โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ถวายที่ดินแด่พระศาสนา


โสภณ เปียสนิท

.....................................................

        แม่ไมตรี เปียสนิทมีจิตใจศรัทธาในบวรศาสนาปรารภเรื่องถวายที่ดิน ที่มีใบเหยียบย่ำ หรือที่เรียกกันประสาบ้านนอก หรือคนชนบทว่ามีภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท) กับลูกๆ ทีละคนสองคนจนครบทุกคนว่าจะถวายแด่สงฆ์ เรียกว่าถวายเป็นสังฆทานที่ดินก็ย่อมได้ เมื่อแจ้งเรื่องนี้ไปทางวัดทุ่งลาดหญ้า หลวงพ่อลำไยเจ้าอาวาสคนเก่าบอกว่า ให้ชวนลูกๆ ทุกคนมาถวายกันให้ครบนะ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาที่หลังได้

            แม่ไมตรีจึงมอบหมายให้ลูกๆ ช่วยกันดำเนินการให้เป็นไปตามนี้ คนที่ไม่อาจเดินทางมาร่วมถวายได้ จะให้ถวายด้วยการลงชื่อในเอกสารถวายไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วจึงนำไปถวาย หลวงพ่อลำไยวัดทุ่งลาดหญ้าเห็นว่า ทั้งหมดครอบครัวยินยอมพร้อมใจกันดีแล้ว จึงได้รับเอกสารการถวายที่ดินไว้ พร้อมกล่าวสัมโมทนียกถา เรากลับบ้านกันด้วยความอิ่มเอมใจในบุญที่ได้ทำไว้ดีแล้ว

            ผมลืมเรื่องนี้ไปสนิท คิดว่าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถวายแล้ว ผู้แทนพระสงฆ์รับแล้ว ได้บุญแล้ว ปล่อยเรื่องดำเนินการหาประโยชน์ในที่ดินนั้นเป็นหน้าที่ของสงฆ์จัดการต่อไป จนหลวงพ่อวัดทุ่งลาดหญ้ามรณภาพจากไป ไม่นานต่อมา แม่ไมตรี สิ้นชีพจากไปอีกคน ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ในบางครั้งจึงสอบถามญาติพี่น้องในบางคราว่าเรื่อง “ที่ดินถวายสงฆ์ของแม่ไปถึงไหนแล้ว” ลูกหลายหลายคนไม่รู้เรื่อง สองสามคนพอตอบได้บ้างว่า เคยเห็นหลวงพ่อวัดทุ่งลาดหญ้ารูปเก่ามีคำสั่งให้คนนำเอาเม็ดมะขามไปโรยแนวเขตของวัดไว้ แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปสำรวจความคืบหน้าว่าผลเป็นอย่างไร

            เมื่อหลายเดือนก่อนผมเดินทางกลับบ้านพร้อมกับพระอาจารย์ศิษย์สายหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี โดยบังเอิญ เพราะพระอาจารย์สำนักสงฆ์เขาหินเทินหัวหินฝากให้พาท่านไปหาวัดที่สงบพักเป็นการชั่วคราว เพื่อจะได้อยู่ไม่ไกลจากบ้านชุกโดน ตัวเมืองกาญจน์บ้านของบิดามารดาท่านมากนัก เนื่องจากว่าบิดาของท่านอายุ 94 ปีป่วยบ่อย มารดาอายุ 72 ปีร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรงดั่งแต่ก่อน

            ท่านชอบสงบพักอยู่อย่างสันโดษไม่เกี่ยวข้องด้วยหมู่คณะ แรกๆ ท่านพักอยู่ริมน้ำที่ดินของผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาจึงประสานงานทั้งบ้านและวัดเพื่อสร้างกุฏิหลังเล็กให้ท่านบนที่ดินของวัดบ้านท่ามะนาว หลวงพ่อเจ้าอาวาสเมตตาให้ไม้และกระเบื้องมุงหลังคา ป้านุชพี่สาวให้แรงงานมาช่วยกันสร้าง ไม่กี่วันก็สำเร็จเป็นกุฏิหลังเล็กให้ท่านพักอาศัยได้ตามสมควร ท่านขอให้ร่วมด้วยช่วยกันสร้างทางเดินจงกรมข้างกุฏิ และเพิ่มอีกเส้นใกล้ริมน้ำให้ท่านสะดวกต่อการบำเพ็ญสมณกิจ

            ทุกวันเสาร์เมื่อผมเดินทางกลับไปพักบ้านที่กาญจน์ จะไปถือโอกาสตอนเช้าไปถวายภัตตาหารพระอาจารย์เสมอ ถวายการบำรุงสงฆ์เท่าที่สามารถจะทำได้ สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ตามสมควร หลายครั้งที่พระอาจารย์แจ้งว่า พระสหธรรมิกของท่านแจ้งความประสงค์ว่าจะมาร่วมปฏิบัติธรรมด้วยหลายรูป จึงคิดหาทางขยับขยายสถานที่ให้ท่าน

            ผมคิดถึงที่ดินของแม่ที่ถวายให้แด่วัดทุ่งลาดหญ้าซึ่งขณะนี้ดูรกร้างว่างเปล่ายังไม่มีการดำเนินการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด จึงประสานงานสอบถามญาติพี่น้อง ก็ไม่มีใครรู้ว่าติดขัดอะไรที่ไหนอย่างไร จึงโทรศัพท์ถึงหลวงพ่อเจ้าอาวาส คำตอบของท่านทำเอาผมประหลาดใจ “โยมแม่นำเอกสารคืนไปแล้ว” ผมจึงต้องกลับมาสอบถามญาติพี่น้องอีกคราว่าแม่ไปรับเอกสารคืนจากหลวงพ่อกับใคร เงียบกริบ ไม่มีใครรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย ผมโทรกลับไปหาหลวงพ่อเจ้าอาวาสอีกครั้งท่านก็ยังยืนยันเช่นเดิม คราวนี้ผมจึงประสานงานขอคำปรึกษาไปทางหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ ท่านรับทราบและให้หาเอกสารต้นฉบับมายืนยันเพื่อดำเนินการต่อไป

            ผมโทรกลับไปนมัสการหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้าอีกครั้ง ว่าทางตระกูลเปียสนิทยังยืนยันคำเดิมว่า ที่ดินยังเป็นของวัดทุ่งลาดหญ้าตามเจตนารมณ์ของแม่ต่อไป หลวงพ่อท่านรับทราบ และเมตตาแสดงเจตนารมณ์ให้ทางฝ่ายเรา ญาติพี่น้องรวมกันจัดทำให้เป็นที่พักสงฆ์ โดยยินดีมอบไม้และกระเบื้องมุงหลังคาส่วนหนึ่งให้มาสร้างกุฏิพักสงฆ์ต่อไป

            นำเรื่องการสร้างที่พักสงฆ์เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแม่ไปปรึกษากับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่ามะนาว ท่านก็เห็นดีด้วย และยืนยันว่า ที่ดินตรงนั้นตามกล่าวมา เป็นที่ของแม่ไมตรี เปียสนิทและมีชาวบ้านคนเก่าแก่หลายคนให้การรับรอง หวังไว้ว่า เมื่อแม่ได้มอบให้เป็นที่ของสงฆ์ ที่ดินจึงตกเป็นของสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว การดำเนินการต่อไป เป็นหน้าที่ของ

พุทธศาสนิกชน ที่จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์แก่สงฆ์จตุรทิศอย่างกว้างขวางต่อไป

            สรุปความได้ว่า ที่ดินผืนนี้เป็นสมบัติของสงฆ์จตุรทิศ โดยมีเจ้าคณะอำเภอรับทราบ หลวงพ่อวัดทุ่งลาดหญ้าเห็นชอบมอบไม้เก่าและกระเบื้องมุงหลังคามาสร้างเสนาสนะสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดท่ามะนาวรับทราบและเห็นชอบให้สร้างที่พักสงฆ์ หรือจะเรียกว่าสำนักสงฆ์ก็ได้ และพระอาจารย์ตลิ่ง ศิษย์สายหลวงปู่ชา ยินดีที่จะมาอยู่จำพรรษาเพื่อปฏิบัติกิจของส่ง และรักษาสมบัติของสงฆ์สืบไป

            ผมประสานงานไปทางช่างณู เรือนทอง เพื่อหาวันว่างมาดำเนินการสร้างกุฏิหลังแรกในพื้นที่ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากจะครบกำหนดเวลาการแจ้งสถานภาพความเป็นสำนักสงฆ์ภายในวันที่ 17 เพื่อนธันวาคม การทุกอย่างเป็นไปโดยราบรื่น หากเดือนพฤศจิกายนสร้างกุฏิเสร็จแล้ว จะได้นิมนต์พระอาจารย์ตลิ่งเข้าอยู่อาศัยในที่ดินของแม่เป็นครั้งแรก

            ขอความร่วมมือผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน หมู่ที่สองประสานงานกับเจ้าของสวนทุเรียนขอผ่านทางท้ายไร่ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ขออาศัยผ่านทางเข้าสู่ที่ดินผืนนี้ชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะมีทางใหม่เข้าที่พักสงฆ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป อีกประการหนึ่งการเข้าทางด้านนี้เพื่อผูกสัมพันธ์กับเจ้าของสวนทุเรียนไว้ และคงต้องอาศัยน้ำและไฟจากเจ้าของสวนเพื่อให้พระได้ใช้ในช่วงระยะเริ่มต้นไปก่อน และเป็นผู้ชี้พื้นที่ก่อสร้างกุฏิหลังแรกให้แก่นายช่างณู

            ต่อมาโทรหาช่างณู เพื่อแจ้งให้ทราบเรื่องหลวงพ่อวัดทุ่งลาดหญ้าให้ไม้สร้างกุฏิแล้ว หากช่างพร้อมวันใดให้เข้าพบหลวงพ่อ เพื่อให้ท่านชี้กองไม้ที่มอบให้นำไปสร้างกุฏิ จะดูไว้ หรือพร้อมขนไม้ไปสู่พื้นที่เป้าหมายเลยก็ไม่ว่ากัน เมื่อหลวงพ่อวัดทุ่งลาดหญ้ารับปากแล้ว ช่างรับปากแล้ว หมายถึงว่า งานก่อสร้างกุฏิสงฆ์หลังที่หนึ่งก้าวหน้าไปด้วยดี เหลือแต่การเงินที่ต้องจ่ายทั้งค่าขนส่งไม้ ค่าแรงช่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์บางส่วนที่ยังขาด คำนวณแล้วไม่น่าจะเกิน 50000 บาทถ้วน

            ทบทวนความเป็นมาของที่พักสงฆ์ “สวนธรรมวัดทุ่งลาดหญ้า” ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อย เริ่มตั้งแต่แม่มอบที่ดินให้แก่หลวงพ่อลำใย วัดทุ่งลาดหญ้าองค์เก่า เมื่อหลายปีก่อนแม่ล่วงลับดับสังขารจากไป แม่ขอให้พวกเราทุกคนลงชื่อในใบถวายที่ดินพร้อมกันทุกคน เป็นไปตามคำแนะนำของหลวงพ่อ ถึงวันนัดหมายเราไปถวายเอกสารเกือบทุกคน คนที่มาไม่ครบก็ลงนามมาในใบถวายแล้ว ถือว่าเป็นการถวายที่สมบูรณ์

            ต่อมาก่อนวันเกษียณราชการผมเดินทางกลับบ้านที่เมืองกาญจน์เกือบทุกเย็นวันศุกร์ เพื่อไปสร้างบ้านหลังเล็กไว้บนที่ดินที่แม่มอบให้ไว้ ไม่ค่อยจะได้ขึ้นเขาหินเทินหัวหิน เพื่อไปทำบุญกับหลวงพ่อเหมือนดังที่เคยไปต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 2546 วันหนึ่ง หลวงพ่อที่พักสงฆ์วัดหินเทินหัวหินโทรศัพท์มาหา บอกว่า “จะกลับเมืองกาญจน์วันไหน” เรียนท่านว่า “จะกลับเย็นวันศุกร์ครับ” “เวลาประมาณเท่าไรจะเดินทาง โยม” “ราวบ่ายๆ ครับ เวลานั้นยังไม่แน่นอน” “อาตมาขอฝากพระไปส่งท่านที่เมืองกาญจน์องค์หนึ่งนะ” ผมรับปากท่านแบบสบายๆ

            ถึงบ่ายวันศุกร์ที่นัดหมาย ผมทำงานเสร็จแล้วเดินทางกลับหอพัก พบว่าพระอาจารย์ทราบชื่อภายหลังว่า พระอาจารย์ตลิ่งได้มารออยู่ที่ศาลาหน้าหอพักก่อนแล้ว จึงรีบเก็บสิ่งของแล้วลงนิมนต์ท่านขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับทันที

            ระหว่างทาง ได้สนทนาธรรมกับท่านแบบยาวนานราวสี่ชั่วโมงตลอดเส้นทาง “บ้านเกิดท่านอาจารย์อยู่ชุกโดนนี่หรือครับ” “ใช่โยม พ่อแม่อยู่ที่นี่ ย้ายมาจากบ้านศรีมงคล แม่เป็นกระเหรี่ยง พ่อเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ขายที่ทางโน้นแล้วย้ายกลับมาอยู่ที่ชุกโดนนี่ ใกล้วัดใต้” “ท่านอาจารย์เคยบวชที่วัดใต้เปล่าครับ” “เคยโยม บวชเป็นเณรไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไร บวชตามเขาไป”

            พระอาจารย์ท่านเล่าเรื่องการบวชเณรครั้งแรกที่วัดใต้แบบไม่ค่อยจะได้ปฏิบัติอะไรเท่าไร “แล้วกลับมาบวชพระที่วัดใต้อีกหรือครับ” “ไม่ใช่หรอกโยม บวชที่วัดในไร่ ไทยโยคโน่น สายหลวงปู่ชา สุภัทโท รู้จักไหมโยม” ผมตอบรับ “รู้จักหลวงปู่อยู่บ้าง ครับ” “อะไรทำให้ตัดสินใจบวชครับ” “มันอยากบวชเอง โยม รู้สึกว่า ชีวิตไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ทำงานหาเงิน เที่ยวกินเล่นไปเรื่อย ออกจากงานการไฟฟ้า แล้วก็รับจ้างเร่ร่อนไปทั่ว หัวหินก็เคยไปอยู่ในที่สุดแล้วก็เบื่อ จึงไปขอแม่บวช แม่ก็ดีจริง ไม่ขัดข้อง อาจเป็นที่บ้านอาตมาอยู่ใกล้วัดก็เป็นไปได้”

            “ที่วัดในไร่มีการสอนปฏิบัติดีหรือครับ” ผมถามท่าน “การสอนอาจไม่ค่อยจะเน้นสักเท่าไร แต่กิจวัตรที่ครูบาอาจารย์วางไว้ดีแล้ว ทำให้เราเดินตามเส้นทางสายนี้ได้โดยง่าย” “หมายความว่าอย่างไรครับ” “กิจวัตรที่ทำประจำช่วยให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้” “หรือครับ ทำกิจอย่างไรบ้างครับ” “ธรรมดานี่แหละโยม เช้ามืดตื่นขึ้นเดินจงกรม นั่งสมาธิ ถึงเวลาทำวัตรเช้า แล้วไปบิณฑบาต กลับมาฉันเช้ามื้อเดียว แล้วล้างบาตรตากให้แห้ง เข้าที่เดินจงกรมกวาดวิหารลานเจดีย์ บ่ายแก่ๆหน่อย ฉันน้ำร้อนน้ำชาพร้อมกันทั้งวัด ฉันแล้วเดินจงกรมนั่งสมาธิทำความเพียรต่อไป เย็นลงทำวัตรสวดมนต์ฟังธรรมจากพระอาจารย์ผู้ใหญ่ แล้วปฏิบัติต่อจนเห็นสมควร แล้วพักผ่อน วนเวียนไปอย่างนี้ แม้ไม่มีการสอนการปฏิบัติมากมายนัก กิจวัตรที่ทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เราก้าวบนเส้นทางสายธรรมนี้ได้ง่าย”

            ผมยินดีที่ได้รู้ว่า ยังมีพระลูกศิษย์ของพระอาจารย์ตลิ่งมีความประสงค์จะมาอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีที่พักสงฆ์เพียงพอให้ท่านพักโดยสะดวก แต่ในอีกไม่นาน ที่ของแม่และความพยายามของลูกจะทำให้มีที่พักสงฆ์จากจตุรทิศได้มาปฏิบัติธรรมเพื่อค้นหาหนทางสู่เป้าหมายทางพระศาสนาสืบไป

หมายเลขบันทึก: 687263เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2020 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2020 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท