ชีวิตที่พอเพียง : 174. เรียนรู้ GDB


         ผมชอบเรียนรู้ภาพใหญ่ / ภาพเชิงระบบ ของเรื่องต่างๆ     เอาไว้ใช้เป็นกรอบ หรือฐานคิด หรือกระบวนทัศน์ ในการคิด     ผมพยายามสอนตัวเองให้รู้จัก mental model หลายๆ แบบ     แต่ก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง     ก็ผมไม่ใช่ผู้วิเศษนี่ครับที่จะรู้จะเข้าใจอะไรๆ ไปเสียทุกอย่าง

        หลังประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๘ ตค. ๔๙  ศ. นพ. สุทัศน์ ฟู่เจริญ เอาหนังสือเล่มโตๆ ๓ เล่ม รวมแล้วหนักหลายกิโล มาให้     บอกว่าเป็นความรู้เชิงภาพใหญ่ เชิงนโยบาย ด้านสาธราณสุข  น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของผม จึงเอามามอบให้

      เล่มแรกที่ผมพลิกอ่านลงเนื้อความเป็นเรื่อง GBD

      GBD ย่อมาจาก Global Burden of Disease เป็นการพัฒนาวิธีมองปัญหาโรคภัยไข้เจ็บแนวใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา     มองง่ายๆ แบบผม เป็น composite indicators ของปัญหาสุขภาพ    หรืออาจจะเรียกว่าดัชนีปัญหาสุขภาพแบบบูรณาการก็น่าจะได้  

      คือเดิมเรามีแต่ดัชนีแบบแยกส่วน    พอมองต่างมุมกันก็ตกลงกันยาก    แต่ GBD ช่วยให้มองได้ทีเดียวหลายมุม ตกลงกันง่ายหน่อย    แต่ผมว่ามนุษย์เรามีข้อจำกัดนะครับ    ไม่มีวันมองอะไรได้ครบทุกมุมในการมองแบบเดียว หรือใช้แว่นอันเดียว

       กล่าวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังสือ Alan D. Lopez, Colin D. Mathers, Majid Ezzati, Dean T. Jamison, and Christopher J. L. Murray (Eds.). Global Burden of Disease and Risk Factors. A Publication of the World Bank and Oxford University Press, 2006.  ไม่มีประโยชน์นะครับ    หนังสือเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมความรู้ เกี่ยวกับนวัตกรรมในการมองปัญหา และแก้ไขปัญหาสุขภาพเชิงระบบที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ ๒ ทศวรรษทีเดียว

       เดิมเรารู้จักแต่อัตราตาย อัตราป่วย  อัตราพิการ จากโรค   แต่นักวิจัยด้านสาธารณสุข กลุ่มใหม่นี้ได้คิดดัชนีใหม่ๆ ขึ้นมาใช้    หลักการสำคัญคือไม่ใช่แค่มองที่การเป็นโรค    แต่มองทะลุไปถึงผลกระทบ หรือการสูญเสีย ต่อสังคม  จากการเป็นโรค

       ดัชนีใหม่ๆ ได้แก่
            Risk Factors
            DALY - Disability-adjusted Life Year
            YLD - Year of Life Lost due to Disability
            YLL - Year of Life Lost due to Premature Mortality

        วิธีคิดว่าโรคใดสำคัญหรือไม่สำคัญมีความซับซ้อนขึ้นมาก     ช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสุขภาพ มีลักษณะที่เรียกว่า evidence-based มากขึ้น         

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 67901เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท