ชีวิตที่พอเพียง 3684. ความฉลาดรวมหมู่ : ๑. องค์ประกอบ ๑๐ ประการ



หนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    สถานที่ที่ผมไปประชุมเรื่อง Creativity & Critical Thinking เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๒ (๑)     

โปรดสังเกตสาขาวิชาการของศาสตราจารย์ผู้นี้นะครับ   มันสุดแสนจะสหวิทยาการ

หนังสือเล่มนี้เมื่ออ่านก็รู้ทันทีว่า เขียนโดยนักวิชาการ    เพราะมีการอ้างอิงกว้างขวางและย้อนไปหลายพันปี 

ความฉลาดรวมหมู่ หรือจิตใหญ่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการยอมรับและให้คุณค่าต่อความแตกต่างหลากหลาย มีการจัดระบบ (organization) ให้ความแตกต่างหลากหลายนั้น “ออกฤทธิ์” ก่อผลดีที่ต้องการ    โดยต้องตระหนักว่า อาจเกิดผลในทางไม่พึงประสงค์ก็ได้    ระบบที่สร้างขึ้นต้องมีวิธีป้องกันการดำเนินการไปสู่ผลไม่พึงประสงค์เหล่านั้น   

ระบบดังกล่าว มีตั้งแต่ระดับองค์กรหรือหน่วยงาน  ไปถึงระดับประเทศหรือสังคม  และระดับโลก    มนุษย์เราได้พยายามสร้างระบบดังกล่าวมาเป็นหมื่นปี    ได้ผลดีก็มาก ก่อผลร้ายก็มี    

บัดนี้ “จิตใหญ่” (collective intelligence) ต้องรวมเอาพลังของ “จิตประดิษฐ์” (virtual mind)  ที่เกิดจาก “ปัญญาประดิษฐ์” (artificial intelligence) เข้าไว้ด้วย    ที่จริง ธรรมชาติ น่าจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ collective intelligence    และมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ผ่านสิ่งที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์    นำมาสร้างสรรค์เป็นเทคโนโลยีสารพัดแบบ    จนในที่สุดเกิดเทคโนโลยีที่พัฒนา artificial intelligence ได้    ทำให้ยุคนี้ collective intelligence    เกิดจากการหลอมรวมของintelligence of nature,  intelligence of man และ intelligence of machine     

ที่จริงการหลอมรวมดังกล่าว อาจนำไปสู่จิตที่มีพลังด้านลบก็ได้ ด้านบวกก็ได้     “จิตใหญ่” หมายถึงพลังด้านบวกเท่านั้น     แต่การบอกว่าผลใดเป็นด้านลบ ผลใดเป็นด้านบวก    เป็นเรื่องซับซ้อนมาก มีหลายมิติ หลายชั้น    และยังขึ้นกับค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย    ในหลายกรณีเกิดจิตของส่วนรวมที่ “เห็นกงจักรเป็นดอกบ้ว”   และก่อวิกฤติสังคมหรือวิกฤตโลกขึ้น ดังกรณีสงครามโลกครั้งที่ ๒    และมีนักวิชาการจำนวนมาก บอกว่าระบบเศรษฐกิจ และการเมืองที่โลกใช้อยู้ในปัจจุบัน เข้าข่าย  “เห็นกงจักรเป็นดอกบ้ว”    เพราะมันสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ    

ในบทที่ ๓  The Functional Elements of Collective Intelligence   ผู้เขียนบอกว่า “ความฉลาดร่วม” (collective intelligence)   เกิดจาก “ขีดความสามารถ” (capabilities) หลายด้านประกอบกัน ได้แก่ การรับรู้ (seeing),  การวิเคราะห์ (analyzing),  การจดจำ (remembering),  และการสร้างสรรค์ (creating)    ซึ่งผมตีความว่า ต้องเป็น “ขีดความสามารถร่วม” (collective capabilities) ของสังคมวงกว้าง    ที่ระบบการศึกษา หรือการเรียนรู้ ตลอดชีวิต ต้องเอื้อให้เกิดแก่คนทุกคน   

การสร้าง “ขีดความสามารถร่วม” นี้ ต้องการวิธีการที่หลากหลาย  วัฒนธรรมที่หลากหลาย  และวิธีการจัดระบบที่แตกต่างหลากหลาย    โดยต้องไม่ลืมว่า แต่ละองค์ประกอบของปัญญา ต้องการพลังงาน (energy) และเวลา (time)    คือไม่ได้มาฟรีๆ    ต้องลงทุน  

เขาระบุองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการคิดและกระทำร่วมกัน (collective thinking, collective action)  ๑๐ ประการคือ

  1. 1. มองโลกด้วยมุมมองที่ “มีชีวิต”    การคิดและกระทำ มาจากฐานกระบวนทัศน์ต่อโลก    ที่ปรับเปลี่ยนได้จากข้อมูลหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน    กล่าวใหม่ว่า เป็นกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ หรือ growth mindset นั่นเอง  
  2. 2. สังเกตและรับรู้ (observation)    จากผัสสะทั้งห้า เป็นข้อมูลสู่โมเดลของการคิด
  3. 3. โฟกัสความสนใจ (attention and focus)    ความสามารถในการแยกเรื่องสำคัญ ออกจากเรื่องไร้สาระ
  4. 4. วิเคราะห์หาความหมาย (analysis and reasoning)    ความสามารถในการคิด  คำนวณ  และตีความ
  5. 5. สร้างสรรค์ (creativity)   หมายถึงความสามารถจินตนาการ และสร้างสิ่งใหม่   
  6. 6. ประสานการเคลื่อนไหวทางกายภาพ (motor coordination)    ซึ่งเป็นผลของการเชื่อมโยงความคิดกับการกระทำ    
  7. 7. ความจำ (memory)    ทั้งในระดับบุคคล  ระดับองค์กร  ระดับประเทศ  และระดับโลก    ที่สำคัญคือต้องสามารถดึงมาใช้ได้ยามต้องการ  
  8. 8. เข้าใจผู้อื่น (empathy)    เป็นทักษะที่ต้องฝึก
  9. 9. การตัดสิน (judgement)   ความสามารถในการตัดสินใจ    ตัดสินถูกผิด  เหมาะไม่เหมาะ 
  10. 10. ปัญญา (wisdom)    สูงสุดที่การตัดสินใจถูกต้องตามกาลเทศะ  

โปรดอย่าลืมว่า ทั้ง ๑๐ องค์ประกอบนี้ มี machine intelligence อยู่ด้วย   

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องจิตใหญ่ไว้ที่ (๒)    และมีผู้เขียนเรื่องจิตใหญ่ใน Gotoknow ที่ (๓) (๔)      ผมขอแนะนำให้อ่านบันทึกของ อ. หมอสกล สิงหะที่ (๓)    เป็นข้อสะท้อนคิดเรื่องจิตใหญ่ที่ดีมาก  เน้นที่มิติของความเป็นมนุษย์        

วิจารณ์ พานิช  

๖ เม.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677237เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2020 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2020 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท