บูรณาการมุมมองต่างความเชื่อ


พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของชาวมุสลิม ในระหว่างการถือศีลอด ช่วงเดือนรอมดอน

     สืบเนื่องจากเมื่อวานที่ผมไปอ.ปากพะยูน เพื่อสังเกตการประชุมของชมรมผู้สูงอายุ รพ.ปากพะยูน ก็ได้มีทีมวิจัยจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (ปากพะยูนอิสลามวิทยา) จำนวน 3 ท่าน และพยาบาล 1 ท่าน เพื่อจะพูดคุยถึงเรื่อง พฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของชาวมุสลิม ในระหว่างการถือศีลอด ช่วงเดือนรอมดอน ที่เป็นโจทย์วิจัยตามที่เคยได้บันทึกไว้ดังกล่าว โดยขอให้ลงรายละเอียดของโจทย์ ซึ่งผมก็ได้นำเสนอว่าต้องการให้โจทย์การวิจัยนี้เป็นเครื่องมือในการบูรณาการมุมมองซึ่งกันและกันของความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ในชุมชนเดียวกัน

     ฉะนั้นเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วการแจกจ่ายกันอ่าน และการสุมหัวเพื่อตีความ หรือให้ความหมายขอให้ใช้ผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นเอง ทั้งไทย-พุทธ และไทย-มุสลิม ได้ช่วยกันอ่าน และช่วยกันตีความ ให้ความหมาย และขอให้ตัดสินใจเลือกขอบเขตพื้นที่ที่จะทำการศึกษาเองเลยว่าจะเอาแค่ไหนอย่างไร กรอบของพฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่กำหนด แต่ขอให้ทีมวิจัยกำหนดได้เอง ซึ่งขอเพียงให้ครอบคลุมประเด็นพฤติกรรมในช่วงเดือนรอมดอนให้มากที่สุด ผมฝากเน้นไปว่า งานวิจัยเรื่องนี้ก็พอมีการศึกษาอยู่ มีการรวบรวมไว้แล้วพอสมควร แต่ในลักษณะของการบูรณาการมุมมองของคนนอกและคนใน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันนั้นยังไม่มี โดยเฉพาะในพื้นที่ของบ้านเราเอง

     ผมได้ฟังทัศนะของนักวิจัยทั้ง 4 ท่าน ก็พบว่าสนใจมากโดยเฉพาะประเด็นการสร้างมุมมองเชิงบูรณาการเพื่อความเข้าใจร่วมกัน และน่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ได้อีกวิธีหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 6850เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2005 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท