรมอยู่ตรงกลางระหว่างต้นสะเดาใหญ่ และกอไผ่ กิ่งสะเดาใหญ่ถูกพายุพัดหักหล่นลงมาทับกอไผ่แต่โชคดี หรือเทวดาช่วยผลักให้กอไผ่ให้เอนลงน้ำไป

            เดินกลับมาพบพระอาจารย์อีกครั้ง “ดีหน่อยครับที่ไม่ทับลงไปบนที่นั่งพักของท่านอาจารย์” พระอาจารย์ยิ้มๆ ไม่ได้ว่าอะไร สักครู่ท่านเอ่ยขึ้นว่า “วันวานอาตมานั่งเพลินๆ อยู่ข้างๆ ทางจงกรมที่เห็นนั่น มีอุบาสกหาปลาผ่านมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ แถวนี้” “แล้วพระอาจารย์ทักทายโยมเขาหรือเปล่าครับ” “เปล่าโยม เกรงใจโยมเลยไม่กล้าทัก” “เขาเห็นพระอาจารย์หรือเปล่าครับ” “ทีแรกคิดว่าคงไม่ทันได้มอง แต่ตอนหลังคงเห็น เพราะอาตมาลุกขึ้นเดินจงกรมกลับไปกลับมาเพลินจนไม่ทันสังเกตว่า โยมคนนั้นผ่านไปหาปลาที่อื่นเมื่อใด”

            “ก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งของพระอาจารย์ที่ได้เห็นโยมหาปลา” “ใช่โยม โยมแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ทางอิสานโน่นอาตมาเดินผ่านทุ่งนา โยมกำลังวิดปลากัน พอเห็นอาตมาผ่านมาเท่านั้น โยมต่างขึ้นจากบ่อมานั่งพนมมือจนอาตมาผ่านไปแล้วจึงกลับไปวิดปลาต่อ” ท่านพระอาจารย์หยิบน้ำเย็นจากตู้เย็นเก่าๆ ของท่านมาให้ดื่ม

สักครู่ท่านเล่าต่อ “วันก่อนมีศิษย์ใหม่เข้ามาคนหนึ่ง คุยกับอาตมาอยู่นานเหมือนกัน” “ดีจังครับ เป็นคนในหมู่บ้านหรือครับ” “ใช่โยม เห็นว่าจะมารับเหมาปรับปรุงกุฏิให้อาตมา คุยกันยังไม่ทันเสร็จก็บอกว่าจะขอเบิกเงินก่อนครึ่งหนึ่งได้เปล่า อาตมาเห็นแปลกๆ เลยปฏิเสธไป” “เขาถามเรื่องเงินของท่านอาจารย์หรือเปล่าครับ” “ก็ไม่ได้ถามโดยตรงนะ แต่อ้อมไปมา เรียบๆเคียงๆ อาตมาเลยบอกความจริงไปว่า เงินของอาตมาไม่มี มีแต่เงินของสงฆ์จำนวนหนึ่ง ฝากไว้ที่ผู้ใหญ่บ้าน อาตมาเห็นท่าไม่ดี เลยรีบบอกไปว่า อาตมาไม่มีอะไร ประตูห้องก็ไม่ได้ปิด เปิดไว้อย่างนี้ตลอด เขามองๆ แล้วก็ขอตัวกลับไป”

“ดีแล้วครับท่านอาจารย์ ที่ได้บอกเขาไปว่าเงินของสงฆ์อยู่ที่ผู้ใหญ่บ้าน ไม่อย่างนั้นเขาอาจกลับมาค้นกุฏิท่านได้” “ใช่ๆ ต้องบอกเขาไปตรงๆ เลยดีกว่า แล้วยังบอกอีกว่า กุฏิไม่ปิดประตู มีโทรทัศน์อยู่เครื่องเดียว เขามองๆ แล้วรีบกลับบ้านไป”

ผมฟังท่านเล่าแล้วนึกดีใจว่า ชีวิตพระสงฆ์ขึ้นอยู่กับชาวบ้านนั้นดีแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจมีภัยถึงอาพาธหรือมรณภาพได้ เพราะในสังคมสมัยนี้คนติดเหล้าเมายาทวีจำนวนมากขึ้น แถมเศรษฐกิจก็แย่หนักเข้าไปอีก คนไม่มีจะกินก็เยอะ คนไม่มียาเสพก็มาก อาจเห็นผิดว่า พระมีเงินได้ แต่ชุมชนก็ต้องเข้าใจและหาช่องทางบำรุงพระสงฆ์ให้อยู่รอด เพื่อรักษาความสมดุลของโลกและธรรมไว้

หมายเลขบันทึก: 687264เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2020 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2020 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท