ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาอเมริกัน โยงสู่ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย



หนังสือ Changing Expectation for the K-12 Teacher Workforce : Policies, Preservice Education, Professional Development and the Workforce(2020)    จัดพิมพ์เผยแพร่โดย The National Academies of Science, Engineering and Medicine ของสหรัฐอเมริกา    ส่วนบทสรุป (Summary) มี ๑๔ ข้อ    ข้อ ๖ และ ๗ เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ข้อสรุปที่ ๖   จำนวนนักเรียนที่มาจากกลุ่มเชื้อชาติส่วนน้อยเพิ่มมากขึ้น    แต่ครูจากกลุ่มนี้มีสัดส่วนคงที่    มีผลให้นักเรียนจากกลุ่มเชื้อชาติส่วนน้อยขาด role model  

ข้อสรุปที่ ๗   นักเรียนกลุ่มผิวสี  และกลุ่มที่มีครอบครัวรายได้ต่ำ  มีครูที่สมรรถนะต่ำกว่า    สภาพนี้เป็นจริงในระดับชาติ  ระดับรัฐ  ระดับพื้นที่การศึกษา   และแม้ในโรงเรียนเดียวกัน (หน้า ๕ ของหนังสือ)

หวนมาใคร่ครวญถึงความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย    ผมสรุปว่ามีสาเหตุสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

  • ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว    พูดง่ายๆ ว่าลูกคนจนได้เข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ    root cause จริงๆ มาจากความผิดพลาดของระบบการศึกษา    ที่ปล่อยให้โรงเรียนมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอกัน    ยอมให้โรงเรียนที่ดูแลเด็กจากครอบครัวยากจน หรืออยู่ห่างไกล มีคุณภาพต่ำ    เมื่อโรงเรียนมีคุณภาพแตกต่างกันมาก  คนมีฐานะก็ดิ้นรนให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนดี    คนจนก็ต้องยอมให้ลูกเข้าโรงเรียนที่เหลือ    ตัวอย่างของประเทศที่ไม่มีปัญหานี้ หรือดูแลเรื่องนี้อย่างได้ผล คือฟินแลนด์ ดังเล่าในบันทึกนี้ (๑)
  • ปัจจัยในระบบการศึกษา  และครู    โดยทั่วไป นักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีมักจะได้รับการดูแลที่ดีหรือได้รับการยอมรับจากครู   ในขณะที่ลูกคนจนมักไม่ได้รับความใจใส่อย่างเท่าเทียมกัน   หรือบางกรณีถูกดูถูกดูแคลนด้วยซ้ำ    สมัยผมเป็นเด็กก็ถูกครูบางคนดูถูกในฐานะเด็กบ้านนอก 
  • ปัจจัยด้านการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว    ครอบครัวที่เศรษฐฐานะต่ำ  การศึกษาของพ่อแม่ต่ำ เลี้ยงดูพัฒนาลูกไม่เป็น   หรือเลี้ยงดูผิดๆ    บางครอบครัวถึงกับทำร้ายหรือทารุณเด็ก  
  • ปัจจัยด้านค่านิยมทางการศึกษา    ที่ยกย่องผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือความสามารถพิเศษ ด้านเดียว คือด้านวิชาการ    อีกด้านที่อาจได้รับการยอมรับคือกีฬา    ทั้งหมดนั้นเพื่อให้เด็กไปแข่งหรือประกวด สร้างชื่อเสียงแก่โรงเรียน และครูได้ผลงาน    ความสามารถด้านอื่น เช่นด้านศิลปะ ด้านฝีมือช่าง  ด้านกวี  ไม่ได้รับการสนับสนุน    ทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษบางด้านถูกละเลย ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวตน สร้างอัตลักษณ์ของตนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว    จึงเบื่อการเรียน และอาจหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนถึงวัยอันควร    ประเด็นนี้ อาจมองว่า เกิดจากการศึกษาไทยดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของคนในระบบเป็นเป้าหมายหลัก   ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตัวเด็ก    
  • ปัจจัยด้านการจัดการชั้นเรียน    ที่ครูมักเอาใจใส่เด็กเฉพาะเด็กที่ขยันเรียน    ละทิ้งเด็กเกเร หรือเบื่อเรียน    เป็นความไม่เสมอภาคในชั้นเรียน ที่เกิดจากครู และระบบการให้คุณให้โทษแก่ครู  

เรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษานี้ จะไปโทษเฉพาะวงการศึกษาก็ไม่ถูก   เพราะสาเหตุมันซับซ้อนมาก    ดังระบุในบันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูง

ผมได้เขียนเรื่อง PLC ลดความเหลื่อมล้ำไว้ที่ (๒)  และเรื่อง PLC เพื่อความเสมอภาคไว้ที่ (๓) 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๖๓


   

    

หมายเลขบันทึก: 679127เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2020 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2020 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท