จัดการเรียนการสอนอย่างไร เป็นชีวิตวิถีใหม่? (๑)


จัดการเรียนการสอนอย่างไร เป็นชีวิตวิถีใหม่? (๑)

                ชีวิตวิถีใหม่  หรือ  new normal  จะเกิดขึ้นจากการปรับตัวของมนุษย์ภายหลังเกิดวิกฤติการณ์ใดๆ ที่มีความรุนแรง  และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเขา  ทำให้พวกเขาจำยอมต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบเดิมเป็นรูปแบบใหม่เพื่อการอยู่รอดของตนเองต่อไป  ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 ระบาด  ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา  ต้องล้างมือบ่อยๆ  ต้องกินอาหารร้อนๆ  ต้องมีช้อนกลางส่วนตัว ต้องอยู่กันห่างๆ  หรือต้องทำงานจากบ้าน  เป็นต้น  เหล่านี้เป็นวิถีชิวิตใหม่  หรือ  new normal หรือไม่  อย่างไร

                ถ้าอีก ๒ ปี ข้างหน้า  วิทยาศาสตร์การแพทย์ของโลกสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้  หรือคิดค้นยารักษาโรคอันเกิดจากโควิด-19 ได้  เราจะยังใส่หน้ากากอยู่หรือไม่  เราจะยังล้างมือบ่อยๆ อยู่หรือไม่  เราจะกินแต่อาหารร้อนๆ อยู่หรือไม่  เรายังจะต้องมีช้อนกลางส่วนตัวอยู่อีกหรือไม่  เราจะยังอยู่กันห่างๆ อีกหรือไม่  หรือยังคงต้องทำงานจากบ้านอีกต่อไปหรือไม่  ลองวิเคราะห์ดูว่าพฤติกรรมใดจะค่อยๆ หายไปภายหลังการก่อเกิดวัคซีนหรือยารักษาโรคนี้  และพฤติกรรมใดจะยังคงดำรงอยู่อีกบ้าง

                อาจสรุปได้ว่า  ชีวิตวิถีใหม่  หรือ  new normal  สามารถจัดแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม  คือ

                ๑. ชีวิตวิถีใหม่ชั่วคราว  เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตใหม่ของคนในสังคมที่เกิดขึ้นชั่วครั้ง ชั่วคราว  หรือเกิดขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ  และจะเป็นชุดพฤติกรรมที่ถูกลดความสำคัญเมื่อหมดความจำเป็นแล้ว เช่น  พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัย  หรือพฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม  เป็นต้น

                ๒. ชีวิตวิถีใหม่ถาวร เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตใหม่ของคนในสังคมที่ยังคงดำรงอยู่ แม้ปรากฏการณ์ที่เป็นเหตุปัจจัยการก่อเกิดพฤติกรรมเหล่านั้นจะจบสิ้นไปแล้ว เช่น ทำความสะอาดมืออยู่เสมอ หรือ การทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น

                ช่วงวิกฤติโควิด-19  ในวงการศึกษาของเรามีกิจกรรมอะไรที่จะนับเป็นชีวิตวิถีใหม่  หรือ   new normal ได้บ้าง  ที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรมน่าจะเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีการจุดกระแส และกล่าวถึงอยู่บนหน้าสื่อต่างๆ  แต่จะเป็นรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ชั่วคราว  หรือเป็นวิถีชีวิตใหม่ถาวร  ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป  (ถ้าจะให้เดาคำตอบคงเป็น  “ชีวิตวิถีใหม่ชั่วคราว” )

                มีประเด็นคำถามเชิงทบทวน และท้าทายว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  มีอะไรบ้างในระบบการศึกษาไทย เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับได้ว่า เป็น  “การปฏิรูปการศึกษา”  อย่างแท้จริง  ซึ่งจะหมายถึง ว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นๆ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญ  เช่นเดียวกันกับการเรียนการสอนออนไลน์  หรือการเรียนการสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์ที่กำลังจะเกิดขึ้น  จะไม่มีความหมายต่อผู้เรียนเลย  ถ้าเพียงเปลี่ยนสถานที่เรียนจากโรงเรียนเป็นบ้าน  หรือจากมองกระดานสี่เหลี่ยมเป็นจ้องดูตู้สี่เหลี่ยมแทน และถ้าเป็นเพียงเท่านี้  ในทัศนะของผู้เขียนจะไม่ยอมรับว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนในชีวิตวิถีใหม่ด้วย

                การจัดการเรียนการสอนชีวิตวิถีใหม่เป็นอย่างไร  มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

                ๑. ไม่เน้นเนื้อหา

                ในอดีตเรามีความเชื่อว่า  คนที่เรียนเก่งที่สุดคือคนที่จำเนื้อหาที่ครูสอนได้มากที่สุด  ข้อสอบก็จะวัดว่าใครจำสิ่งที่ครูสอนได้มากที่สุด  เวลาที่ครูสอนก็จะอัดเนื้อหาให้ผู้เรียนได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในปัจจุบันนี้มีข้อมูลที่เป็นเนื้อหาใหม่เกิดขึ้นมากมายและเกิดขึ้นตลอดเวลา  จนมีบางคนเปรียบเทียบว่าเกิดกระแสการไหลบ่าของข้อมูลจากทั่วทุกทิศทุกทาง  และมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่มนุษย์จะจดจำหรือเรียนรู้ได้หมด  จึงเกิดความเชื่อใหม่ว่า  คนเก่ง  คือ  คนที่สามารถแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้  และเลือกใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด

                ขณะนี้ในโลกออนไลน์มีข้อมูลสารสนเทศมากมายมหาศาล  เป็นปัจจุบันและทันสมัย  ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ต่างๆ  และมีแหล่งรวมวิดีโอเรื่องต่างๆ มากที่สุดอยู่ในยูทูบ  ในขณะเดียวกันผู้เรียนก็มีเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ได้ด้วยตนเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือจะช่วยให้เขาเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้เพียงลัดนิ้วมือเดียว (หมายถึงระยะเวลาที่งอนิ้วมือเข้า แล้วดีดออกไป จึงเป็นเวลาที่สั้นมาก)  ดังนั้นกิจกรรมการสอนที่เน้นการบอก  การอธิบาย  การบรรยาย  หรือการยัดเยียดเนื้อหาให้ผู้เรียนตลอดเวลาจึงหมดความสำคัญลงไป  เพราะเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเพียงฟัง  จด  ท่อง  สอบ  แล้วก็ลืมมันไป  ดังภาษิตจีนที่ว่า “ฉันได้ยิน เดี๋ยวก็ลืม”  ( I hear I forget.)  และกิจกรรมการสอนลักษณะนี้  มีนักการศึกษาตะวันตกยุคปัจจุบันสองท่านถือว่าเป็นการทำบาปด้วย  (Grant  Wiggins  and  Jay Mc Tighe, 2005)

                ขอสรุปในประเด็นนี้ ด้วยข้อคิดของ  นายแพทย์ประเวศ  วะสี  ที่ว่า  “ทุกวันนี้ครูไทยทั้งประเทศ กำลังทุ่มเทการสอนโดยการบอกเล่า หรือการถ่ายทอดเนื้อหามากที่สุด แต่นักเรียนไม่ได้ปฏิบัติ จึงเป็นการสอนที่ได้ผลน้อยที่สุด”

                ๒. นำ-พาความอยากรู้
“ความอยากรู้” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “curiosity” มีความหมายว่า ต้องการเรียนรู้มากกว่า (want to learn more) หรือเกิดความกระหายใคร่รู้ (eager to know) หรือเกิดความสนใจเรียนรู้มากกว่าปกติ (extraordinary interested) เป็นต้น “ความอยากรู้” หรือ “curiosity” มีความสำคัญอย่างไร จากการศึกษา สรุปได้ดังนี้

                - มีความเกี่ยวข้องกับความสนใจเรียนและการตั้งใจเรียน คือ ช่วยจุดประกายความสนใจ และทำให้เกิดการตั้งใจเรียน และจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้มากกว่า

                - มีความเกี่ยวข้องกับการคิด เนื่องมาจากความสงสัย ใคร่รู้ และต้องการคำตอบ

                - มีความเกี่ยวข้องกับพลังในการสืบค้นแสวงหาความรู้ (controlled inquiry) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้จริงและรู้ลึกกว่าด้วย

                -  มีความเกี่ยวข้องกับความสุขและความหลงใหลในสิ่งที่กำลังเรียน  (as  passion for learning) ซึ่งจะช่วยให้ใช้เวลาในการเรียนรู้ได้ยาวนานกว่า

                ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้  คือ  หัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (the heart of lifelong learning) นั่นเอง

                ปัญหา  คือ จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนอยากรู้?

                ขออธิบาย “ความอยากรู้” ตามทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญาของ เพียเจต์ (Piaget’s Cognitive Development Theory) ดังนี้

                ๑. ความอยากรู้เกิดที่สมอง และสมองจะมีความอยากรู้เมื่อรับรู้สิ่งเร้าใดๆ แล้วเกิดปัญหา หรือความสงสัย

                ๒. สมองจะสูญเสียความสมดุลจากสภาวะที่เป็นปัญหา หรือความสงสัย จะเกิดความเครียด ความทุกข์ มีความทุรนทุราย ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ จะดิ้นรนเพื่อจัดการแก้ปัญหา หรือแสวงหาคำตอบในข้อสงสัยนั้นๆ ให้ได้ ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือยังไม่สามารถแสวงหาคำตอบได้เป็นที่พึงพอใจ สมองก็จะคงความสูญเสียสภาวะความสมดุลต่อไป ซึ่ง Piaget เรียกสภาวะที่สมองสูญเสียความสมดุลดังกล่าวว่า Disequilibrium

                ๓.  สมองจะปลอดโปร่ง โล่งสบาย  ไม่มีความกดดัน ไม่เครียด  และเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อสามารถแก้ปัญหาหรือตอบข้อสงสัยได้  ในขณะเดียวกันจะเกิดความสุขภายหลังแก้ปัญหาหรือค้นหาคำตอบได้เป็นที่พึงพอใจ  ซึ่ง  Piaget  เรียกภาวะที่สมองปรับเข้าสู่สภาวะปกติ  มีความสมดุลว่า  Equilibrium

                จากแนวคิด ทฤษฎีของ Piaget ดังกล่าวแล้ว เราจะมีเครื่องมือ (tools) อะไรที่จะทำให้สมองของผู้เรียนทุกคนเกิดปัญหา หรือความสงสัยได้ คำตอบก็คือ “คำถาม” และได้มีการศึกษาที่มีผลสรุปว่า “คำถาม” เป็นสารตั้งต้นของ “ความอยากรู้” ตัวอย่าง เช่น

                “คำถามจะช่วยพัฒนาความอยากรู้”  (Questions  will  grow  curiosity.)

                “ความอยากรู้เป็นจุดรวมที่ผ่านมาจากคำถาม”  (Curiosity  focus  through  questions.)

                “ความอยากรู้ทั้งหลายของผู้เรียนที่เพิ่มขึ้น  มาจากความถี่ของคำถามของเขาที่เพิ่มขึ้น”  (Their  students’ curiosity  increase  as  their  frequency  of  questions  increased.)

                ดังนั้น  “ความอยากรู้”  ของผู้เรียนจึงสามารถพัฒนาได้อย่างง่ายดาย  เพียงหมั่นใช้  “คำถาม” ข้อคำถามอาจมาจากตัวผู้สอน  และถ้าเป็นคำถามที่เกิดจากภายในตัวผู้เรียนเอง  จะยิ่งกระตุ้นความอยากรู้ของตนเองได้มากกว่า  (แรงจูงใจภายใน)  วีธีจัดการเรียนการสอนที่ขอแนะนำ  คือ  วิธีการใช้คำถามเป็นฐาน (Question-Based  Learning)  และขอยืนยันว่า  คำถาม  ช่วยพัฒนาความอยากรู้ได้อย่างแท้จริงด้วยคำพูดของนักวิทยาศาสตร์เอกคนหนึ่งของโลก  คือ  ไอน์สไตน์   (Albert Einstein)  ที่กล่าวเอาไว้ว่า  “ที่สำคัญคือ อย่าหยุดตั้งคำถาม ... แล้วความอยากรู้อันทรงคุณวิเศษจะดำรงอยู่ตลอดๆ ไป”  (The  important  thing  is  not  to  stop questioning …… never  lose  a  holy  curiosity.)

หมายเหตุ  :  ผู้ที่มีความประสงค์จะศึกษาเรื่อง  ความอยากรู้  หรือ  curiosity  เพิ่มเติม  มีหนังสือที่ขอแนะนำ                                                                  ๒  เล่ม  คือ

                       ๑.  CULTIVATING  CURIOSITY  :  Wendy L. Ostroff

                       ๒.  A  More  Beautiful  Question  :  Warren Berger

                ๓. มุ่งสู่คิดเป็น

                เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กไทยคิดเป็น จะนำเสนอใน “จัดการเรียนการสอนอย่างไร  เป็นชีวิตวิถีใหม่ ?”  (๒) ในตอนหน้า

                สุดท้ายมีคำถามชวนคิด   ท่านมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ตรงกับข้อใดมากที่สุด ต่อไปนี้

                            ก. ไม่รู้ว่าไม่รู้

                            ข. ไม่รู้ว่ารู้

                            ค.  รู้ว่าไม่รู้

                            ง.  รู้ว่ารู้

                (ข้อคำถามของ  ดร.ชัยอนันต์  สมุทวณิช)

............................................................

จากอดีตครู  :  ชาติ แจ่มนุช   (๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓)

หมายเลขบันทึก: 677467เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2020 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2020 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท