การศึกษาอิสระผ่านระบบ


ขณะเปิดทีวีเป็นเพื่อน ช่อง NBT กำลังถ่ายทอดสดในวเลา ๑๐.๓๐ น. ของวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๓ พิธีกรสัมภาษณ์หลวงพ่อพยอม ได้รับทราบข้อความพอจะสรุปได้ว่า หากใครไม่รู้จะทำอะไรในช่วงวิกฤติ เช่น ว่างงาน ไม่มีที่กิน ไม่มีที่อยู่ ให้ไปที่วัดสวนแก้ว วัดสวนแก้วมีที่ว่างรองรับมากกว่า ๑๐๐ คน ทำให้นึกว่า เออนะ "วัดทางสังคม" อาจไม่ใช่สถานที่ของการปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุ หากแต่เป็น องค์กรหนึ่งทางสังคมในการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ดังนั้น นอกจากเป็นที่พึ่งทางใจแล้ว ทางกายก็ไม่ได้ทอดทิ้ง วัดจึงอาจเป็นศูนย์กลางของสังคมต่อไป ที่พัฒนาขึ้นจากเป็นศูนย์พบปะระหว่างกัน สู่การสงเคราะห์ระหว่างกันของคนในสังคม ในภาวะวิกฤติแบบนี้และแบบที่ผ่านมา ขอนมัสการและอนุโมทนาในความสามารถของผู้นำวัด

ช่วงถัดมา พิธีกรได้สัมภาษณ์ผู้มีอำนาจในระบบการกู้ยืม กยศ. ข้อมูลที่รับรู้คือ วงเงินในการกู้ยืมเพื่อการศึกษานั้นขยายเพิ่มขึ้น ครอบครัวที่มีรายได้น้อย สามารถกู้ยืมเพื่อการศึกษาต่อได้เลย

สิ่งที่คิดและอยากมาบันทึกไว้ในบันทึกนี้ เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง ๒ เรื่องเข้าด้วยกัน และเรื่องอื่นๆที่เป็นบริบท ขอแยกเป็นหัวข้อต่อไปนี้

๑. การกู้ยืมเพื่อการศึกษาต่อ

  ความคิดที่ผุดขึ้นมาคือ "อิณํ ทุกฺขํ โลเก" ซึ่งเป็นภาษิตที่มีอยู่ในพุทธศาสนา แปลว่า "การมีหนี้เป็นทุกข์ในโลก" ภาษิตนี้มีค่าของความเป็นจริงเพียงใด ถ้าใครเคยเป็นหนี้และ/หรือกำลังเป็นหนี้ จะรับรู้ได้ว่า ความทุกข์จากการมีหนี้เป็นอย่างไร เพื่อนท่านหนึ่งเคยมีบัตรอิ... เขาต้องผ่อนส่ง จวบจนหนี้สินพอกพูนเกินกำลัง จะเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายไม่ทราบได้ เขานำเงินจากที่ได้รับในการจัดการงานศพของพ่อ ไปปลดหนี้ ข้อความหนึ่งที่ได้ยินคือ "กูไม่เอาอีกแล้ว" หลายคนไม่ได้มีโชคแบบนี้ ถูกฟ้องร้องและบีบให้ต้องใช้หนี้ที่เกินกว่าการนำไปใช้จริง (ดอกเบี้ยที่เรายอมรับร่วมกันว่าเป็นสิ่งถูกต้องทางสังคมของระบบทุนนิยม) ความทุกข์ของคนมีหนี้ ยิ่งในช่วงนี้แล้วแสนสาหัส เพราะหลายคนไม่มีแม้แต่เงินจะนำไปแลกเป็นอาหาร ค่าเช่าห้อง และสิ่งจำเป็นในชีวิตเช่น ผ้าอนามัย ขณะที่จะเดินทางกลับไปอยู่บ้านนอกก็ไม่ได้ ดังนี้ จึงเป็นไปได้ว่า การมีหนี้เป็นทุกข์อย่างหนึ่งในโลก

  การกู้ยืมเพื่อการศึกษา คือการสร้างหนี้ แม้ว่าหนี้ดังกล่าวนี้จะมีดอกเบี้ยไม่มาก ขณะเดียวกัน ค่านิยมของระบบทุน "การเป็นหนี้คือเครดิต" ดังนั้น การเป็นหนี้คือเรื่องที่ยอมรับได้ จึงดูเหมือน ค่านิยมแบบนี้อาจสวนทางกับภาษิตข้างต้น มีคำถามสองสามข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ (๑) การศึกษาต่อเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการมีชีวิตที่ดีจริงหรือ (๒) การศึกษาต่อโดยไม่ต้องมีหนี้ที่เป็นตัวเงินมีไหม ถ้าระบบคิดที่ว่า การศึกษาต่อคือการเพิ่มวุฒิให้ตนเอง วุฒิในความหมายว่าหนังสือรับรองศักยภาพที่เพิ่มขึ้น เพื่อการยอมรับทางสังคม สิ่งที่น่าคิดคือ ชีวิตเราขึ้นอยู่กับสังคมหรือไม่ ถ้าชีวิตขึ้นอยู่กับสังคม ถ้าสังคมบอกว่า การมีเครื่องบินคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเราคือส่วนหนึ่งของสังคม เราจึงต้องมีเครื่องบินอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้น เราหมดสิทธิ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างไรก็ตาม "การศึกษาต่อเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการมีชีวิตที่ดี" ข้อความนี้น่าจะมีค่าของความเป็นจริง เพราะเมื่อพิจารณาสิ่งที่ปรากฎบนสังคมคือ คนที่มีวุฒิการศึกษาสูง ดูเหมือนจะได้ทำงานที่ดูดีทางสังคม แต่คนที่ดูดีทางสังคมจำนวนหนึ่งทำร้ายสังคมก็มี การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ดี อาจไม่ใช้วุฒิการศึกษาที่ต้องเอาเงินไปแลกก็ได้ หากแต่เป็นการศึกษาไปและได้เงินเลี้ยงชีวิตไปด้วย สิ่งที่น่าคิดคือ เรามีการศึกษาในระบบแบบนี้หรือยัง ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ "การศึกษาต่อโดยไม่ต้องมีหนี้เป็นตัวเงินมีหรือไม่"

   ถ้าในสังคมไทย มีวัดคือศูนย์กลางเคลียร์ความทุกข์ของคน และการเคลียร์ความทุกข์ของคนจำนวนหนึ่งถูกแปรสภาพเป็นตัวเงิน ขณะที่เงินคือสิ่งต้องห้ามของนักบวช และวัดคือสถานที่อยู่ของนักบวช โดยนักบวชมี ๒ แบบ แบบแรกเพื่อการบรรลุธรรม อาจเหมาะสมที่จะหาวัดทีเอื้อต่อการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม แบบที่สองเพื่ออะไรไม่รู้ ส่วนหนึ่งคือ จารีตปลูกฝังว่าเป็นสิ่งถูกต้องและทำได้ เช่น การสร้างเจดีย์ การเรียนในมหาวิทยาลัย การฯลฯ แบบที่สองนี้คือวัดเพื่อสังคมทางกายภาพเป็นหลักและไม่ได้ทอดทิ้งจิตวิญญาณ ขณะที่แบบแรกให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณแต่ไม่ได้ทอดทิ้งสังคม นักบวชที่อยู่ในวัดอาจต้องจัดการสิ่งต้องห้ามเหล่านั้นเพื่อสังคม คล้ายกับเป็นแหล่งสหกรณ์เพื่อการดื่มกินแบบเฉลี่ยทางสังคมตามความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ไหมถ้าวัด (ที่มีกำลัง/ศักยภาพ) คือทุนเพื่อสงเคราะห์สังคมในการเพิ่มการศึกษาที่ไม่ใช่วุฒิเท่านั้น หากแต่ความสามารถในการที่จะยืนอยู่ในสังคมได้อย่างไม่เป็นหนี้ที่เป็นตัวเงิน

๒. การศึกษาต่อที่ควรจะเป็นคืออะไร

  เมื่อวัดจากอดีตที่เป็นแหล่งการศึกษาของสังคม ยังคงยืดอุดมการณ์เดิมแต่มีการจัดการให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น การขยายขอบเขตการศึกษาสู่ผู้หญิง ผู้ไม่ได้บวช และแม้แต่คนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม วัดยังอาจจะยังคงมีคุณค่าต่อสังคมต่อไป ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ วัดคือแหล่งทุนร่วมมือกับสถาบันการศึกษา (แม้จะมีสถาบันการศึกษาของสงฆ์อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนบางศาสตร์ การศึกษาของสงฆ์ยังไม่ตอบโจทย์สังคม เช่น การแพทย์แผนพุทธ ที่ผลิตคนเพื่อสังคม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่เน้นคุณค่าทางจิตวิญญาณเพื่อสังคม) ผลิตหลักสูตรแบบอิสระ เช่น ไม่ต้องเข้ามาเรียนในชั้นเรียนทั้งหมด หากแต่ยังคงเป็นลูกจ้างฝึกงานกับการเชื่อมเหล็ก การเก็บขยะขาย การขายน้ำปั่น การการหมูทอด การเป็นเด็กปั๊ม โดยยกระดับลูกจ้างเป็นเจ้าของกิจการเพื่อการยังชีพ และเพิ่มลูกจ้างส่งทอดต่อกัน ซึ่งจะต้องอาศัยวิชาทางด้านการจัดการ ขณะเดียวกัน ไม่ทิ้งเส้นเลือดหลักของศาสนาเรื่องการขัดเกลาทางจิตวิญญาณที่วัดมีต้นทุนนี้ คนที่เข้าเรียนอาจต้องผู้ภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่าง ถ้าเรียนไม่ได้ก็ไม่เป็นไป อาจต้องงดการคิดในเรื่องความคุ้มทุนในแง่ตัวเลขในระบบประกันคุณภาพ (คุณภาพควรชี้วัดด้วยการที่ผลผลิตไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและสังคม)

ทั้งหมดนี้เป็นความเพ้อฝันจากผลพวงของการดูทีวี

25630430/11.42

หมายเหตุ: บันทึกนี้ยังไม่มีการตรวจสอบข้อความใดๆ


หมายเลขบันทึก: 677243เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2020 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2020 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท