จิตตปัญญาเวชศึกษา 50: เรียนรู้ข้ามวิกฤต...สู่จิตใหญ่


เรียนรู้ข้ามวิกฤต...สู่จิตใหญ่

 ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุม "จิตตปัญญาศึกษา: เรียนรู้ข้ามวิกฤต...สู่จิตใหญ่" เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ณ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เชิงสะพานหัวช้าง เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีความประทับใจ และเกิดแรงบันดาลใจหลายๆอย่าง ผุดบังเกิดเป็นบทความนี้ เนื่องจากบทความนี้เป็นผลพลอยได้ และไม่ใช่เป็นการ "ถอดบทเรียน" ฉะนั้นข้อบกพร่องเกิดจากสภาวะจิตของผมเอง ความดีขอยกให้เจ้าของงานวิจัยทั้งหกท่าน คือ ดร.ชลลดา ทองทวี ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร คุณธีระพล เต็มอุดม ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ และ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เทอญ

ในภาคเช้าเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่องประวัติความเป็นมาของจิตตปัญญาศึกษา หรือ Contemplative Education ปรัชญาการศึกษา การสร้างเครื่องมือการศึกษา และการประเมิน มีทั้งบรรยาย เล่า และสนทนาแบบ modified world cafe ผู้เข้าร่วมมีหลากหลาย ทั้งนักวิจัย ครูอาจารย์ และนักการศึกษา นักศึกษา และผู้สนใจมาแอบสังเกตการณ์ด้วย ส่วนตอนบ่ายเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมจากคนนอกวง ก็มีพี่อ๋อย รศ.ประภาภัทร นิยม แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ และผมมาร่วมกันเล่า และถ่ายทอดความรู้สึกจากประสบการณ์การทำงาน ตบท้ายด้วยปาฐกถาพิเศษ (จริงๆ) โดย อาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา จึงเป็นวันที่อิ่มจริงๆ เป็นอิ่มเอิบ ไม่ใช่อิ่มอ้วน หรืออิ่มอึดอัด ของดีๆที่เสพเข้าไปค่อยๆลงไปอ้อยอิ่งอยู่ตามเซลล์ต่างๆของร่างกาย รอการย่อย ดูดซึมซับ ทีละน้อยๆตามวาระของมันเอง

วิกฤต

ไม่ทราบว่าใครตั้ง theme นี้ไว้ แต่ได้ประสิทธิภาพ เพราะเมื่อไรก็ตามได้ยินคำๆนี้ จะเกิดความคุ้นชิน และจิตพยากรณ์ ตามมาติดๆหลายเรื่อง หลายราว อาทิ ความรุนแรง การหักเห ปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนที่มากมาย ไม่ใช่แค่วิวัฒน์ หรือปฏิรูป แต่มักจะไปถึงปฏิวัติ และบ้างก็จะพลอยจินตนาการไปถึงความเสียหาย ทั้งของที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่จะเกิดขึ้น "จาก" การเปลี่ยนแปลง และที่จะเกิดขึ้น "ภายหลัง" การเปลี่ยนแปลง เรียกว่า ต้องมีการ "ได้เสีย"

สำหรับการเรียนแพทย์ หรือแพทยศาสตรศึกษา ก็เดินทางอยู่บนขอบทางแคบที่ฝั่งหนึ่งเป็นเหวลาดชันลื่นปรู๊ดปร๊าด อีกฝั่งหนึ่งเป็นบึงจรเข้ ทางที่ปลอดภัยคือเดินไปข้างหน้า ประคับประคองไปให้ตลอดรอดฝั่ง

แต่บางครั้ง พอเราเห็นเหว เห็นบึง ก็อดไปสร้างโน่นนิด นี่หน่อย ตามประสา บนขอบเหว ขอบบึง นัยว่าเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่ชีวิต ซึ่งก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่เรายัง "อยู่บนวิถี" แห่งปรัชญาวิชาชีพ และยังเชื่อมโยงกับ The Source หรือ "ที่มาแห่งอาชีพ" นี้อยู่อย่่างเดิม ที่เราต้องระวังอีกประการก็คือ การตกแต่งข้างทางไปมากเกินไป จนกระทั่งคนที่เดินตามมาหลงเข้าไปในเขาวงกตข้างทางเพราะเข้าใจว่านี่เป็นมรรคาที่พึงเดินไปเสีย

ในวิชาชีพแพทย์ คงจะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่่า "ความไว้วางใจ" ซึ่งวางอยู่บน "ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับชาวบ้าน" ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากและระหว่าง "คนกับคน" สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือกลไกอะไรก็ตามที่ dehumanizing หรือ ลด/ทำลาย ความเป็นมนุษย์ หรือความรู้สึกว่าเรากำลังทำงานกับมนุษย์อยู่นั่นเอง 

ยุคแห่ง globalization, telecommunication ที่เปิดความเป็นไปได้ของการสื่อสารให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงขึ้น คนที่อยู่คนละมุมโลกสามารถสนทนาในลักษณะที่เกือบจะ real-time และในปัจจุบันเกือบจะไม่แตกต่างกับการอยู่ตรงหน้า เพราะเราสามารถที่จะ "มองเห็น" ซึ่งกันและกันได้ ในนวตกรรมที่ (ผมหวังว่า) จะช่วยในที่เกี่ยวกับการแพทย์ก็คือ "การติดต่อสื่อสาร"

จากความเร่งด่วน และการที่อยู่ห่างไกล ก็เกิดการพัฒนา hot-line หรือ "โทรเวช" ขึ้น  คนไข้สามารถโทรศัพท์ บอกอาการ และได้รับการรักษาพยาบาล "เบื้องต้น" ทางโทรศัพท์ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สิ่งหนึ่งที่ตกหล่นไประหว่างทางก็คือ human-touch ซึ่งในระยะแรก เรายังยินดีปรีดากับความรวดเร็วที่มาแทน เพราะ human-touch เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะนามธรรม และละเอียดอ่อน ในระบบชีวิตที่เร่งรีบรวดเร็วร้อนแรงในระดับ super-extremely-fast นั้น อะไรทีละเอียดอ่อน และลึกซึ้ง กลายเป็น secondary commodity ไป มีก็ดี ไม่มีก็ได้ จนอาจจะกลายเป็น luxury item ไปเลยสำหรับชีวิตของคนบางคน

เดี๋ยวนี้เราสามารถจะ chat ทาง internet แบบพิมพ์ แบบ voice แบบเห็นหน้าเห็นตากันก็จริง แต่แบบ primitive คือพิมพ์ chat ก็ยัง popular อยู่ ภาษาที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์ chat เป็นภาษาที่วิวัฒน์มาจากบริบทที่ว่าคนพิมพ์มีความชำนาญไม่เท่ากัน และหลายๆคน หรือส่วนใหญ่ พิมพ์ได้ช้ากว่าพูด ก็เลยกลายเป็นจุดกำเนิดของ "internet-styled short-hand language" ขึ้น

การนั่งอธิบายคนไข้ซ้ำๆซากๆ ก็ดูจะไม่มีประสิทธิภาพ อย่ากระนั้นเลย เราพิมพ์ brochure แผ่นพับแจกดีกว่า ได้ข้อมูลครบ และถูกต้องเหมือนกันทุกครั้ง

หนักๆเข้าถ้าข้อมูลมันเยอะนัก ก็ถ่ายทำ ลง VCD หรือ DVD หรือฉายหนังให้นั่งดูไปซะเลย มาพร้อมๆกัน 20 คนก็ยังได้ เปิดกี่รอบๆก็เหมือนกัน เป็น quality control ไปในตัว

แต่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆเกิด side effect ก็คือ การลด human-contact และลด communication skill ไปในตัวของ individual ทั้งฝ่ายคนไข้และฝ่ายแพทย์ พยาบาล เพราะจากการที่เทคโนโลยี "ช่วยแก้ปัญหา" แต่เราเห็นมันทำงานได้ดีมาก ก็เลยเอามาทำงานแทนมนุษย์ โดยอาจจะลืมไปว่า ขณะที่เรานั่งอธิบายคนไข้ พูดคุยกับเขานั้น เราไม่ได้ทำเพียงแค่ transfer data ไปเท่านั้น แต่นี่เป็น "จุดเริ่มต้นของการสร้าง doctor-patient relationship ด้วย" และเป็นโอกาสที่เราจะได้ฟัง first-hand ถึงเรื่องราวความทุกข์ทรมาน ลำดับความสำคัญ และมิติแห่งการรับรู้ความเจ็บป่วยของคนไข้ และการที่พูดคุยกันนั้น เรา "ทั้งสองฝ่าย" ได้เริ่มรู้จักกัน เกิดความสัมพันธ์ ถักทอต่อไป กลายไปเป็นได้ทั้งความไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดก็ขึ้นกับผลลัพธ์ของการงอกงามซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ทั้งสิ้น

ดังนั้นกิจกรรมใดๆก็ตามที่ "ลดคุณค่า ลดเวลา" ของการสร้างสัมพันธ์ลง น่าจะถือเป็น "ความเสี่ยง" ต่อความสำเร็จในวิชาชีพแพทย์อย่างยิ่ง ถ้าจำเป็นต้องนำเอา "ประสิทธิภาพ" เข้า โดยเสียสละ "เวลา และ human-touch" ไป จะต้องรีบเร่งหามาตรการมาซ่อมแซมแก้ไขโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นประสิทธิภาพที่ได้มา จะเป็นเพียงประสิทธิภาพเชิงจักรกล ที่สูญเสียความมีชีวิต และหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ

การประเมินในปัจจุบันก็เช่นกัน ในสาขาศึกษาศาสตร์นั้น พวกเราคิดว่าการที่ครู "พึงเชื่อและศรัทธาในศักยภาพแห่งการเรียนรู้ได้ พัฒนาได้ ของนักเรียน" มากน้อยเพียงใด? 

การประเมินบางอย่าง จะเป็นการด่วนตัดสินไปหรือไม่? การที่นักศึกษา "จดจำ" บาง item ของคำตอบในข้อสอบไม่ได้ เพียงพอหรือไม่ที่จะติัดสินว่าเขา "ไม่รู้" และจะแปลต่อไปไหมว่า "เขาไม่สามารถจะเรียนรู้ได้" ตกลงการประเมินแบบ cross-sectional นั้น สามารถสะท้อน "ศักยภาพ" ได้จริงจังเพียงไร ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จริงอยู่ในการทำงานเป็นแพทย์ หลายๆอย่างต้องตอบสนองอย่างเฉียบพลันทันที จะมัวไปค้นหา เปิดตำรา คงไม่ทันการณ์ ข้อสอบที่ "ทดสอบความจำ" ก็อาจจะสะท้อนกลุ่มความรู้แบบนี้  แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้เร่งด่วน บางทีการที่นักศึกษารู้แค่ว่า "จะค้นได้ทีไหน" ก็อาจจะเพียงพอแล้วหรือไม่?

สังคมในปัจจุบัน การประเมินเป็นการให้ค่า ซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรมและกระบวนทัศน์ของผู้เรียน หรือสังคมโดยรวมอย่างยิ่ง และถ้าการประเมินบิดเบี้ยวไปจากปรัชญาวิชาชีพที่มีมาแต่แรกมากเท่าไร บัณฑิตที่ผลิตออกมาก็จะมีคุณภาพที่บิดเบี้ยว มีพฤติกรรมและกระบวนทัศน์ที่บิดเบี้ยวไปด้วยมากเท่านั้น บางทีอาจจะถึงเวลาที่เรามาใคร่ครวญ พิจารณาว่า บรรดา "เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อันดับสอง เหรียญทอง" ต่างๆนั้น บัณฑิตเหล่านี้เป็นตัวแทนที่จะ "สะท้อนคุณค่าแห่งวิชาชีพ" นั้นๆได้เต็มภาคภูมิจริงหรือไม่  อาทิ ทางการแพทย์ ปรัชญาที่สำคัญที่สุด เหมือนกันทั่วโลกก็คือ "แพทย์พึงกระทำ โดยมีประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับแรก" นั้น เป็น value ที่ปรากฏใน "บัณฑิตเกียรตินิยม" ของเราอย่างแท้จริงหรือไม่ เป็นต้น

"วิกฤต" ของระบบการศึกษาทุกสาขาวิชาก็จะเหมือนกัน ในที่นี้ก็คือ "การขาด บกพร่อง เรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ และขาดความเชื่อมโยงของรากเหง้าที่มาของความจำเป็นที่ต้องมีวิชานั้นๆ มาแต่แรก

 

ในเรื่องของ ความงาม ความดี และความจริงนั้น ในเวลานี้กลายเป็นการเรียนรู้ จะไปเน้นที่ "ความงาม" คือเป็นเรื่องของตัวเราเป็นหลัก เรียนเพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยฐานะ เป็นบันไดไปสู่หน้าที่การงานที่ตำแหน่งสูงๆ เงินเดิือนเยอะๆ หรือวิธีทำมาหากินเลี้ยงชีพตนเองเป็นประเด็นสำคัญ มีคำประเภท "ปากกัด ตีนถีบ" พรรณนาถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบัน รายการโทรทัศน์ซึ่งเป็น media ที่เข้าถึงคนจำนวนมาก ก็เต็มไปด้วยรายการที่ส่งเสริมการตัดสินคุณค่าของผู้อื่น ตามอารมณ์ของตนเอง ใครมีความสามารถอะไร ก็ต้องรอให้คน vote คนตัดสิน เพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้น และสัมผัสเพียงชั่ววูบ คนถูกตัดสินก็ใจตุ๊มๆต่อมๆ ตกลงเราจะดีหรือไม่ดี เราจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ งานของเรา ความสามารถของเรานั้นมีความหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของใครก็ไม่รู้ ร้อยพ่อพันแม่ และเต็มไปด้วยรายการที่เน้น value อันผิวเผินของมนุษย์ เน้นรูปร่างหน้าตา เน้น vulgarity หรือ การทำให้แปลก ทำให้ตกใจ หรือ anti-traditional ยิ่งดี

media ที่เข้าถึงคนจำนวนมาก มีส่วนที่จะ set norm ในสังคม วิธีพูด วิธีคิด วิธีดำเนินชีวิต รวมทั้งละครทีวี soap opera รายการต่างๆ นำเสนอชีวิตในคติของผู้สร้าง ออกมาเป็นคติของเยาวชน

จิตใหญ่

 ที่มาของรายวิชา หรือ "ศาสตร์" ต่างๆนั้น สะท้อน "ชีวิต" และสะท้อน "มนุษย์" ทั้งสิ้น แต่ต่อมาการสะท้อนนี้ก็เปรียบเสมือนกระจกเงา ที่มีหลายคุณภาพ และพื้นผิวไม่เหมือนกัน รวมทั้งการ "เลือกที่จะมอง" ของผู้ใช้กระจกด้วย ว่าเราอยากจะมองที่ตรงไหน

มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นตรง "ฐานความคิด" หรือสมองส่วน frontal lobe, neo-frontal lobe ที่เจริญงอกงามมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด มนุษย์เดินสองขา ทำให้มีระยางที่ใช้่ทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย มือก็มีการพัฒนาในส่วนนิ้ว ให้มีหน้าที่และสามารถ grip fist pinch หลายรูปแบบ เพิ่มความหลากหลายในการทำงาน อุปกรณ์มากมายก็ลอกเลียนแบบหน้าที่ของมือ และนิ้วมือ เช่น ช้่อน ตะเกียบ ส้อม มีด คีม แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้เหมือนมือมนุษย์ได้ ฐานคิดและมือนี่เองที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพสูงมากในการดำรงชีวิต

สมองที่สามารถ "คิดและจินตนาการ"

ความคิด และจินตนาการ กลายเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ การตอบโต้ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าของมนุษย์เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ไม่ติดกับรุปแบบเดิมๆ แต่ทว่าหากการศึกษาแบบใดก็ตาม ที่ทำให้่ การคิดใคร่ครวญ การไต่ตรองวินิจฉัย วิเคราะห์สังเคราะห์ และจินตนาการเหือดหายไป ก็จะเป็นการศึกษาที่ลดศักยภาพของมนุษย์ไป กลายเป็นการศึกษาระดับเดียวกับสัตว์ชั้นต่ำ ที่รังแต่จะจดจำการกระทำซ้ำๆ ไปใช้กับเหตุการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น 

มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้โดยใช้ภาษาที่ซับซ้อน และสามารถรับรู้อะไรต่างๆได้อย่างลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอีก

มนุษย์จึงมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความหมาย และมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ที่จริงการใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่นนั้น วิวัฒน์มาตั้งแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่อุดมไปด้วยความรัก และความสามารถในการรวมฝูง การปกปักผู้อ่อนแอกว่าในชุมชน การรับผิดชอบดูแลผู้ที่อ่อนแอ เป็นวิวัฒนาการของ "จิตใหญ่" ทีกลายเป็นมนุษย์ในที่สุด 

จิตใหญ่ของมนุษย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาใดก็ตาม หรือวัฒนธรรมใดๆ ก็จะมีส่วนร่วม ส่วนคล้ายคลึงกัน การพัฒนาของจิตใจ เป็นส่วนสำคัญในการศึกษามาตั้งแต่โบราณกาล และคุณค่าต่างๆนั้น ก็มักจะสะท้อนไปถึงการรับรู้ของจิตด้วย ต่อมาคนเริ่มสนใจจะไปวัด ไปเทียบ และเปรียบเทียบ ก็เริ่มเกิดเป็นปัญหา เพราะความสำคัญของการพัฒนาจิตนั้น ยังไม่มีเครื่องมือใดๆที่สามารถวัดได้โดยตรง ต้องใช้ surrogate parameter วัดทั้งสิ้น คือ เป็นการวัดแทน จนบางทีเราไปยึดมั่นถือมั่น กับ surrogate มากเกินไป

เดี๋ยวนี้การเรียน วัดเป็นเกรด เป็น credit รายวิชาต่างๆมีการให้ "น้ำหนัก" และเราก็เริ่มมีวิชา "หลัก" และมีวิชา "รอง" เกิดการจัดลำดับความสำคัญของวิชาต่างๆขึ้น และเกิด "มาตรฐาน" ขึ้น นักเรียนนักศึกษาเริ่มเรียนรู้ว่า ถ้ามีเวลา ควรจะทุ่มเทเวลาให้กับ "วชาหลัก" ก็จะได้เปรียบ ได้คุณค่า วิชารองๆก็เริ่มลดคุณค่าลงไป จนบางครั้ง นักศึกษาสามารถละเลยไปได้อย่างสิ้่นเชิง ขอเพียงทำวิชาหลักให้ได้

ปัญหาอยู่ที่ "ปรัชญา และคุณค่าชีวิต" เป็นสาขาที่วัดยาก หรือวัดไม่ได้ อณู ส่วนประกอบ ย่อยๆ อาจจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าโครงสร้าง หรืออวัยวะใหญ่ๆ แรงบันดาลใจที่มีความหมายทรงพลัง อาจจะเป็นอะไรทีวัดไม่ได้เลย เช่น รอยยิ้ม คำขอบคุณ ภาพแห่งการดีใจของพ่อแม่ที่เห็นลูกเกิดมา ฯลฯ เมื่อวัดไม่ได้ เราก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญ และสิ่งหนึ่งที่วัดไม่ค่อยจะได้ก็คือ "สภาวะจิต" นี่เอง

การพัฒนาจิตใหญ่กลายเป็นสาขาที่ถูกละเลย แม้ว่าจะเขียนไว้ในตอนต้นๆของหลักสูตร แต่พอไปถึงกรรมวิธี การจัดประสบการณ์การเรียนการสอน การประเมิน ก็จางหายไป ถูกละเลยไป บอกว่ามันปะปนอยู่แล้วในกระบวนการ แต่ไม่ได้มีการเน้น ไม่ได้มีการนำมาใคร่ครวญไตร่ตรอง เด็กสมองอาจจะโตขึ้น หนักขึ้น จากความรู้มากมายที่ลงไปยัดเยียดในสมอง แต่ใจ และจิต กลับเล็กลงๆ เบาลงๆ สำคัญน้อยลงๆ เกียรตินิยมสะท้อนอะไรก็ไม่ทราบที่ห่างไกลจากปรัชญาคุณค่าเดิมแท้ (authentic value) ของสาระวิชานั้นๆไป นักศึกษาจบออกมา มีความรู้เยอะ แต่ปราศจากความรัก ปราศจากจิตเมตตา ปราศจากความผูกพันกับศาสนา จิตวิญญาณ ไม่มีความเข้าใจในตัวตน คุณค่าของมนุษย์ ปราศจากความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สถาบัน ไม่เข้าใจความต่อเนื่องเชื่อมโยงของสรรพสิ้ง เพราะเรียนแบบ compartmentalized มาโดยตลอด

แล้วเราจะทำอย่างไรกับ "วิกฤต" และ "จิตใหญ่" ได้บ้างหนอ? 

หมายเลขบันทึก: 160907เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
 สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านบันทึกนี้ ขอมีความเห็น 2 ประการค่ะ

1.เรื่องนี้ ส่วนตัวหน่อยค่ะ  คือตอนนี้ กำลังต่อสู้กับใจตัวเอง เรื่อง ความมีจิตใหญ่อยู่ในบางเรื่อง เมื่ออ่านแล้ว ได้กำลังใจค่ะ จริงๆ ตัวเองก็ใจกว้างอยู่แล้ว( คิดเอาเองว่า ...เป็นเช่นนั้น)

ตอนนี้ ยิ่งต้องกว้างกว่าเดิม เยอะๆๆ เพราะ มีคนอื่น เขาลำบากกว่ารา ต้องการ ความ ช่วยเหลือจากเรา แบบ อีกเป็นเวลานาน....
 
กำลังฮึดสู้ กับใจตัวเอง ค่ะ.....เพราะ มันเป็นอะไร ที่เรากำลังสู้กับ ความรู้สึกว่า คนอื่นกำลังเบียดเบียนเรา  ทำไมเราต้องเป็นฝ่าย ให้ อยู่ตลอดเวลา
แต่ พยายาม ย้ำกับตัวเองว่า ผู้ให้ ดีกว่า ผู้รับนะ
 ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะ ตัดสินใจได้แล้วค่ะว่า จะเป็นผู้ให้ต่อไป  เพราะประโยคนี้ ของอาจารย์ค่ะ....

การรับผิดชอบดูแลผู้ที่อ่อนแอ เป็นวิวัฒนาการของ "จิตใหญ่" ทีกลายเป็นมนุษย์ในที่สุด 


2.  จริงๆ ในภาพรวม คนไทย ก็มีจิตใหญ่พอควรนะคะ ตามฐานะของเรา
 พลังน้ำใจในคราวซึนามิไงคะ

เราได้รับการ แซ่ซ้องว่า เป็นชาติที่มีพลังน้ำใจเป็นเลิศกว่าพลังอื่นๆ

แต่คงมี ที่นักศึกษาที่จบออกมาแล้ว มีความรัก  จิตเมตตา น้อยกว่าที่ควร แต่ ไม่เข้าใจ ว่า ตอนนี้ ถึงขั้นวิกฤติแล้วหรือคะ 

ความเห็นส่วนตัวคือ....เราเป็นชาติ ที่มีพลังน้ำใจก็จริง แต่ เรายังขาดการรับรู้ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ที่มีอยู่ให้เป็นปกติวิสัย ไม่ใช่ วิกฤติที พลังน้ำใจก็มีทีหนึ่ง แล้วดับวูบไป

สวัสดีครับ คุณ sasinanda

อนุโมทนาในจิตใหญ่อันเอื้อเฟื้อด้วยคนครับ ผมคิดว่าสังคมกำลังต้องการ conviction แบบนี้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

อาจารย์อาจอง ก็ยกตัวอย่างสุนามิเหมือนกันครับ ท่านแถมอีกนิดหนึ่งก็คือ จิตใหญ่ยามเมื่อเดือดร้อนน่ะ ดูเหมือนคนไทย หรือคนที่อื่นๆ ก็ยังพอมี ไม่ขาด แต่ทำไมเราต้องรอจนเกิดมหาทุกภิกขภัย วาตะภัย อุทกภัย ฉาตภัย อัคคีภัยกันก่อนด้วยหนอ จึงค่อยจิตใหญ่กัน

ท่านรำพึงต่อถึง global warming ที่ระดับ CO2 ณ ปัจจุบัน มันไต่ๆเกือบๆ 400 อยู่รอมมะร่อ และเป็นที่แน่นอนว่า 450 คือ disaster level ปรากฏว่า ณ ปัจจุบัน ด้วย rate การ consume พลังงาน เรากำลังเพ่ิม CO2 อยู่ปีละประมาณ 12!!! คนส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกว่า OK กับทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่นะครับ
 อาจารย์เคยรู้จัก "socialization" บ้างมั้ยคะ

หนูเพียรจะบอกอาจารย์มาตั้งแต่ 2 ปี ก่อน ....  จนเดี๋ยวนี้ไม่อยากจะพูด ...  ที่จริงพิมพ์ .... อีกแล้ว  

 ขอบพระคุณที่สั่งสอนครับ

 ไม่กล้า ...  ถึงจะสอนหรอกค่ะ 
อาจารย์มี resource ดีๆ เพียบ  และที่แน่ๆ ต่อให้หนูสนแค่ไหนก็ไม่มีทางจะคว้าได้เสียด้วย หนูจะกล้าสอนอาจารย์ได้อย่างไร 

ที่ไม่อยากต่อความด้วย ... เพราะเห็นแต่คนอื่นก็พูดเรื่องเดียวกัน ... อาจารย์เห็นดีเห็นงามกับเค้าจัง  ทีหนูล่ะ ไม่เห็นเกิน 5 นาที ...  สักครั้ง   ไม่รู้ใครต่อใครเค้าเอาไปพูดกันให้ทั่วว่าหนูเป็นลูกรักของอาจารย์ไปได้ยังไง  ... ขนาดอยู่ห่างมาตั้ง 4 กิโลเมตร ก็ยัง .....

อืม ...  ยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมหรือคะ

 

ที่จริงหนูน่ะรู้อยู่เต็มอกว่าสอนเด็กดื้อน่ะมันสอนยาก ...  หนูก็ไม่ใช่เด็กดีที่ว่านอนสอนง่ายนักเสียด้วย  ไม่รู้เป็นยังไง ...  รดน้ำพรวนดินไปไม่รู้จะโตมาเป็นต้นอะไร   ตลอดข้างทางก็คอยแต่ชมนกชมไม้ สร้างสีสันให้ชีวิตไปเรื่อย

เลยได้แต่หวังว่า ....  อาจารย์จะไม่หมดหวัง  ถอดใจเลิกสอนไปเสียก่อน

นักเรียนอย่างนี้ พอจะเชื่อและศรัทธาในศักยภาพแห่งการเรียนรู้ได้ พัฒนาได้ บ้างมั้ยคะ

 

 

สวัสดีครับอาจารย์

เป็นบทความที่ ละเอียด ลึกซึ้ง

เกิดคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผมมากๆครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท