ทัศนและวิสัยพื้นบ้าน ๑


คืนนั้นแม่พรพูดตามประสาซื่อ " บอกอาจารย์แสวงนะว่า ทำไมต้องเช่าโรงแรมให้เสียเงิน ไปพักบ้านอาจารย์ก็ได้ นอนตรงไหนก็ได้ จะได้ประหยัด พวกเราน่ะอยู่อย่างไรก็ได้อยู่ได้ ไม่ต้องไปเช่าเขา"

แม่พร เป็นหญิงร่างท้วม สันทัด แก้มแดง ฟันเริ่มเป็นสีน้ำตาลปนดำบางส่วนเนื่องจากการเคี้ยวหมาก เป็นน้องใหม่กลุ่มบ้านดอนม่วง ที่เพิ่งเข้ามาร่วมโครงการกับพี่น้องเครือข่ายซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓

แม่พรเป็นคนที่ซื่อสัตย์ที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองตรง ๆ  กับผู้ที่ตนเองเกี่ยวข้องด้วย ไม่เหนียมอายที่จะพูดคุยกับผู้คน ดิฉันเคยร่วมเดินทางกับแม่พรเพื่อไปร่วมประชุมกับคณะใหญ่ของอาจารย์แสวง ที่ขอนแก่น เรื่องเพื่อร่วมให้ข้อคิดเห็นและเสนอทิศทางการเคลื่อนงานด้านเกษตรอินทรีย์ อะไรทำนองนี้

นัดหมายกับแม่พรแล้วว่า ดิฉันจะนั่งรถจากตัวเมือง ให้แม่พรดักขึ้นรถที่ที่ถนนใหญ่ ปากทางเข้าหมู่บ้านของเธอซึ่งรถจะต้องผ่านไปทางนั้น รถจะออกจากตัวเมืองเวลา ๑๐.๐๐ น. น่าจะถึงจุดที่แม่พรรออยู่ประมาณ ๑๐.๒๐ น.  หลังจากที่ขึ้นรถแล้ว ดิฉันก็นั่งใจเต้นไม่เป็นส่ำ เกรงว่า นัดหมายจะคลาดเคลื่อน ก็จะทำให้แม่พรวุ่นวายใจมากกับการจัดการ เพราะว่าช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ครอบครัวแม่พรกำลังเกี่ยวข้าว แสดงว่าในวันนั้น ต้องมีใครสักคนต้องเป็นภาระออกมาส่งแม่พรไว้ปากทาง ก่อนจะไปเกี่ยวข้าว ถ้าเกิดการคลาดเคลื่อน แปลว่า  แม่พรต้องเดินกลับบ้านเอง ๒  กม. แล้วหาทางตามครอบครัวไปเกี่ยวข้าวในนาซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปอีกเกือบ ๓  กม.

เมื่อใกล้จะถึง ดิฉันใจชื้นเพราะมองเห็นว่ามีคนยืนรอรถอยู่ข้างทาง ดิฉันจึงลุกเดินมารับแม่พรที่ประตูรถและบอกให้รถจอด พอรถจอดแล้วเสียงแม่พรดังลั่นอยู่ข้างล่าง  อย่างไม่เกรงฟ้าดิน ก่อนที่จะเห็นดิฉัน  "  นี่ใช่รถอาจารย์ตุ๊ ที่มารับฉันหรือเปล่า  ใช่หรือเปล่า รถอาจารย์ ใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ก็จะได้ไม่ไป " 

แม่พรขึ้นรถแล้ว เล่าให้ฟังด้วยเสียงดังลั่นว่า " ข้อยมายืนรอ ตั้งแต่แปดโมงเช้า ก็ไม่เห็นรถมาสักที มาแล้วเขาจอดรับ ข้อยก็ถามเขาแบบนี้แหละ แต่มันไม่ใช่  คิดว่าจะรออีกให้ถึงสิบโมงครึ่งก็จะหันกลับบ้านไปเกี่ยวข้าวแล้ว เพื่อนในหมู่บ้านเขาไปธุระผ่านมา ก็บอกเขาว่ารอรถอาจารย์ จนเขากลับมาก็ยังรออยู่คือเก่า คิดว่าไม่ได้ไปแล้ว พอดีรถคันนี้มา "

นั่งรถประจำตัว ยี่สิบหน้าต่างกินลมชมวิว ใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมงครึ่งจึงถึงที่หมาย แม่พรบ่นอุบ " รถมันขับช้า อีหลีเนาะ "  หญิงทั้งสองในชุดผ้าถุงพื้นบ้านหอบกระเป๋าคนละใบ ไปพักที่โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในขอนแก่น ด้วยความอิดโรย

พนักงานโรงแรมใส่ชุดเป็นผ้าพื้นบ้าน แต่คงดูถูกคนพื้นบ้านด้วยกันเขาไม่ยอมมาช่วยพวกเราสองคน หอบกระเป๋าหรือพาเราไปที่ห้อง พัก ปล่อยให้เราไปกันเอง เลือกปฏิบัติจริง ๆ  เย็นวันนั้นพาแม่พรไปดูตลาดสด แม่พรบอกว่า ข้าวที่ขอนแก่นแพงกว่าที่บ้านเรานะและไปกินข้าว แล้วไปเดินดูตลาดโต้รุ่ง คืนนั้นแม่พรพูดตามประสาซื่อ  "  บอกอาจารย์แสวงนะว่า ทำไมต้องเช่าโรงแรมให้เสียเงิน ไปพักบ้านอาจารย์ก็ได้ นอนตรงไหนก็ได้ จะได้ประหยัด พวกเราน่ะอยู่อย่างไรก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปเช่าเขา " เป็นทัศนะที่ซื่อที่สุดแล้ว ไม่อยากให้อาจารย์ต้องเสียเงิน ซึ่งมันจะต้องแพงมากโรงแรมแบบนี้ ส่วนการนอนที่บ้านคนที่เรารู้จักนั้น บ้านก็มีอยู่แล้ว จะนอนตรงไหนก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา อย่างไรเสียบ้านหลังหนึ่งก็ต้องมีห้องโถง หน้าจอโทรทัศน์มีนอกชาน มีที่ที่พอจะนอนได้ จะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ขนาดบ้านแม่พรเองซึ่งเป็นชาวบ้านยังสามารถที่จะต้อนรับคนที่รู้จักให้พักนอนได้เลยไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่  ปัญหาคือเรื่องที่จะต้องจ่ายเงิน ที่กว่าจะหามาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

หญิงชาวบ้านธรรมดา ๆ  ผู้นี้กลับเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่อง ความเป็นอิสระในวิถีชีวิต เมื่อเล่าประสบการณ์การไปกรุงเทพ แม่พรก็อึดอัดใจมากเพราะชีวิตถูกจำกัด และไปไหนมาไหนต้องใช้เงินตลอด " ....อยู่ที่บ้านเฮาอยากไปไหนเฮาก็เดินไป เพื่อนฝูงก็อยู่ในบ้านเฮาได้พูดได้คุยกัน เราอยากกินอะไร เราก็ไปหาเอา ไปส้อนปลา ส้อนกุ้ง หาเห็ด หาหน่อไม้ หาไข่มดแดง ไม่ต้องไปเอาที่ตลาด เฮาอยากกินผักหยัง ก็ไปเก็บเอา เอามากินสด ๆ  เลย ไม่ต้องไปกินของที่ค้างคืน ไม่เหมือนผักในตลาดไม่รู้ว่าเก็บมาตั้งแต่เมื่อไร.... "

เมื่อเงินเข้ามาเป็นใหญ่ได้ทำลายวิถีเหล่านี้จนย่อยยับ  ชาวบ้านต้องพยายามสุดฤทธิ์ที่จะผสานกันระหว่างของเดิม  ที่เงินเป็นของมีค่าหายาก ต้องประหยัด ต้องเก็บงำไม่จำเป็นไม่ใช้ อาศัยธรรมชาติ พึ่งตนเองในทุกแง่มุม สำหรับคนรุ่นอายุ ๔๐-๕๐ ขึ้น  เงินทองเป็นของมีค่า หายาก ต้องประหยัด ต้องเก็บงำไม่จำเป็นไม่ใช้ อาศัยธรรมชาติเพื่อตนและขายธรรมชาติขายแรงงานขายตัวเพื่อเงิน การพึ่งตนเองลดลงเพราะเข้าไปอยู่ในระบบที่กระตุ้นการบริโภค สำหรับผู้ที่อายุตำลงมาไม่มีโอกาสได้ผ่านประสบการณ์แบบที่ผู้ใหญ่รุ่นดังกล่าวเคยผ่าน

 

ตรงนี้จึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งที่ใช้ในการทำงาน เมื่อพูดถึง การปลูกการฝังของอยู่ของกิน การทำไร่นาให้ดีวันดีคืนยั่งยืนไปข้างหน้าจึงกระทบกระแทกเข้าไปในใจของชาวบ้านยิ่งนัก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือวิถีชีวิตอันกว้างขวางของชาวบ้านยังอ้าแขนรับผู้คนภายนอกไม่เพียงแต่ดิฉัน ทั้งผู้ไปดีไปร้ายทั้งหมดโดยเท่าเทียมกันเข้าไปร่วมเรียนรู้ ทั้งไปทำมิดีมิร้ายดังที่ปรากฏอยู่ทั่วแผ่นดิน

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สัตย์ซื่อ#อิสระ
หมายเลขบันทึก: 68074เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะเข้ามาเชียร์นะคะ
ขอบคุณ คุณ Bright Lily ค่ะ ชี้แนะด้วยนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท