พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๓ (พระสูตร เล่มที่ ๕) เรื่องที่ ๕๑. กันทรกสูตร เรื่องมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่เข้าใจยาก


๕๑. กันทรกสูตร  เรื่องมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่เข้าใจยาก

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีชื่อคัคครา เขตกรุงจัมปา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น บุตรของควาญช้างชื่อเปสสะและปริพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นายเปสสะบุตรของควาญช้าง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ส่วนกันทรกปริพาชกได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่ระลึกถึงกัน ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วเหลียวดูภิกษุสงฆ์ผู้นั่งนิ่งเงียบอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ท่านพระโคดมชื่อว่าแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ก็ทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งได้ถึงเพียงนี้ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอนาคตกาล ก็จักทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งได้ถึงเพียงนี้ เหมือนท่านพระโคดมทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบอยู่ในบัดนี้”

มนุษย์มีปากกับใจไม่ตรงกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น กันทรกะ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล และในอนาคตกาล ก็จักทรงแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เหมือนเราแนะนำให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบอยู่ในบัดนี้

จริงอยู่ กันทรกะ ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุจำนวนมากผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ยังมีภิกษุอีกจำนวนมากผู้ยังเป็นเสขบุคคล มีปกติสงบ มีปัญญา เธอเหล่านั้นมีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการอยู่

สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น และโทมนัสความทุกข์ใจในโลกได้

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกได้

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกได้

๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกได้”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสะบุตรของควาญช้างได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง สติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ดีแล้วเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความเศร้าโศก และปริเทวะความคร่ำครวญ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นคฤหัสถ์ นุ่งห่มผ้าขาว ก็มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้อยู่ได้ตามกาลที่สมควร ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายพิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคก็ชื่อว่าทรงทราบประโยชน์ และสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อคนรกโลก คนเดนคน คนเจ้าเล่ห์ยังมีอยู่อย่างนี้ เป็นความจริงที่คนสอนยาก สัตว์เลี้ยงฝึกง่าย เพราะข้าพระองค์สามารถให้ช้างที่ฝึกแล้วทำตามได้ เช่น ให้เดินไปเดินมาในระหว่างกรุงจัมปาก็ได้ ให้ทำอาการต่างๆ คือ ยกชูขาหน้าทั้ง ๒ กลิ้ง คู้เข่า ย่อตัวได้ทุกอย่าง แต่เหล่าชน คือ ทาสก็ดี คนรับใช้ก็ดี คนงานก็ดีของข้าพระองค์ ทำอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง

บุคคล ๔ ประเภท

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เปสสะ คนสอนยาก สัตว์เลี้ยงฝึกง่าย บุคคล ๔ ประเภท นี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน

๒. เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

๓. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

๔. เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อนเย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน

เปสสะ บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนี้ ท่านชอบใจบุคคลประเภทไหนเล่า”

นายเปสสะบุตรของควาญช้างกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน ข้าพระองค์ไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ข้าพระองค์ไม่ชอบใจบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ข้าพระองค์ชอบใจบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เปสสะ เพราะเหตุไรเล่า ท่านจึงไม่ชอบใจบุคคล ๓ ประเภทนี้”

นายเปสสะบุตรของควาญช้างกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (๑)บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน ชื่อว่าทำตนซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม (๒)บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่าทำผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม (๓)ส่วนบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่า ทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน ให้ร้อนรุ่ม บุคคลใดไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิวดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เพราะเหตุนี้ ข้าพระองค์ จึงชอบใจบุคคลนี้”

จากนั้น นายเปสสะบุตรของควาญช้างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป

ครั้งนั้น เมื่อนายเปสสะบุตรของควาญช้างจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นายเปสสะบุตรของควาญช้าง เป็นคนเฉลียวฉลาด มีปัญญามาก ถ้านายเปสสะบุตรของควาญช้างจะพึงนั่งสักครู่ เพียงชั่วเวลาที่เราจำแนกบุคคล ๔ ประเภทนี้โดยพิสดาร ก็จักได้รับประโยชน์อันใหญ่หลวง แต่ถึงจะฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสะบุตรของควาญช้าง ก็ยังได้รับประโยชน์อันใหญ่หลวง”

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลที่สมควร ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกบุคคล ๔ ประเภทนี้โดยพิสดาร ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

“บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นอเจลกคือประพฤติเปลือยกาย ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน  กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้ออยู่ ด้วยประการอย่างนี้ เขาเป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ เขานุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือ มีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า ถอนผมและหนวดคือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่งนอนบนหนาม คือถือการนอนบนหนาม อาบน้ำ วันละ ๓ ครั้ง คือ ถือการลงอาบน้ำ ถือการย่างและอบกายหลายรูปแบบอยู่ ด้วยประการอย่างนี้  ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน

บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่านก ฆ่าเนื้อเลี้ยงชีพ เป็นคนโหดเหี้ยมเป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนฆ่าโจร เป็นคนฆ่าโค เป็นคนคุมเรือนจำ หรือบางพวกเป็นผู้ทำการทารุณ  ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อนและเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ดี เป็นพราหมณมหาศาลก็ดี พระราชานั้นโปรดให้สร้างโรงบูชายัญหลังใหม่ ทางด้านทิศตะวันออกแห่งพระนคร ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ ทรงทาพระวรกายด้วยเนยใสและน้ำมัน ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไปยังโรงบูชายัญหลังใหม่พร้อมด้วยพระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นหญ้าเขียวขจี มิได้ลาดด้วยเครื่องปูลาด ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๑ แห่งโคแม่ลูกอ่อนที่มีอยู่ตัวเดียว พระมเหสีดำรงพระชนม์อยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๒ พราหมณ์ปุโรหิตดำรงชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๓ ทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมเต้าที่ ๔ ลูกโคมีชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชารับสั่งอย่างนี้ว่า ‘จงฆ่าโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวเมียประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าแพะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าแกะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าม้าประมาณเท่านี้บูชายัญ จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้เพื่อทำเสาบูชายัญ จงเกี่ยวหญ้าประมาณเท่านี้เพื่อลาดพื้น’ เหล่าชนผู้เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดีของพระราชานั้น ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ไปทำงานไป

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

พระพุทธคุณ

บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิวดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน เป็นอย่างไร  คือ ตถาคต อุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดีบุตรคหบดี หรืออนุชนในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางมาแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ ของภิกษุทั้งหลาย คือ

๑. ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่

๒. ละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับเอาของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่

๓. ละ พฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์  เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม อันเป็นกิจของชาวบ้าน

๔. ละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์  มีถ้อยคำเป็นหลักเชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก

๕. ละ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความจากฝ่ายโน้นแล้วไม่มา  บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่  ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำ ที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

๖. ละ เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารักจับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

๗. ละ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา

๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม

๙. เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน 
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล

๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว

๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่

๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย

๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่ นาและที่ดิน

๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร

๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย

๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด

๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

๒๖. เว้นขาดจากการตัดอวัยวะ การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก

ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที นกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

การสำรวมอินทรีย์

ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์  ฟังเสียงทางหู ดมกลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความสำรวมอริยอินทรียสังวรนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน

ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดูการคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่มการเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอนการตื่น การพูด การนิ่ง

การละนิวรณ์

ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขาถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌาความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ฌาน ๔

ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็นเครื่องทอนกำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่

เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายบรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’

เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์และไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

วิชชา ๓

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆจุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะมีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูงงามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตกล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดพวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยนี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงเป็นผู้ไม่หิวดับร้อน เย็นใจ มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ในปัจจุบัน”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสูตร เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑ คหปติวรรค  หมวดว่าด้วยคหบดี

เรื่องที่ ๑ กันทรกสูตร ข้อ ๑ - ๑๐
เรียบเรียงใหม่โดย ดร.ศักดิ์  ประสานดี 

หมายเลขบันทึก: 677987เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2020 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท