Online meeting เพื่อเตรียมจัด online PLC แก่โรงเรียนนำร่อง ๒๐ โรงเรียน



ช่วงอยู่บ้านเพื่อร่วมกันรักษาระยะห่างทางสังคมป้องกันการแพร่โควิด ๑๙ ตามนโยบายรัฐบาล และขององค์การอนามัยโลก ผมมีระยะประชิดทางสังคมแบบ virtual เกือบทุกวัน    เป็นชีวิตที่สนุกและได้เรียนรู้มาก     เพราะไม่ต้องออกไปเผชิญรถติด  

ช่วง ๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ ผมมีนัดประชุมออนไลน์กับทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล     เพื่อเตรียม การจัด online PLC ของโรงเรียนนำร่องจำนวน ๒๐ โรงเรียน     ที่จะจัดเมื่อโรงเรียนเปิดเทอมแรกปีการศึกษา ๒๕๖๓    เป็นการประชุมเตรียมการครั้งที่ ๒   โดยครั้งที่ ๑ จัดเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม    ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง    เป้าหมายหลักของการประชุมคือ เตรียมความพร้อมให้แก่ทีมงานที่ลงไปทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     ที่จะเป็นทีมจัดการ online PLC     

เป้าหมายหลักของการประชุมวันนี้ เพื่อทำความเข้าใจหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง บทที่ ๖ – ๘    สำหรับนำไปใช้เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่ง    ในการหนุนให้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ศิษย์ทุกคนได้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง     

การเตรียม online PLC นี้เราคิดก่อนโควิดมานะครับ    พอโควิดมาแผนดำเนินการของเราก็นำแฟชั่นทันที   

พอเริ่มการประชุม ออนไลน์ ผมก็ถามว่า ใครเป็น facilitator ของการประชุม    และการประชุม ๓ ชั่วโมงนี้มีเป้าหมายอะไรบ้าง    มีเกณฑ์วัดความสำเร็จอย่างง่ายๆ อย่างไรบ้าง     และแบ่งเวลาทำกิจกรรม ๓ ส่วน คือ (๑) กิจกรรมนำเข้าสู่ประเด็น  (๒) เนื้อหาสาระ  และ (๓) สะท้อนคิดและสรุป  อย่างไร    ซึ่งหมายความว่า facilitator ต้องเตรียมมาก่อน    และนำมาขอความเห็นจากที่ประชุมในช่วงที่ (๑)    ผมบอกที่ประชุมว่า การประชุมต้องใช้โครงสร้างนี้จนเป็นนิสัย    ซึ่งก็หมายความว่า เราต้องการฝึกนิสัยนี้แก่ครู    นิสัยทำอะไรต้องมีเป้าหมายชัดเจน  และมีเกณฑ์ในการวัดผลสำเร็จตอนจบกิจกรรม   

วันนี้เราแชร์ความเข้าใจเนื้อหาในต้นฉบับหนังสือตอนที่ ๖  การเรียนรู้ระดับลึก    และตอนที่ ๗ การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง    โชคดีที่มีคนเอาวิดีทัศน์เรื่อง การสอนภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ตอน หน่วยวรรณกรรม ช่อมะไฟ  สอนโดยครูยิ้ม ศิริมา โพธิจักร (๑)    เราจึงใช้วิดีทัศน์นี้เป็นรูปธรรมของการเรียนรู้ระดับลึกและระดับเชื่อมโยง    และเอาสาระในต้นฉบับหนังสือเป็นทฤษฎี    ในการประชุมเราร่วมกันตีความรูปธรรมเข้าหาทฤษฎี    และตีความทฤษฎีเข้าหารูปธรรมหรือการปฏิบัติจริง    สนุกมาก  

ที่จริงการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยง ไม่ใช่เรื่องลี้ลับยากเย็นอะไร    แค่จัดการเรียนให้เป็น active learning ก็ได้การเรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยงแล้ว    แต่ในต้นฉบับหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง  มีรายละเอียดเพื่อช่วยให้ครูจัดการเรียนรู้ตามลำดับขั้น ไปสู่การรู้ลึกและรู้เชื่อมโยงแบบไม่รู้ตัว    ไม่หยุดอยู่แค่รู้ระดับผิว   

ความสนุกอยู่ที่ ความลึกและความเชื่อมโยงมันมีหลายระดับ และหลายมิติ    สามารถพัฒนาได้ไม่มีจบสิ้น    ทฤษฎีและวิธีการในต้นฉบับหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวช่วยครู    ในการบรรลุ “สอนสู่รู้เชื่อมโยง”

ผมจึงเตือนทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลว่า    ในการไปทำงานกับครู อย่ายึดต้นฉบับหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง  เป็นคัมภีร์    อย่าไปชักจูงให้ครูปฏิบัติตามคัมภีร์    ให้ยึดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นเป้าหมาย    เข้าไปทำความเข้าใจกับครูว่าเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ครูกำหนดนั้นเป็นอย่างไร    เป็นผลลัพธ์ระดับผิว หรือระดับลึก หรือระดับรู้เชื่อมโยง    หากต้องการให้ศิษย์รู้เชื่อมโยงต้องตั้งเป้าอย่างไร  และจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไร    วัดผลได้อย่างไร

คือให้เอานักเรียนเป็นตัวตั้งหรือเป้าหมาย    อย่าเอาการปฏิบัติตามหนังสือเป็นเป้าหมาย  

ผมเตือนว่า ทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลต้องใช้ต้นฉบับหนังสือ และกระบวนการ ลปรร. ทางออนไลน์ที่เรากำลังทำอยู่นี้ เพื่อให้ตนเองเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ระดับผิว ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง     เข้าใจอย่างถ่องแท้    แต่เมื่อไปทำงานกับครู ต้องไม่เอาความรู้ความเข้าใจของตนไปสอนหรือบอกครู    แต่ต้องแปรความเข้าใจของตนเป็นคำถามที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ครูกำลังทำงาน    ให้ครูได้คิดและตระหนัก หรือนำไปลองปฏิบัติเอง    เพื่อให้ครู “รู้เชื่อมโยง”   ในเรื่องการทำหน้าที่ของตนต่อการทำให้ศิษย์ “เรียนสู่รู้เชื่อมโยง”  

ซึ่งหมายความว่าครูเรียนรู้โดยการปฏิบัติแล้วคิด

Online PLC ที่เราจะจัด มีเป้าหมายเพื่อหนุนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด ของครู

ประชุมเสร็จเที่ยงครึ่ง    บ่ายแก่ๆ คุณภาพพิมพ์ก็ส่งสรุปประเด็นจากการประชุมมาให้ ดังนี้ (ไฟล์สรุป SCBF)   online PLC ที่เราทำกับครูจะต้องมีคนคอยสรุปแบบนี้ทุกครั้งของกิจกรรม (จัดเดือนละ ๒ ครั้ง)    และน่าจะมีข้อสรุปรายไตรมาสด้วย       

เราคุยกันว่า ยังไม่รู้ว่ากิจกรรมจริงจะเริ่มได้เมื่อไร    ผมบอกว่า รู้ว่าเปิดเทอมเมื่อไร  เราเริ่มล่วงหน้า ๑ เดือน  

วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๖๓

    


Sum scbf from Pattie KB


หมายเลขบันทึก: 677221เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2020 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2020 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท