ชีวิตที่พอเพียง 3759. ความฉลาดรวมหมู่ : ๑๖. สู่ความตระหนักรู้ใหม่



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความ (และสรุปความ) จากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๑๖ นี้ ตีความจากบทที่ 18  Collective Wisdom and Progress in Consciousness  ซึ่งเป็นบทเดียวในตอนที่ IV  Collective Intelligence as Expanded Possibility     

สาระสำคัญคือ จากความฉลาด (intelligence) พัฒนาสู่ปัญญา (wisdom)   และสูงสุดคือ สู่ความตระหนักรู้ใหม่ (new consciousness)    มีความเป็นไปได้ที่ความฉลาดของมนุษย์ และความฉลาดของปัญญาประดิษย์จะหลอมรวมกัน นำไปสู่การยกระดับปัญญา และสู่ความตระหนักรู้ใหม่    เป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์    ไม่มีใครรู้ว่าในที่สุดแล้วมนุษย์ในอนาคตจะวิวัฒนาการในเส้นทางเพิ่มปัญญา  หรือวิวัฒนาการในเส้นทางเพิ่มความเขลา

เมื่อมนุษย์เพิ่มพูนความฉลาดขึ้น ความสามารถในการรับรู้ก็เพิ่มขึ้น ทั้งด้านเห็นโอกาสหรือความเป็นไปได้   และด้านเห็นความเสี่ยงหรือหายนะ    นี่คือพรและคำสาปจากความรู้    คำทำนายเส้นทางของพัฒนาการของความฉลาดของมนุษย์ ภายใต้ชุดความคิดพัฒนาการเป็นเส้นตรง ไม่มีทางเป็นจริง     หลักฐานต่างๆ บอกเราว่าเส้นทางนี้คดเคี้ยว มีขึ้นมีลง และวนเวียนเป็นวงจร    มีปัจจัยใหม่ๆ ที่ตอนนี้เราคิดไม่ถึง เข้ามาแสดงบทบาท    พัฒนาการนี้จึงมีหลากหลายปัจจัยที่ซับซ้อนยิ่ง เป็นพลังขับเคลื่อน และพลังต่อต้าน

บทนี้เน้นทำความเข้าใจมิติด้านการเมือง และ ปรัชญา 

การเมืองเรื่องความฉลาดของเครื่องกลอัจฉริยะ

เราสามารถมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องกลอัจฉริยะ (smart machines) ในเชิงการเมือง     หรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ    และมีผู้ทำนายว่า มนุษย์จะพ่ายแพ้เมื่อต่อสู้กันในเกมการครอบครองพื้นที่แรงงาน    ซึ่งผมมีความเห็นว่า ความเห็นเช่นนี้ทั้งถูกและผิด    ถูกตรงที่งานที่ทำซ้ำๆ โดยไม่ต้องการมิติด้านในของความเป็นมนุษย์ ย่อมจะถูกเครื่องกลอัจฉริยะยึดครอง    และมนุษย์จะหันไปทำงานที่ต้องการความสร้างสรรค์ และความแตกต่างหลากหลาย ที่เครื่องกลอัจฉริยะทำไม่ได้    เช่น โค้ชส่วนตัว  ไกด์ท่องเที่ยว  ครู  ผู้บริบาล  ช่างฝีมือ   

กล่าวให้เข้าใจง่าย มนุษย์จะหันไปทำงานที่ยากและซับซ้อน    และค่าตอบแทนของงานประเภทนี้ น่าจะสูงขึ้น   

ธรรมชาติของงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปในลักษณะที่คาดเดายาก   และคุณค่า (และมูลค่า) ของงาน ก็จะเปลี่ยนไป    โดยที่ “ความต้องการ” (demand) ของมนุษย์และสังคมจะเปลี่ยนไป    ดังที่ผมได้ประสบในช่วงชีวิตของตนเอง    ที่ตอนผมเป็นเด็ก สินค้าที่ผลิตจากโรงงานโดยเครื่องจักรได้รับความนิยมยกย่อง ว่าคุณภาพสูง ราคาสูง    แต่เมื่อเวลาผ่านไป สินค้า “ทำด้วยมือ” (hand-made) กลับได้รับการยกย่อง ให้ราคาสูง     ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว    พอจะเดาได้ว่าการให้คุณค่าสูงต่อกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยมนุษย์ จะเป็นแนวโน้ม    โดยที่ตอนนี้ก็เห็นแนวโน้มนี้ชัดเจนแล้ว   

คำทำนายของนักอนาคตศาสตร์ ที่เชื่อในพลังกำหนดเส้นทางโดยเทคโนโลยี (technology determinism) มักมองโลกเป็นเส้นตรง     หลงมองมนุษย์เป็นเหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำ     ไม่มองว่าโดยธรรมชาติ มนุษย์มีความเป็น “ผู้กระทำ” (agent) อยู่ในสัญชาตญาณ    เนื่องจากมนุษย์มีสมอง และมีความต้องการ    มนุษย์จึงเรียกร้อง  ต่อรอง  รณรงค์  โต้แย้ง  และรวมกลุ่ม   

จึงคาดเดาได้ว่า พัฒนาการของพลังเครื่องกลอัจฉริยะ  จะขับดันให้เกิดพัฒนาการด้านสังคมที่หลากหลายของมนุษย์    รวมทั้งพัฒนาการทางการเมือง    เปิดโอกาสให้มนุษย์รวมกลุ่มกันต่อรอง เพื่อผลประโยชน์ใหม่ๆ สถานะใหม่ๆ    เช่นกติกาด้านความเป็นเจ้าของ  ความเป็นส่วนตัว  และการให้บริการ  

หุ่นยนตร์มีความถนัดในงานที่ต่างตัวต่างทำ (disaggregated activities)    มนุษย์จึงควรยกให้หุ่นยนตร์ทำงานประเภทนี้    แล้วมนุษย์หันมาเน้นทำงานที่ต้องการความเชื่อมโยงร่วมมือกัน (aggregation)   

โมเดล ของ “ความฉลาดรวมหมู่” (collective intelligence) ระหว่างคนกับเครื่องกลอัจฉริยะ อาจพัฒนาขึ้นได้สารพัดแบบ    เป็นความท้าทายต่อพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์     

สร้างสมัชชา (assembly) หลากหลายแบบ

 สมัชชา ที่เราสนใจในที่นี้ เป็น “สมัชชาลูกผสม” (hybrid assembly)    คือผสมความฉลาดระหว่างความฉลาดของมนุษย์ กับความฉลาดของเครื่องกลอัจฉริยะ    สมัชชานี้ทำได้หลากหลายแบบ    และ “ความฉลาดลูกผสม” ก็เกิดขึ้นได้สารพัดแบบ   

หัวใจสำคัญคือ มนุษย์ต้องใส่ความฉลาดเข้าไปในการจัดสมัชชาดังกล่าว    เพื่อให้เกิดวงจรการเรียนรู้    ในลักษณะที่ใช้ความฉลาดรวมหมู่ ในการสร้างกลไกส่งเสริมและใช้ประโยชน์ของความฉลาดรวมหมู่     

โดยที่ในปัจจุบัน มีตัวอย่างของการสร้าง “ชาลา” เพื่อใช้ความฉลาดรวมหมู่อย่างทรงพลังยิ่งอยู่บ้างแล้ว เช่น Wikipedia, Google Maps    แต่ยังมีน้อยเกินไป  

ตัวอย่างอื่นๆ เช่น MetaSub ซึ่งมุ่งใช้ความรู้ด้านจีโนมิกส์ของมนุษย์และของจุลชีพ ในการออกแบบเมืองสมัยใหม่    อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Cancer Registry ที่มุ่งรวมข้อมูล  ผลการวิจัย  สังเคราะห์ความรู้   ตีความ  และสร้างสรรค์ใหม่

เราต้องการทุนสนับสนุนกิจกรรมในทำนองที่ยกตัวอย่างมา     และต้องการการสนับสนุนการสร้างศาสตร์ด้านความฉลาดรวมหมู่ และสร้างนักวิชาการสาขาดังกล่าว    ที่อาจใช้ชื่อว่า ศาสตร์ด้าน “การออกแบบความฉลาด” (intelligence design)    ซึ่งเป็นศาสตร์ที่หลอมรวมหลายศาสตร์สู่ความฉลาดใหม่    ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้แก่ คอมพิเตอร์ศาสตร์ จิตวิทยา  การออกแบบองค์กร  การเมือง  กลยุทธธุรกิจ  ภาวะผู้นำ  เป็นต้น    ซึ่งหมายความว่า นักวิชาการสาขาใหม่นี้ เน้นทำงานที่ชายขอบของศาสตร์  หรือที่รอยต่อระหว่างศาสตร์   

อ่าน และเขียนถึงตรงนี้ ผมนึกถึงบทบาทของ สกสว.   และของ สกอ.   ... บทบาทส่งเสริมการสร้างศาสตร์ใหม่ ศาสตร์แห่งอนาคต   

  

กระจายพลังความฉลาดให้ถูกทาง

นี่คือความท้าทายของมนุษยชาติ และของแต่ละสังคม    ว่าได้กระจายสมองที่ดีเลิศไปยังกิจการต่างๆ อย่างถูกต้อง    เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสังคม หรือไม่   ศ. เจฟฟ์ มัลแกน บอกว่า นี่คือคำถามเชิงการเมือง ว่าด้วยความฉลาดรวมหมู่เกี่ยวกับความฉลาดรวมหมู่    

สังคมปัจจุบัน ทุ่มทรัพยากรลงไปที่ไม่กี่เรื่องเป็นหลัก    สูงอันดับ ๑ ที่การทหาร    ถัดมาที่การเงินการธนาคาร  ยาและเวชภัณฑ์  คอมพิวเตอร์  การตลาด    ในขณะที่ความต้องการแท้จริงของมนุษย์คือปัจจัยสี่  คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และยารักษาโรค    นอกจากนั้นก็มีด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้  และด้านพลังงาน   

สังคมจึงควรจัดลำดับความสำคัญของทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องที่เป็นความต้องการพื้นฐานดังกล่าว    มากกว่าเรื่องการทหารและการแข่งขันทางการค้า    ซึ่งในประเด็นนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องของสัดส่วนที่พอดีพอเหมาะ ไม่ใช่ทุ่มทุนวิจัยทั้งหมดลงไปที่เรื่องความต้องการพื้นฐาน   

ผมมองต่างเล็กน้อย ผมมองว่า สำหรับสังคมไทย ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า คือการ ยกระดับคุณภาพสมองของพลเมืองทั้งหมด เป็นเป้าหมายที่ ๑   ส่วนการกระจายสมองชั้นเยี่ยมไปยังกิจกรรมที่มีความหมายสูงต่อการพัฒนาสังคมและมนุษยชาติ เป็นเป้าหมายอันดับที่ ๒    

การเมืองในมิติที่ลึกของความฉลาดรวมหมู่

การเมืองเรื่องนี้ในสายตาของผม ล้ำลึกมาก    คือมุมมองแบบอนุรักษ์นิยม (conservative)  กับมุมมองแบบหัวรุนแรง (radical)     คนกลุ่มอนุรักษ์นิยมมีความเชื่อว่า สิ่งที่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันได้ผ่านการทดสอบแข่งขันมาโชกโชน ต้องเป็นสิ่งดีมีความเหมาะสมที่จะคงอยู่    เป็นแนวคิดที่ยึดอดีตเป็นฐาน   แต่คนกลุ่มหัวรุนแรง (หรือกลุ่มก้าวหน้า) เชื่อว่ามนุษย์ต้องสร้างสังคมใหม่ ที่เป็นสังคมเพื่ออนาคต ไม่ใช่สังคมแห่งอดีต   

กลุ่มอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าความฉลาดอยู่ในสิ่งที่ดำรงอยู่ ที่วิวัฒนาการมาจากอดีต    ส่วนกลุ่มก้าวหน้าเชื่อว่าความฉลาดอยูในโอกาสสร้างสรรค์เพื่ออนาคต    กล่าวใหม่ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมเชื่อในการเปลี่ยนแปลงแบบ continuous change    ส่วนกลุ่มก้าวหน้าเชื่อใน disruptive e change   

กลุ่มอนุรักษ์ เน้น “สิ่งที่มีอยู่” (what is)    ส่วนกลุ่มก้าวหน้าเน้น “สิ่งที่อาจเป็นไปได้” (what could be)    แค่นี้ก็เถียงกันไม่จบแล้ว   

แต่นั่นคือโอกาสสร้างความฉลาดรวมหมู่ในอนาคต    สร้างด้วยการตั้งคำถาม และถกเถียง (dialectical way)    ผ่านการปฏิบัติ (praxis) หรือการทดลองจริง    โดยตั้งคำถามต่อระบบ  สมมติ  กติกา ฯลฯ ที่มีอยู่ เช่นตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียกว่า รัฐ  สังคม  ตลาด ฯลฯ    ว่าควรมีสภาพดังที่เป็นอยู่ หรือควรเปลี่ยนแปลง  และควรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร    

ทำให้ผมนึกถึงคำ “สังคมที่เรียนรู้” (learning society) ที่มีกลไกหรือระบบ ให้คนในสังคมเรียนรู้ (เพิ่มความฉลาด) หลากหลายด้านตลอดชีวิต    และมีนักวิชาการเฉพาะด้านที่ทุ่มเทพัฒนาระบบและมาตรการส่งเสริมเพิ่มพูนความฉลาดรวมหมู่     

วิวัฒนาการของปัญญา

หนังสือเล่มนี้มีคำถามใหญ่ ว่า มีทางสร้างความก้าวหน้าของความฉลาดหรือไม่    เพราะระดับสูงสุดของความฉลาดคือ ปัญญา (wisdom)    และปัญญาสูงสุดคือ “ปัญญาเลยตัวตนของตนเอง” (transcendental wisdom)    ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  และศาสดาแห่งศาสนาอื่นๆ ค้นพบเมื่อกว่าสองสหัสวรรษมาแล้ว     และในช่วงสองสหรรษวรรษที่ผ่านมา ไม่มีการค้นพบหรือพัฒนาใหม่เลย   

ปัญญาสูงสุดคือปัญญาตระหนักรู้ว่า ตนเป็นส่วนย่อยของความเป็นทั้งหมด (wholeness)

หนังสือเตือนว่า ปัญญารวมหมู่บางแบบอาจปิดกั้นความริเริ่มสร้างสรรค์    ซึ่งผมตีความว่า นั่นคือปัญญาที่คับแคบ  ไม่เปิดรับปัญญาที่แตกต่าง 

มีโฮกาสเปิดกว้าง ที่จะเกิดความฉลาดใหม่   ผ่านรูปแบบใหม่ๆ ของความร่วมมือ และความพึ่งพาอาศัยกัน (interdependence)    และวิธีสื่อสารแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยให้เจาะเข้าไปในความเข้าใจใหม่ๆ ทั้งของโลกภายนอก และโลกภายในตัวเรา          

ผมเถียง เถียงว่ามนุษย์สามารถยกระดับปัญญาภาคปฏิบัติขึ้นไปได้อีกมาก    ที่เป็นปัญญาอัตโนมัติ  และบูรณาการอยู่ในชีวิตประจำวันของปวงชนทั้งมวล    ทั้งชีวิตส่วนตัว  ชีวิตการงาน และการสังคม   

วิจารณ์ พานิช    

๒ มิ.ย. ๖๓

 

   

หมายเลขบันทึก: 680413เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2020 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2020 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท